Skip to main content
sharethis

เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ยืนยันเปิดสภาสมัยวิสามัญ แค่ถกงบฯ 2568 ยังไม่มีแก้กฎหมายความเป็นอิสระ ธปท. แต่ข้องใจเป็นหน่วยงานเดียวที่ขวางรัฐบาล ไม่ว่าจะเสนออะไรไป - สส.ก้าวไกล ชี้รัฐบาลอาจอยากกลับสู่ยุคที่ผู้ว่าฯ ธปท. ปลดง่าย-คุมง่าย หวัง 'พิชัย' รมว.คลังใหม่ ประสานงานได้ดีกว่า 'เศรษฐา'

6 พ.ค. 2567 เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่านายสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่จะมีการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ ถึงการแก้ไขกฎหมาย ปรับบทบาทท่าทีของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือไม่ ว่าการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญในครั้งนี้จะเป็นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ยังไม่ได้มีการพูดคุยถึงการปรับแก้ไขกฎหมายใด ๆ และตอนนี้ยังไม่มีการพูดคุยถึงการแก้ไขกฎหมายบทบาทของ ธปท.

สิ่งที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พูดบนเวที “งาน 10 เดือนที่ไม่รอทำต่อให้เต็ม 10” นั้น เป็นเพียงความคิดเห็น ซึ่งจริง ๆ แล้ว ทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล หรือฝ่ายค้านเองที่พยายามเสนอแนะข้อมูลต่าง ๆ เพื่อที่จะทำให้พี่น้องประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่าย

“หากเรามองในมุมที่ไม่มีอคติใด ๆ เลย และสังเกตได้ว่าจะมีอยู่เพียงหน่วยงานเดียวที่ไม่ว่าจะเสนออะไรไปก็จะขวางความคิดเห็นของรัฐบาล อีกทั้งยังไม่มีการเสนอแนะความคิดเห็นให้รัฐบาล ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร หากเปิดใจให้กว้างก็จะเห็นว่าเราไม่ได้จะโจมตี ธปท.แต่อย่างใด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเช่นนั้นจริง ๆ เพราะเป็นเพียงหน่วยงานเดียว ไม่รู้ร้อนรู้หนาว แม้กระทั่งธนาคารพาณิชย์ก็ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลที่จะปรับลดดอกเบี้ยทันที” นายสรวงศ์กล่าว

นายสรวงศ์กล่าวอีกว่า สำหรับการแก้ไขกฎหมายที่จะปรับลดบทบาทของ ธปท.นั้น ก็จะต้องมีการพูดคุยกันในพรรคก่อน ส่วนตัวมองว่าการแก้กฎหมายนั้นไม่ใช่จะนำ ธปท.เข้ามาอยู่ภายใต้การดำเนินงานของรัฐบาลอย่างแน่นอน ซึ่งการทำงานอย่างอิสระของแบงก์ชาติเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว

แต่การเป็นอิสระนั้นจะต้องดูสภาพแวดล้อมภายนอกด้วย หากมองย้อนกลับไปจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาก็ไม่ใช่ว่า ธปท.จะตัดสินใจผิดพลาด ทั้งนี้ รัฐบาล หรือนายกรัฐมนตรีเองก็ไม่ใช่ว่าจะไม่เชื่อในการนำเสนอของ ธปท. แต่ ธปท.ไม่ได้มีข้อเสนอใด ๆ มา นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้น

นายสรวงศ์กล่าวต่อว่า ขณะนี้สื่อมวลชนได้นำคำพูดของ น.ส.แพทองธาร มาเป็นประเด็น แต่ไม่มองว่าสิ่งที่ออกมาพูดนั้น รัฐบาลได้พยายามในทุกวิถีทาง และนายกรัฐมนตรีเองก็ถึงขั้นที่ขอความกรุณาให้ ธปท.พิจารณาในการลดดอกเบี้ย

เมื่อถามว่า มองว่า ธปท.มีความเป็นอิสระเกินไปในการดำเนินการหรือไม่ เพราะจากที่ผ่านมาก็ปฏิเสธที่จะดำเนินการร่วมกับรัฐบาล นายสรวงศ์กล่าวว่า เป็นอิสระหรือไม่นั้นไม่ใช่ประเด็น ปัญหาไม่ได้อยู่ที่หน่วยงาน แต่ปัญหาอยู่ที่ตัวบุคลากรมากกว่า ซึ่งผู้ว่าฯ ธปท. มีอคติอะไรกับรัฐบาลหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ ในการเข้าประชุมในแต่ละครั้งนั้นก็ดูเหมือนจะไม่ได้ให้เกียรติอะไรรัฐบาลเลย เพราะจากการประชุมที่ผ่านมาส่งเพียงตัวแทนเข้ามาร่วมประชุมเท่านั้น ซึ่งแสดงออกได้ชัดว่า ผู้ว่าฯ ธปท.ไม่ต้องการร่วมสังฆกรรมกับรัฐบาล

“การออกมาพูดของรัฐบาล หรือหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ไม่ใช่การพูดครั้งแรก แต่เป็นการขอร้องแล้วขอร้องอีก เป็นการขอพูดคุยกันในหลาย ๆ ครั้ง แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ได้รับความร่วมมือเลย ทำให้เห็นว่า ธปท.เป็นเอกเทศจนไม่สนใจนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล สิ่งที่ผมพูดมาทั้งหมดนี้ผมไม่ได้พูดในนามนักเศรษฐศาสตร์ หรือนายธนาคาร แต่พูดในฐานะประชาชน ว่าในขณะที่ทุกคนกำลังช่วยกันอยู่นั้น มีเพียงหน่วยงานเดียวที่ค้านทุกอย่าง และสิ่งที่ น.ส.แพทองธารพูดนั้น ต้องการสื่อให้เห็นว่าความเป็นอิสระของ ธปท.มันเกี่ยวข้องต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศ” นายสรวงศ์กล่าว

สส.ก้าวไกล ชี้รัฐบาลอาจอยากกลับสู่ยุคที่ผู้ว่าฯ ธปท. ปลดง่าย-คุมง่าย

เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานว่านายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะอดีตรองผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงสถานการณ์ระหว่างฝ่ายการเมืองรัฐบาลกับ ธปท. ในขณะนี้ ว่า ความจริงไม่ใช่เรื่องใหม่ ความพยายามที่รัฐบาลจะแทรกแซงธนาคารกลางมีมาโดยตลอด ทั้งไทยหรือต่างประเทศ

โดยหลักสากลคือ ธนาคารกลางต้องมีความเป็นกลาง และดำเนินนโยบายได้อย่างอิสระ ไม่ถูกแทรกแซงจากฝ่ายบริหาร เพราะมีเป้าหมายต่างกัน เป้าหมายของฝ่ายบริหารคือ มองในระยะสั้น ทำอย่างไรให้ได้รับเสียงสนับสนุนในการเลือกตั้งเป็นหลัก ขณะที่เป้าหมายของธนาคารกลางคือต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับสาธารณะ ทั้งไทยและต่างประเทศ ไม่ได้มุ่งสร้างความนิยม แต่ต้องรักษาเสถียรภาพของเงินบาท

"อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ในปัจจุบัน ดูเหมือนจะไม่เข้าใจหลักการนี้ ไม่เข้าใจเรื่องการมีโครงสร้างธรรมาภิบาลการบริหารที่ดี และดูเป็นประเด็นทางการเมืองที่พยายามโยนความผิดไปให้ทาง ธปท. มากกว่า" นายชัยวัฒน์ กล่าว

สำหรับผลกระทบจากกรณีที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พูดบนเวที ‘งาน 10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10 ’ ในเชิงกดดัน ธปท. นั้น นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ส่งผลแน่นอน อย่างน้อยข่าวที่ออกไปก็ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ จะมองว่ารัฐบาลไทยกำลังพยายามแทรกแซงการทำงานของธนาคารกลางหรือไม่ จึงเป็นสิ่งที่ยิ่งทำให้ ธปท. ต้องยืนตรงในหลักการ และหนักแน่นว่าไม่ได้ถูกแทรกแซง ไม่เช่นนั้นจะสูญเสียความเชื่อมั่น และทำให้คนตีความไปได้ว่ารัฐบาลไทยสามารถแทรกแซงการทำงานของธนาคารกลางได้ ซึ่งความจริงไม่ใช่วิธีการทำงานที่ดีหรือควรทำ

"รัฐบาลมอบหมายเป้าหมายให้ ธปท. ไปทำได้ ในเรื่องของกรอบเงินเฟ้อ หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวกับการทำให้เศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่อง หรือรักษาเสถียรภาพของเงินบาทและสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของ ธปท. เมื่อรัฐบาลมอบเป้าหมายไปแล้ว ก็ไม่ควรไปแทรกแซงวิธีดำเนินงาน หากไม่บรรลุเป้าหมายก็ต้องเรียกมาชี้แจงหรือพูดคุยว่าเพราะอะไร"

นายชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า เรื่องเงินเฟ้อของประเทศไทยก็มีความซับซ้อนที่รัฐบาลมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ คือนโยบายการอุ้มค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ การแทรกแซงราคาค่าสินค้า ที่ทำให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ เพราะต้องการดูแลค่าครองชีพของคนส่วนใหญ่ ดังนั้น จะไปโยนว่า ธปท. ไม่บรรลุกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ เป็นความผิดของ ธปท. อย่างเดียว ก็คงไม่ใช่ ควรมาดูรายละเอียดว่าไม่บรรลุเพราะอะไร

"แต่สิ่งที่ออกมาทำตอนนี้ ผมว่าเป็นประเด็นทางการเมืองที่ทาง ธปท. ดูจะแข็งขันในการไม่สนับสนุนการดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท รัฐบาลจึงอาจอยากกดดันเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงออกมาโจมตี ธปท. ในช่วงนี้หรือไม่" นายชัยวัฒน์ กล่าว

ส่วนจะมีความพยายามแก้ไขกฎหมายเพื่อให้การเมืองเข้าแทรกแซง ธปท. ได้มากขึ้น หรือไม่นั้น นายชัยวัฒน์ มองว่า อาจจะเป็นไปได้ หากดูจากน้ำเสียงของแกนนำพรรคเพื่อไทยตอนนี้ อาจมีความพยายามนำ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 มาแก้ เพราะกฎหมายให้ความคุ้มครองกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ผู้ว่าฯ ธปท.) มากเกินไป ทำให้ปลดยาก หากอยากจะปลดก็ต้องแก้กฎหมาย

นายชัยวัฒน์ กล่าวด้วยว่า ไม่รู้ว่าเป็นเจตนาในการขู่ หรือเจตนาจะทำอย่างนั้นจริงๆ แต่สาเหตุที่มีกฎหมายคุ้มครองผู้ว่าฯ ธปท. เพราะในอดีตก็เคยมีการแทรกแซงจากการเมืองมาหลายครั้ง และเป็นธรรมเนียมว่า หากมีการแทรกแซงทางการเมืองให้ผู้ว่าฯ ธปท. บังคับให้ทำสิ่งที่ไม่เห็นด้วย ผู้ว่าฯ ธปท. ก็มักจะลาออก

"รัฐบาลอาจจะอยากกลับไปสู่ในยุคที่ควบคุมผู้ว่าฯ ธปท. ได้ง่าย ปลดง่าย ก็อาจจะทำให้เขาเล็งไปที่การแก้ไขกฎหมายได้" นายชัยวัฒน์ ระบุ

ขณะที่การปรับ นายพิชัย ชุณหวชิร มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ จะทำให้การประสานงานกับ ผู้ว่าฯ ธปท. ดีขึ้นหรือไม่ นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า อย่างไรการประสานระหว่างกระทรวงการคลังและ ธปท. เป็นสิ่งที่ควรทำและหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว เมื่อนายกรัฐมนตรีเข้ามารับตำแหน่งใหม่ๆ ก็ได้เชิญผู้ว่าฯ ธปท. มาพูดคุย และระบุว่า จะเชิญมาพูดคุยกันบ่อยขึ้น แต่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะก็มีการโพสต์ข้อความในเชิงตำหนิ ผู้ว่าฯ ธปท. อยู่บ่อยๆ แต่คิดว่าอย่างไร เมื่อเปลี่ยนรัฐมนตรีมา ก็คาดหวังว่า จะมีวิธีการทำงานที่ประสานกันได้มากขึ้น

ส่วนแนวทางที่เป็นกลางเพื่อเสนอแนะไปยังรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ นายชัยวัฒน์ ระบุว่า แนวทางที่เป็นกลาง คือถ้าทุกฝ่ายโปร่งใส หากมีปัญหาหรือความเห็นต่างที่คุยกันได้ ก็เปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบ ให้ประชาชนช่วยตรวจสอบ รวมถึงสภาผู้แทนราษฎรที่ติดตามด้วยอยู่แล้ว ตลอดจนนักวิชาการสามารถแสดงความคิดเห็น และทำให้รู้ได้ว่าสิ่งที่ควรจะทำเป็นอย่างไร คงไม่ได้ต้องทำตามใจใครทั้งหมด ควรทำตามเหตุผลและข้อมูลที่มาสนับสนุนมากกว่า

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net