Skip to main content
sharethis

อุทธรณ์คำพิพากษาประหารชีวิตคดีฆ่า-ข่มขืนนักท่องเที่ยวอังกฤษที่เกาะเต่า ค้านประเด็นความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานดีเอ็นเอ ชี้การดำเนินคดีกับจำเลยก่อนฟ้องคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำรับสารภาพที่โจทก์อ้างต่อศาลในชั้นสอบสวนถูกทำขึ้นโดยไม่สมัครใจ ฯลฯ

23 พ.ค. 2559 สืบเนื่องจากคดีที่ศาลจังหวัดเกาะสมุยพิพากษาลงโทษประหารชีวิตแรงงานข้ามชาติพม่าสองคน เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2558 ในข้อหาข่มขืนและฆ่านักท่องเที่ยวหญิง และฆ่านักท่องเที่ยวชายชาวอังกฤษทั้งสองคนที่เกาะเต่า เมื่อกันยายน 2557

วันนี้ คณะทนายความอาสาจากสภาทนายความ ซึ่งรับทำหน้าที่ทนายความจำเลย ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อศาลจังหวัดเกาะสมุย เมื่อเวลา 09.00 น.

โดยมีมารดาของจำเลยทั้งสอง นางเมย เตียน และนางพิว ฉ่วย นุ มารดาของนายซอลิน และนายไว เพียว ที่เดินทางมาจากรัฐยะไข่ อยู่ร่วมขณะทำการยื่นอุทธรณ์ด้วย และหลังจากนั้นจะไปเยี่ยมบุตรชายที่เรือนจำบางขวาง ที่จังหวัดนนทบุรี

ในแถลงการณ์ต่อสื่อมวลชน ระบุว่า การจัดเตรียมอุทธรณ์จำนวน 198 หน้า ใช้เวลาดำเนินการกว่า 5 เดือน อย่างต่อเนื่องโดยคณะทนายความ สภาทนายความ นักแปลชาวพม่า ออสเตรเลีย และอังกฤษ พร้อมทั้งผู้ช่วยเหลือและที่ปรึกษา เพื่อให้ได้เนื้อหาในการอุทธรณ์สมบูรณ์ที่สุดในการแสวงหาการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมและมีความมั่นใจว่า จำเลยทั้งสองจะได้รับการปกป้องสิทธิอย่างเพียงพอ

สำหรับคำฟ้องอุทธรณ์กล่าวถึงหลักการพื้นฐานของทนายความฝ่ายจำเลย ที่ได้เสนอไประหว่างการสืบพยาน 13 ปากในศาล เพื่อเป็นกรอบว่า พยานหลักฐานฝ่ายจำเลยนั้น มีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด และขอให้ศาลอาญาภาค 8 มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลจะพิจารณาคำอุทธรณ์ของจำเลยและเปรียบเทียบความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยทั้งสองฝ่ายควบคู่กันไป

การอุทธรณ์กว่าครึ่งเป็นการคัดค้านประเด็นหลักการเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานดีเอ็นเอ ที่ศาลจังหวัดเกาะสมุยตัดสินว่า ดีเอ็นเอจากสถานที่เกิดเหตุ/ฆาตกรรมตรงกับจำเลยทั้งสองโดยสิ้นสงสัย ‘ตามหลักสากล’ ฝ่ายจำเลยยืนยันว่าหลักฐาน รวมทั้งที่อ้างว่ามาจากก้นบุหรี่ น้ำอสุจิ และน้ำลาย ไม่สามารถเชื่อถือรับฟังและไม่ควรนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษา เนื่องจากการเก็บทดสอบ วิเคราะห์ และ/หรือรายงาน ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ด้านนิติวิทยาศาสตร์ ได้แก่ ISO17025 และ ILAC G19 ตัวอย่างดีเอ็นเอที่ศาลรับฟังและใช้ในการพิพากษามีข้อบกพร่อง ทั้งที่ศาลยอมรับว่า อาจจะเกิดการปนเปื้อนของดีเอ็นเอ การทดสอบทางนิติวิทยาศาสตร์ ไม่มีการส่งการทดสอบให้ศาล คงมีแต่เพียงการสืบพยานด้วยวาจา ซึ่งเป็นพยานบอกเล่า รวมทั้ง พยานหลักฐานก้นบุหรี่ และศาลได้ใช้พยานหลักฐานเหล่านี้ยืนยันและรับฟังว่า การสอบสวน และข้อมูลดีเอ็นเอของจำเลยทั้งสองกับที่พบในหญิงผู้ตาย ตรงกัน การอุทธรณ์จะมีการนำเสนอว่า ไม่ควรพิจารณาพยานหลักฐานว่าจำเลยได้ข่มขืนผู้ตายอย่างรุนแรงและฆ่าผู้ตายฝ่ายหญิง หรือฆ่าผู้ตายฝ่ายชาย และมิใช่ความน่าเชื่อถือโดยสิ้นสงสัย

นอกจากนั้น ยังได้อุทธรณ์อีกว่า ศาลจังหวัดเกาะสมุยอาจพิพากษาไปโดยไม่ได้รับฟังข้อโต้แย้งของฝ่ายจำเลย ดังนี้:

1. การดำเนินคดีกับจำเลยก่อนฟ้องคดี ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะกระบวนการสอบสวนหลังการจับกุมและแจ้งข้อหาไม่ถูกต้อง มีการสอบสวนในฐานะพยาน แต่กลับมีคำรับสารภาพคดีฆ่าและข่มขืนกระทำชำเราในคำให้การนั้น โดยไม่มีทนายความหรือบุคคลที่จำเลยไว้ใจร่วมอยู่ในการสอบสวนด้วย และไม่มีการแจ้งสิทธิของผู้ต้องหาในคดีอาญาหรือการอธิบายลักษณะของข้อหาอันเป็นเหตุในการจับกุมให้ผู้ต้องหาฟัง อีกทั้ง ไม่มีการจัดล่ามแปลภาษาและทนายความของผู้ต้องหาเพื่อปกป้องสิทธิทางกฎหมายให้อย่างถูกต้องและเหมาะสม โดยระบุถึงการนำตัวอย่างดีเอ็นเอไปโดยไม่สมัครใจ จึงเสนอว่า พยานหลักฐานในชั้นนี้ ศาลไม่ควรรับฟัง

2. คำรับสารภาพที่โจทก์อ้างต่อศาลในชั้นสอบสวน ถูกทำขึ้นโดยไม่สมัครใจ เพราะเหตุที่จำเลยถูกทรมานและข่มขู่จนทำให้เกิดความเกรงกลัวว่าจะมีอันตรายต่อชีวิตและความปลอดภัย โดยมักมีแรงงานข้ามชาติบนเกาะเต่ารายงานว่า ถูกกระทำทารุณอยู่เสมอ คำสารภาพที่เป็นลายลักษณ์อักษร แม้มีการลงชื่อไว้ ก็ไม่อาจรับฟังได้ รวมทั้ง เอกสารอื่นๆ ที่ถูกบังคับให้ลงชื่อ โดยไม่ทราบถึงผลที่เกิดขึ้น คำสารภาพหรือการจำลองเหตุการณ์ที่ได้มีการบันทึกวิดีโอส่งศาลในคดีนี้ จึงมีขึ้นโดยจำเลยไม่สมัครใจ กระทำไปเพราะถูกข่มขู่ว่า จะมีการใช้ความรุนแรง แล้วจึงเสนอว่า พยานหลักฐานเหล่านี้ ศาลไม่ควรรับฟังและเป็นพยานหลักฐานที่ไม่อาจรับฟังได้

3. จำเลยไม่เกี่ยวข้องกับอาวุธที่ใช้ก่อเหตุฆาตกรรม (จอบ) เพราะไม่ปรากฏดีเอ็นเอของจำเลยที่จอบ แต่ปรากฏข้อมูลดีเอ็นเอของบุคคลอื่นแทน

4. หลักฐานดีเอ็นเอที่อ้างว่า เชื่อมโยงจำเลย พยานวัตถุหรือหลักฐานแวดล้อมทั้งหมดที่สามารถจะยืนยันความผิดจำเลย ขาดความน่าเชื่อถือและไม่อาจรับฟังได้ เพราะกระบวนการจัดเก็บ การทดสอบ หรือการวิเคราะห์ตามหลักสากลที่ได้รับการยอมรับ เช่น มาตรฐาน ISO17025 ทำให้หลักฐานนี้ไม่อาจนำมายืนยันความผิดจำเลยโดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ว่า กระทำการข่มขืนชำเราผู้ตายเพศหญิง หรือฆ่าผู้ตายเพศหญิงและเพศชายได้ ซึ่งรวมทั้ง หลักฐานทางวัตถุที่จะเชื่อมโยงจำเลยเข้ากับสถานที่เกิดเหตุ เช่น ก้นบุหรี่ การลักโทรศัพท์มือถือและแว่นกันแดดของผู้ตายเพศชาย รวมถึง “ชายที่กำลังวิ่ง” ที่ถูกจับภาพได้ในกล้องวงจรปิด

5. สำนวนของโจทก์ขาดหลักฐานชิ้นสำคัญที่จำเป็นในการพิสูจน์ความผิดของจำเลย ซึ่งรวมถึงภาพถ่ายสถานที่เกิดเหตุ รายงานการชันสูตรพลิกศพ และขั้นตอนกระบวนการวิเคราะห์ดีเอ็นเอ เอกสารเกี่ยวกับหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในความควบคุม และบันทึกห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับการวิเคราะห์ดีเอ็นเออย่างละเอียด นอกจากนี้ เสื้อผ้าและผิวตามร่างกายของผู้ตายเพศหญิงซึ่งคาดว่า จะมีร่องรอยดีเอ็นเอที่สำคัญของผู้กระทำผิด ยังคงไม่ถูกตรวจสอบหรืออาจมีการตรวจสอบ แต่กลับไม่นำมารวมอยู่ในสำนวนคดีของโจทก์หรืออ้างในบัญชีระบุพยาน ซึ่งดูน่าสงสัย ภาพที่ตัดจากกล้องวงจรปิดที่โจทก์นำเสนอ ไม่สมบูรณ์และไม่มีการเสนอหลักฐานรอยพิมพ์ลายนิ้วมือหรือรอยเท้า แต่อย่างใด

บทสรุปในตอนท้ายของคำอุทธรณ์ จำเลยยืนยันโดยขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสองเสีย ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวไว้ในอุทธรณ์ทั้งหมด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net