Skip to main content
sharethis
  • ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชกฤษฎีกาปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปี ครั้งที่สอง พ.ศ. 2567 ในวันที่ 10 เมษา นี้ 
  • รองเลขาฯ นายก แนะ 'สว.' อภิปรายในกรอบอย่านอกประเด็น มั่นใจงบฯ 67 ผ่านสภาแน่ชี้เป็นประโยชน์กับประเทศและประชาชน
  • เผยวุฒิสภาเตรียมพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบฯ 67 วันที่ 26 มี.ค. นี้ คาดลงมติวันเดียวกัน 

18 มี.ค.2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชกฤษฎีกาปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปี ครั้งที่สอง พ.ศ.2567 ในวันที่ 10 เม.ย.2567 ระบุว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่าจากการที่มีการตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2566 ตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค. 2566 บัดนี้ จะสิ้นกำหนดเวลา 120 วัน ตามสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง ในวันที่ 9 เม.ย. 2567 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 122 และมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง ตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. 2567 โดยมี เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ประกาศดังกล่าว ระบุหมายเหตุไว้ด้วยว่าเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 121 ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้ในปีหนึ่งให้มีสมัยประชุมสามัญของรัฐสภาสองสมัยๆ หนึ่งให้มีกำหนดเวลา 120 วัน โดยวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง ให้เป็นไปตามที่สภาผู้แทนราษฎรกำหนด และได้มีพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง พ.ศ. 2566 กำหนดวันเริ่ม สมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง ตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค. 2566 ซึ่งจะสิ้นกำหนดเวลา 120 วัน ตามสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง ในวันที่ 9 เม.ย. 2567 สมควรที่จะกำหนดให้ปิดประชุม รัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

รองเลขาฯ นายก แนะ 'สว.' อภิปรายในกรอบอย่านอกประเด็น มั่นใจงบฯ 67 ผ่านสภาแน่ชี้เป็นประโยชน์กับประเทศและประชาชน

ทีมสื่อพรรคเพื่อไทย รายงานต่อสื่อมวลชนว่า วันนี้ (18 มี.ค.) สมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การอภิปรายพระราชบัญญัติงบประมาณปี 2567 ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ในวันที่ 20-21 มี.ค.นี้ มั่นใจว่าการพิจารณางบประมาณไม่น่าจะมีปัญหาเพราะเป็นงานของสภา ดังนั้นทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันในการที่จะพิจารณาให้เป็นไปในทิศทางที่เรียบร้อยฃ

สมคิด กล่าวด้วยว่า การพิจารณางบประมาณควรอยู่ในกรอบของงบประมาณไม่ควรที่จะมีอภิปรายนอกประเด็นงบประมาณ เพราะไม่เกิดประโยชน์กับฝ่ายใดเลย นอกจากนี้ที่ผ่านมารัฐบาลบริหารงานมา 6 เดือนโดยไม่มีงบประมาณ ดังนั้นหากงบประมาณผ่านสภาจะส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้นและสามารถแก้ปัญหาให้ประชาชนได้อย่างแน่นอน

“นอกจากนี้ในการเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาลโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 อภิปรายของสมาชิกวุฒสภาหรือ สว.ตามมาตรา 153 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 25 มี.ค. 2567  คาดหมายว่าสว.จะอภิปรายเพื่อนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐบาลนำไปแก้ไข ไม่ควรอภิปรายนอกประเด็นหรือการมุ่งอภิปรายไปยังประเด็นของนายทักษิณ ชินวัตรและนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพราะไม่เกิดประโยชน์กับประชาชน รวมทั้งการอภิปรายครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายของรัฐบาลควรใช้เกิดประโยชน์กับประชาชน  หากสว.อภิปรายนอกกรอบประชาชนคงผิดหวังกับการทำหน้าที่ของสว.ตลอด 6 ปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน” สมคิด กล่าว

เผยวุฒิสภาเตรียมพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบฯ 67 วันที่ 26 มี.ค. นี้ คาดลงมติวันเดียวกัน 

สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานด้วยว่า คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา(วิปวุฒิสภา) กล่าวถึงกรอบวันและเวลาการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ว่า ขณะนี้ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2567 วุฒิสภา ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อศึกษางบประมาณ คู่ขนานกับการพิจารณาของ กมธ.สภาผู้แทนราษฎรนั้น สัปดาห์นี้จะทำงานเป็นสัปดาห์สุดท้ายและคาดว่าจะพิจารณาเสร็จสิ้น ส่งประธานวุฒิสภาได้ในสัปดาห์นี้ ซึ่งวิปวุฒิสภาได้ประชุมและเห็นควรบรรจุระเบียบวาระการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบฯ วันที่ 26 มีนาคม 2567 เบื้องต้นกำหนดวันอภิปรายไว้ 1 วัน และได้ส่งแบบแสดงความจำนงแก่สมาชิกวุฒิสภาที่จะอภิปรายเพื่อทราบจำนวนว่ามีกี่คน ซึ่งทางพลเอกสิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง จะนำรายชื่อมาพิจารณาและจัดลำดับการอภิปราย โดยคาดว่าภายหลังการอภิปรายเสร็จสิ้นจะมีการลงมติในวันดังกล่าว(26 มี.ค. 67) ส่วนจะเป็นเวลาเมื่อใดนั้นยังไม่สามารถระบุได้ 

ส่วนการศึกษาร่างพ.ร.บ.งบฯ ของ กมธ.วุฒิสภา จะทำตามหลักของ กมธ.สภาผู้แทนราษฎร หน่วยงานที่มาชี้แจงจะต้องชี้แจงต่อ กมธ.สภาผู้แทนราษฎรก่อนแล้วจึงค่อยชี้แจงต่อ กมธ.วุฒิสภา และหาก กมธ.สภาผู้แทนราษฎรปรับ ลด เพิ่มงบประมาณตรงไหน อย่างไร ก็จะมาถึงการพิจารณาของ กมธ.วุฒิสภา ก่อนจะทำการรวบรวมข้อมูลจัดทำเป็นรายงานเสนอต่อที่ประชุมวุฒิสภา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการให้ข้อสังเกต เนื่องจากการพิจารณางบประมาณตามอำนาจของวุฒิสภานั้นทำอะไรไม่ได้เลย เป็นการยกมือลงมติร่างในวาระที่ 3 วาระเดียวเท่านั้น จะไม่มีการตั้ง กมธ.เพื่อพิจารณาอีก ดังนั้นการตั้ง กมธ.วุฒิสภาคู่ขนานกับ กมธ.สภาผู้แทนราษฎรนั้น เพื่อศึกษาและเป็นตัวช่วยให้สมาชิกวุฒิสภาประกอบการตัดสินใจก่อนลงมติร่างพ.ร.บ.งบฯ 67 

คำนูณ กล่าวต่อว่า ส่วนตัวมองว่าการตั้งงบประมาณในปีนี้ถือเป็นปีพิเศษ มีข้อจำกัด งบประมาณที่ใช้อยู่ขณะนี้ เป็นงบประมาณของปีที่แล้วที่ใช้ไปพลางก่อน และจากการติดตามจะเห็นว่า กมธ.วิสามัญ สภาผู้แทนราษฎร พยายามเร่งรัดการพิจารณา และทุกฝ่ายพยายามให้ความร่วมมือเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อได้ ประเด็นสำคัญ เมื่อเสร็จสิ้นการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบฯ 67 แล้ว สิ่งสำคัญคือร่างพ.ร.บ.งบฯ 68 ที่รัฐบาลชุดปัจจุบันเป็นผู้จัดทำเองทั้งหมดตั้งแต่ต้น หากตามตารางการพิจารณางบประมาณปี 68 ก็ใกล้เข้าสู่ช่วงเวลาที่ต้องพิจารณางบฯ 68 อีกแล้ว อาจเป็นช่วงเดือน มิ.ย.หรือ ก.ค. 

สำหรับสัปดาห์หน้าเป็นสัปดาห์สำคัญ โดย 25 มี.ค. 2567 เป็นการเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ส่วนวันอังคารที่ 26 มี.ค. 2567 พิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 

ส่วนการเตรียมพร้อมอภิปรายทั่วไปตาม ม.153 คำนูณระบุว่า ตนได้เตรียมอภิปรายนายกรัฐมนตรีประเด็นการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ขุมทรัพย์ใต้อ่าวไทยกับกัมพูชามูลค่า 20 ล้านล้านบาท โดยจะชี้ให้เห็นข้อควรระวัง แนวความคิดที่จะมีการเจรจาแยกกันระหว่างการแบ่งปันผลประโยชน์กับการเจรจาแบ่งเขตแดนมีความอันตรายอย่างไรและขัดกับเอ็มโอยู 2544 อย่างไร  ทางเลือกที่ดีที่สุด ที่ถูกต้อง ควรจะเป็นอย่างไร จะขอใช้เวลาเพื่อชี้แจงเรื่องนี้ให้มีความกระจ่าง อย่างน้อยเพื่อจะได้บันทึกไว้ เพราะเชื่อว่าเรื่องดังกล่าวไม่น่าจะเสร็จได้ในเร็ววัน ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่รัฐบาลจะได้รับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net