Skip to main content
sharethis


 


 


โดย องอาจ เดชา


 


 


ในที่สุด แนวคิดการสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศไทย ก็ถูกจุดโหมกระพือขึ้นมาอีกหนจนได้ มีทั้งฝ่ายเห็นด้วยที่บอกว่าเป็นพลังงานทดแทนที่ดีที่สุด กับฝ่ายไม่เห็นด้วยที่ออกมาคัดค้านว่าโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์นั้นมีความเสี่ยงสูง ก่อผลกระทบต่อชีวิตผู้คนและสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก


 


ย้อนรอยความเป็นมาของแนวคิดโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในไทย


หากเราย้อนกลับไปเมื่อปี 2509 ที่ผ่านมา เริ่มมีแนวคิดที่จะนำพลังงานนิวเคลียร์มาผลิตไฟฟ้าในเมืองไทย หลังจากนั้น จึงเริ่มก่อร่างขึ้นในปี 2510 โดยได้เตรียมคน ด้วยการฝึกอบรมบุคลากร การสำรวจสถานที่ก่อสร้าง รายงานความเหมาะสม การสำรวจสภาพแวดล้อม โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักปรมาณูเพื่อสันติ (พปส.) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งความช่วยเหลือจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ด้วยการวางหลักสูตร และการจัดตั้งแผนกวิศวกรรมนิวเคลียร์ระดับปริญญาโทขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันเป็นการปูพื้นฐานวิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ได้สำเร็จในปี 2514


 


ในปี 2517 หลังจากที่มีการคัดเลือกสถานที่จะก่อสร้างกันแล้ว รัฐบาลในขณะนั้นก็ได้อนุมัติให้เวนคืนที่ดินบริเวณอ่าวไผ่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ให้เป็นสถานที่ในการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ รวมทั้งมีการปรับปรุงรายงานความเหมาะสมเป็นครั้งที่ 3 ตามข้อมูลและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้นำโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดกำลังผลิต 350 - 500 เมกะวัตต์ เสนอรัฐบาลเพื่อพิจารณา แต่รัฐบาลในขณะนั้น ตัดสินใจให้ถอนโครงการดังกล่าวให้กลับมาทบทวนใหม่ เนื่องจากความผันผวนทางเศรษฐกิจภายในประเทศในห้วงเวลานั้น


 


อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่มีการทบทวนโครงการไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์กันใหม่นั้น ทาง กฟผ. ได้ทำการสำรวจ ศึกษาวิจัย และเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็นเพิ่มเติมต่อไป จนกระทั่งในปี 2520 โครงการดังกล่าวก็ถูกเสนอให้รัฐบาลพิจารณาใหม่อีกครั้ง เพื่อขออนุมัติเปิดประมูลเพื่อทราบราคาไว้ชั้นหนึ่งก่อน โดยไม่มีข้อมูลผูกพันใดๆ ด้วยความมุ่งหมายที่จะประหยัดเวลาไว้ 1-2 ปี เผื่อว่า เมื่อรัฐบาลตัดสินใจได้แน่นอนแล้ว จะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ทันที เนื่องจากในช่วงขณะนั้น เป็นช่วงเวลาที่กระแสการคัดค้านการก่อสร้างไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เป็นไปอย่างกว้างขวางทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย


จนกระทั่ง รัฐบาลไทยได้ระงับโครงการโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เอาไว้อย่างไม่มีกำหนด


 


แน่นอน ทางด้าน กฟผ.ก็ยังไม่ลดละพยายาม ยังไม่ละทิ้งโครงการ พร้อมทั้งได้กลับมาทำการศึกษาด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ พร้อมกับมีการเคลื่อนไหวของวงการนิวเคลียร์ทั่วโลก เพื่อเตรียมที่จะเริ่มโครงการนี้ขึ้นมาโดยทันทีถ้ามีความพร้อม


 


ในปี 2517 ทาง กฟผ.ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมโครงการในคณะกรรมการศึกษาความเหมาะสมเชิงเศรษฐกิจการใช้พลังงานนิวเคลียร์ ประกอบด้วย สำนักปรมาณูเพื่อสันติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานพลังงานแห่งชาติ และ กฟผ. โดยโครงการนี้ได้รับความช่วยเหลือจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ทำการศึกษาเบื้องต้นระยะยาวประมาณ 25 ปี เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ในประเทศ ว่าควรจะเป็นเมื่อใด? และมีเงื่อนไขอะไร?


 


ในห้วงขณะนั้น ทั้งหมดได้สรุปกันว่า พลังงานนิวเคลียร์เหมาะสมที่จะนำเข้ามาใช้ภายในปี 2547 ด้วยขนาดกำลังการผลิต 900 เมกะวัตต์


 


ต่อมา คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานได้รับทราบเมื่อเดือนธันวาคม 2530 และได้ให้ข้อแนะนำว่า ควรดำเนินการศึกษาทบทวนเป็นระยะๆ เมื่อเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไป และได้รับข้อสรุปที่แน่นอน พร้อมกับให้ กฟผ.เผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย


 


หลังจากนั้น ดูเหมือนว่า ทาง กฟผ.จะประกาศยกเลิกแผนที่จะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในห้วง 10-15 ปี ต่อจากนั้น โดยออกมายืนยันว่า จะยังไม่มีการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับนิวเคลียร์นี้อย่างน้อยก็ขอให้ถึงปี 2554 ก่อน


 


แต่ก็อีกนั่นแหละ หลังจากนั้น ยังคงมีข่าวคราวการเคลื่อนไหวเพื่อจะผลักดันโครงการไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ให้เกิดขึ้นในเมืองไทยเป็นระยะๆ ตลอดปี 2538 เรื่อยมาจนถึงปี 2539


 


กระทั่งมาถึงในสมัยรัฐบาล นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีมติ ครม.เมื่อวันที่ 23 ก.ค.2539 ที่เห็นชอบให้มีการตั้งคณะกรรมการ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขึ้นมาอีกครั้ง โดยมีนายยิ่งพันธุ์ มนะสิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ในขณะนั้น เป็นประธาน


 


ว่ากันว่า คณะกรรมการชุดนี้ นับว่าเป็นชุดแรกที่ตั้งขึ้นมา หลังจากโครงการดังกล่าวต้องยกเลิกไปเมื่อปี 2527 ในรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น ที่ได้ระงับโครงการนี้ไว้ไม่มีกำหนดจนถึงปัจจุบัน


 


อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการชุดดังกล่าวยังไม่ทันดำเนินการหรือมีการประชุม ก็มีการประกาศยุบสภาฯ เสียก่อน จึงทำให้คณะกรรมการชุดนี้ถูกยกเลิก


 


แต่ประเด็นการสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ก็ยังไม่ถูกยกเลิกตามไปด้วย เมื่อนายยิ่งพันธ์ มนะสิการ ได้หวนกลับเข้ามาเป็น รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ อีกครั้ง ในสมัยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ก่อนจะเงียบหายไป เมื่อมีการยุบสภาในเวลาต่อมา


 


ในที่สุด เดือน ก.ค.2549 กระแสให้มีการสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในเมืองไทย ก็ได้กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง ในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี (รักษาการ)


 


เลขาฯ สนง.ปรมาณูฯ ออกมาย้ำ


จำเป็นต้องมีโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เมืองไทย


ก่อนหน้านี้ ดร.มนูญ อร่ามรัตน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ได้ออกมาบอกว่า ขณะนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤติด้านพลังงานอย่างหนักโดยเฉพาะในรอบสองสามปีที่ผ่านมา ทำให้หลายประเทศมีการตัดสินใจที่จะใช้พลังงานนิวเคลียร์สำหรับผลิตไฟฟ้ามากขึ้น



ดร.มนูญ บอกว่า สำหรับประเทศไทย จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีความชัดเจนในเชิงนโยบายว่าจะตัดสินใจในเรื่องนี้อย่างไร ทั้งที่รัฐบาลก็รับรู้ถึงสถานการณ์ด้านพลังงานว่าค่อนข้างจะวิกฤติ แม้จะมีการส่งเสริมก๊าซเอ็นจีวีมากขึ้น แต่กระทรวงพลังงานก็ประเมินแล้วว่าใช้ได้อีก 10 กว่าปีเท่านั้น



"ถ้าดูสถานการณ์พลังงานแล้ว คิดว่ารัฐบาลต้องรีบตัดสินใจว่าจะใช้นิวเคลียร์หรือไม่ เพราะถ้าจะเดินหน้าจริง กว่าจะได้ใช้ไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ได้ต้องใช้เวลาประมาณ 15 ปีในการดำเนินงาน ส่วนความพร้อมด้านบุคลากร เทคโนโลยีนั้นไม่น่าเป็นห่วง แต่ติดที่นโยบายมากกว่า" เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กล่าวออกมา


 


ทั้งนี้ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ยังกล่าวอีกว่า ไทยควรลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 1,000 เมกะวัตต์จำนวน 4 โรงจึงจะแชร์ส่วนแบ่ง พลังงานน้ำมันได้ 25% และเพียงพอกับปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ ส่วนเงินลงทุนอาจสูงถึง 8-9 หมื่นล้านบาท เนื่องจากเป็นการลงทุนใหม่ทั้งหมด แต่อาจจะเชิญชวนให้เอกชนร่วมลงทุน หรือหาแหล่งเงินจากต่างประเทศสนับสนุนโครงการ


 


หลังจากนั้น ดูเหมือนว่าทุกฝ่ายที่เห็นด้วยและหน่วยงานที่รับผิดชอบต่างออกมาจัดเวทีสัมมนาแสดงความคิดเห็นกันอย่างต่อเนื่อง


 


ด้านนายประเจิด สุขแก้ว ผู้ว่าการการไฟฟ้า ส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ก็ออกมากล่าวว่า ในอนาคตพลังงานไฟฟ้าและน้ำมันจะเริ่มหายากขึ้น ดังนั้นจึงต้องหาพลังงานทดแทน อาทิ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งในประเทศที่เจริญอย่างประเทศญี่ปุ่น หรือสหรัฐอเมริกา มีการใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทำให้ได้ไฟฟ้าในราคาถูกและเพียงพอ ที่จะใช้ในการจ่ายให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง


 


คณะวิทย์ มช.จับมือ สนง.ปรมาณูเพื่อสันติ ชู รง.ไฟฟ้านิวเคลียร์คือทางออก


ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว เชียงใหม่ คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้เปิดเวทีข้อเท็จจริงของเทคโนโลยีและเปิดรับฟังความเห็นประชาชนรองรับโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในอนาคต โดยนอกจากจะให้ความรู้เรื่องพลังงานนิวเคลียร์แห่งประชาชน แล้วยังเปิดรับฟังความเห็นจากนักวิชาการและสื่อมวลชนด้วย


 


รศ.ดร .นิกร มังกรทอง รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า จากวิกฤตน้ำมันที่ผันผวน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกอยู่ขณะนี้ ประเทศไทยเราต้องหาทางเลือกในด้านพลังงานทดแทน เพราะเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต ดังนั้น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง


 


"สถานการณ์พลังงานทั้งจากน้ำมัน ถ่านหิน หรือก๊าซที่ร่อยหรอลงทุกที และมีต้นทุนการผลิตที่สูง ส่งผลให้หลายประเทศมองการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ซึ่งเป็นแหล่งผลิตพลังงานที่สะอาดไม่ก่อปัญหาก๊าซเรือนกระจก ซึ่งไทยก็มองถึงการผลิตพลังงานนิวเคลียร์เพื่อกระแสไฟฟ้า แต่จะต้องเตรียมการรองรับล่วงหน้าหลายด้าน ทั้งกำลังคน กฎหมาย ความปลอดภัย องค์กรในการควบคุมความปลอดภัย โดยเฉพาะความเข้าใจและการยอมรับของประชาชน"


 


รศ.ดร .นิกร กล่าวว่า เนื่องจากพลังงานนิวเคลียร์มีภาพพจน์แต่แรกเริ่มในเชิงลบ จึงได้นำข้อมูลแนวโน้มและความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคตของประเทศ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์กับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยในเทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ความพร้อมในการดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และความเหมาะสมของโครงการ รวมถึงการจัดการกับกากกัมมันตรังสี จากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์การทำงานกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ


 


อย่างไรก็ตาม ก็มีหลายฝ่ายออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วย ที่จะให้มีการสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์


 


อ.ฟิสิกส์ มช.ลุกโต้ สังคมไทยต้องปลอดนิวเคลียร์


นายชัชวาลย์ บุญปัน อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่ประเทศไทยจะต้องสร้างโรงไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์ เพราะว่าประเทศไทยยังมีพลังงานทางเลือกอีกมากมาย ไม่ว่า แสงอาทิตย์ หรือขยะมูลฝอย โดยมีตัวอย่างชาวบ้านที่จังหวัดราชบุรีผลิตกระแสไฟฟ้าจากมูลสุกร แต่ไม่สามารถขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้ เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ และรัฐไม่ส่งเสริม กลับไปส่งเสริมกลุ่มธุรกิจพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งมีผลประโยชน์มหาศาล


 


"นอกจากนั้น ที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติ ก็ได้ประกาศว่า พลังงานนิวเคลียร์เป็นพลังงานที่ไม่ปลอดภัยและไม่สะอาด และถามว่า หากปลอดภัยจริง เหตุใดสหรัฐอเมริกาจึงประกาศปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไปถึง 20 แห่ง ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้นักวิชาการในสถาบันการศึกษา เคารพจรรยาบรรณในวิชาชีพ อย่าหลงเชื่อกลุ่มแสวงหาผลประโยชน์ และร่วมกันปกป้องสังคมไทยให้ปลอดจากนิวเคลียร์" นายชัชวาลย์ กล่าวทิ้งท้าย


 


กรีนพีช เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชี้ รง.ไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มีความเสี่ยงสูง ด้านกรีนพีช เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ออกมายืนยันว่า โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์นั้น มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากนิวเคลียร์อย่างมาก


 


กรีนพีช ระบุว่า อุบัติเหตุร้ายแรงในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ซึ่งจะส่งผลให้มีการปล่อยกัมมันตภาพรังสีออกไปเป็นบริเวณที่กว้างขวาง นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากกากนิวเคลียร์ ซึ่งอาจส่งผลที่ไม่อาจคาคคะเนได้ต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในบริเวณที่มีประชากรหนาแน่น ซึ่งภัยพิบัติที่เชอร์โนบิลก็ชี้ให้เห็นถึงความเสียหายอย่างรุนแรงที่เกิดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์


 


กลุ่มอนุรักษ์ออสเตรเลีย ย้ำนิวเคลียร์ไม่ใช่ทางออก แพงและอันตราย


ในขณะที่ Ian Lowe ประธานมูลนิธิอนุรักษ์ออสเตรเลีย ก็ออกมาระบุว่า นิวเคลียร์ไม่ใช่ทางออกของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงานนิวเคลียร์มีราคาแพง ช้า และ อันตราย มันไม่สามารถหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หากคำตอบคือ พลังงานนิวเคลียร์ มันต้องมาจากคำถามที่โง่เง่าอย่างมาก


 


"บรรดาอุตสาหกรรมนิวเคลียร์พากันออกมาอ้างว่า พลังงานนิวเคลียร์คือ คำตอบที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งที่พลังงานนิวเคลียร์มีสารพิษและ อันตรายอย่างยิ่ง ดังนั้น การเลือกพลังงานนิวเคลียร์เป็นทางออกในการแก้ปัญหาจึงเป็นหลบเลี่ยงการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แท้จริงและถ่วงเวลาในการแก้ไขอย่างจริงจัง"


 


ประธานมูลนิธิอนุรักษ์ออสเตรเลีย ยังกล่าวอีกว่า กลุ่มผู้สนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์ ล้วนกล่าวถูกต้องที่ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนและรวดเร็ว แต่การนำเอานิวเคลียร์มาแทนที่ถ่านหินที่ก่อให้เกิดมลพิษและ เชื้อเพลิงฟอสซิลชนิดอื่นๆ ก็ไม่ใช่คำตอบที่เราต้องการเช่นเดียวกัน ทางออกในระยะยาวที่ดีที่สุดสำหรับอนาคตที่เป็นมิตรกับสภาพภูมิอากาศ คือ การพัฒนาพลังงานสะอาดโดยเฉพาะลมและแสงอาทิตย์ ผนวกกับเทคโนโลยีในการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านพลังงาน


 


บทส่งท้าย


Ian Lowe ประธานมูลนิธิอนุรักษ์ออสเตรเลีย ได้สรุปถึงข้อจำกัดของกรณีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ และทางออกของพลังงานสะอาด เอาไว้อย่างน่าสนใจ


 


ภูมิภาคเอเชียมีโครงการขยายการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ตั้งแต่ปี 2545-2568 ที่เติบโตเร็วที่สุด คิดเป็นร้อยละ 96 ของโครงการทั้งหมดที่เพิ่มขึ้น


 


(1) ต้นทุนพลังงานนิวเคลียร์มีราคาแพงมาก ไม่เพียงแต่จะมีราคาแพงกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลและ พลังงานสะอาดจากลม นิวเคลียร์ยังมีเรื่องของความไม่ปลอดภัยและมรดกของสารพิษต้นทุนที่สูงนั้นเกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ความมั่นคง การประกันภัย และภาระที่ต้องชดใช้หากเกิดอุบัติเหตุหรือถูกโจมตี การจัดการกากนิวเคลียร์ การก่อสร้างและการปลดระวางการใช้งานของเครื่องปฏิกรณ์ ซึ่งทวีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่พลังงานลมและแสงอาทิตย์กลับมีราคาถูกลง


 


(2) โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้แต่เสนอถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจในอดีตซึ่งเป็นผลมาจากการอุดหนุนเงินทุนของรัฐบาล ปัจจุบันมีการเปิดเสรีตลาดพลังงานทั่วโลกทำให้นักลงทุนเลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์มากขึ้น ตัวเลขของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในยุโรปตะวันตกและสหรัฐฯ มีจำนวนสูงสุดเมื่อ 15 ปีก่อน และลดลงตั้งแต่นั้นมา ในทางตรงกันข้ามปริมาณการใช้พลังงานลมและแสงอาทิตย์กลับเพิ่มขึ้นร้อยละ 20-30 ต่อปี


 


(3)อันตรายของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์รวมถึงอุบัติเหตุ เช่น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่เชอร์โนบิลเมื่อปี 2529 การปล่อยกัมมันตภาพรังสีเป็นประจำทุกวันและของเสียจากโรงงานนิวเคลียร์ ปัญหาของกากนิวเคลียร์และ ความเสี่ยงจากการก่อการร้ายและก่อวินาศกรรม ในเอกสาร International Energy Outlook ปี 2548 ระบุว่า เอเชียจะเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตทางนิวเคลียร์มากที่สุดในอีก 20 ปีข้างหน้า ทำให้หลายประเทศในภูมิภาคซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนาตกอยู่ในอันตรายมากกว่าภูมิภาคอื่น อีกไม่นานเอเชียจะกลายเป็นลานทิ้งกากนิวเคลียร์ หากเราไม่ปฏิเสธตั้งแต่เนิ่นๆ และหันไปสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดและปรับปรุงประสิทธิภาพด้านพลังงานให้มากขึ้น


 


กากนิวเคลียร์ - การทิ้งกากนิวเคลียร์ยังคงเป็นปัญหาที่ไม่มีทางแก้ มันเป็นมลภาวะที่ร้ายแรงที่สุดเท่าที่มีการคิดค้นขึ้นมา กากนิวเคลียร์ยังคงเป็นกัมมันตภาพรังสีต่อไปอีกหลายร้อยหลายพันปี ตามปกติ เหมืองยูเรเนียมจะผลิตกากนิวเคลียร์ที่มีครึ่งชีวิตยาวนานมากและกากนิวเคลียร์ที่มีรังสีระดับต่ำทิ้งไว้ในบริเวณใกล้ๆเหมือง เครื่องปฏิกรณ์จะปล่อยกัมมันตภาพรังสีออกสู่อากาศและน้ำ


 


(4) ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน การเฝ้าระวังและเก็บสะสมกากนิวเคลียร์ไว้เป็นเวลานานเท่ากับเป็นการประวิงเวลาของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับอนาคตของโลกถึง 20 เท่า เท่ากับว่ามนุษยชาติทุกรุ่นจะต้องแบกรับปัญหานี้ต่อไปโดยไม่มีการระบุถึงความปลอดภัยในระยะยาว


 


การแพร่กระจายของนิวเคลียร์ - เทคโนโลยีนิวเคลียร์ เช่น การพัฒนายูเรเนียม ถูกนำไปใช้การผลิตอาวุธนิวเคลียร์ทำให้เกิดการเสี่ยงต่อการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ ปัจจุบันมากกว่า 40 ประเทศทั่วโลกมีความสามารถสร้างอาวุธนิวเคลียร์ได้และความพยายามของนานาชาติในการยุติการแพร่กระจายของเทคโนโลยีอาวุธนิวเคลียร์ก็ล้มเหลว เทคโนโลยีนิวเคลียร์ย่อมนำมาซึ่งความเสี่ยงในการนำไปพัฒนาอาวุธที่มีอำนาจในการทำลายล้างสูง


 


ผู้ผลิตก๊าซเรือนกระจก - การกล่าวอ้างว่า พลังงานนิวเคลียร์นั้นไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศเป็นเรื่องที่ผิด การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะเกิดขึ้นในวงจรชีวิตของเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ เชื้อเพลิงฟอสซิลที่นำมาผลิตไฟฟ้ามีความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกหนาแน่นกว่านิวเคลียร์ แต่นั่นเป็นความจริงเพียงครึ่งเดียวถ้าหากมีการพัฒนายูเรเนียมที่มีคุณภาพดีได้ และถึงแม้ว่าจะพัฒนายูเรเนียมคุณภาพดีได้แต่ปริมาณของก๊าซเรือนกระจกก็ยังคงเกิดขึ้นจากการทำเหมือง กระบวนการผลิต และการก่อสร้างเครื่องปฏิกรณ์ก่อนหน้าที่จะมีการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยซ้ำ ที่สำคัญยูเรเนียมคุณภาพดีนั้นมีปริมาณเหลือน้อยและใช้ได้อีกไม่กี่ปีหากมีการใช้ในระดับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ยูเรเนียมที่พบส่วนใหญ่ในโลกมักเป็นยูเรเนียมคุณภาพต่ำและมีแนวโน้มที่จะมีความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกสูง พลังงานนิวเคลียร์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยพลังงานมากกว่าแหล่งพลังงานสะอาด และการเปรียบเทียบนี้จะเห็นได้ชัดเจนขึ้นหากยูเรเนียมคุณภาพดีลดลงเรื่อยๆ


 


(5)ทางเลือกที่ปลอดภัย และสะอาด


เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่จะเกิดกับสภาพภูมิอากาศของโลก เราจำเป็นต้องลงมือทำอะไรบางอย่าง โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียควรจะนำเอาทางเลือกที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุดมาใช้ เช่น ลม แสงอาทิตย์ ความร้อนจากน้ำ ประสิทธิภาพด้านพลังงานและชีวมวล พลังงานสะอาดและการเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงานเป็นแหล่งพลังงานที่ป้อนให้สังคมที่เราอยู่อาศัยได้โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมตามมา


 


พลังงานสะอาดผลิตไฟฟ้าป้อนโลกของเราร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับนิวเคลียร์ที่ผลิตร้อยละ 16.6 ขณะที่การใช้พลังงานสะอาดเริ่มเพิ่มปริมาณมากขึ้น และ การใช้นิวเคลียร์ค่อยๆลดลง


 


(7) แหล่งพลังงานสะอาด เช่น ลมและแสงอาทิตย์เติบโตร้อยละ 20-30 ทุกปี


 


(8) ในปี 2546 การติดตั้งระบบแผงเซลแสงอาทิตย์ทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นจนทะลุยอดที่ตั้งเอาไว้ที่ 2,400 เมกะวัตต์ของพลังงานแสงอาทิตย์ ในช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา ยอดการขนส่งแผงพลังงานแสงอาทิตย์และอุปกรณ์เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 35 ต่อปี ทำให้เกิดการจ้างงาน 1 หมื่นตำแหน่ง และทำให้เกิดธุรกิจที่ทำรายได้ปีละกว่า 3 พันล้านยูโร


 


(9) ขณะที่พลังงานลมก็เป็นแหล่งพลังงานที่มีการนำไปติดตั้งเพื่อใช้งานเร็วที่สุดในโลกโดยมีอัตราในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ร้อยละ 15.8


 


(10) พลังงานสะอาดและหมุนเวียนเป็นพลังงานที่ไม่มีวันหมดสิ้น และหาได้แม้ในกระทั่งดินแดนที่ห่างไกลความเจริญ ช่วยให้โลกของเราปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม


 


เนื่องจากข้อจำกัดของการลงทุนในการจัดหาแหล่งพลังงานสะอาด ดังนั้นการลงทุนใดๆ ก็ตามในพลังงานนิวเคลียร์จึงเท่ากับเป็นการปฏิเสธการใช้พลังงานสะอาดและประสิทธิภาพด้านพลังงาน ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา พลังงานนิวเคลียร์มีแต่เรื่องที่เลวร้ายและไม่มีทางแก้ไขปัญหาดั้งเดิมของตัวมันเองได้ และยังเป็นทางเลือกที่ไม่น่าลงทุน การตัดสินใจที่ควรกระทำในขณะนี้คือการปฏิเสธพลังงานนิวเคลียร์ และหันไปลงทุนด้านพลังงานสะอาดและประสิทธิภาพด้านพลังงาน


 


ข้อมูลประกอบ


http://www.greenpeace.org


http://www.greenpeace.org/seasia/th/217865/228377/228380#


http://www.bangkokbiznews.com


ดวงเด่น นุเรมรัมย์, คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต 2539 : รายงาน กรณีความขัดแย้งในการสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์


ฐานเศรษฐกิจ(8 ม.ค.2540)


โพสต์ทูเดย์ 25 ก.ค.2549 สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เดินหน้าดันโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นพลังงานทางเลือกในอนาคต


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net