Skip to main content
sharethis

ปมโหวตชื่อนายกฯซ้ำ 'วิษณุ' เคยยันไม่ผ่านชื่อเดิมโหวตใหม่ทุกวันยังได้ - ข้อบังคับการประชุมหมวด 9 การพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกฯ ที่อ้างอิงตาม มาตรา 272 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญ ระบุเพียงกระบวนการ และไม่มีข้อห้ามเสนอชื่อซ้ำ

จากกรณีที่วันนี้ (19 ก.ค.) รัฐสภามีนัดหมายการพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี ขณะที่มีกระแสต่อต้านว่าไม่สามารถโหวตซ้ำรอบ 2 ได้ โดยอ้าง ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 2563 ข้อ 41 ที่ว่า ญัตติใดตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน

โดยหนึ่งวันก่อนประชุม ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา กล่าวภายหลังการประชุมวิป 3 ฝ่าย ว่า ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่าในการโหวตนายกฯ วันที่ 19 ก.ค.นี้ จะต้องใช้ยึดข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41 ที่กำหนดห้ามเสนอญัตติชื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ ซ้ำได้หรือไม่ เพราะมีความเห็นจากอีกฝ่ายระบุว่าเรื่องนี้เป็นคนละเรื่องกับข้อ 41 และได้แยกเป็นอีกหมวดไว้ในข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ซึ่งตรงกับข้อ 136-139 อีกทั้งในรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าห้ามเสนอชื่อซ้ำ ดังนั้น ตนจึงต้องฟังเสียงของสมาชิกรัฐสภาให้ครบถ้วนเสียก่อน

ต่อคำถามที่ว่า ประธานรัฐสภาจะวินิจฉัยเองหรือจะต้องขอมติจากที่ประชุมร่วมรัฐสภานั้น วันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ตนจะต้องรับฟังข้อมูลจากสมาชิกทุกฝ่ายอย่างครบถ้วน และต้องดูหน้างานอีกครั้งว่าจะวินิจฉัยเองหรือต้องขอมติจากที่ประชุม ทั้งนี้ ในการหารือวิป 3 ฝ่าย มีผู้เสนอว่าจะให้ที่ประชุมรัฐสภาอภิปรายเรื่องนี้ไม่เกิน 2 ชั่วโมง แต่ก็ต้องดูหน้างานอีกเช่นกัน

'วิษณุ' เคยยันโหวตไม่ผ่านรอบแรกชื่อเดิมโหวตมันทุกวันก็ยังได้

ทั้งนี้หลังเลือกตั้งทั่วไป 4 วัน คือวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา โจทย์นี้ก็เป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามเช่นกัน โดยคนหนึ่งที่ตอบประเด็นคำถามนี้คือ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในทางกฎหมาย หากโหวตชื่อแคนดิเดตนายกฯคนใดคนหนึ่งไปแล้ว แต่ไม่ผ่าน จะสามารถนำชื่อเดิมกลับมาโหวตอีกได้หรือไม่นั้น วิษณุ กล่าวว่า “ได้ โหวตมันทุกวันนั่นแหละ ชื่อเดิมก็ได้”

ต่อคำถามพรรคอันดับ 2 จะสามารถเสนอชื่อแคนดิเดต นายกฯขึ้นไปก็ได้ใช่หรือไม่นั้น วิษณุ กล่าวว่า ได้ทุกอย่าง มันต้องอาศัยเสียงกึ่งหนึ่งในรอบแรก เพราะว่ามาตรา 272 วรรคหนึ่ง ระบุว่า ต้องมีความเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งสองสภาที่มีอยู่ ซึ่งคือ 376 เสียง แต่ถ้าไม่สำเร็จก็โหวตอีก โหวตไปโหวตมาจนกระทั่งในที่สุดจะเปลี่ยนไปใช้มาตรา 272 วรรคสองก็แล้วแต่ หรือจะโหวตซ้ำมาตรา 272 วรรคหนึ่งก็ได้ ไม่เป็นไร เพราะมันอาจจะมีเหตุผลใหม่ๆ ดีๆ และมีคนเปลี่ยนใจเพิ่มขึ้นก็ได้ สำคัญคือ วันแรก ด่านแรก ในการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร

เมื่อถามว่า มาตรา 272 วรรคสอง ที่จะใช้ได้คืออะไรนั้น วิษณุ กล่าวว่า แปลว่าเลิกแล้ว ไม่เอาแล้ว หาบุคคลอื่น แม้กระนั้นพอจะใช้วรรคสองที่ระบุว่า ทั้งนี้ อาจจะเสนอรายชื่อบุคคลที่อยู่ในรายชื่อนายกฯที่แต่ละพรรคเสนอได้ ซึ่งมันก็กลับมาใช้ได้อีก เห็นไหมล่ะ ขนาดใช้วรรคสองยังกลับมาใช้ชื่อเดิมได้อีก แล้วนับประสาอะไรกับแค่วรรคหนึ่ง รอบแรกไม่ผ่าน แล้ววันหลัง อาทิตย์หน้ามาใหม่ ก็เสนอรายชื่อเดิมได้

อย่างไรก็ตามเมื่อย้อนดู ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 2563 ในส่วนข้อที่ 41 ที่ถูกอ้างถึงนั้น อยู่ในหมวด 2 การประชุมรัฐสภา ส่วนที่ 2 การเสนอญัตติ บัญญัติไว้ว่า

"ญัตติใดตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ญัตติที่ยังมิได้มีการลงมติหรือญัตติที่ประธานรัฐสภาจะอนุญาต ในเมื่อพิจารณาเห็นว่า เหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป"

นั่นแปลว่าประธานยังมีอำนาจที่จะอนุญาตให้เสนอได้อีกหากพิจารณาเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป

แต่ข้อถกเถียงสำคัญคือการพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกฯ ของรัฐสภานั้นไม่ใช่การเสนอญัตติทั่วไปตามหมวด 2 การประชุมรัฐสภา ส่วนที่ 2 การเสนอญัตติ หากแต่  ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาดังกล่าวแยกหมวดเฉพาะออกมาใน หมวด 9 การพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี ที่อ้างอิงตาม มาตรา 272 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ได้ระบุจำนวนครั้ง ระบุเพียงกระบวนการคือ สมาชิกเสนอชื่อจากบุคคลที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม จากพรรคที่มี ส.ส.ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด และมี ส.ส.รับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวน สมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทน ให้กระทำเป็นการเปิดเผย และให้ประธานประกาศรายชื่อบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อต่อที่ประชุมรัฐสภา เพียงเท่านั้น

โดยบัญญัติไว้ดังนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net