Skip to main content
sharethis

ดัชนีคุณภาพอากาศและ PM2.5 ของภาคเหนือตอนบนอยู่ในระดับเลวร้ายในช่วงฤดูแล้งติดต่อกันหลายปี ชาวบ้านที่ทำการเกษตรแบบไร่หมุนเวียนมักถูกกล่าวโทษเสมอว่าเป็นต้นเหตุของฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศที่เข้าไปปกคลุมและสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมในเมือง แต่ชาวกะเหรี่ยงที่บ้านแม่ส้าน จังหวัดลำปาง พยายามสื่อสารกับสังคมว่าคนในท้องถิ่นมีวิธีจัดการอย่างไรในเรื่องการใช้ไฟในแปลงเกษตร นอกจากนี้ยังจัดอาสาสมัครเพื่อทำแนวกันไฟและลาดตระเวนเฝ้าระวังไฟป่า

สถานการณ์ฝุ่นควัน PM2.5 หลายปีที่ผ่านมาอยู่ในขั้นเลวร้ายและกระจายไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบน ที่ฤดูแล้งทุกปีวัดค่าคุณภาพอากาศเข้าขั้นมลพิษสูงติดอันดับโลก ที่ผ่านมามีการเรียกร้องรัฐบาลให้มีมาตรการป้องกัน และดูแลประชาชนให้มากยิ่งขึ้น อย่างที่จังหวัดเชียงใหม่มีการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิที่จะมีอากาศที่สะอาดหายใจติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี อีกทั้งยังมีภาคประชาสังคมที่ออกมาทำบางอย่างเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง

โดยรายงานข่าวภายใต้โครงการ “ท้องถิ่นสร้างสื่อสอบ” ชวนอ่านบทสนทนากับภาคประชาสังคม เอกชน และส่วนราชการในเชียงใหม่และจังหวัดภาคเหนือตอนบน เรื่องการรับมือปัญหามลพิษทางอากาศ รวมไปถึงมุมมองต่อการแก้ไขปัญหา ซึ่งจะแบ่งนำเสนอทั้งหมด 5 ตอน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ชาวบ้านที่ทำการเกษตรแบบหมุนเวียนมักจะถูกกล่าวโทษเสมอว่าเป็นต้นเหตุของฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศที่เข้าไปปกคลุมและสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมในเมือง แต่ที่บ้านแม่ส้าน ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง จะเป็นตัวอย่างที่บอกให้รู้ว่า คนในท้องถิ่นจัดการเรื่องนี้อย่างไร

แก้ว ลาภมา ผู้ใหญ่บ้านและเกษตรกร แห่งบ้านแม่ส้าน บอกว่าหมู่บ้านแห่งนี้ เป็นหมู่บ้านชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ซึ่งในหมู่บ้านประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก โดยทำในลักษณะของไร่หมุนเวียน ตั้งแต่บรรพบุรุษสืบทอดมายังรุ่นลูกรุ่นหลาน และมีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของหมู่บ้านคือต้นมะแขว่น

การทำไร่หมุนเวียนของบ้านแม่ส้านจำเป็นต้องใช้ไฟในการเผาแน่นอน แต่เป็นการเผาที่มีการดูแลควบคุม มีการทำแนวกันไฟรอบๆ ไม่ให้ไฟลุกลาม มีการเผาตามตารางวันที่ เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป การเผาไม่ใช่ว่าสามารถเผาได้เลยทันที ต้องมีการแจ้งและทำหนังสือให้กับผู้ใหญ่บ้านรับทราบและเซ็นอนุมัติ ภายในหนังสือขออนุญาตต้องระบุว่าจะเผาวันไหน กี่ไร่ ระยะห่างกันกี่วัน เพื่อไม่ให้เกิดหมอกควันในปริมาณที่สูงเกินไป

อย่างไรก็ตาม ผู้ใหญ่แก้วบอกว่า อยากให้รัฐมาออกความคิดเห็นร่วมกันกับประชาชนและรับทราบตรงกันว่ามันเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน และชาวบ้านไม่ได้ทำลายป่าเผาป่าเพียงอย่างเดียว แต่ยังช่วยดูแลรักษาและจัดการไฟป่า

ณัฐนนท์ ลาภมา เกษตรกรผู้มีประสบการณ์ตรงบอกว่า การทำแนวกันไฟของไร่หมุนเวียนในบ้านแม่ส้าน ใช้วิธีการลงแขกช่วยกันเช่นเดียวกับการปลูกข้าวหรือเก็บเกี่ยวข้าว โดยถึงเวลาที่แปลงไร่หมุนเวียนของใครในหมู่บ้านจะทำการเผา แต่ละครอบครัวในหมู่บ้านก็จะมาช่วยกันลงแขกทำแนวกันไฟรอบๆ เพื่อควบคุมไม่ให้ไฟลุกลามไปยังบริเวณไร่หมุนเวียนอื่นที่พักฟื้นไว้ หรือลามไปทั่วป่าที่มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่

ในการเผาจะมีการคอยดูอยู่ตลอดและจะรอจนกว่าไฟจะดับ จะไม่เผาแล้วปล่อยทิ้งไว้ เพื่อป้องกันการลุกลามที่อาจจะเล็ดลอดจากแนวกันไฟออกมาได้ เมื่อแน่ใจว่าดับสนิทแล้วถึงพากันกลับหมู่บ้าน

บ้านแม่ส้านมีกำหนดการเวลาการเผา ซึ่งจะเริ่มเผาได้ตั้งแต่ 15.00 - 17.00 น. ระยะเวลาการเผาของแต่ละแปลงจะใช้เวลา 30 นาที ด้วยวิธีนี้ณัฐนนท์ระบุว่าจะเกิดฝุ่นควันน้อย และการเกิดจุดความร้อนหรือ Hotspot นั้นเกิดบริเวณนอกพื้นที่หมู่บ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อไม่ใช่บริเวณของหมู่บ้าน

ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงปลายเดือนเมษายน ชุมชนบ้านแม่ส้านจะมีการลาดตระเวนไฟป่า และทำจุดเฝ้าระวังไฟป่า อย่างน้อย 4 – 5 จุดด้วยกัน มีการสลับเวรกันเฝ้าระวังไฟป่า หรือเดินลาดตระเวนหาไฟป่า หากเกิดไฟป่าขึ้นใกล้ๆ พื้นที่ที่เราควบคุมก็จะแจ้งและพากันดับทันทีเพื่อไม่ให้ไฟลุกลาม

พื้นที่ของบ้านแม่ส้านทุกวันนี้อยู่ในระดับลุ่มน้ำชั้น 1 – 2 เปรียบเป็นระดับเกรด A เพราะว่าชุมชนมีการดูแลจัดการ ช่วยกันดูแลป่าตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ถ้าหากไม่มีการดูแล ไม่มีกฎระเบียบในชุมชนที่ได้ตั้งขึ้นมาควบคุม ป่าและสัตว์ป่าก็จะสูญหายไป บริเวณพื้นที่บ้านแม่ส้านจึงมีความอุดมสมบูรณ์ทั้งพืชพรรณและสัตว์ป่า

ส่วนความช่วยเหลือจากภาครัฐ ณัฐนนท์ บอกว่า ถ้าเป็นไปได้อยากได้รับการสนับสนุนค่าอาหารให้กับชาวบ้านที่ไปดับไฟ สนับสนุนอาหารหรือเครื่องดื่มเพื่อเป็นค่าแรงและเป็นขวัญกำลังใจ ซึ่งชาวบ้านไม่ได้ดับไฟเพียงแค่ตอนกลางวัน แต่ยังมีช่วงเวลากลางคืนด้วย ตลอด 24 ชั่วโมงที่มีการสับเปลี่ยนเวรการเฝ้าระวังและลาดตระเวน หรือจะสนับสนุนเป็นอุปกรณ์การดับไฟป่า อย่างเช่นเครื่องเป่าลม ซึ่งทำให้การดับไฟหรือทำแนวกันไฟนั้นรวดเร็วยิ่งขึ้น “เราไม่ต้องการอะไรมาก เพราะเรามีวิถีชีวิตที่กินง่ายอยู่ง่ายอยู่แล้ว” ณัฐนนท์ กล่าว

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net