Skip to main content
sharethis

27 ก.ย. 49 - ที่ห้องวรรณไวทยากร อาคารโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วันที่ 26 ก.ย. แกนนำการจัดงานสมัชชาสังคมไทย(ทีเอสเอฟ)เปิดแถลงยืนยันว่า จะจัดงานตามกำหนดการเดิม คือวันที่ 21-23 ต.ค. ณ อาคาร SC มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต แม้จะเกิดเหตุการณ์ที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(คปค.)ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่ผ่านมา อีกทั้งได้ยกเลิกการใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และมีคำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน


                  


นายจอน อึ๊งภากรณ์ หนึ่งในแกนนำสมัชชาสังคมไทย กล่าวนำว่า ที่ผ่านมาไม่ว่ารัฐบาลไหนรวมทั้งคณะปฏิรูปฯ ไม่ค่อยรับฟังเสียงของคนส่วนใหญ่ในประเทศหรือเสียงขององค์กรภาคประชาชน คนชายขอบ เป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องมีการจัดสมัชชาสังคมไทยที่เลียนแบบมาจากสมัชชาสังคมโลก


 


ทั้งนี้ การจัดสมัชชาสังคมไทยมีการเตรียมการมากว่า 1 ปี แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. ทำให้ต้องมีการประชุมกันว่างานดังกล่าวจะเป็นไปตามกำหนดเดิมหรือไม่ สุดท้ายที่ประชุมเห็นพ้องกันว่า ยิ่งมีเหตุการณ์นี้ก็ยิ่งจำเป็นต้องจัดสมัยชาสังคมไทย นอกจากนี้จากการประชุมยังมีข้อเสนอต่อ คปค.ด้วย


 


เมื่อกล่าวจบนายจอน จึงได้อ่านคำแถลงผลการประชุมการเตรียมจัดงานสมัชชาสังคมไทย ความว่า งานสมัชชาสังคมไทย จะจัดขึ้นในวันที่ 21-23 ต.ค. ณ อาคาร SC มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตโดยจะมีการแสดงความเห็นจากเครือข่ายภาคประชาชนกว่า 3,000 คน ประเด็นสำคัญในการจัดคือ การปฏิรูปการเมืองโดยมุ่งหวังให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม บนความแตกต่างทางความคิด หลายปัญหาเป็นปัญหาของภาคประชาชนโดยตรง เช่น เรื่องความยากจนปัญหาที่ทำกิน ความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย สิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน การแก้ปัญหาผู้ประสบภัยจากสึนามิ ผู้ติดเชื้อเฮชไอวี เพศสภาพ หรือปัญหาใน 3 จังหวัดภาคใต้ เป็นต้น


 


ทั้งนี้ แม้ว่าการรัฐประหารโดย คปค.จะมีผลต่อสังคมโดยฉับพลันด้วยการเปลี่ยนตัวผู้บริหาร แต่ไม่ได้หมายความว่าระบอบทักษิณจะหายไป เพราะแนวคิดทุนนิยมเสรียังคงฝังรากลึก คณะกรรมการจัดงานสมัชชาสังคมไทยจึงได้เร่งประชุมด่วนโดยมีมติว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่จะทำการร่างขึ้นใหม่โดย คปค.ควรบรรจุเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 โดยเฉพาะในส่วนสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยและแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐโดยครบถ้วน


 


ข้อต่อมา ในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร  คณะร่างรัฐธรรมนูญต้องมาจากการเลือกตั้งกันเองของประชาชน และมีตัวแทนประชาชนในภาคส่วนต่างๆ ไม่ใช่มาจากการแต่งตั้ง


 


ข้อสาม ให้ยกเลิกกฎอัยการศึกและคำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมือง และคำสั่งหรือมาตรการที่ขัดต่อเสรีภาพสื่อโดยเร็ว ส่วนข้อสุดท้ายในขณะที่ยังไม่มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ขอให้รัฐบาลชั่วคราวที่จะตั้งขึ้นปฏิบัติเสมือนเป็นรัฐบาลรักษาการ เช่น งดการริเริ่มนโยบายใหม่ งดในการออกกฎหมายหรือแก้กฎหมาย คำสั่งที่ลิดรอนสิทธิประโยชน์ประชาชน งดการดำเนินนโยบายที่ที่ยังมีความเห็นขัดแย้งกันทางสังคม หรือการมีข้อตกลงกับต่างประเทศอันจะเกิดผลเชิงนโยบาย โดยต้องดำรงไว้ซึ่งนโยบายต่างๆเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนเช่น โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า


 


หลังจากแถลงมีคำถามจากสื่อมวลชนว่า  งานสมัชชาสังคมไทยต้องของอนุญาต คปค. ก่อนหรือไม่ นายจอนตอบว่า ไม่ตั้งใจขออนุญาตใครนอกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่ และได้รับการอนุญาตแล้ว นอกจากนี้การรวมตัวดังกล่าวคิดว่าเป็นการประชุมสัมมนาหรือการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ถ้าทำไม่ได้ เวลาอาจารย์จะสอนหนังสือก็คงต้องขออนุญาต คปค.ด้วย


 


นอกจากนี้ ประเด็นที่จะให้ความสำคัญมากขึ้นคือเรื่องเสรีภาพสื่อ หรือการปฏิรูปสื่อมวลชนทั้งในกระแสหลักและสื่อภาคประชาชน เพราะปัญหาสำคัญที่ผ่านมาคือการปิดกั้นการแสดงออกของประชาชน ทั้งนี้ ในวันที่ 23 ต.ค. จะมีการแสดงออกร่วมกันทั้ง 3,000 คน ด้วยการเดินขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ไปสวนลุมพินี และจัดการชุมนุมเพื่อเอาผลการสมัชชาไปประกาศต่อประชาชนให้รับรู้สิ่งที่คุยกัน


 


อีกทั้งในอีก 1 เดือนข้างหน้าได้ยินมาว่าจะมีรัฐบาลพลเรือนและมีรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ต้องไม่ควรถอยหลังไปกว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 แล้ว


 


"หวังว่าถึงเวลานั้น เราจะมีอิสระที่จะชุมนุมด้วยความจริงใจ บริสุทธิ์ สันติ และไม่ผิดกฎหมาย จึงไม่น่าจะต้องขออนุญาตใคร"


 


จากนั้น นายจอนได้ให้สัมภาษณ์แสดงความเห็นส่วนตัวต่อผู้สื่อข่าว โดยตอบคำถามที่ว่า ถ้าข้อเสนอจากการสมัชชาไม่ได้รับการตอบรับ โดยใช้วิธีการเพิกเฉยคล้ายๆกับกรณีข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาภาคใต้ของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติที่มีต่อรัฐบาลทักษิณจะทำอย่างไร


 


นายจอนตอบว่า หากเป็นอย่างนั้นเรามีความชอบธรรมที่จะเรียกร้อง ทั้งนี้รัฐธรรมนูญฉบับหน้าจะต้องมาจากความเป็นประชาธิปไตย โดยประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ตรงนี้ต่างไปจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ซึ่งผู้มีส่วนในการร่างครั้งนั้นเน้นไปที่นักวิชาการและอดีตนักการเมือง หรือชนชั้นกลาง แต่ไม่มีตัวแทนในส่วนผู้ด้อยโอกาส


 


"ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 คุณสมบัติ ส.ส.ต้องจบปริญญาตรี สะท้อนให้เห็นการไม่มีส่วนร่วมขององค์กรภาคประชาชน ความแตกต่างจากครั้งนั้นคงต้องมีสมาชิกสภาร่างมากกว่าเก่า มีสัดส่วนจากภาคส่วนต่างๆที่เหมาะ ทั้งนี้คนส่วนใหญ่มักไม่มีอำนาจ ทำอย่างไรจึงจะให้มีตัวแทนจากคนส่วนใหญ่ "


 


นายจอนยังให้ความเห็นส่วนตัวอีกว่า ไม่เห็นด้วยกับการที่ คปค.จะร่างรัฐธรรมนูญก่อนแล้วค่อยให้มีการเลือกตั้ง แต่เห็นว่า ควรให้มีการเลือกตั้งก่อนเพื่อหารัฐบาลชั่วคราวมาจัดการในการร่างรัฐธรรมนูญถาวร เมื่อได้รัฐธรรมนูญถาวรแล้วจึงค่อยให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ เห็นว่าควรใช้วิธีการแบบนี้มากกว่าถ้าไม่อยากให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทุกๆ 10 ปี ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีการที่ใกล้เคียงประชาธิปไตยมากที่สุด เพราะมีรัฐบาลชั่วคราวที่มาจากการเลือกตั้ง วิธีการนี้อาจจะใช้เวลามากและอาจจะมีผู้ร่วมร่างมากกว่าสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 คืออาจจะถึง 200 - 300 คน แต่ก็จะเป็นการฟังเสียงจากภาคส่วนต่างๆ 


 


นายจอนมีความเห็นต่อการรัฐประหารของ คปค. ว่า ต้องการรอดูตามเวลา 2 สัปดาห์ แต่ก็เข้าใจผู้ที่ออกมาประท้วงและเคารพในความเห็น อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 สัปดาห์นี้ก็มีหลายกรณีที่จะออกมาใช้สิทธิประท้วงเช่นกัน เช่น กรณีที่มีข่าวลือเรื่องการล็อบบี้ให้ยกเลิกโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ถ้าเป็นจริงก็ยอมรับไม่ได้ เพราะเป็นโครงการที่มาจากการเรียกร้องของภาคประชาชนกว่า 70,000 คน ที่เรียกร้องการประกันสุขภาพถ้วนหน้า การอ้างว่าโครงการนี้เกิดในสมัยทักษิณต้องยกเลิกเป็นเรื่องรับไม่ได้


 


อย่างไรก็ตาม โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ก็มีปัญหา ซึ่งโครงการจะยั่งยืนได้ต้องใช้งบประมาณมาก จึงต้องเก็บภาษีที่เป็นธรรมด้วย เช่น การเก็บภาษีจากคนรวยที่มากขึ้นเป็นการถัวเฉลี่ย นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังมีจุดด้อยเรื่องคุณภาพ นโยบายประชานิยมของทักษิณทุกนโยบายเป็นประโยชน์ต่อภาคประชาชน แต่ถูกนำไปทำในลักษณะหาเสียงและไม่ให้กระทบกับคนรวย โครงการจึงไม่มีประสิทธิภาพ โครงการต่างๆจึงสมควรทำไม่ใช่เลิก แต่ต้องเป็นสวัสดิการสังคมที่ยั่งยืน  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net