Skip to main content
sharethis

‘บวรศักดิ์’ ไม่เห็นด้วยมติสภา ชูข้อบังคับประชุม ค้านเสนอชื่อพิธาซ้ำ ด้าน ‘วิษณุ’ เคยบอกชื่อเดิมโหวตใหม่ทุกวันยังได้

19 ก.ค. 66 จากที่วันนี้ (19 ก.ค.) มีการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาวาระการเลือกบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่สอง เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคล ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ซึ่ง ส.ส. สุทิน คลังแสง พรรคเพื่อไทย ได้เสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เพียงชื่อเดียว

แต่ผ่านไปหลายชั่วโมงแล้ว สมาชิกรัฐสภาก็ยังถกเถียงเรื่องญัตติที่ ส.ส. อัครเดช พรรครวมไทยสร้างชาติ เสนอญัตติว่า ว่า การเสนอชื่อพิธาเพื่อให้พิจารณาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ถือเป็นการนำญัตติที่ตกไปแล้วมาพิจารณาหรือไม่ จึงขอให้ประธานสภาพิจารณาว่าเป็นการขัดข้อบังคับประชุมสภา ข้อที่ 41 หรือไม่

จนกระทั่งเมื่อเวลา 16.50 น. วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา แจ้งให้ที่ประชุมลงมติตีความข้อบังคับรัฐสภา ข้อที่ 41 โดยที่ประชุมรัฐสภา มีมติ 395 เสียง ต่อ 312 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง เห็นว่า การเสนอชื่อ พิธา เป็นการเสนอญัตติซ้ำ ส่งผลให้การเสนอชื่อพิธาซ้ำอีกครั้ง ไม่สามารถทำได้ จากนั้นประธานรัฐสภา ได้สั่งปิดการประชุม

ล่าสุดเมื่อเวลา 17.40 น. ศ.ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์แสดงความคิดเห็นถึงกรณีที่ประชุมรัฐสภา มีมติเสียงข้างมากเห็นว่า ญัตติเสนอชื่อพิธาเป็นญัตติที่ตกไปแล้ว ไม่สามารถเสนอชื่อพิธาซ้ำได้ ตามข้อบังคับการประชุมรัฐธรรมนูญ ข้อ 41 

บวรศักดิ์ ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการเอาข้อบังคับการประชุมสภามาอ้างเพื่อลดทอนความสำคัญของการพิจารณาเลือกนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายที่มีศักดิ์ใหญ่กว่า

“เอาข้อบังคับการประชุมมาทำให้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเป็นง่อย ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดการเลือกนายกไว้เป็นการเฉพาะแล้ว น่าสงสารประเทศไทย”

“ผิดหวัง ส.ส. คนที่ไปร่วมลงมติห้ามเสนอชื่อซ้ำ แม้คุณจะอยู่ฝ่ายค้านคุณก็ควรรู้ว่าเมื่อไหร่ต้องทิ้งความเป็นฝ่ายค้าน ทำสิ่งที่ถูกต้อง แต่การตีความของรัฐสภาไม่เป็นที่สุด คนที่คิดว่าสิทธิของตนถูกกระทบ ไปยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินได้ว่ามติรัฐสภาซึ่งเป็นการกระทำทางนิติบัญญัติขัดรัฐธรรมนูญได้ตามมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญ ถ้าผู้ตรวจการไม่ส่งศาล ผู้นั้นยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้”

“ผมจะรอดูคำร้องว่าการกระทำของรัฐสภาขัดรัฐธรรมนูญครับ และจะดูว่าศาลรัฐธรรมนูญว่ายังไง สอนรัฐธรรมนูญมาสามสิบกว่าปีต้องทบทวนแล้วว่าจะสอนต่อไหม?!?!?!”

ทั้งนี้หลังเลือกตั้งทั่วไป 4 วัน คือวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา โจทย์นี้ก็เป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามเช่นกัน โดยคนหนึ่งที่ตอบประเด็นคำถามนี้คือ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในทางกฎหมาย หากโหวตชื่อแคนดิเดตนายกฯคนใดคนหนึ่งไปแล้ว แต่ไม่ผ่าน จะสามารถนำชื่อเดิมกลับมาโหวตอีกได้หรือไม่นั้น วิษณุ กล่าวว่า “ได้ โหวตมันทุกวันนั่นแหละ ชื่อเดิมก็ได้”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net