Skip to main content
sharethis

เมื่อเวลา 11.30 น. คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์วิทยาลัย กลุ่มนิสิตนักศึกษา 14 องค์กร อาทิ กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อสังคม กลุ่มชุมชนประชาธิปไตย เครือข่ายองค์กรสโมสรนิสิตนักศึกษาภาคใต้ ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์กรณีการทำร้าย 2 คุณครู ที่โรงเรียนกูจิงลือปะ อ.ระเงะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้สังคมไทยทุกฝ่ายได้ทบทวน และแยกแยะประเด็นปัญหาให้ถ้วนถี่ อีกทั้งเป็นการป้องกันการเกิดอคติทางสังคมต่อประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


ทั้งนี้ นางสาวกชวรรณ ชัยบุตร เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กลุ่มเครือข่ายนิสิตนักศึกษา ขอประณามการกระทำของทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการก่อเหตุการณ์ดังกล่าว และแสดงความห่วงใยชาวบ้านในพื้นที่ โดยไม่เหมารวมประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าเป็นผู้กระทำ จนทำให้เกิดความเข้าใจผิด ทำให้เกิดการโดดเดี่ยวประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


ส่วนนายชาญชัย ชัยสุขโกศล นิสิตปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์วิทยาลัย กล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่าได้สร้างความโกรธแค้น และเกลียดชังผู้กระทำความรุนแรงต่อครูทั้งสองท่าน รวมทั้งยิ่งสร้างบรรยากาศความหวาดระแวง ให้สังคมไทยเกิดขึ้นไปอีก จึงต้องให้ทุกฝ่ายตระหนักว่า สิ่งที่เกิดขึ้นท่ามกลางความซับซ้อน จากสภาพปัญหาความรุนแรงที่มีอยู่เดิม ทำให้ความเป็นจริงในพื้นที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ง่าย จึงต้องพิจารณาปัญหาด้วยสติ จะป้องกันไม่ให้เกิดอคติ ที่นำไปสู่การเคียดแค้น ชิงชัยและทำให้ปัญหายากจะแก้ไขได้ในระยะยาว


 


แถลงการณ์ ยังได้ระบุข้อเสนอต่อสังคมไทย 5 ประการ ต่อกรณีการจับครูเป็นตัวประกัน ได้แก่


1) เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้สะท้อนถึงกระบวนการจับกุมผู้ต้องสงสัย และการดำเนินคดีในพื้นที่ ที่แตกต่างจากที่อื่นๆ จนเกิดการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่ถูกต้อง จึงต้องทบทวนให้เกิดความเป็นธรรม เพื่อฟื้นความไว้วางใจในสังคม


 


2) สื่อควรระมัดระวังการนำเสนอประเด็นที่อ่อนไหว ที่อาจกลายเป็นการสร้างความชิงชังในสังคมได้


 


3) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความอคติที่รุนแรง และขยายตัวในสังคมไทยมากยิ่งขึ้น ประชาชนต้องมีสติ และตรวจสอบข้อมูลให้รอบด้าน ก่อนจะพิพากษาเชื่อในเหตุการณ์นั้นๆ


 


4) ในแนวทางการปฏิรูปการเมือง ต้องมีการขบคิดปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างจริงจัง ที่จะมีเนื้อหาสำคัญของการเคารพในอัตลักษณ์ และความหลากหลายในศาสนาและชาติพันธุ์ และ


 


5)เชิดชูความคิดสันติวิธีและสมานฉันท์ ของนางคำมี ปงกันมูล ซึ่งเป็นแม่ของครูจูหลิง ปงกันมูล ถือได้เป็นแบบอย่างที่ไม่ตอบแทนความรุนแรงด้วยความรุนแรง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net