Skip to main content
sharethis

ย้อนดู 'ธนาธร' ยังเคยถูกเสนอชื่อโหวตนายกฯ ปี 62 แม้ศาล รธน.สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ หลังวานนี้ 'วิษณุ' บอก 'ไม่ได้' ด้าน ‘ปดิพัทธ์’ ชี้แจงข้อกฎหมาย ยันผู้ถูกศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ สามารถเสนอชื่อโหวตเป็นนายกฯ ได้ 

 

14 มิ.ย.2566 จากวานนี้ (13 มิ.ย.) วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามสื่อมวลชนที่ถามประเด็นแคนดิเดตนายกฯ คนใด ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ กรณีที่มีการร้องว่ามีลักษณะต้องห้ามการเป็น ส.ส.และแคนดิเดตนายกฯ จะนำรายชื่อนั้นไปโหวตนายกฯ ได้หรือไม่นั้น รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ไม่ได้”

ต่อคำถามที่ว่า แม้คดีจะยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ยังไม่มีคำตัดสินออกมา จะไปโหวตได้หรือไม่นั้น วิษณุ ก็ยังย้ำว่า ไม่ได้ เพราะเมื่อถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่แล้ว ก็เข้าไปทำหน้าที่ไม่ได้ แล้วไปตั้งทำไม และชื่อนั้นไม่เสนอเข้ามา แต่ปกติศาลจะไม่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เร็วเกินไป ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร

เมื่อถามว่า การจะไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า บุคคลใดมีลักษณะต้องห้ามจะใช้กฎหมายใดนั้น วิษณุ กล่าวว่า ใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 82 ซึ่งผู้ที่ร้องได้คือ ส.ส. จำนวน 1 ใน 10 ของสภา หรือ 50 คน ซึ่ง ส.ส.โดยจะยื่นได้หลังมีการปฏิญาณตนเรียบร้อยแล้ว ถึงจะทำหน้าที่ได้ ส.ว. จำนวน 1 ใน 10 หรือ 25 คน เพราะ ส.ว.สามารถลงชื่อเพื่อตรวจสอบ ส.ส. ส.ว. รวมถึงรัฐมนตรีได้ โดยยื่นผ่านประธานรัฐสภา เมื่อมีการเลือกกันแล้ว และอีกช่องทางหนึ่ง คือ กกต.เป็นผู้ยื่น

สำหรับคำถามที่ว่า กกต.จะฟ้องใครด้วยความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 151 จะฟ้องช่องทางใดนั้น วิษณุ กล่าวว่า ตามมาตราดังกล่าวต้องไปช่องทางศาลอาญา และไม่มีขั้นตอนการสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่มาตรา 151 เป็นที่มาของทุกเรื่อง ถูกต้องแล้วที่ไม่รับเรื่องอื่น เพราะเมื่อ 151 ออกมาแล้วคุมหมดทุกอย่าง แต่กระบวนการนี้ใช้เวลานาน เพราะใช้กระบวนการยุติธรรมปกติ

ปี 62 'ธนาธร' ยังถูกเสนอชื่อได้ แม้ถูกศาล รธน.สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่

อย่างไรก็ตามภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปปี 62 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถูก กกต.ร้องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องขาดคุณสมบัติตาม ม. 98(3) จากการถือครองหุ้นในบริษัทวี-ลัค มีเดียจำกัด โดยวันที่ 23 พ.ค.62 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 มีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย รวมทั้ง มติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 ให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยด้วย

อย่างไรก็ตาม วันที่ 5 มิ.ย.62 รัฐสภาประชุมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนั้นมีชื่อ ธนาธร ถูกเสนอชื่อเพื่อลงมติเลือกเป็นนายกฯได้ แม้จะแพ้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปด้วยคะแนน 500 เสียง ต่อ ธนาธร 244 เสียงก็ตาม โดยครั้งนั้น ส.ว. 249 คน ลงคะแนนเลือกพล.อ.ประยุทธ์ อย่างไม่แตกแถว

ผลการลงมติเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.62

‘ปดิพัทธ์’ ชี้แจงข้อกฎหมาย ยันผู้ถูกศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ สามารถเสนอชื่อโหวตเป็นนายกฯ ได้ 

วันนี้ (14 มิ.ย.) ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานต่อสื่อมวลชนว่า ปดิพัทธ์ สันติภาดา ว่าที่ ส.ส.พิษณุโลก เขต 1 พรรคก้าวไกล ชี้แจงกรณีวิษณุตอบคำถามสื่อมวลชนระบุผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี หากอยู่ระหว่างถูกฟ้องร้องมีคดีความ และมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ถ้าศาลสั่งให้หยุดปฎิบัติหน้าที่ จะไม่สามารถเสนอชื่อผู้นั้นเป็นนายกฯ ได้ โดยอ้างกรณีธนาธรเมื่อปี 2562

ปดิพัทธ์ กล่าวว่า วิษณุคงเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อน ทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนแปลงบ่อย ตัวบทกฎหมายก็มีจำนวนมาก โดยตนขอชี้แจงเป็นรายประเด็นรวม 3 ประเด็น เพื่อให้พี่น้องประชาชนเข้าใจว่าความจริงเป็นอย่างไร

ประเด็นที่หนึ่ง หากมีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพของผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ว่าสิ้นสมาชิกภาพไปแล้วหรือไม่ ซึ่งสำหรับพรรคก้าวไกล ผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ คือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ที่ปัจจุบันกำลังถูกบรรดานักร้องทางการเมือง ร้องเรียนกรณีการถือหุ้นไอทีวี เข้าข่ายถือหุ้นสื่อ เป็นลักษณะต้องห้ามในการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3)

ตนมั่นใจว่าพิธาสามารถชี้แจงกรณีหุ้นสื่อไอทีวีได้ และเดินหน้าตามกระบวนการสู่การเป็นนายกฯ ตามความคาดหวังของประชาชน แต่หากเรื่องนี้ไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ และศาลเห็นควรให้มีการหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย ก็เป็นการหยุดปฏิบัติหน้าที่ในการเป็น ส.ส. เท่านั้น แต่โดยคุณสมบัติ พิธายังคงเป็นแคนดิเดตนายกฯ ได้ตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นคนละตำแหน่งและคนละกรณี จึงย่อมไม่ส่งผลทางกฎหมายต่อการเสนอชื่อพิธาต่อรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกฯ

ดังนั้น ความเห็นของวิษณุที่ว่าถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ จะไม่สามารถเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ได้ จึงไม่ถูกต้อง

กรณีเคยเกิดขึ้นแล้วกับธนาธรเมื่อปี 2562 ครั้งเป็นหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ขณะนั้นศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ธนาธรหยุดปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2562 และมีการอ่านคำสั่งในวันแรกของการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อลงมติเลือกประธานและรองประธานสภาฯ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2562 ต่อมามีการนัดประชุมรัฐสภาในวันที่ 5 มิถุนายน 2562 เพื่อลงมติเลือกนายกฯ ขณะนั้นมีการเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ ธนาธร ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ ซึ่งไม่ได้มีปัญหาทางกฎหมายใดๆ โดยผลการลงมติของรัฐสภา พล.อ.ประยุทธ์ ชนะจนได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ

ดังนั้น ที่วิษณุกล่าวว่ากรณีธนาธร “โหวตเลือกนายกฯ ไปแล้ว 2 วัน จึงถูกให้หยุดปฎิบัติหน้าที่ 2 สมัย” นั้น น่าจะเป็นการจดจำช่วงเวลาคลาดเคลื่อน

ประเด็นที่สอง กรณีการเข้าชื่อตรวจสอบสมาชิกภาพ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ที่วิษณุระบุว่า “ถ้าฝั่ง ส.ว. จะยื่นก็ใช้ 25 คน” นั้น

เมื่อกลับไปดูมาตราดังกล่าว เห็นได้ชัดเจนว่ากำหนดให้ ส.ส. ‘หรือ’ ส.ว. จํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของ ‘แต่ละสภา’ มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก ว่าสมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่ง ‘แห่งสภานั้น’ สิ้นสุดลง

หมายความว่า ให้สมาชิกของแต่ละสภาสามารถตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิกของสภาเดียวกัน เช่น ส.ส. เข้าชื่อเพื่อตรวจสอบ ส.ส. หรือ ส.ว. เข้าชื่อเพื่อตรวจสอบ ส.ว. จึงไม่ได้หมายความว่าให้ ส.ส. เข้าชื่อเพื่อตรวจสอบ ส.ว. หรือ ส.ว. เข้าชื่อเพื่อตรวจสอบ ส.ส. ตามที่วิษณุระบุ

ดังนั้น เมื่อพิธาเป็น ส.ส. จะให้ ส.ว. เข้าชื่อเพื่อมาตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของพิธา ที่เป็น ส.ส. ตามที่วิษณุกล่าว ก็ดูเป็นความเข้าใจรัฐธรรมนูญผิดพลาดคลาดเคลื่อนไป

ประเด็นที่สาม ต่อคำถามของผู้สื่อข่าวว่า กรณีผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ถูกศาลสั่งให้หยุดปฎิบัติหน้าที่ มีขั้นตอนกฎหมายใดที่ขัดขวางไม่ให้นำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ หรือไม่ และวิษณุระบุว่า “ปกติการแต่งตั้งตำแหน่งใดก็ตาม เป็นพระราชอำนาจ กรณีแต่งตั้งข้าราชการประจำ ผู้พิพากษาอัยการอธิบดี หรือแม้แต่ขอประธานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ได้มีข้อตกลงกับสำนักพระราชวังมา 2-3 ปีแล้วว่าให้เข้มงวดกวดขัน ถ้ามี ก็ให้กราบบังคมทูลขึ้นไปว่า มีเหตุแบบนี้อยู่ แล้วจะโปรดเกล้าฯ อย่างไร ก็แล้วแต่” โดยในกรณีโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกฯ ผู้ที่รับผิดชอบคือประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ตนเห็นว่าการให้ความเห็นของวิษณุแบบนี้ แม้เป็นความพยายามอธิบายกระบวนการที่ทำกันมา แต่ต้องไม่ลืมว่าตำแหน่งอื่นๆ ที่ยกตัวอย่างคือข้าราชการประจำ ต่างจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่เป็นฝ่ายการเมืองโดยแท้และได้รับความไว้วางใจจากประชาชน การยกมาเปรียบเทียบแบบนี้ จะกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และกระทบต่อพระราชสถานะทรงดำรงความเป็นกลางทางการเมืองและศูนย์รวมจิตใจ ในเมื่อประธานสภาผู้แทนราษฎรในฐานะผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เป็นผู้มีอำนาจและต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว วิษณุก็ไม่ควรอ้างถึงพระมหากษัตริย์ ซึ่งถ้าตนเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ตนพร้อมรับผิดชอบ

ปดิพัทธ์ กล่าวต่อว่า ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านรัฐบาล รัฐบาลเดิมควรส่งมอบงานให้ว่าที่รัฐบาลใหม่ ตนพูดเช่นนี้ไม่ได้ต้องการละลาบละล้วงหรือล่วงเกินใคร แต่ต้องการร่วมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองใหม่ที่ผู้ได้รับมอบความไว้วางใจจากประชาชนผ่านการเลือกตั้ง จะได้รับส่งมอบงานเพื่อเตรียมความพร้อมเป็นรัฐบาล ทำงานรับใช้ประชาชนต่อไป

“ส่วนการให้ความเห็นของอาจารย์วิษณุ ไม่ทราบว่าให้ความเห็นในฐานะอะไร ถ้าในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ก็คงจะไม่ดีต่อภาพลักษณ์ในการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลเท่าใดนัก เพราะประชาชนจะวิพากษ์วิจารณ์ได้ว่าอาจารย์วิษณุในฐานะรองนายกรัฐมนตรีกำลังชี้นำใครหรือองค์กรใดอยู่หรือไม่ แต่ถ้าพูดในฐานะนักวิชาการ อดีตอาจารย์สอนกฎหมาย ก็คงห้ามปรามกันไม่ได้ เพราะเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนคนหนึ่ง” ปดิพัทธ์กล่าว

ปดิพัทธ์ ทิ้งท้ายว่า อย่างไรก็ตาม ตนมั่นใจว่าจะไม่มีใครหรือองค์กรใด สามารถขัดขวางเจตจำนงของประชาชนที่มอบความไว้วางใจให้พรรคการเมืองทั้ง 8 พรรคกว่า 27 ล้านเสียง ซึ่งจะเป็นพลังให้มุ่งหน้าสู่การจัดตั้งรัฐบาลของประชาชนจนสำเร็จ เพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตยและเพื่อส่งมอบนโยบายในการยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนทุกคน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net