Skip to main content
sharethis

'วิษณุ' ไม่รับร่วมคณะแก้รัฐธรรมนูญชุดภูมิธรรม แต่พร้อมให้คำปรึกษาเป็นกรณี บอกวันนี้สบายใจพ้นออกมาแล้วไม่อยากกลับไปเป็นบุคคลสาธารณะ ชี้แก้ไขรัฐธรรมนูญทีละรายมาตราดีกว่า พร้อมแนะแก้มาตรา 256 ลดขั้นตอนทำประชามติเหลือ 2 ครั้ง หวังลดงบประมาณ


วิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)

24 ก.ย. 2566 นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ เตรียมที่จะเทียบเชิญบุคคลสำคัญ เป็นคณะกรรมการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ขอบคุณที่ยังนึกถึง โดยเข้าใจว่าเป็นการถามนำของผู้สื่อข่าว แต่ทั้งนี้ต้องขอบคุณที่ยังนึกถึง แต่งานที่ทำถือว่าเป็นงานใหญ่ ซึ่งต้องใช้เวลาและยุ่งยาก ที่สำคัญอยู่ที่ความเห็นที่แตกต่าง ซึ่งอาจเกิดความขัดแย้ง แต่เมื่อพ้นตำแหน่งแล้วก็ไม่ควรที่จะหวนกลับไปเป็นบุคคลสาธารณะอีก เพราะการไปทำงานเช่นนี้ถือว่าเป็นบุคคลสาธารณะ และทุกวันนี้ก็มีความสบายอกสบายใจดีอยู่แล้ว แต่หากจะมาขอคำปรึกษาบางครั้งบางคราวตนเองก็ยินดี ซึ่งที่ผ่านมาก็มีอยู่บ้าง โดยเฉพาะรัฐมนตรีหน้าเก่าที่เคยอยู่ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งหลายคนมีความคุ้นเคยกัน จึงมีการโทรมาสอบถามในบางประเด็นที่สงสัย เช่น มติ ครม. เก่าๆ

ส่วนเรื่องโครงสร้างรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไรนั้น อยากให้รัฐบาลชุดนี้ไปคิดกันเอง ซึ่งตนเองมองว่ามีความยุ่งยากซับซ้อน แต่จะด้วยวิธีไหนก็ตามควรหลบหลีกการทำประชามติหลายครั้ง ทั้งนี้ ส่วนตัวเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา แม้จะแก้ทีละหลายมาตราก็ได้ หากเวลานี้อยากแก้หมวด3 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ ซึ่งประชาชนต้องการและหมวด4 หน้าที่ของรัฐ หมวด 5 หน้าที่ปวงชนชาวไทย หมวด6 แนวนโยบายแห่งรัฐ หมวด7 รัฐสภา ในเรื่องการเลือกตั้งรวมเขตแบ่งเขต สามารถแก้ไขได้ตามใจชอบ โดยไม่ต้องทำประชามติ

ส่วนหมวด 8 เป็นเรื่องของคณะรัฐมนตรีหมวด9เรื่องผลประโยชน์ความขัดแย้งกันหมวด 10 เรื่องของศาลหมวด 11 องค์กรอิสระ เรื่องเหล่านี้แก้ได้หมด แต่เมื่อเป็นหมวดองค์กรอิสระ หากการแก้ไขอำนาจหน้าที่ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม จะต้องไปเจอกับการทำประชามติ ดังนั้นตั้งแต่หมวด3-ถึงหมวด9 สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้หมด โดยเหตุผลที่ต้องทำประชามติเพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ได้บัญญัติว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการแก้รัฐธรรมนูญ เมื่อแก้ไขมาตรา 256 เสร็จก็จะไม่เจอกับการทำประชามติ แต่ถ้าไม่ใช้วิธีแก้แบบนี้ จะต้องไปทำประชามติว่าจะแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับเห็นด้วยหรือไม่ และต้องไปเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. เมื่อ ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จก็จะต้องทำประชามติทั้งประเทศ ซึ่งการทำประชามติแต่ละครั้งใช้เงินประมาณ 3,000 ล้านบาท ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเริ่มที่การแก้ไขมาตรา 256 หากพูดคุยกันไม่ได้ก็จะไม่ผ่าน เพราะตอนนี้ยังมีสมาชิกวุฒิสภาอยู่ อย่างน้อยการจัดทำประชามติควรมี2ครั้ง

นายวิษณุ กล่าวว่า หากต้องการแก้ไของค์กรอิสระ จะกระทบต่อคุณสมบัติและอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระตรงนี้ต้องทำประชามติ ส่วนตัวเห็นว่าควรจะเอาไว้แก้ไขทีหลังได้หรือไม่

'ภูมิธรรม' จ่อเคาะ 30 อรหันต์แก้ รธน.

ก่อนหน้านี้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ กล่าวถึงความคืบหน้าของการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการประสานบุคคลที่จะเข้าร่วมในคณะกรรมการชุดนี้ เบื้องต้นวางไว้ไม่เกิน 30 คน โดย

1.จะเป็นบุคคลที่มาจากหลากหลายสาขาอาชีพ
2. มีตัวแทนจากพรรคการเมืองให้มากที่สุดครอบคลุมทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน
3. รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะร่าง รวมทั้งออกกฎหมายลูกให้ทันภายในสี่ปีของรัฐบาลชุดนี้ เพื่อให้ทันใช้กติกาใหม่ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
4. รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีความเป็นประชาธิปไตยที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับ เมื่อร่างออกมาแล้วจะต้องเห็นพ้องต้องกัน และต้องมั่นใจว่าจะผ่านการพิจารณาของรัฐสภาด้วย
5. เรายืนยันชัดเจนว่าจะไม่มีการแตะต้องหมวด 1 หมวด 2 รวมถึงหมวดที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจ ซึ่งประเด็นนี้สำคัญที่สุด

นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้รับการตอบรับจากบุคคลในส่วนของพรรคการเมืองมาบ้างแล้ว อาทิ นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย นายนิกร จำนง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งทั้งคู่มีความเข้าใจกฎหมายและจับงานด้านรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด

ทั้งนี้ คาดว่ารายชื่อของคณะกรรมการฯ จะเรียบร้อยภายในวันที่ 29 ก.ย. ก่อนที่จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 3 ต.ค. อย่างไรก็ตาม เมื่อได้คณะกรรมการฯ ครบแล้ว ตนจะเรียกประชุมทันที เพื่อหารือถึงไทม์ไลน์ กรอบการทำงานที่ชัดเจน รวมถึงการจัดทำประชามติว่าจะเป็นอย่างไร ทำได้กี่ครั้ง คำถามจะเป็นอย่างไร ซึ่งถ้าจะให้เกิดความรวดเร็ว อาจจะต้องนำรัฐธรรมนูญปี 40 มาเป็นตัวตั้ง แต่จะต้องปรับเนื้อหาให้เข้ากับสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน ซึ่งทั้งหมดจะต้องหารือในคณะกรรมการฯ อีกครั้ง

“ผมยืนยันว่าเราจะจัดทำรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย โดยยึดแนวคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะต้องจัดทำอย่างไร โดยมีเงื่อนไขสำคัญว่าจะต้องไม่แตะต้องหมวด 1 และหมวด 2 รวมถึงหมวดที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจ เพื่อไม่ให้เกิดการสร้างเงื่อนไขหรือเป็นประเด็นในสังคม” นายภูมิธรรม กล่าว

'ราเมศ' ย้ำ ปชป. แก้ รธน. ขอรัฐบาลอย่าตั้งท่านาน

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงกรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่า พรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืนเรื่องนี้ชัดว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่สำคัญเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น พรรคพร้อมให้การสนับสนุน แต่จะต้องไม่มีการแก้ไขในหมวด 1 และหมวด 2 ที่สำคัญการนำคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมาประกอบในการดำเนินการในขั้นตอนกระบวนการต่าง ๆ เป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกันเพราะไม่เช่นนั้นแล้วจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ประสบผลสำเร็จได้

นายราเมศ กล่าวต่อไปว่า ตนยังมองการตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติของรัฐบาล โดยหลักถือว่าเป็นจุดตั้งต้นที่ดี แต่ก็ต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงความตั้งใจจริงโดยจะต้องไม่มีการพิจารณาที่ล่าช้าเกินสมควร ไม่ควรตั้งท่านานจนเกินไป และการเตรียมการเพื่อจะนำไปสู่การจัดทำประชามติมีความจำเป็นที่จะต้องให้มีความละเอียดรอบคอบรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

นายราเมศกล่าวอีกด้วยว่า สำหรับการยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในสภาชุดที่ผ่านมาได้มีร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 6 ฉบับ โดยพรรคประชาธิปัตย์ ประกอบด้วย

ร่างฉบับที่ 1 เป็นการเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่เรื่องเพิ่มสิทธิเสรีภาพของประชาชน สิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิชุมชน สิทธิผู้บริโภค สิทธิในที่ดินทำกิน ซึ่งต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้บรรจุเรื่องสิทธิของประชาชนลดน้อยถอยลงไปอย่างมาก
ร่างฉบับที่ 2 ตัดอำนาจ สว.ในการแก้รัฐธรรมนูญ
ร่างฉบับที่ 3 เพิ่มความเข้มข้นในกระบวนการตรวจสอบการทุจริต
ร่างฉบับที่ 4 แก้ไขที่มาของนายกรัฐมนตรี และยกเลิกอำนาจ สว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี
ร่างฉบับที่ 5 เรื่องกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองแรกที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เพื่อทำให้ท้องถิ่นดีขึ้น
ร่างฉบับที่ 6 แก้ไขระบบเลือกตั้ง ซึ่งเป็นร่างเดียวที่ผ่านความเห็นชอบการพิจารณาจากรัฐสภา

นายราเมศ กล่าวในตอนท้ายว่า พรรคพร้อมให้ความร่วมมือในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น


ที่มาเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย [1] [2] [3]


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net