Skip to main content
sharethis

แอมเนสตี้ฯ เปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกยังน่าเป็นห่วง ประเด็นในไทยสิทธิเสรีภาพการแสดงออกยังไม่ถูกแก้ไขมีคดีจากการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุม แม้ว่าจะมีการพัฒนาขึ้นบางด้านเช่นสิทธิ LGBTQ+ แต่ยังคงมีความพยายามกลบลืมกรณีการลอยนวลพ้นผิดเช่นเหตุกาณ์ตากใบ

24 เม.ย.2567 ที่โรงแรมอีสตินแกรนด์ สาทร แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย แถลงเปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกประจำปี 2566/67 

ประเด็นหลักที่ถูกนำเสนอในงานครั้งนี้คือสถานการณ์สิทธิท่ามกลางความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธประหัตประหารทั้งในสงครามยูเครนกับรัสเซีย อิสราเอลกับฮามาส การเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติและชาติพันธุ์

พุทธณี กางกั้น ประธานกรรมการแอมเนสตี้ฯ กล่าวถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในระดับโลกว่าในปีที่ผ่านมาเราพบทั้งความขัดแย้งโดยการใช้อาวุธ การเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติและชาติพันธุ์ เรื่องการต่อต้านสิทธิทางเพศ ผลกระทบทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ รวมถึงประเด็นผลกระทบจากเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) ที่แม้ว่าบางประเด้นจะมีการพัฒนาดีขึ้นบ้างแต่ก็ยังอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง และการพัฒนาที่เพิ่มขึ้นนั้นก็ไม่สามารถเรียกได้ว่าพัฒนาขึ้นมาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากนัก

ผลกระทบจากความขัดแย้งทางอาวุธ ทั้งในกรณีสงครามยูเครนรัสเซีย อิสราเอลกับฮามาส ความขัดแย้งในพม่าและซูดาน ได้ทำให้เกิดผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมากในประเทศเหล่านี้ และยังทำให้เกิดผู้พลัดถิ่นในประเทศไปจนถึงผู้หนีภัยสงคราม 

ในกรณีที่อิสราเอลกับฮามาส แม้ว่าการโจมตีของฮามาสจะทำให้มีผู้เสียชีวิตและมีการจับตัวประกัน แต่การตอบโต้ของอิสราเอลก็เป็นไปโดยไม่ได้สัดส่วนและทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายมากกว่าจนมีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตมากกว่า 12,000 คน และอีก 1.9 ล้านคนกลายเป็นผู้พลัดถิ่น

นอกจากนั้นปีที่ผ่านมาแอมเนสตี้ฯ พบว่า ความรุนแรงที่เกิดโดยรัฐบาลหรือกลุ่มติดอาวุธและมีการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศด้วยเช่น อัฟกานิสถาน บูกินาฟาโซ แคมเมอรูน แอฟริกากลาง เป็นต้น

นอกจากนั้นในประเด็นการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ก็ยังเป็นประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ เนื่องจากการเลือกปฏิบัติแบบสุดโต่งในพื้นที่แถบนั้นคือรากเหง้าของปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น นอกจากนั้นยังพบว่าประเทศมหาอำนาจหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ หลายประเทศในยุโรปมีการตัดสินใจต่อการดำเนินการกับอิสราเอลกับปาเลสไตน์อย่างสองมาตรฐาน อีกทั้งบางรัฐยังออกมาตรการมาจำกัดการแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อปาเลสไตน์ เช่น ออสเตรีย เยอรมัน ฮังการี โปแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น

พุทธณีกล่าวถึงปัญหาประสิทธิภาพของกลไกระหว่างประเทศอย่าง คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ว่าการทำงานของกลไกนี้ในปีที่แล้วทำงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพอย่างประเด็นการขอให้หยุดยิงในกาซ่าที่สหรัฐฯ วีโต้ และยังมีการเลือกปฏิบัติโดยการเลือกตรวจสอบบางประเทศแต่ไม่ตรวจสอบบางประเทศ

การต่อต้านความยุติธรรมทางเพศอย่างเช่นประเด็นการทำแท้งถูกกฎหมาย ในปีที่ผ่านมามี 15 รัฐในสหรัฐฯ ออกกฎหมายไม่อนุญาตให้ทำแท้งหรือมีข้อจำกัดที่ทำให้ทำแท้งได้ยากหรือปัญหาเดียวกันนี้ในโปแลนด์ นอกจากนั้นในอัฟกานิสถานก็ห้ามเด็กและผู้หญิงเข้าเรียน ไปจนถึงมีการปราบปรามผู้หญิงที่ไม่คลุมฮิญาบ อย่างไรก็ตามฝรั่งเศสก็มีประเด็นห้ามใส่ฮิญาบด้วยเช่นกัน  

ในประเด็นนี้มีด้านที่เกิดการพัฒนาอยู่เช่นการออกกฎหมายมาจัดการเหตุรุนแรงทางเพศ เช่น ญี่ปุ่น อุซเบกิสถาน เป็นต้น

ทั้งนี้สิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือ LGBTQ+ ก็พบว่ามีความก้าวหน้ามากขึ้นในบางประเทศมีเริ่มออกกฎหมายมาคุ้มครองสิทธิ แต่ก็ยังมีอีก 62 ประเทศทั่วโลกที่มีการปราบปรามลิดรอนสิทธิกลุ่ม LGBTQ+

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาส ยูเอ็นก็สร้างตัวชี้วัดด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG) มา แต่มีประเทศในโลกเพียงแค่ 12% ที่เข้าสู่กระบวนการ อีกทั้งยังมีประชากร 500 กว่าล้านคนที่ดำรงชีวิตอยู่ใต้เส้นความยากจน มีประเทศที่เสี่ยงต่อการตกเป็นหนี้ และประชาชนในกาซ่าขณะนี้ก็อยู่ในภาวะอดอยาก อย่างไรก็ตามคนทำงานด้านสิ่งแวดล้อมก็ยังถูกคุกคามข่มขู่ด้วย

ประเด็นสุดท้ายในรายงานคือภัยคุกคามจากเทคโนโลยีและเอไอ อย่างการสอดแนมละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เช่น ในอิสราเอลใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้ามาใช้ในการจำกัดสิทธิชาวปาเลสไตน์ ไปจนถึงการใช้สปายแวร์ในหลายประเทศ 

นอกจากนั้นยังเกิดการละเมิดสิทธิจากบริษัทบิ๊กเทคฯ ด้วย พบว่าลักษณะของ TikTok ทำให้เกิดการเสพติดและเกิดการฆ่าตัวตายสูงขึ้น  แอพ X ถูกนำมาใช้ต่อต้าน LGBTQ+ และในกรณีของ META ในสหภาพยุโรปได้มีการสอบสวนพบว่ามีการสอดแนมผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียของบริษัท นอกจากนั้นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยังถูกนำมาใช้ในการโจมตีชนกลุ่มน้อยในบางประเทศด้วย

ส่วนประเด็นเรื่อง เอไอ แม้ว่าในสหภาพยุโรปจะออกมาตรการในการควบคุมการใช้ เอไอ แต่ก็ยังไม่ได้มีประสิทธิภาพมากพอ

ส่วนสถานการณ์ในไทย ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ฯ เป็นผู้กล่าวรายงานส่วนของไทยว่า ในสถานการณ์หลังการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาล แม้เวลาจะเปลี่ยนไปแต่ทางการไทยก็ยังปราบปรามการใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมอยู่ มีเด็กหลายร้อยคนที่ถูกดำเนินคดีอาญาจากการใช้สิทธิแสดงออก มีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรม หรือการคุกคามรูปแบบอื่นๆ แม้กระทั่งแอมเนสตี้ฯ เวลากิจกรรมก็จะมีเจ้าหน้าที่มาสอดแนมอยู่

แม้ไทยจะออกกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและบังคับสูญหายออกมาแล้วก็ตามแต่ก็ยังไม่ได้ส่งผลให้เกิดการรับผิดชอบที่มีประสิทธิภาพจากกรณีการหายตัวไปของนักกิจกรรมชนเผ่าอย่างบิลลี่

ไทยได้จัดตั้งกลไกใหม่ในการคัดกรองผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยแต่หลายคนก็ยังถูกกักตัวอยู่และอยู่ในสภาพที่เลวร้ายจนทำให้ปีที่แล้วมีชาวอุยกูร์ 2 คน เสียชีวิตในสถานกักตัว

นอกจากนั้นสถานการณ์ในไทยในปีที่ผ่านมายังมีการเลือกตั้งทั่วไปมาแล้วแม้ว่าในผลการเลือกตั้งพรรคก้าวไกลจะได้คะแนนเสียงมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งแต่ก็ไม่สามารถรวมเสียงในสภาเพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้และในเวลาต่อมาพรรคเพื่อไทยก็รวมเสียงกับพรรคการเมืองอื่นๆ จัดตั้งรัฐบาลจนได้สำเร็จโดยมีสองพรรคการเมืองที่มีความใกล้ชิดกับกองทัพ

ด้านสิทธิเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมก็ยังมีการปราบปรามมีจำนวน 1,938 คนถูกดำเนินคดีจากการเข้าร่วมการชุมนุมตั้งแต่ปี  2563 และมี 1,400 กว่าคนที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่เมื่อมีการยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในปี 2565 แล้วก็ยังมีคนโดนคดีม. 112 จำนวนมากขึ้นจนถึงธันวาคมปี 2566 มีคนถูกดำเนินคดีทั้งหมด 259 คดี ในจำนวนนี้มีอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนที่ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปีในคดีม.112 เนื่องจากการปราศรัยที่มีการเรียกร้องเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันกษัตริย์และเขายังมีคดีในมาตรา 112 นี้อีก 13 คดีไปจนถึงการถูกปฏิเสธการประกันตัว

นอกจากอานนท์แล้วยังมีประชาชนอีก 23 คนถูกควบคุมตัวจากการถูกดำเนินคดีด้วย และในปีที่ผ่านมายังมีกรณีของทานตะวัน ตัวตุลานนท์และอรวรรณ ภู่พงษ์ ที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 และต้องอดอาหารประท้วงจนถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลด้วย

ตั้งแต่ปี 2563 มีการดำเนินคดีกับผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ด้วยข้อหาพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 195 คน โดยหนึ่งในนั้นคือเอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมทางการเมืองด้วยเหตุผลที่กำกวม

ในประเด็นสิทธิเด็กในการแสดงออกและการชุมนุม ปีที่ผ่านมาพบว่าเด็กถูกปราบปรามด้วยหลายวิธีการทั้งการดำเนินคดีอาญา สอดแนม หรือใช้วิธีการข่มขู่ ตั้งแต่ปี 2563 มีเด็กถูกดำเนินคดี 286 คน และ “หยก” เด็กอายุ 15 ปีถูกจับกุมดำเนินคดีจากการเข้าร่วมการชุมนุมในปี 2565 และยังถูกควบคุมตัวก่อนการพิจารณาคดีถึง 51 วันก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งให้ปล่อยตัว 

อีกทั้งยังมีกรณีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำพิพากษาจำคุก “สายน้ำ” ในข้อหาม.112 1 ปีแต่ให้รอลงอาญา โดยที่ตอนเกิดเหตุนั้นสายน้ำอายุแค่สิบหกปี 

มีนักปกป้องสิทธิถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนแม้จะเป็นในทางออนไลน์ คือกรณีของอังคณา นีละไพจิตรและอัญชนา หีมมิหน๊ะ ที่ผู้เชี่ยวชาญของยูเอ็นเคยทำหนังสือถึงรัฐบาลไทยว่าขาดมาตรการคุ้มครองและความรับผิดชอบต่อการข่มขู่ทางออนไลน์ แต่ภายหลังศาลแพ่งก็มีคำพิพากษายกฟ้องคดีที่ทั้งสองคนฟ้องกองทัพและสำนักนายกรัฐมนตรี

อีกทั้งยังมีกรณีสปายแวร์เปกาซัสสอดแนมโจมตีเข้าไปในมือถือของคน 35 คนทั้งนักปกป้องสิทธิ นักการเมือง นักกิจกรรมภาคประชาสังคม แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลล้มเหลวในการปกป้องประชาชนของตัวเองและคุ้มครองเหยื่อที่ถูกสอดแนม

อย่างไรก็ตาม มีเรื่องที่มีความก้าวหน้ามากขึ้นคือการป้องกันการซ้อมทรมานและบังคับสูญหายที่ในเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้วพ.ร.บ.ป้องกันปราบปรามการซ้อมทรมานและบังคับสูญหายเริ่มมีผลบังคับใช้แล้ว แต่กฎหมายนี้ก็ยังไม่ได้กำหนดห้ามรับฟังข้อมูลที่ได้จากการซ้อมทรมานเอาไว้

นอกจากนั้นในกรณีอุ้มหาย “บิลลี่” นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยง ศาลก็ยังมีคำพิพากษายกฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ 4 คนในข้อหาลักพาตัวและสังหารบิลลี่ด้วย แม้ว่าศาลจะลงโทษเจ้าหน้าที่หนึ่งคนจากความผิดฐานไม่รายงานการควบคุมตัวบิลลี่ต่อตำรวจให้จำคุก 3 ปีแต่ก็ให้ประกันตัวในเวลาต่อมา

ประเด็นเรื่องผู้ลี้ภัย แม้ไทยจะมีการออกระเบียบในการคัดกรองเพื่อให้การคุ้มครองแก้ผู้ลี้ภัยและคนที่กำลังขอการคุ้มครองเพื่อไม่ให้มีการดำเนินคดีและระเบียบมีผลบังคับใช้แล้ว แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมแรงงานข้ามชาติจากพม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ทำให้บุคคลจากประเทศเหล่านี้ไม่ได้รับการคุ้มครอง นอกจากนั้นระเบียบยังมีข้อกำหนดที่ให้ปฏิเสธการคุ้มครองได้ด้วยการอ้างประเด็นความมั่นคง

ประเด็นสิทธิความหลากหลายทางเพศ รัฐสภาไทยได้พิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่ได้รับการสนับสนุนจาก สส.อย่างท้วมท้นแต่ก็ยังต้องเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาอีกหลายวาระก่อนจะประกาศใช้ เป็นนิมิตหมายที่เป็นความก้าวหน้า 

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาที่พยายามถูกกลบและถูกลืมคือเรื่องลอยนวลพ้นผิด ในกรณีตากใบตั้งแต่ปี 2547 ที่มีผู้เสียชีวิตจากการถูกยิงและยังมีผู้เสียชีวิตที่เกิดขึ้นหลังจากการจับกุมผู้ที่ออกมาเรียกร้องให้ปล่อยตัวชาวมลายูมุสลิม แต่จนถึงวันนี้ยังไม่มีผู้รับผิดชอบต่อการเสียชีวิตที่เกิดขึ้น 

ปิยนุชกล่าวว่าทางแอมเนสตี้ฯ อยากจะขอให้ช่วยกันติดตามในประเด็นเหล่านี้ต่อไป และทางแอมเนสตี้ฯ ก็ยังมีข้อเสนอต่อรัฐบาลไทยด้วย ในประเด็นดังต่อไปนี้

สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ

  • ยกเลิกการฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาต่อบุคคลที่ถูกตั้งข้อหาความผิดตามกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเนื่องจากการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ เช่น คดีที่เกิดจากคำประกาศห้ามการรวมตัวในที่สาธารณะภายใต้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งปัจจุบันถูกยกเลิกไปแล้ว รวมถึงสั่งไม่ฟ้องคดีและปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังทุกคนโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข
  • งดเว้นจากการตั้งข้อหาเพิ่มเติมต่อบุคคลที่เผชิญข้อหาเพียงเพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมประท้วงโดยสงบ และงดเว้นจากการดำเนินคดีอาญาและการห้ามแบบเหมารวมต่อการเผยแพร่ข้อมูล รวมถึงการใช้หลักเกณฑ์ที่กำกวม และคลุมเครือ เช่น “ข่าวปลอม” หรือ “การเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน” ซึ่งอาจถูกใช้ในการจำกัดสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกได้
  • สอบสวนและดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายที่ต้องสงสัยว่าใช้กำลังในการสลายหรือควบคุมการชุมนุมประท้วงสาธารณะโดยมิชอบด้วยกฎหมายและที่ขัดกับหลักการพื้นฐานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธโดยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย โดยใช้กระบวนการที่เป็นไปตามมาตรฐานการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมระหว่างประเทศ รวมถึงให้การเยียวยาที่มีประสิทธิภาพแก่ผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบที่ได้รับผลกระทบ และผู้เสียหายจากการใช้กำลังโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือการคุกคาม ข่มขู่ และสอดแนมจากเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย
  • แก้ไขหรือยกเลิกข้อบทบัญญัติที่เป็นปัญหาในกฎหมาย ซึ่งถูกนำมาใช้เพื่อปราบปรามผู้ที่ใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก รวมถึงกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112) กฎหมายยุยงปลุกปั่น (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116) ความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาท (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328) พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และกฎหมายว่าด้วยการละเมิดอำนาจศาล เพื่อรับประกันว่า กฎหมายต่างๆ สอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
  • ถอนร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. ... และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. ... จากการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีหรือสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงถอนมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องทุกฉบับ โดยเฉพาะมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 และ 4 มกราคม  2565

สิทธิเด็ก

  • รับประกันให้มีวิธีปฏิบัติการที่สอดคล้องกับการคุ้มครอง เคารพ และเติมเต็มสิทธิเด็กซึ่งมีความเชื่อมโยงกัน เพื่อส่งเสริมความสามารถของเด็กในการมีส่วนร่วมในการชุมนุมประท้วงสาธารณะอย่างสอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
  • ยกเลิกการดำเนินคดีอาญาต่อผู้ชุมนุมประท้วงที่เป็นเด็กที่ถูกตั้งข้อหาเนื่องจากการมีส่วนร่วมในการชุมนุมประท้วงโดยสงบหรือการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก
  • รับประกันว่า เด็กจะได้รับความคุ้มครองในเชิงรุกจากภัยอันตรายใดๆ ในบริบทของการชุมนุมประท้วงสาธารณะ ผ่านกลไกที่ละเอียดอ่อนและมีนวัตกรรม แทนการจำกัดสิทธิโดยไม่จำเป็น
  • รับประกันว่า เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะได้รับการฝึกอบรมในประเด็นสิทธิเด็กในการชุมนุมประท้วงโดยสงบ
  • จัดการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพแก่ผู้ชุมนุมประท้วงที่เป็นเด็กที่รับผลกระทบจากการใช้กำลังโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือการคุกคาม ข่มขู่ และสอดแนมจากเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย

นักปกป้องสิทธิมนุษยชน

  • ดำเนินการสอบสวนโดยทันทีอย่างเป็นอิสระ เป็นธรรม และโปร่งใสในกรณีที่เกี่ยวกับการคุกคามทางดิจิทัลและทางกายภาพทุกกรณีต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
  • รับประกันสิทธิในการเข้าถึงการเยียวยาที่มีประสิทธิผล ซึ่งรวมถึงการเข้าถึงความยุติธรรม สำหรับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เรียกร้องการรับผิดและการเยียวยาจากรัฐบาล โดยเฉพาะนักปกป้องสิทธิผู้หญิง ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ คนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง
  • พัฒนาและบังคับใช้หลักจรรยาบรรณว่าด้วยการสื่อสารสาธารณะในหมู่เจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อรับประกันว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการคุกคามทางออนไลน์ ซึ่งรวมไปถึงการใช้ข้อมูลเท็จที่มีมิติทางเพศกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ
  • บังคับใช้และนำมาตรการทางกฎหมายและนโยบายที่ครอบคลุมไปปฏิบัติ เพื่อตระหนักถึง ป้องกัน บันทึก สอบสวน และแก้ไขการคุกคามทุกรูปแบบ และให้การเยียวยาและการสนับสนุนแก่ผู้รอดชีวิต

สิทธิความเป็นส่วนตัว

  • ดำเนินการตรวจสอบอย่างเป็นอิสระ รวดเร็ว เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ สำหรับกรณีการใช้เครื่องมือดิจิตัลโดยมิชอบด้วยกฎหมายในการสอดแนมติดตาม อาทิ สปายแวร์เพกาซัส (Pegasus) และเทคโนโลยีอื่นๆ ที่ใช้ในการสอดแนมกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษจากการถูกละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว
  • ประกาศห้ามการใช้สปายแวร์ที่รุกล้ำความเป็นส่วนตัวอย่างสูง ประเภทที่ไม่สามารถจำกัดการใช้งานตามความจำเป็นและให้ได้สัดส่วนต่อจุดประสงค์และเป้าหมายเฉพาะได้ หรือที่ไม่สามารถตรวจสอบประเมินการใช้งานได้อย่างอิสระได้
  • นำกรอบสิทธิมนุษยชนไปใช้กำกับดูแลการสอดแนมเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ประกาศระงับการซื้อ ขาย โอน และใช้สปายแวร์ทุกชนิดเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีการบังคับใช้กรอบดังกล่าว
  • ดำเนินการเชิงรุกเพื่อเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสัญญาระหว่างรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ของรัฐทั้งหมดทุกฉบับ รวมถึงหน่วยงานความมั่นคงและบริษัทรักษาความปลอดภัยเอกชน
  • ให้การเยียวยาที่ทันทีและมีประสิทธิภาพแก่บุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการสอดแนมทางดิจิทัลอย่างสอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
  • ทบทวนพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมเชพิวเตอร์ พ.ศ.2550 พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ.2562 พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการสอดแนม เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ พร้อมรับประกันว่า กฎหมายดังกล่าวจะให้ความคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวอย่างมีประสิทธิภาพ

การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ และการบังคับบุคคลให้สูญหาย

  • ดำเนินการสอบสวนโดยทันทีต่อกรณีการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ และการบังคับบุคคลให้สูญหายโดยฉับพลัน อย่างรอบด้าน เป็นอิสระ และมีประสิทธิภาพ หากเหมาะสม ให้มีการดำเนินคดีตามขั้นตอนทางกฎหมายที่ได้มาตรฐานการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมระหว่างประเทศ
  • สำหรับกรณีการบังคับบุคคลให้สูญหาย เจ้าหน้าที่ต้องรับประกันว่า ภาระในการพิสูจน์จะไม่ไปจำกัดสิทธิของผู้เสียหายและครอบครัวในการเข้าถึงความยุติธรรมอย่างไม่เหมาะสม พร้อมแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับที่อยู่ของผู้เสียหายที่สามารถระบุได้และที่ถูกเปิดเผยให้แก่ครอบครัวและบุคคลผู้ซึ่งเป็นที่รักอย่างตรงไปตรงมาและรวดเร็ว
  • แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เพื่อรับประกันความสอดคล้องของตัวบทกฎหมายกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมถึงกำหนดบทบัญญัติเพื่อ (1) ห้ามนำข้อมูลที่ได้มาจากการทรมาน การปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ และการบังคับให้สูญหายมาใช้เป็นพยานหลักฐานในกระบวนการพิจารณาคดี และ (2) ห้ามการนิรโทษกรรมอาชญากรรมเหล่านี้ รวมถึง (3) ปรับปรุงแก้ไขโครงสร้าง องค์ประกอบ และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เพื่อรับประกันประสิทธิภาพ ความเป็นอิสระ และความเป็นกลาง 
  • ให้สัตยาบันรับรองทันทีต่อพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ โดยปราศจากข้อสงวนใดๆ

สิทธิของผู้ลี้ภัยและผู้เข้าเมือง

  • ภาคยานุวัติเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2549 และพิธีสารเลือกรับ พ.ศ. 2510 ทบทวนประกาศของคณะกรรมการพิจารณาคัดกรองผู้ที่ได้รับการคุ้มครอง หรือกลไกการคัดกรองระดับชาติ เพื่อรับประกันว่าจะให้การคุ้มครองแก่บุคคลทุกคนที่ขอลี้ภัยในประเทศไทย ไม่ว่าจะมีชาติกำเนิดจากที่ใดก็ตาม โดยรับประกันว่า คำนิยามของ “ความมั่นคงแห่งชาติ” จะไม่ถูกนำไปใช้กีดกันผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยบางกลุ่มออกจากความคุ้มครองของกลไกโดยเลือกปฏิบัติ และให้ความคุ้มครองทางตุลาการต่อผู้ยื่นคำร้องให้เข้าถึงการยื่นอุทธรณ์กระบวนการหรือการทบทวนผลคำตัดสินภายใต้กลไก 
  • ปล่อยตัวผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยที่ถูกควบคุมตัวเนื่องจากสถานะของการเข้าเมืองไม่ปกติ แสวงหาแนวทางอื่นนอกจากการควบคุมตัวในการบังคับใช้กฎหมายตรวจคนเข้าเมือง โดยให้การควบคุมตัวเป็นมาตรการในกรณียกเว้น และต้องมีการประเมินเป็นรายกรณีเกี่ยวกับความต้องการด้านมนุษยธรรมและความเสี่ยงหากพวกเขาได้รับการปล่อยตัว ให้มีการพิจารณาทบทวนเป็นระยะ และให้ควบคุมตัวในระยะเวลาสั้นสุดเท่าที่จำเป็น รวมถึงริเริ่มการสอบสวนกรณีการเสียชีวิตของผู้ถูกคุมขังชาวอุยกูร์โดยทันที พร้อมเปิดเผยข้อมูลจำนวนผู้ที่ถูกคุมขังต่อสาธารณะ
  • รับประกันว่า ผู้ขอลี้ภัย ผู้ลี้ภัย และผู้อพยพจะไม่ถูกเนรเทศ ส่งตัวกลับ หรือบังคับให้เดินทางกลับประเทศบ้านเกิด ที่ตนอาจเผชิญประหัตประหาร การทรมาน ความรุนแรง หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงรูปแบบอื่นๆ โดยคำนึงถึงหลักการไม่ส่งกลับ (non-refoulement) ตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และความคุ้มครองทางกฎหมายในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 
  • ดำเนินการสอบสวนโดยเร่งด่วน รอบด้าน มีประสิทธิภาพ เป็นกลาง และเป็นอิสระ ต่อกรณีการปราบปรามข้ามชาติ รวมถึงการสังหาร การสูญหาย และการลักพาตัวนักกิจกรรมที่หลบหนีมาพึ่งพิงขอลี้ภัยที่ประเทศไทย โดยให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
  • ให้ยุติข้อตกลงอย่างเป็นทางการระหว่างรัฐบาล และมาตรการอื่นๆ อันเป็นการเอื้ออำนวยให้เกิดการปราบปรามข้ามชาติต่อการดำเนินงานโดยชอบธรรมด้านสิทธิมนุษยชน

สิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ

  • ให้รัฐสภาผ่านร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ ร่างพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม อย่างเร่งด่วน เพื่อนำไปบังคับใช้ต่อไป พร้อมประกันว่ากฎหมายดังกล่าวรับประกันสิทธิในการมีครอบครัวและการสมรสโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

การลอยนวลพ้นผิด

  • รับประกันสิทธิในการเข้าถึงการเยียวยาที่มีประสิทธิผล ซึ่งรวมถึงการเข้าถึงความยุติธรรม แก่บุคคลทั้ง 85 คนที่ถูกยิงหรือเสียชีวิตขณะถูกจับกุมในเหตุการณ์ “ตากใบ” ในปี พ.ศ. 2547
  • ให้การคุ้มครองผู้รอดชีวิตและครอบครัวที่ต้องการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในคดีนี้
  • ยุติการบังคับใช้กฎอัยการศึก กฎหมายรักษาความมั่นคงภายใน และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงแก้ไขกฎหมายดังกล่าว รวมถึงประกาศต่างๆ ที่ออกมาภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อรับประกันว่าการลิดรอนสิทธิในการมีเสรีภาพในกฎหมายเหล่านั้นสอดคล้องกับพันธกรณีตามสนธิสัญญา  โดยคำนึงถึงความเห็นทั่วไป ฉบับที่ 35 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิในการมีเสรีภาพและความปลอดภัยของบุคคล

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net