Skip to main content
sharethis

"ภาคีคนฮักเจียงใหม่" ยื่นศาลปกครองฟ้องไนท์ซาฟารี หลังให้ทนายร่างคำฟ้องเสร็จ เชื่อศาลรับฟ้อง ชี้ผิด กม.อุทยานมาตั้งแต่ต้น โยง "พืชสวนโลก" ก็เข้าข่ายรุกพื้นที่อุทยานเช่นกัน จี้ "สุดารัตน์" แสดงความรับผิดชอบ หวั่นระบบนิเวศน์ของอุทยานสุเทพ-ปุยเสียหาย



(10กย.) นายชัยพันธุ์ ประภาสะวัติ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อสิทธิชุมชน หนึ่งในองค์กรร่วมของกลุ่มภาคีคนฮักเจียงใหม่ เปิดเผยว่า ภายใน 1 - 2 สัปดาห์นี้กลุ่มภาคีคนฮักเจียงใหม่จะนำคำฟ้องที่มอบหมายให้ทนายความไปดำเนินการร่าง เพื่อฟ้องร้องเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้องในโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี กับศาลปกครองสูงสุดอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้ได้ยื่นคำฟ้องกับศาลปกครองเชียงใหม่ แต่ศาลฯไม่รับคำฟ้องโดยระบุว่า ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองเชียงใหม่



ทั้งนี้มั่นใจว่าการยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดในครั้งนี้ ศาลจะรับคำฟ้องอย่างแน่นอน เพราะภาคีคนฮักเจียงใหม่เชื่อมั่นว่า การเกิดขึ้นของโครงการเชียงใหม่ท์ซาฟารีไม่ถูกต้องมาตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะในประเด็นของการเข้าไปใช้พื้นที่ของอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย



นายชัยพันธุ์ กล่าวว่า การเข้าไปใช้พื้นที่อุทยานแห่งชาติเป็นไปโดยมิชอบ แม้ว่าจะมีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ขึ้นมาดูแลและรับโอนพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติสุเทพ - ปุยมาอยู่ในความดูแลจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีมติ ครม.รองรับ แต่พระราชกฤษฎีกาก็ไม่สามารพเพิกถอน พรบ.อุทยานแห่งชาติได้ ดังนั้นกฎหมายอุทยานแห่งชาติยังคงอยู่ การเข้าไปใช้พื้นที่อุทยานแห่งชาติของ อพท.จึงเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย



นอกจากนี้การเข้าไปใช้พื้นที่จำนวน 470 ไร่ ของสำนักงานพัฒนาเกษตรเขตที่ 1 เชียงใหม่ เพื่อจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติ : ราชพฤกษ์ 2549 พื้นที่ดังกล่าวอยู่ใกล้กับโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแห่งชาติดอยสุเทพ - ปุยเช่นกัน แม้จะถูกจัดเป็นเขตป่าเสื่อมโทรม และได้มอบพื้นที่ให้หน่วยงานราชการเข้าไปตั้งสำนักงาน แต่ถือว่าผิดกฎหมายอุทยานแห่งชาติ



รวมทั้งยังผิดกฎหมายสิ่งแวดล้อมด้วย โดยเฉพาะประเด็นการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ ซึ่งจะเห็นว่าทั้งสองโครงการที่มีการใช้พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติรวมกันมากกว่า 1,000 ไร่ กลับไม่มีการศึกษาผลกระทบตามที่ระบุไว้ในกฎหมายสิ่งแวดล้อม ต่อมาทั้งสองโครงการที่สร้างขึ้นในเขตอุทยานแห่งชาติ กลายเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ที่กีดขวางทางน้ำ และเปลี่ยนเส้นทางไหลไปท่วมบ้านเรือนของประชาชน



นายชัยพันธุ์ กล่าวอีกว่า อีกกรณีที่น่าเป็นห่วง คือการนำพืชต่างถิ่นเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งนอกจากจะผิดกฎหมายอุทยานแห่งชาติที่ห้ามนำพืชต่างถิ่นเข้ามาแล้ว ยังผิดกฎข้อบังคับตามสนธิสัญญาไซเตสด้วย เพราการนำพืชต่างถิ่นเข้ามาปลูกอาจส่งผลกระทบกับระบบนิเวศวิทยาเดิม จึงต้องมีการขออนุญาต การตรวจสอบ และการกักกันพืชเพื่อตรวจโรคอย่างถูกต้อง แต่กรณีของการจัดงานพืชสวนโลก กลับไม่มีการคำนึงถึงผลกระทบในจุดนี้ จึงอยากให้รัฐบาลและรัฐมนตรีที่รับผิดชอบ คือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ออกมาตอบถามและแสดงความรับผิดชอบในเรื่องนี้ด้วย



"ภาคีคนฮีกเจียงใหม่ ไม่ได้คัดค้านหรือต่อต้านไม่ให้มีการจัดงานแต่อย่างใด เพราะการเตรียมงานคืบหน้ามาถึงขั้นนี้แล้ว และได้ใช้งบประมาณของประเทศลงทุนไปเป็นจำนวนมาก แต่อยากจะเสนอแนะข้อมูล และท้วงติงในประเด็นที่เป็นห่วง เพื่อให้ผู้รับผิดชอบได้ระมัดระวังในเรื่องที่อาจส่งผลกระทบกับประเทศในภายหลัง"นายชัยพันธุ์กล่าว



ทั้งนี้ในส่วนของประเทศที่เข้าร่วมการจัดงานและมีการนำพันธุ์ไม้ต่างถิ่นเข้ามา ถือว่าได้ละเมิดกฎหมายสากล กฎหมายอุทยาน สนธิสัญญาไซเตส รวมทั้งยังกระทำการละเมิด รธน.ของประเทศไทยด้วย จึงเห็นว่า มีหลายประเทศเช่นกันที่ปฎิเสธเข้าร่วมงานในครั้งนี้--จบ--




…………………………………


ที่มา: http://www.komchadluek.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net