Skip to main content
sharethis


ว่ากันว่า โครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี นั้นเป็นโครงการเมกะโปรเจคต์ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจของท้องถิ่น อย่างเห็นได้ชัด


 


มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยฯ ภาคเหนือและ องค์กรพันธมิตรฯ ได้นำเสนอรายงานว่าสถานการณ์สัตว์ป่าและกิจกรรมอื่นๆ ในโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี นั้น แท้จริงแล้ว เป็นโครงการที่มุ่งเน้นที่จะใช้ประโยชน์จากสัตว์ป่าในเชิงธุรกิจการค้าและการท่องเที่ยว อีกทั้งยังเข้าข่ายผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายสิ่งแวดล้อมหลายมาตรา


 


รายงานฉบับนี้ ได้วิเคราะห์ถึงกรณีการใช้สัตว์ป่าในสวนสัตว์เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ว่า เป็นไปเพื่อการตอบสนองการตลาดด้านการท่องเที่ยว อันเป็นหัวใจหลักของไนท์ซาฟารี ไม่เพียงแต่มีการนำสัตว์ป่าที่มีอยู่ในประเทศไทยมาจัดแสดงเท่านั้น ทางโครงการยังมุ่งเน้นที่จะแสวงหาสัตว์ป่าที่แปลกใหม่มาจากประเทศต่างๆ นัยว่าเพื่อเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวต่างชาติให้มากขึ้น จะเห็นว่า ผู้รับผิดชอบยังเสนอที่จะให้มีเมนูอาหารชนิดเปิดพิศดาร และต่อมามีที่ออกมาคัดค้านกันอย่างรุนแรงจากทั้งในและต่างประเทศ อย่างที่เราทราบกันอยู่แล้วนั้น


 


ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งจากแนวคิดของผู้บริหารโครงการ กระทั่งมีผู้ไม่เห็นด้วยที่ออกมาคัดค้านถึงความไม่โปร่งใสและความไม่ชอบมาพากล ด้วยการเสนอข้อมูลอีกด้านให้สังคมได้รับรู้ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดร้านอาหารเนื้อสัตว์ป่า และการนำเข้าสัตว์ป่าจากประเทศเคนยาจำนวนหลายร้อยตัวนั้น พอที่จะทำให้สังคม สาธาธารชนได้เริ่มตระหนักรับรู้ข้อมูลข่าวสาร จากอีกแง่มุมหนึ่ง ที่ภาครัฐได้กระทำการปกปิดซุกซ่อนมาตลอด


 


นอกจากโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีแล้ว ยังมีโครงการอื่นๆ อีกมากมายที่จะเกิดพ่วงขึ้นในบริเวณผืนป่าแห่งนี้ เช่น โครงการกระเช้าไฟฟ้า โครงการหมู่บ้านช้าง สวนนก สวนเสือ และบ่อจระเข้ รวมไปถึงการก่อสร้างโรงแรม สปา ที่พัก ร้านอาหาร อีกเป็นจำนวนมาก


 


ท่ามกลางความกังขาของคนทั่วไปว่า ทั้งโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี และหลายๆ โครงการที่กำลังดำนเนินการอยู่ในขณะนี้ ล้วนแต่อยู่ในเขตพื้นที่ป่าต้นน้ำ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติฯ โดยผู้รับผิดชอบไม่จำเป็นต้องทำการศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ตาม พ.ร.บ.รักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ใดๆ ทั้งสิ้น


 


ชี้ระบบ Fast Track ละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ 2540 หลายมาตรา


ในการใช้ระบบ Fast Track ทำให้เรารู้ว่า ระเบียบปฏิบัติของทางราชการ ซึ่งว่าด้วยการจัดซื้อ จัดจ้าง การประมูลโครงการต่างๆ นั้น ไม่มีความหมาย ผู้บริหาร CEO จะเป็นผู้สั่งการ ตัดสินใจ ดำเนินการแต่เพียงผู้เดียว ไม่ต้องอาศัยระเบียบราชการ ไม่ต้องพูดถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ไม่ต้องคำนึงถึงความโปร่งใส และผลประโยชน์ทับซ้อนที่ประชาชนท้องถิ่นจำนวนมากออกมาเรียกร้องให้มีการตรวจสอบ


 


ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตราที่ 46,56 ได้ให้สิทธิชุมชนในการมีส่วนร่วมกับภาครัฐเพื่อปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งตามมาตรา 58 และ 59 ระบุไว้ว่าบุคคลย่อมมีสิทธิได้รับทราบข้อมูลข่าวสารสาธารณะในครอบครองของจากหน่วยงานราชการ อีกทั้งมีสิทธิที่จะได้รับคำชี้แจงและเหตุผลจากหน่วยราชการ ก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินการโครงการหรือกิจกรรมอื่นใดที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับชุมชนท้องถิ่น


 


แต่ด้วยการใช้ระบบ Fast Track ในการดำเนินงานตามโครงการสวนสัตว์เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ได้ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกอย่าง ที่ได้มีการบัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทำให้เรารู้อีกว่า ทุนเดิมของเมืองเชียงใหม่ที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นศิลปะ วัฒนธรรมที่ดีงาม ธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ นั้น ถูกหน่วยงานของรับปล่อยปละละเลยไปอย่างเสียดาย ทั้งๆ ที่สิ่งเหล่านี้เป็นจุดเด่นทางด้านการท่องเที่ยว อันเป็นมรดกตกทอดมาอย่างยาวนานจากบรรพกาล


 


ทำให้รู้ว่า และแน่นอนว่า โครงการในระยะยาวนั้น อาจจะก่อให้เกิดปัญหาอีกมากมายตามมาในอนาคต เช่น ความขัดแย้งที่เกิดจากการใช้น้ำกับชุมชน ปัญหามลภาวะอื่นๆ เช่น การแพร่กระจายของเชื้อโรคที่มากับสัตว์


 


และทำให้รู้ว่า ฐานทรัพยากรฯ ผืนดิน แหล่งน้ำ ป่าไม้ และสัตว์ป่า ในพื้นที่ดอยสุเทพ-ปุย ซึ่งเป็นมรดกที่ตกทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ได้ถูกคนกลุ่มหนึ่งได้นำไปใช้เป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน โดยไม่ได้มีการรับฟังเสียงของประชาชนในพื้นที่ ทั้งๆ ที่งบประมาณที่ลงไปนั้น เป็นงบประมาณของคนไทยทั้งประเทศ


 


ยืนยันเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ผิดกฎหมายอนุรักษ์ - พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม


หากติดตามจากประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ ที่ระบุประเภทกิจกรรมที่จะต้องทำ EIA 22 ประเภท ตาม พ.ร.บ.รักษาสิ่งแวดล้อม 2535 ถือว่า โครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีนั้นจัดเป็นโครงการที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 ที่จะต้องจัดทำ EIA ก่อนขออนุมัติคณะรัฐมนตรี


 


และจากการเข้าพบกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงกรณี เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เมื่อ 21 ธ.ค.2548 นั้น ตัวแทนของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และตัวแทนของเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ได้ยอมรับต่อกรรมาธิการว่า สวนสัตว์ไนท์ซาฟารี ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย แต่ทางฝ่ายตัวแทนของกรมอุทยานแห่งชาติฯ พยายามชี้แจงว่า ทางสวนสัตว์ไนท์ซาฟารีนั้น นั้นได้กระทำการขอใช้พื้นที่ถูกต้องตามระเบียบขั้นตอนทุกอย่าง และอธิบดีในขณะนั้นก็ได้อนุมัติไปตามอำนาจหน้าที่


 


นั่นหมายความว่า โครงการนี้ทำผิด พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2504 อย่างชัดเจน เพราะยังไม่มีการเพิกถอนพื้นที่อุทยานฯ มาทำเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี และจะมาอ้างว่าอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ อนุมัติแล้วก็ไม่ได้ เพราะการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติไม่ได้อยู่ในอำนาจของอธิบดี ตามขั้นตอนต้องนำเรื่องเข้าคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติก่อน และต้องให้ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอนุมัติด้วย


 


และจากการตรวจสอบแผนที่ประกาศแนวเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ.2525โดยเป็นการประกาเพิ่มพื้นที่เขตอุทยาน แสดงให้เห็นว่า โครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีไม่ได้ดำเนินการกั้นพื้นที่ก่อสร้างออกจากเขตอุทยานแห่งชาติ ก่อนที่จะดำเนินการก่อสร้างฝายและอ่างเก็บน้ำ


จากบันทึกของคณะกรรมาธิการกฤษฎีกา ยืนยันชัดเจนว่า การก่อสร้างฝายและอ่างเก็บน้ำของโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ก็พบว่า เป็นเขตอุทยานแห่งชาติจริง


 


และหากนำกรอบการตีความของคณะกรรมาธิการกฤษฎีกามาพิจารณา ก็พบว่า ไม่เข้าข่ายที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติจะกระทำโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ เนื่องจากว่า การกระทำกิจกรรมใด ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จะต้องมีการออกพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนพื้นที่ส่วนนั้นเสียก่อน จึงจะสามารถเริ่มก่อสร้างโครงการนั้นได้ อีกทั้งการทำกิจกรรมในพื้นที่ป่าอนุรักษ์จะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ และคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า


 


แต่ผู้บริหารเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีกลับเพิกเฉย ที่จะปฏิบัติตามขั้นตอนดังกล่าว ทั้งที่ในอดีตบุคคลเหล่านี้ก็เคยทำงานอยู่ในหน่วยงานที่ทำหน้าที่อนุรักษ์ทรัพยากรของชาติมาก่อน แต่กลับมากระทำผิดฝ่าฝืนกฎหมายเสียเอง


 


ผ่าโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ข้างในหมกเม็ดเมกกะโปรเจ็กต์เพียบ


รายงานฉบับนี้ ยังได้พูดถึงโครงการเมกกะโปรเจ็กต์ต่างๆ ที่จะระดมลงก่อสร้างในพื้นที่ ลองนึกภาพบริเวณเชิงดอยจนถึงเกือบกึ่งกลางดอยสุเทพ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอหางดง อำเภอเมือง จนถึงอำเภอแม่ริม พื้นที่ไม่น้อยกว่า 23,000 ไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย จะกลายเป็นเขตท่องเที่ยวแห่งใหม่โดยใช้งบประมาณ 12,000 ล้านบาท โดยประมาณ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้โครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ได้ขยายแหล่งกิจกรรมที่จะเชื่อมโยงกันให้เป็นเชียงใหม่เวิลด์ มากกว่า 14 โครงการ


 


โดยเฉพาะโครงการอุทยานช้าง เป็นอีกโครงการหนึ่งที่น่าจับตามอง เนื่องจากว่า โครงการอุทยานช้าง มีพื้นที่ทั้งหมด 6,600 ไร่ และใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 715 ล้านบาท ถูกออกแบบโดยบริษัท ทิสโก้ ตามแบบนั้น จะมีกำแพงชั้นนอกและชั้นใน แต่โครงการนี้ได้ซ่อนโครงการย่อยอื่นๆ อีกจำนวนมาก อาทิ สวนนก สวนเสือ สวนจรเข้ สวนดอกไม้ กิจกรรมปีนหน้าผา สะพานยอดไม้ บ้านพักต่างๆ


 


ซึ่งปัญหาของโครงการนี้ อยู่ที่ "แหล่งน้ำ" เพราะแค่ช้างไม่กี่เชือก ก็จะต้องใช้น้ำจำนวนมาก แต่พื้นที่บริเวณนั้น แห้งแล้งกว่าบริเวณก่อสร้างเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี จึงต้องสร้างเขื่อนกักน้ำ ปริมาตร 1 ล้านคิวฯ ดังนั้น อาจจะต้องเสนอเพิกถอนพื้นที่เหล่านี้ออกจากเขตอุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย


 


อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับนี้ ยังเสนอให้คณะกรรมาธิการทั้งในส่วนของวุฒิสมาชิก และสภาผู้แทนราษฎร ได้ร่วมกันตรวจสอบ และเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี มาชี้แจง หรือขอเรียกดูเอกสารข้อมูลที่เกี่ยวข้อง


 


นี่เป็นบางส่วนของรายงานสถานการณ์สัตว์ป่า และกิจกรรมอื่นๆ ในโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ที่มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยฯ ภาคเหนือ ได้นำเสนอเพื่อให้ภาพรวมอีกมุมมองหนึ่งของโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ซึ่งอาจทำให้ประชาชนคนไทยทั้งหมด ได้รับรู้ข้อมูลทั้งสองด้าน ว่าแท้จริงแล้ว เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี นั้นคือความภาคภูมิใจของคนไทย หรือการค้ากำไรของใครบางกลุ่มบางคน


จากข้อมูลนี้นี่เอง ที่ทำให้เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทักษิณ และเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมืองภาคเหนือ ต้องออกมาบอยคอต เรียกร้องให้ประชาชนคนไทยทั่วประเทศ "ไม่เอาทักษิณ" และ "ไม่ต้องเที่ยวเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี"


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net