Skip to main content
sharethis

นักข่าว-อส.-สารวัตรสืบสวน เบิกความเป็นพยานโจทก์คดีเผาศาลากลางมุกดาหาร พยานทั้ง 4 รับว่าไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุขณะศาลากลางไฟไหม้ หรืออยู่ในระยะไกลห่างกว่า 200 ม. อีกทั้งไม่มีใครเห็นว่าจำเลยทั้งหมดเป็นผู้ร่วมก่อเหตุ

เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 54 ที่ผ่านมา จำเลยในคดีบุกรุกและเผาศาลากลางจังหวัดมุกดาหาร ซึ่งได้รับการประกันตัวออกมาแล้วทั้ง 29 คน พร้อมทนายจำเลย 5 คน จากสำนักกฎหมายราษฎรประสงค์และพรรคเพื่อไทย เดินทางมาพร้อมกันที่ศาลจังหวัดมุกดาหาร ห้องพิจารณาคดีที่ 1 ตามที่ศาลได้นัดสืบพยานโจทก์เป็นนัดที่ 4

พยานโจทก์ที่อัยการเบิกตัวมาขึ้นให้การในนัดนี้มีทั้งสิ้น 4 ปาก เป็นผู้สื่อข่าวท้องถิ่น 2 ปาก เจ้าหน้าที่กองอาสารักษาดินแดน(อส.) มุกดาหาร  และสารวัตรสืบสวน สภ.เมืองมุกดาหาร

นายไกรสมุทร นามโพธิ์ไทร พยานที่ขึ้นเบิกความคนแรก เป็นผู้สื่อข่าวท้องถิ่นของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ และแนวหน้า  อีกทั้งเป็นลูกจ้างของบริษัท ชิโนทัย ทำงานที่ ร.พ.มุกดาหารด้วย  พยานให้การว่าในวันเกิดเหตุ(19 พ.ค.53) ทราบข่าวว่ามีการชุมนุมและเผายางที่ข้างศาลากลาง จึงเดินทางไปยังที่เกิดเหตุเพื่อบันทึกภาพ  พยานกลับไปทำงานที่ ร.พ.เป็นระยะๆ ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุตลอดเวลา   ดังนั้น พยานจึงไม่เห็นว่าใครเป็นคนเผาศาลากลาง  เห็นแต่เพียงมีบางกลุ่มกลิ้งยางเข้าไปเผา บางกลุ่มก็กลิ้งยางออกมา  ขณะเพลิงลุกไหม้ พยานเห็นมีเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุมบางคนเข้าไปห้ามปราม แต่ไม่มีการจับกุม  การบันทึกภาพของพยานเป็นการถ่ายในระยะไกลทั้งหมด  และเป็นการถ่ายภาพเหตุการณ์โดยรวม ในภาพที่พยานถ่ายก็ไม่มีภาพที่เห็นคนจุดไฟเผาศาลากลางชัดเจน  เมื่อตำรวจขอความอนุเคราะห์มายังสื่อทุกคน พยานจึงได้นำภาพถ่ายทั้งหมดไปมอบให้ โดยไม่ได้เปิดดูก่อน และไม่มีการตัดต่อ

พยานปากที่ 2 เป็นผู้สื่อข่าวท้องถิ่นของ นสพ.เดลินิวส์ ชื่อนายอนุศักดิ์ แสนวิเศษ  พยานให้การว่าในวันที่ 19 พ.ค.53 พยานเข้าไปในที่เกิดเหตุเพื่อบันทึกภาพในฐานะผู้สื่อข่าว พยานเห็นว่าในศาลากลางมีทั้งคนเสื้อแดงที่มาชุมนุมและประชาชนทั่วไป  พยานถ่ายภาพในระยะไกล โดยใช้ซูมภาพเอา  พยานออกไปรายงานข่าวเป็นระยะๆ จึงไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุตลอดเวลา โดยเฉพาะในช่วงที่มีการเผาศาลากลาง  แต่ในช่วงสลายการชุมนุม พยานอยู่ในศาลากลาง และถ่ายภาพผู้ต้องหาที่ตำรวจจับกุมจากที่อื่นเข้ามา  พยานไม่ทราบว่าคนที่ตำรวจจับมาอยู่ในศาลากลางหรือกระทำผิดหรือไม่  เมื่อพยานนำภาพถ่ายไปให้กับตำรวจ ไม่ได้มีการสอบปากคำพยานไว้

พยานปากที่ 3 คือ นายวิไล  เมืองโคตร  นายหมู่ใหญ่ประจำกองอาสารักษาดินแดน (อส.) จังหวัดมุกดาหาร   นายวิไลให้การต่อศาลว่า วันเกิดเหตุเข้าเวรรักษาการณ์อยู่ที่ป้อมยามข้างประตูด้านทิศตะวันออก  เห็นกลุ่มคนเสื้อแดงเผายางรถยนต์อยู่ที่ถนนนอกรั้วศาลากลาง หน้าประตูด้านทิศตะวันตก ซึ่งอยู่ห่างจากบริเวณที่พยานอยู่ประมาณ 400 ม.  ต่อมาประมาณ 10 โมงเช้า กลุ่มคนเหล่านั้นก็พังประตูรั้วด้านทิศตะวันตกเข้ามาในบริเวณศาลากลาง รวมตัวกันอยู่บริเวณหน้ามุขอาคารหลังเก่า  มีคนกลุ่มหนึ่งกลิ้งยางรถยนต์มากองไว้บริเวณมุมด้านตะวันออกของมุข 2 กอง ห่างจากพยานราว 200 ม.  ประมาณ 11 โมง ผู้ชุมนุมก็เผายางที่กองไว้  สักพัก ก็มีคนสวมหมวกกันน็อคกลิ้งยางที่ติดไฟเข้าไปในอาคารบริเวณคลังจังหวัดจนเกิด เพลิงไหม้  มีรถดับเพลิงวิ่งเข้ามา แต่ผู้ชุมนุมสกัดเอาไว้ พร้อมทั้งใช้ไม้ทุบรถ จนกระจกหน้ารถแตก และพนักงานขับรถต้องทิ้งรถหนีออกไป  บ่ายสามโมง กลุ่มวัยรุ่นพยายามจุดไฟเผาอาคารศาลากลางหลังใหม่บริเวณทางเข้าด้านทิศตะวัน ออก ซึ่งเป็นห้องเก็บวัสดุไฟฟ้า กำลังตำรวจจึงผลักดันผู้ชุมนุมออกมาทางป้อมยามที่พยานยืนรักษาการณ์อยู่ ตลอด  พยานเห็นวันรุ่นคนหนึ่งวิ่งหนีตำรวจจากบริเวณต้นไม้ข้างอาคารหลังใหม่ซึ่ง อยู่ห่างจากพยานประมาณ 200 ม. มาล้มที่หน้าป้อม  จึงควบคุมตัวเอาไว้  ตำรวจที่ตามมาจึงเข้าจับกุมและมัดแขนขาชายคนดังกล่าวไว้  พยานรับว่าเห็นชายคนที่พยานจับได้วิ่งออกมาจากกลุ่มผู้ชุมนุมจริง แต่ไม่รู้ว่าเขาได้ร่วมเผาหรือไม่  พยานจำหน้าชายคนนั้นไม่ได้ จำไม่ได้ว่าใส่เสื้อสีอะไรด้วย  รูปที่พนักงานสอบสวนนำมาให้พยานชี้ ก็เป็นรูปที่จำเลยคนดังกล่าวนอนคว่ำหน้าอยู่  นอกจากนี้ พยานยังรับว่าคำให้การในชั้นสอบสวนและในศาลไม่ตรงกัน

พ.ต.ท.พุทธินันท์ บำรุง ขึ้นให้การเป็นคนสุดท้าย โดยเกี่ยวข้องเป็นผู้จับกุมตามหมายจับ ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งสารวัตรสืบสวน สภ.เมืองมุกดาหาร  ในวันเกิดเหตุได้รับมอบหมายให้ดูแลทรัพย์สินของเอกชนด้านนอกศาลากลาง  พยานจึงไม่ได้อยู่เหตุการณ์ที่มีการเผาศาลากลาง และไม่รู้ว่าใครเป็นคนเผา  หลังเหตุการณ์ พยานได้รับมอบหมายให้สืบหาคนร้ายตามภาพถ่ายในหมายจับ   ซึ่งพยานได้ทำการสืบและเข้าจับกุมผู้ต้องหาทั้งสิ้น 4 คน ทั้งนี้ พยานรับว่า ภาพถ่ายที่เป็นหลักฐาน ไม่ปรากฏชัดว่าจำเลยที่พยานตามจับกุมมาเป็นผู้จุดไฟเผาศาลากลาง เป็นเพียงภาพขณะจำเลยกลิ้งยางหรือยืนข้างกองยางเท่านั้น  อีกทั้ง พยานก็ไม่รู้ด้วยว่าจำเลยที่มีภาพกลิ้งยางนั้น เป็นการกลิ้งเข้าไปกองเพื่อจุด หรือกลิ้งออกมา  หรือที่ยืนข้างกองยางนั้นกำลังห้ามปรามผู้ชุมนุมไม่ให้จุดไฟเผาหรือไม่  ภาพถ่ายในหมายจับที่ยังจับไม่ได้อีก 30 กว่าหมายก็เป็นในลักษณะเดียวกัน   นอกจากนี้  เมื่อจำเลยถูกจับกุมและให้เซ็นรับรองว่าเป็นภาพถ่ายของตนเองนั้น พยานให้จำเลยเซ็นในขณะที่จำเลยยังไม่มีทนายความ     
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net