Skip to main content
sharethis

iLaw ตรวจสอบ ดุษฎีนิพนธ์ของ สว.สมชาย แสวงการ พบหลายท่อนตอนที่เหมือนกับงานวิชาการอื่นๆ ที่หัวข้อคล้ายกัน นอกจากการคัดลอกแบบไม่อ้างอิงผลงานต้นทางแล้ว ยังพบว่าในบางส่วนมีการใส่เชิงอรรถงานที่อ้างอิงเอาไว้ แต่กลับคัดลอกข้อความทั้งหมดแทนที่จะสรุปแนวคิดและเขียนใหม่เป็นภาษาของตัวเอง 

 

 

จากเมื่อวันที่ 13 เม.ย.ที่ผ่านมา รายการ 'ขอเวลานอก' ทาง Nation STORY เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของ สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ซึ่งอ้างถึงดุษฎีนิพนธ์ของตนเองว่า ในงานดังกล่าวของตัวเองพบกว่า สว.ใหม่ง่ายมากในการฮั้ว และว่าเนื่องจากมีปัญหาในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พร้อมทั้งได้เสนอทางแก้ไว้ในดุษฎีนิพนธ์ว่าให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองสรรหาป้องกันระบบจัดฮั้วนั้น 

และต่อมาวานนี้ (18 เม.ย.) กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า สมชาย ออกมาเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เริ่มปฏิบัติหน้าที่ในการกำกับและดูแลให้การเลือกกันเองของสว.ชุดใหม่ เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แม้ขณะนี้ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดการเลือกสว. เนื่องจากขณะนี้มีคณะบุคคล และตัวแทนของพรรคการเมือง มีกระบวนการรณรงค์ให้ประชาชนสมัครเข้าไปเป็นผู้เลือก สว. ซึ่งส่อว่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมว่าด้วยการได้มาของสว. ที่กำหนดให้ผู้ประสงค์เป็นสว. เข้าสมัคร ล่าสุดนั้นมีความเคลื่อนไหวของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าคณะก้าวหน้า ซึ่งเป็นผู้ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง เดินสายรณรงค์ให้คนสมัครเป็นผู้เลือก สว. ในพื้นที่ในจ.นครศรีธรรมราช เพื่อให้ผู้เลือกสว.ได้สิทธิลงคะแนนเลือกคนที่จะเป็น สว.

“เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญต่อการได้มาของสว. คือต้องเป็นผู้ประสงค์จะเป็นสว. ไม่ใช่เข้าไปเป็นผู้เลือก สว. ซึ่งกรณีดังกล่าวถือว่าเข้าข่ายฮั้วในกระบวนการเลือกกันเองของสว. หาก กกต. ไม่ดำเนินการ เชื่อว่าจะมีปัญหาในกระบวนการได้มาของสว. มีผู้ไปร้องเรียนในกระบวนการ ที่อาจทำให้เกิดปัญญาในอนาคตได้” สมชาย กล่าว

iLaw เช็คดุษฎีนิพนธ์ของ 'สว.สมชาย' พบจุดคัดลอกแบบไม่อ้างอิงผลงานต้นทาง

อย่างไรก็ตาม iLaw ตรวจสอบ ดุษฎีนิพนธ์ในหัวข้อ “รูปแบบและวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย” ของ สมชาย  ซึ่งสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกในปี 2565 จากหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารกระบวนการยุติธรรม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาคือ ศาสตราจารย์ อุดม รัฐอมฤต  หนึ่งในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 (กรธ.) ชุดมีชัย ฤชุพันธุ์ ปัจจุบันอุดมเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ได้รับมติเห็นชอบโดยวุฒิสภาที่มีสมชายเป็นสมาชิก งานวิจัยยาว 264 หน้า (รวมภาคผนวกและประวัติผู้เขียนที่มีความยาวสองหน้า) สำรวจที่มาของ สว. ทั้งในต่างประเทศและในประวัติศาสตร์ไทยที่ผ่านมา โดยผู้เขียนเห็นว่า สว. ระบบ “เลือกกันเอง” ตามรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น “เป็นแนวทางที่มีความเป็นไปได้” แต่ก็ยังมีความเห็นเพิ่มเติม เช่น เสนอให้ผู้สมัครในกลุ่มเลือกกันเองแทนการเลือกไขว้ หรือให้มีกลุ่มอาชีพผู้เชี่ยวชาญเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย

iLaw ยังพบว่าข้อความหลายท่อนตอนที่เหมือนกับงานวิชาการอื่นๆ ที่หัวข้อคล้ายกัน นอกจากการคัดลอกแบบไม่อ้างอิงผลงานต้นทางแล้ว ยังพบว่าในบางส่วนของดุษฎีนิพนธ์ของสมชาย มีการใส่เชิงอรรถงานที่อ้างอิงเอาไว้ แต่กลับคัดลอกข้อความทั้งหมดแทนที่จะสรุปแนวคิดและเขียนใหม่เป็นภาษาของตัวเองเพื่อป้องกันการคัดลอกผลงาน

iLaw ระบุว่าเมื่อตรวจสอบดุษฎีนิพนธ์ของสมชาย พบว่ามีข้อความหลายท่อนตอนที่เหมือนกับงานวิชาการอื่น ๆ ที่หัวข้อคล้ายกัน ที่เด่นชัดที่สุดคือหนังสือของสถาบันพระปกเกล้า “รูปแบบการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาของประเทศไทย” เขียนโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภูมิ มูลศิลป์ และชมพูนุท ตั้งถาวร ตีพิมพ์ในปี 2558 ซึ่งดุษฎีนิพนธ์ของสมชายมีข้อความที่เหมือนกันมากกว่า 30 หน้า

ตั้งแต่หน้า 38 ในดุษฎีนิพนธ์ของสมชาย หัวข้อ 2.3.1 “กลุ่มที่หนึ่ง: กลุ่มประเทศที่กำหนดให้ความเป็นตัวแทนของวุฒิสภายึดโยงกับพื้นที่” ไปจนถึงหน้า 64 ซึ่งเป็นหน้าสุดท้ายของบทที่สอง มีเนื้อหาตรงกับหน้าที่ 77-115 ของหนังสือสถาบันพระปกเกล้า ในหน้า 38 ของดุษฎีนิพนธ์ของสมชายถึงกับลอกเอาเชิงอรรถของหน้า 77 ในหนังสือสถาบันพระปกเกล้ามาทั้งหมด

รูปแบบการลอกนั้นไม่ได้มีแค่การลอกทางตรงเท่านั้น ในหน้า 80 ของหนังสือสถาบันพระปกเกล้า มีเชิงอรรถขนาดยาวที่อธิบายพลวัตของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติในระบอบประธานาธิบดี งานวิจัยของสมชายก็ยกเอาเชิงอรรถทั้งหมดนี้มาใส่ในเนื้อหาในหน้า 40-41

iLaw ระบุด้วยว่ายังพบว่าในบางส่วนของดุษฎีนิพนธ์ของสมชาย มีการใส่เชิงอรรถงานที่อ้างอิงเอาไว้ แต่กลับคัดลอกข้อความทั้งหมดแทนที่จะสรุปแนวคิดและเขียนใหม่เป็นภาษาของตัวเองเพื่อป้องกันการคัดลอกผลงาน

ยกตัวอย่างเช่น ในหน้า 65 ของดุษฎีนิพนธ์ หัวข้อ “รูปแบบและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาประเทศอังกฤษ” ห้าบรรทัดแรกของเนื้อหาเหมือนกับเนื้อหาส่วนแรกของงาน “สภาขุนนางอังกฤษ” ที่เขียนโดยปณิธัศร์ ปทุมวัฒน์ ตีพิมพ์เมื่อปี 2558 ในวารสารจุลนิติของ สว. เอง แม้ว่าจะมีการใส่เชิงอรรถถึงงานของปณิธัศร์ไว้ด้านล่าง แต่เนื้อหาก็เหมือนเกือบทั้งหมด หรือในหน้าที่ 66 ของดุษฎีนิพนธ์ก็มีการคัดลอกเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับ Parliament Act 1911 จากงานของปณิธัศร์มาไว้ด้วยอีกเช่นกัน ยังพบอีกว่ามีการคัดลอกเนื้อหาในหน้า 72-73 จากหน้าที่ 117-119 ในวิทยานิพนธ์ของวัชรพล โรจนวงรัตน์ “รูปแบบวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาที่เหมาะสมกับอำนาจหน้าที่วุฒิสภาแห่งราชอาณาจักรไทย” ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2560 โดยมีการใส่เชิงอรรถไว้ด้านล่าง แต่ก็มีเนื้อหาเหมือนกันคำต่อคำ

นอกจากนี้ iLaw ระบุอีกว่า ดุษฎีนิพนธ์ของสมชายมีการอ้างถึงงานของ iLaw ด้วย โดยเป็นบทความ “รวมข้อมูล 250 สว. ‘แต่งตั้ง: กลไกหลักสืบทอดอำนาจจากยุค คสช.’” ซึ่งมีการอ้างถึงสถิติของ สว. ที่ถูกแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าประกอบด้วยบุคคลที่เคยรับตำแหน่งในยุค คสช. โดยมีเนื้อหาเหมือนกันทุกคำ ไม่มีการปรับเปลี่ยนคำใหม่ เพียงแต่มีการตัดรายชื่อของ สว. ที่บทความยกตัวอย่างให้เห็นเท่านั้น เช่น ปรีชา จันทร์โอชา, อภิรัชต์ คงสมพงษ์, พรทิพย์ โรจนสุนันท์, คำนูณ สิทธิสมาน, วัลลภ ตังคณานุรักษ์

อย่างไรก็ตามผ่านไปเกือบ 24 ชั่วโมงแล้วที่ iLaw เปิดประเด็นนี้ และมีสื่ออื่นเช่น มติชนออนไลน์ นำไปเผยแพร่ต่อ แต่ยังไม่ปรากฏปฏิกิริยาจาก สมชาย หรือสถาบันการศึกษาที่อนุมัติดุษฎีนิพนธ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net