Skip to main content
sharethis

ประชาไท—26 พ.ค. 2549 "กรรมการไตรภาคีฯ" เตรียมเปิดซองจ้างหน่วยงานกลางติดตามตรวจสอบสิ่งแวดล้อม "ท่อส่ง - โรงแยกก๊าซไทยมาเลเซีย" ไม่สน TTM แอบจ้างบริษัทฯ ไปก่อนหน้านี้แล้ว TTM สู้สุดฤทธิ์ อ้างถ้าจ้างใหม่ทำงานซ้ำซ้อนเสียเงินฟรี 20 ล้าน ดิ้นร้อง "สผ." ชี้ขาดอำนาจว่าจ้างอยู่ที่ TTM หรือ "กรรมการไตรภาคีฯ" ปศุสัตว์สงขลา แจ้งกลางวงประชุม โรงแยกก๊าซส่งผลกระทบฟาร์มไก่ เลี้ยงเท่าไหร่ก็ไม่โต


 


เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 26 พฤษภาคม 2549 ที่ห้องประชุมสมิหลา โรงแรมพาวีเลี่ยน อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา มีการประชุมคณะกรรมการไตรภาคีโรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซีย ครั้งที่ 2/2549 มีผู้เข้าร่วม 40 คน โดยนายสมพร ใช้บางยาง ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธาน


 


ที่ประชุมได้พิจารณาการจัดจ้างหน่วยงานกลางติดตามตรวจสอบการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อม โรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซไทย - มาเลเซีย นายสมชัย ถาวรวิจิตร หัวหน้ากลุ่มวิชาการ ในฐานะตัวแทนนายพีระพล สาครินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานพลังงานภูมิภาคที่ 12 ประธานคณะทำงานคัดเลือกหน่วยงานกลางฯ แจ้งต่อที่ประชุมว่า ได้กำหนดคุณสมบัติรายละเอียดของหน่วยงานกลางฯ ตามที่ระบุในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการจัดทำข้อตกลงและกำหนดขอบเขตการปฏิบัติงานแล้ว โดยจัดส่งข้อเสนอให้บริษัทที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมกว่า 50 บริษัท คาดว่าจะเปิดซองประกวดราคา ปลายเดือนมิถุนายน 2549


 


นายอุทัย มหิทธิมหาวงศ์ ผู้จัดการฝ่ายชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม บริษัท ทรานส์ ไทย - มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด หรือ TTM เจ้าของโรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซไทย - มาเลเซีย เปิดเผยว่า ขณะนี้ทาง TTM ได้จัดจ้างบริษัท แอร์เซฟ จำกัด เป็นหน่วยงานกลางฯ ตามที่สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติแล้วสิ่งแวดล้อม (สผ.) ระบุในหนังสือปะหน้าเมื่อครั้งส่งรายงานผลการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างโรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซไทย - มาเลเซียฉบับสมบูรณ์ ให้กับ TTM ช่วงก่อนก่อสร้างโรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซไทย - มาเลเซีย


 


"หนังสือปะหน้าฉบับนี้ระบุ ให้ TTM ตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลและควบคุมการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อมโรงแยกก๊าซ และคณะกรรมการกำกับดูแลและควบคุมการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อมท่อส่งก๊าซไทย - มาเลเซีย รวมทั้งให้ TTM และจัดให้มีหน่วยงานกลางฯ ซึ่งไม่ตรงกับที่ระบุในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างโรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซไทย - มาเลเซีย ที่ให้คณะกรรมการกำกับดูแลและควบคุมการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อมโรงแยกก๊าซ และคณะกรรมการกำกับดูแลและควบคุมการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อมท่อส่งก๊าซไทย - มาเลเซีย เป็นผู้จัดหาหน่วยงานกลางฯ โดย TTM เป็นผู้จัดจ้าง สำหรับกรรมการฯ ทั้ง 2 ชุด ต่อมาได้ยุบรวมเป็นคณะกรรมการไตรภาคีฯ" นายอุทัย กล่าว


 


นายอุทัย เปิดเผยอีกว่า ก่อนหน้านี้ บริษัท แอร์เซฟ จำกัด ได้รับการว่าจ้างจาก TTM ให้เป็นหน่วยงานกลางติดตามตรวจสอบการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซไทย - มาเลเซีย เมื่อวางท่อส่งก๊าซแล้วเสร็จ ตอนปลายปี 2548 งานของหน่วยงานกลางฯ ก็หมดลง TTM จึงได้ว่าจ้างบริษัท แอร์เซฟ จำกัด เป็นหน่วยงานกลางฯ ต่อ เมื่อเดือนธันวาคม 2548 มาเลเซีย โดยยึดตามหลักปฏิบัติที่ระบุไว้ในหนังสือปะหน้า โดยตนได้ปรึกษากับกรรมการไตรภาคีฯ บางคน ทางโทรศัพท์


 


นายอุทัย กล่าวว่า ถ้าหากคณะกรรมการไตรภาคีฯ จัดหาหน่วยงานกลางติดตามตรวจสอบการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อม โรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซไทย - มาเลเซีย ก็จะซ้ำซ้อนกับการทำงานของบริษัท แอร์เซฟ จำกัด ที่ TTM จัดจ้างไปก่อนหน้านี้แล้ว ถ้ากรรมการไตรภาคีฯ ต้องการจัดหน่วยงานกลางฯ มาตรวจสอบ น่าจะมาทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของบริษัทแอร์เซฟ เพื่อแก้ปัญหาหารทำงานซ้ำซ้อน และสูญเสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์


 


นายสมพร กล่าวว่า กล่าวว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่งบประมาณ แต่อยู่ที่การดำเนินการของ TTM ที่จัดจ้างหน่วยงานกลางฯ ผิดขั้นตอน ไม่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการไตรภาคีฯ ตนขอให้ยึดความเห็นของคณะทำงานคัดเลือกหน่วยงานกลางฯ เป็นหลัก


 


นางธีรนันท์ เดชหนู ตัวแทนนางสาวจงจิตร์ นีรนาทเมธีกุล ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 16 รองหัวหน้าคณะทำงานคัดเลือกหน่วยงานกลางฯ แจ้งว่า คณะทำงานฯได้กำหนดเงื่อนไขของหน่วยงานกลางว่า ต้องไม่เป็นบริษัท หรือสถาบันการศึกษาที่จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซีย และบริษัทที่ TTM ว่าจ้างอยู่แล้ว เพื่อหลีกเลี่ยงข้อครหาว่าอาจมีการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ก่อนหน้านี้ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 16 เคยท้วงติงไปแล้วว่า TTM ว่าจ้างหน่วยงานกลางฯ ผิดขั้นตอน ไม่ผ่านการหารือในคณะกรรมการไตรภาคีฯ


 


นายอุทัย แจ้งว่า เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2549 ตนได้ส่งหนังสือถึงสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การจัดหาหน่วยงานกลางเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการไตรภาคีฯ หรือ TTM และการยุบรวมคณะกรรมการกำกับดูแลและควบคุมการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อมโรงแยกก๊าซ และคณะกรรมการกำกับดูแลและควบคุมการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อมท่อส่งก๊าซไทย - มาเลเซีย เป็นคณะกรรมการไตรภาคีฯ ทำได้หรือไม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณา คาดว่าจะได้รับคำตอบปลายเดือนมิถุนายน2549


 


นายสมพร จึงย้ำว่า ให้ยึดตามคณะทำงานคัดเลือกหน่วยงานกลางฯ ก่อน หลังจากได้คำตอบจากสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว ค่อยหารือกันอีกครั้ง


 


นายสมชาย กูใหญ่ รองผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ TTM จึงได้ขอต่อที่ประชุมว่า จะให้บริษัท แอร์เซฟ จำกัด เข้าประกวดราคารับงานหน่วยงานกลางฯ ได้หรือไม่ เพราะจะได้ไม่ต้องสูญเสียงบประมาณเพิ่มขึ้น


 


นายสมชัย จึงตอบไปว่า หากจ้างบริษัทหนึ่งเข้ามาเป็นหน่วยงานกลางฯ ในขณะที่บริษัท ดังกล่าวก็เป็นที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมของ TTM อยู่ด้วย จะทำให้ภาพพจน์ของคณะกรรมการไตรภาคีฯ ไม่ดีในสายตาของประชาชน มีทางเดียวที่ทำได้คือ ให้ TTM ยกเลิกการว่าจ้างบริษัท แอร์เซฟ จำกัด เป็นหน่วยงานกลางฯ ก่อน จึงจะเข้าร่วมประกวดราคาได้


 


ส่วนในวาระอื่นๆ ที่ประชุมมีมติให้ตั้งคณะทำงานศึกษาผลกระทบจากเสียง แสง กลิ่นต่อสุขภาพของประชาชนในบริเวณรอบๆ โรงแยกก๊าซไทย - มาเลเซีย ตำบลตลิ่งชัน และตำบลสะกอม อำเภอจะนะจังหวัดสงขลา และหาทางแก้ปัญหาไก่ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโรงแยกก๊าซไทย - มาเลเซีย


 


นายกูอารง อีแต ผู้จัดการส่วนตรวจสอบภายใน ทีทีเอ็ม กล่าวในที่ประชุมว่า มีฟาร์มไก่ในบริเวณรอบๆ โรงแยกก๊าซไทย - มาเลเซีย จำนวน 19 ราย โดยมีพียง 4 รายเท่านั้น ที่ต้องการเลี้ยงไก่ต่อไป ส่วนที่เหลือได้มาเจรจาขอให้ TTM ซื้อที่ดินบริเวณเล้าไก่ เพราะไม่ต้องการเลี้ยงไก่อีกต่อไป โดยอ้างว่าได้รับผลกระทบจากโรงแยกก๊าซไทย - มาเลเซีย ซึ่งตนจะเสนอให้ TTM พิจารณาต่อไป


 


นางสาวโศภิษฐ์ ธัญลักษณากุล ปศุสัตว์จังหวัดสงขลา กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลการเลี้ยงไก่ในบริเวณดังกล่าวพบว่า ไก่เติบโตไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งอาจมีสาเหตุจากมีแสงวูบวาบเกิดขึ้นบริเวณโรงแยกก๊าซในเวลากลางคืน ทำให้ไก่ตกใจและเกิดความเครียด เจ้าของไก่จึงแก้ปัญหาโดยเปิดไฟค้างไว้ตลอดคืน เพื่อไม่ให้ไก่ตกใจแสงดังกล่าว แต่ก็ทำให้แก่พักผ่อนไม่เต็มที่ด้วย จึงเติบโตไม่ได้ขนาด


 


นายสมชาย กล่าวว่า แสงไฟดังกล่าวเกิดจากประกายไฟบริเวณปลายปล่องในโรงแยกก๊าซ ซึ่งต้องจุดติดไว้เป็นระยะ เพื่อปรับความดันภายในปล่อง นอกจากนั้นก็เป็นแสงจากหลอดไฟรอบโรงแยกก๊าซ ซึ่งต้องเปิดตลอดคืนเพื่อรักษาความปลอดภัย ส่วนเสียงดังนั้น เกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้างซึ่งขณะนี้ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ จึงไม่มีเสียงดัง ส่วนเสียงจากเครื่องยนต์นั้นได้ปรับปรุงแก้ไขแล้ว


 


นายสมชาย กล่าวอีกว่า ส่วนกลิ่นเหม็นที่เกิดขึ้นนั้น เนื่องจากก๊าซธรรมชาติไม่มีกลิ่น TTM จึงต้องเติมกลิ่นเหม็นเข้าไปในก๊าซ เพื่อเตือนภัยกรณีก๊าซรั่ว กลิ่นเหม็นที่ชาวบ้านได้รับนั้น เป็นหกลิ่นที่รั้วออกมาระหว่างการเติมกลิ่นเข้าไปในก๊าซ ซึ่งหลังจากนี้ TTM อาจจะไม่เติมกลิ่นเหม็นเข้าไปในก๊าซอีก แต่จะไปเติมกลิ่นเหม็นในฝั่งมาเลเซียแทน


 


นายกูอารง กล่าวว่า ส่วนปัญหาน้ำเสียในกระบวนการแยกก๊าซมีน้อยมากเพราะใช้ระบบปิด แต่น้ำเสียที่เกิดขึ้นจะมาจากน้ำฝนที่ไปชะล้างอุปกรณ์บางอย่างที่มีน้ำมันหรือสารเคมีบางอย่างที่ไม่อันตรายเคลือบอยู่ แต่ TTM มีระบบป้องกันน้ำในบริเวณโรงแยกก๊าซไม่ให้ไหลลงแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยใช้ระบบกระจายน้ำไปทั่วบริเวณโรงแยกก๊าซแล้วปล่อยให้ซึมลงดิน


 


นายอุทัย กล่าวหลังการประชุมว่า หากบริษัทต้องว่าจ้างหน่วยงานกลางอีก อาจจะต้องเสียงบประมาณอีกประมาณ 20 ล้านบาท ซึ่งก็ไม่มีประโยชน์หากต้องมาทำงานซ้ำ ซึ่งผู้บริหารทีทีเอ็ม ก็เห็นด้วย ถ้าจ้างให้มาตรวจสอบการทำงานของบริษัท แอร์เซฟ จำกัด และถ้าส่งรายงานให้สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติแล้วสิ่งแวดล้อม ซ้ำกับของบริษัท แอร์เซฟ จำกัด การพิจารณาของสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติแล้วสิ่งแวดล้อมจะเป็นอย่างไร บริษัท แอร์เซฟ จำกัด ไม่ได้ทำงานตามความต้องการของ TTM มีการเถียงกันตลอด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net