Skip to main content
sharethis


ถ้าให้นึกถึงปัญหาของประเทศไทย คุณจะนึกถึงปัญหาอะไร ?


 


หลายคนคงจะนึกถึงวิกฤตประชาธิปไตย และ วิกฤตจริยธรรม ซึ่งกำลังก่อตัวอย่างรุนแรงอยู่เบื้องหน้าขณะนี้ แต่นั่นก็เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งของปัญหาต่างๆ


 


ยังมีอีกหลายปัญหาที่อยู่คู่สังคมไทยมาเนิ่นนาน และไม่มีทีท่าว่าจะจากไป ไม่ว่าจะเป็นปัญหาระบบสาธารณสุข การศึกษา ปัญหาความรุนแรง ปัญหาความยากจน ปัญหาการคอร์รัปชั่น ฯลฯ ซึ่งสามารถมองเห็นได้ไม่ว่าฝ่าย "ไล่" หรือ "รัก" ผู้ชายชื่อ ทักษิณ ชินวัตร ก็ตาม


 


ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงนี้ "กมล กมลตระกูล" อนุกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ชี้ให้เห็นว่ามันมีจุดร่วมสำคัญคือล้วนแล้วแต่ "ละเมิดสิทธิมนุษยชน" ของประชาชนทั้งสิ้น


 


หนังสือ "ส่องกล้องสิทธิมนุษยชน ด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม" ของเขาทำให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทำต่อประชาชนอย่างคงเส้นคงวา แม้ในห้วงยามที่จีดีพีโตเอาๆ ก็ตาม


 


ไม่ใช่เพียงปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือปัญหาการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร เท่านั้นที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เพียงสิทธิในการมีชีวิต แต่หมายรวมถึงสิทธิในปัจจัยการดำรงชีพ อันจะทำให้ชีพนั้นอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีด้วย


 


อาหาร งาน ยา การศึกษา ที่อยู่อาศัย ความปลอดภัยในชีวิต สิ่งแวดล้อม ฐานทรัพยากร ฯลฯ ปัญหาที่เกิดกับปัจจัยดำรงชีพเหล่านี้จึงนับเป็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนไปด้วยในตัว


 


กมลเริ่มต้นอธิบายหลักใหญ่ใจความของสิทธิมนุษยชนว่า ประกอบด้วยความเท่าเทียมกันของมนุษย์ทุกคน ความเป็นสากลของจริยธรรม ศีลธรรม และคุณค่าที่โลกยอมรับร่วมกัน อีกทั้งต้องได้รับความเคารพและปฏิบัติต่ออย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ห้ามเลือกปฏิบัติ ไม่แบ่งแยกสิทธิเป็นสิทธินั้นสิทธินี้ เพราะสิทธิมนุษยชนนั้นรวมกันเป็นองค์เดียว ยกให้กันไม่ได้ แต่มีความเชื่อมโยง เพราะการละเมิดสิทธิหนึ่งมักจะโยงไปถึงการละเมิดสิทธิอื่นๆ ตามมา


 


ในบรรดา 108-1009 ปัญหาที่สังคมไทยกำลังเผชิญ ปัญหาสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งซึ่งเป็นพื้นฐานนำไปสู่อีกหลายปัญหา คือ ปัญหาความยากจน และเป็นประเด็นสำคัญในหนังสือส่องกล้องสิทธิมนุษยชนฯ เล่มนี้


 


"ความยากจนนั้นเกิดจากการขาด/ถูกลิดรอนโอกาส หรือ การขาด/ถูกลิดรอน "สิทธิ"  มิใช่ขาดเงินทุน หรือขาดความสามารถในการผลิต ความจนหรือการขาดเงินทุนนั้นเป็นผลพวงของการขาดโอกาสหรือขาดเสรีภาพที่แท้จริงในการแสวงหาความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเพื่อจะได้ไม่เป็นคนจนมากกว่า" อมาตยา เซน นักเศรษฐศาสตร์ชาวอินเดีย เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 2541 ระบุ


 


เป็นไปได้ว่า การที่ความยากจนอยู่กับใครบางคนมายาวนาน หรือเป็นเรื่องเล่าที่ใครอีกคนได้ยินมายาวนาน อาจทำให้ทั้งคู่รู้สึกว่ามันเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของโลก และไม่ใช่ปัญหาใหญ่โตอะไร


 


หนังสือส่องกล้องสิทธิฯ ได้รวบรวมสถิติตัวเลขบางอย่าง แม้จะไม่ครอบคลุมความเป็นจริงอันไพศาลทั้งหมดและเป็นข้อมูลที่ค่อนข้างเก่า แต่ก็น่าจะช่วยกระตุ้นความรู้สึกตื่นตัวกับปัญหานี้ได้บ้าง เพราะสถานการณ์ในปัจจุบัน หากจะแตกต่างไปจากอดีตก็มักเป็นไปในทางที่แย่ลงกว่าเดิม


 


ช่องว่างรายได้ในประเทศไทย ปี 2543


·    คนรวยร้อยละ 20 ของผู้มีรายได้สูงสุดมีสัดส่วนในความมั่งคั่งร้อยละ  56.8


·    คนจนที่สุดร้อยละ 20 มีสัดส่วนในรายได้ เพียงร้อยละ 4 ของประเทศ


·    ไทยติดอันดับ 6 ของประเทศที่มีช่องว่างการกระจายรายได้มากที่สุด


·    ร้อยละ 21.8 ของคนจนมีรายได้เดือนละ 1000 บาท หรือ วันละ 33 บาท


·    ได้ประโยชน์จากการลงทุนของภาครัฐใน100 บาท เพียง 1.60 บาท (1.6%)


·    ได้ประโยชน์จากการลงทุนของภาคเอกชนใน 100 บาท เพียง 70 สตางค์


·    ได้ประโยชน์จากการส่งออกสินค้าใน 100 บาท เพียง 2.70 บาท


·    ได้ประโยชน์จากการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารใน 100 บาท เพียง 7.40 บาท


·    ได้ประโยชน์จากการส่งออกข้าวใน 100 บาท เพียง 13.20 บาท


·    ได้ประโยชน์จากการส่งออกผลไม้ 100  บาท เพียง 10.50 บาท


·    ได้ประโยชน์จากการส่งออกยางพารา ใน 100 บาท เพียง 12 บาท


·    ได้ประโยชน์จากการส่งออกอาหารทะเล ใน 100 บาท เพียง 9.70 บาท


·    ได้ประโยชน์จากการส่งออกมันสำปะหลังใน 100 บาท เพียง 9.70 บาท


TDRI report 2544


 


และปัญหาความยากจนนี้แหละที่กระทบไปถึงอนาคตของชาติ โดยรายงานของสำนักงานคณะกรรมการศึกษาแห่งชาติระบุว่า ในปี 2543 เด็กไทยก่อนวัยเรียนและเด็กวัยเรียนชั้นประถม อยู่ในอัตราเสี่ยงต่อภาวะการขาดสารอาหารถึงร้อยละ 5.3 ล้านคนจากจำนวน 8 ล้านคน หรือร้อยละ 64.5 ของเด็กวัยเรียนนี้


 


ส่วนรายงานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ(FAO) รายงานเมื่อเดือน พฤศจิกายน 2543 ว่า ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาหนึ่งใน 38 ประเทศซึ่งมีปัญหาประชากรมีภาวะขาดแคลนอาหารสูง ทั้งๆ ที่ประเทศนี้เป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารที่สำคัญของโลก


                       


ไม่เพียงเท่านั้น หนังสือเล่มนี้ยังเชื่อมโยงออกไปจากประเทศไทย เพราะเมื่อยุคโลกภิวัตน์ทำให้โลกนี้เชื่อมต่อถึงกันมากขึ้น แต่แทนที่คนจนจะน้อยลง กลับยังผลให้ปัญหาความยากจนแผ่ขยายและเจริญงอกงามในประเทศต่างๆ ทั่วโลกเป็นอันมาก


 


ดูข้อมูลมุมกลับกันเสียก่อน เราจะพบว่า รายได้ของประเทศที่ร่ำรวยที่สุด 20 ประเทศมีรายได้มากกว่ารายได้เฉลี่ยของประเทศที่ยากจนใน 20 อันดับรั้งท้ายถึง 37 เท่า คือเพิ่มขึ้น 100 เปอร์เซ็นต์ในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา


 


ในรายงานของ the United Nations Development Program (UNDP) ปี 1992 รายงานว่าร้อยละ 20 ของผู้มีรายได้สูงของประชากรในประเทศที่พัฒนาแล้ว มีรายได้รวมกันคิดเป็นร้อยละ 82.7 ของรายได้ทั้งหมดในโลก


 


ในรายงานของ UNDP Human Development report 1997, New York ระบุว่าสัดส่วนของของคนรวยที่อยู่บนยอดร้อยละ 20 กับคนจนร้อยละ 20 ที่อยู่ข้างล่างสุดได้เพิ่มจาก 30: 1 ในปี 1960 และกลายมาเป็น 60: 1 ในปี 1991 และ 78: 1 ในปี 1994   ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ในยุคครอบโลกนั้นช่องว่างของคนรวย และคนจนของโลกได้ห่างกันมากขึ้น มิได้แคบลงอย่างที่ชอบอ้างกัน


           


ไม่เพียงแค่นั้นร้อยละ 37.4 ของมูลค่าของหุ้นในตลาดนั้นถือครองโดยกลุ่มบุคคลที่รวยที่สุดร้อยละ 5 ที่อยู่บนยอดนี้


 


มหาเศรษฐีโลกจำนวน 350 คน มีรายได้เท่ากับรายได้ของประชากรจำนวนร้อยละ 45 ของประเทศที่ยากจนทั้งโลก


 


อย่างไรก็ตาม ในสหรัฐอเมริกาเอง ช่องว่างของรายได้ในชาติก็ห่างกันอย่างลิบลับ คือ รายได้เฉลี่ยของบุคคลที่มีรายได้สูงที่สุดบนยอดร้อยละ 20 มีรายได้มากว่าร้อยละ 20 ที่อยู่ข้างล่าง ถึง 150 เท่า


 


ขณะที่ในมุมมืดของความยากจน ธนาคารโลกได้รายงานไว้ในปี 1980 ว่า มีประชากร 1300 ล้านคนมีชีวิตอยู่ต่ำกว่ามาตรฐานความยากจน


 


ตามรายงานของ โครงการการพัฒนาขององค์การสหประชาชาติ (UNDP, 1995) ได้รายงานไว้ในปี 1995 ว่า ประชากร 3 ใน 4 อาศัยอยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนา แต่มีโอกาสได้บริโภคเพียงแค่ ร้อยละ 16 ของรายได้ของโลก


 


ส่วนรายงานของ World Development Report 2000/2001, in 2000, รายงานว่า ประชากรจำนวน 2 พัน 8 ร้อยล้านคน หรือ เกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลกที่มีจำนวน 6 พันล้านคน มีรายได้เพียงวันละ 2 เหรียญอเมริกัน หรือ 90 บาท


 


อีกร้อยละ 20 หรือ 1 ใน 5 ของประชากรเหล่านี้ ยังชีพด้วยเงินเพียงวันละ 1 เหรียญ ร้อยละ 44 ของบุคคลเหล่านี้อาศัยอยู่ในกลุ่มประเทศเอเชียใต้


 


ในประเทศที่ร่ำรวยแล้ว มีทารกเฉลี่ยน้อยกว่า 1 รายใน 100 ที่ตายหลังจากลืมตามาดูโลกได้ 5 วัน แต่


ในกลุ่มประเทศที่จนที่สุดในเอเชียใต้และอัฟริกาอัตราการตายของทารกที่มีอายุไม่ถึง 5 วัน กลับมียอดสูงถึง ร้อยละ 20


 


ในประเทศที่ร่ำรวยแล้วมีเด็กเป็นโรคขาดอาหารไม่ถึงร้อยละ 5 แต่ในประเทศที่ยากจนเด็กร้อยละ 50 เป็นโรคขาดอาหาร


 


มีประชากรในโลกกว่า 1 พันล้านไม่มีน้ำสะอาดใช้


 


ประชากรอีก 2 พัน 4 ร้อยล้านคน ไม่ส้วมที่เป็นมาตรฐานใช้


 


มีเด็กจำนวน 90 ล้านคนที่ต้องออกจากโรงเรียนชั้นปฐมกลางคัน


 


ฯลฯ       ฯลฯ       ฯลฯ       ฯลฯ 


 


ใครว่านี่เป็นเรื่องธรรมชาติ หรือเป็นเรื่องเล็กน้อยอีกให้มันรู้ไป !


 

 "ส่องกล้องสิทธิฯ" ยังเชื่อมโยงไปถึงระบบเศรษฐกิจหลักที่ครอบโลกอยู่ขณะนี้ด้วย ซึ่งอาจกล่าวได้ว่ามันคือ "มือที่มองไม่เห็น" ที่จัดสรรรให้เกิดช่องว่างท่ามกลางมนุษยชาติอย่างมหาศาลเช่นนี้

 

"การครอบโลก (Globalization) ซึ่งอ้างว่ามีคุณมหันต์ต่อโลก ยังไม่ได้ให้คำตอบกับปัญหาการว่างงานของคนอีกจำนวนมากมายมหาศาล และการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม คุณประโยชน์ของการครอบโลก ซึ่งแสดงออกทางการเชื่อมสังคม และระบบเศรษฐกิจให้เล็กลงและเชื่อมโยงกัน จะต้องจัดสรรกระจายความมั่งคั่งที่ได้รับ ให้ยุติธรรมมากขึ้นระหว่างประเทศอุตสาหกรรม และประเทศกำลังพัฒนา" Kofi Annan เลขาธิการองค์การสหประชาชาติระบุ

 

นาย Teddy Goldsmith ผู้ก่อตั้งนิตยสาร The Ecologist  และเป็นผู้ได้รับรางวัล The Right Livelihood Award กล่าวไว้ว่า  "บริษัทข้ามชาติผู้ควบคุมเศรษฐกิจโลกในทุกวันนี้กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อที่จะได้ครอบโลกอย่างเบ็ดเสร็จโดยได้สร้างหลักประกันที่จะไม่ให้มีอะไรมากีดขวางผลประโยชน์ระยะสั้นของตน ดังนั้น ภาระเร่งด่วนของเราในวันนี้ คือ การสร้างกลไกมาควบคุมให้กิจกรรมทางธุรกิจทุกประเภทมิให้เสรี แต่มาอยู่ภายใต้การควบคุมของกลไกระบอบประชาธิปไตย"


 


ดังนี้แล้ว จึงไม่แปลกที่ภายใต้ขบวนพันธมิตรหลากหลายที่ต่อต้าน พ...ทักษิณ หนึ่งในนั้นจะมีคำถามเกี่ยวกับแนวทางดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ที่รัฐบาลนี้กำลังนำพาประเทศไปอย่างก้าวกระโดด เป็นคำถามประการสำคัญ นอกเหนือจากประเด็นจริยธรรมส่วนบุคคล


 


โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำถามเกี่ยวการปกป้อง "สิทธิมนุษยชน" ของคนเล็กคนน้อยในสังคมที่ไม่มีกำลังซื้อ และไม่อาจเป็นลูกค้าชั้นดีสำหรับบรรษัทข้ามชาติที่จะเข้าลงทุนอย่างสะดวกหลังจากเปิดเสรีประเทศ … รัฐจะดูแลยายไฮจากยักษ์ใหญ่อย่างไร


 


ยักษ์ใหญ่ที่ว่านั้นใหญ่แค่ไหน หนังสือเล่มนี้หยิบยกรายงานของ UN HDR,1998 ออกมาตีแผ่ โดยรายงานระบุว่า บริษัทข้ามชาติ เพียง 10 บริษัทเท่านั้น ได้เป็นเจ้าของควบคุมธุรกิจการสื่อสารโทรคมนาคม ถึงร้อยละ 86 ของโลก


           


บริษัทข้ามชาติเพียง 10 บริษัทควบคุมธุรกิจการผลิตและจำหน่ายยารักษาโรคถึงร้อยละ 35 ของโลก


           


บริษัทข้ามชาติเพียง 10 บริษัท ควบคุมธุรกิจการผลิตและจำหน่ายยากำจัดศัตรูพืชถึงร้อยละ 85 ของโลก


           


บริษัทข้ามชาติเพียง 10 บริษัท ควบคุมร้อยละ 70 ของอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์  ของโลก


           


บริษัทข้ามชาติเพียง 10 บริษัทควบคุมร้อยละ  60 ของยารักษาโรคสัตว์ ของโลก


 


บริษัทข้ามชาติ 10 บริษัท ที่ควบคุมร้อยละ 32 ของธุรกิจการค้าและผลิต เมล็ดพันธ์พืช


 


กลุ่มประเทศอุตสาหกรรม G 7 เป็นเจ้าของสิทธิบัตรในโลกถึงร้อยละ 97


 


รายงานของ UNCTAD,  World Investment Report,1998  รายงานว่า ในเวลา 20 ปี นับจากปี 1970 บริษัทข้ามชาติได้เติบโตจากจำนวน 7000 ไปเป็น 53,000 ในปี 1990 และผูกขาดการค้าไว้ในมือถึง 2 ใน 3 หรือ ร้อยละ 67 ของการค้าทั้งโลก


 


2 ใน 3 ของบริษัทเหล่านี้ ตั้งอยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้วเพียง 14 ประเทศ แต่มีสาขาและสำนักงานมากถึง 450,000 แห่ง ทั่วโลก ในจำนวนนี้ มี 400 บริษัทที่มียอดขายมากกว่าครึ่งหนึ่งของบริษัทข้ามชาติทั้งหมดในโลกรวมกัน


 


เศรษฐกิจครึ่งหนึ่งของโลกอยู่ในกำมือของบริษัทข้ามชาติเพียง 100 บริษัท


 


ร้อยละ 1 ของบริษัทข้ามชาติเหล่านี้เป็นผู้ลงทุนร้อยละ 50 ของการลงทุนในประเทศกำลังพัฒนา


 


ร้อยละ  70 ของการค้าโลกถูกผูกขาดอยู่ในบริษัทข้ามชาติเพียง 500 บริษัท


ประเทศที่พัฒนาแล้วผูกขาดการค้าในโลกไว้ร้อยละ 80 และผูกขาดการลงทุนในประเทศกำลังพัฒนาร้อยละ 85


 


ฯลฯ       ฯลฯ       ฯลฯ       ฯลฯ


 


เมื่อพบว่า "สิทธิมนุษยชน" มีความหมายกว้างขวางกว่าที่เคยเข้าใจ และความยากจนเป็นปัญหาที่ใหญ่-ลึกและเชื่อมโยงกันทั้งโลก ก็อาจทำให้ใครหลายคนหดหู่กับ "โมเดลอาจสามารถ" อย่างช่วยไม่ได้ !


 


 


- - - - - - - - - - - - - -


หนังสือ "ส่องกล้องสิทธิมนุษยชน ด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม"


 


 


 


 


 

เอกสารประกอบ

หนังสือส่องกล้องสิทธิมนุษยชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net