Skip to main content
sharethis

                      


 


เมื่อวันที่ 24-25 ก.พ.ที่ผ่านมา ทางเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง - ล้านนา ร่วมกับ จ.เชียงราย และองค์กรพันธมิตร ได้ร่วมกันจัดงาน "เปิดตำนานวิถีธรรมชาติ :วิถีวัฒนธรรมสองฝั่งโขง" ณ ศูนย์พัฒนาข้าราชการครูโรงเรียนหัวเวียง ( โกศัลย์วิทย์ ) สนามกีฬาโรงเรียนบ้านหัวเวียง(โกศัลย์วิทย์)และบริเวณท่าเรือน้ำลึก อ.เชียงของ จ.เชียงราย โดยภายในงาน ได้มีการจัดเวทีเสวนา เรื่อง "เขื่อน : กระแสแม่น้ำโขงที่เปลี่ยนไป กระทบอย่างไรกับคนลุ่มน้ำโขง" โดยมีนักวิชาการและตัวแทนชาวบ้านลุ่มน้ำโขง เข้าร่วมเสวนา


 


วิพากษ์จีน มองแม่น้ำโขง เป็นเพียงแม่น้ำแห่งการค้าและการทำกำไร


ผศ.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศจีน ไม่ได้มองแม่น้ำโขง หรือแม่น้ำหลานชาง ว่าเป็นแม่น้ำที่สำคัญต่อวิถีชีวิตผู้คนทั่วไปอย่างไร แต่จะมองว่า เป็นเพียงแม่น้ำสายหนึ่ง ซึ่งเป็นแม่น้ำที่ใช้สำหรับการล่องเรือเพื่อการค้าและการทำกำไรเท่านั้น เพราะหลังจากจีนเปิดประเทศ ก็เหมือนมังกรตื่น หลังจากที่หลับและหิวอดโซมานาน ดังนั้น จีนจึงพยายามดูดเอาทุกอย่างที่ขวางหน้า แม้กระทั่งแม่น้ำโขง


 


"นอกจากนั้น จีนยังมีเป้าหมายเอาแม่น้ำโขงมาใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้า โดยการสร้างเขื่อนเป็นจำนวนมากกว่า 5,000 เขื่อน โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือวิถีชีวิตผู้คนในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนไตรโตรก ที่ต้องมีการอพยพชาวบ้านซึ่งเป็นชนพื้นเมืองของจีน เป็นจำนวนสูงถึง 1 ล้าน 9 แสนคน ออกจากพื้นที่โดยไม่มีชาวบ้านคนใดกล้าต่อต้าน เพราะจีนถือว่าเป็นคนปลายเขตแดนเท่านั้น"


 


ผศ.ธำรงศักดิ์ กล่าวอีกว่า ล่าสุด ประเทศจีนกำลังจะสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนบน อีก 3 แห่ง ซึ่งทำให้เรามองเห็นว่า นี่คือกระบวนการมองแม่น้ำโขงของจีน ที่มองแม่น้ำโขงเป็นเพียงเส้นทางคมนาคม เพราะฉะนั้น คนเชียงของ และคนไทยทั้งประเทศ รวมทั้งประเทศลุ่มน้ำโขงทั้งหมด จะต้องทำประเด็นนี้ออกมา เพื่อต่อสู้กับมหาอำนาจจีน ให้ขยายประเด็นปัญหาเหล่านี้ออกไปสู่ระดับโลกให้ได้


 


ชี้ เขื่อนลาว - เวียดนาม กระทบคนลุ่มน้ำโขงเขมร


มนตรี จันทวงศ์ มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ กล่าวว่า เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ได้มีการจัดประชุมกันที่กรุงเทพฯ โดยได้เชิญภาคประชาสังคมลุ่มน้ำโขง รวมทั้งจีน เข้าร่วมประชุมด้วย และได้มีการตั้งสภาประชาชนฯ เพื่อเป็นตัวแทนของภาคประชาชน ในการติดตามโครงการต่างๆ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำโขง ซึ่งหลังจากนั้น ตนได้ทำการศึกษาผลกระทบทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งหลายพื้นที่ต่างได้รับผลกระทบไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก


 


"ในส่วนของประเทศกัมพูชา โดยปกติ เกือบครึ่งของประเทศกัมพูชา ในช่วงฤดูน้ำหลาก จะเกิดน้ำหลากติดต่อนานถึง 3-4 เดือน ในขณะเดียวกันน้ำจากประเทศเวียดนามก็หนุนขึ้นมา ซึ่งคนเขมรมองว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา ซึ่งเราจะรู้ว่าเกิดทะเลสาบเขมร ที่ถือว่าเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศ"


 


นายมนตรี กล่าวอีกว่า ล่าสุด ตนได้ไปศึกษาผลกระทบในประเทศกัมพูชา พบว่า แต่พอหลังเกิดการสร้างเขื่อนในจีน ลาว และเวียดนาม ได้ทำให้ชุมชนในหลายพื้นที่ของเขมร ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะชุมชนบ้านดอนพาด จ.สะตรึงเตร็ง ของกัมพูชา ซึ่งเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่กลางเกาะแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นชุมชนที่อาศัยอยู่และทำมาหากินโดยต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติค่อนข้างสูง จนถึงกับกล่าวกันว่า เป็นชุมชนที่แทบไม่ต้องซื้อสินค้าจากภายนอกเลย


 


เพราะที่นั่นมีความอุดมสมบูรณ์อย่างมาก โดยมีแม่น้ำสายสำคัญ คือแม่น้ำเซกอง แม่น้ำสะเลกอง ที่มีต้นกำเนิดอยู่ในเขตประเทศลาว และแม่น้ำเซซาน ซึ่งมีต้นกำเนิดอยู่ในประเทศเวียดนาม ซึ่งแม่น้ำทั้งสามสายนั้นเป็นแม่น้ำสาขาที่ไหลลงแม่น้ำโขงบริเวณ จ.สะตรึงเตร็ง


 


"แต่ปัจจุบัน ได้มีการสร้างเขื่อนในประเทศลาว และเวียดนาม ซึ่งทำให้ชุมชนที่อยู่กลางเกาะของเขมรได้รับผลกระทบอย่างหนัก ซึ่งหากเราเปรียบเทียบ เชียงของ จ.เชียงราย มีการเอาปลาบึกเป็นตัวชี้วัดถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศแม่น้ำโขง ที่กัมพูชา ก็มีปลาเซยี เป็นตัวชี้วัด เพราะปลาดังกล่าวมีวงจรชีวิต คือมีการอพยพมาจากตอนใต้ของ จ.สะตรึงเตร็ง ขึ้นมา ผ่านหมู่บ้านนี้ และชาวบ้านได้ยึดอาชีพประมง มีการจับปลาเซยีและปลาอื่นๆ แต่ปัจจุบัน ขนาดของปลาเซยีลดลง รวมทั้งปลาทุกชนิดก็สูญพันธุ์ และจับไม่ค่อยได้ จนชาวบ้านต้องตั้งคำถามว่า สาเหตุนั้นมาจากการขึ้น-ลงของน้ำ หลังการสร้างเขื่อน"


 


นายมนตรี กล่าวต่อว่า มีรายงานล่าสุดว่า กำลังมีการสร้างเขื่อนเพิ่มอีก 4 แห่ง ซึ่งถ้ามีการสร้างเสร็จ จะทำให้ระบบการไหลของน้ำเพิ่มขึ้นสูงถึง 30-40% เพราะเขื่อนจะต้องปล่อยน้ำให้แรงมากขึ้น และจะทำให้การขึ้นลงของน้ำนั้นเปลี่ยนแปลงไม่เหมือนเดิม โดยในหน้าแล้ง น้ำจะเพิ่มสูง


แต่ในฤดูฝน ระดับน้ำจะลดลงประมาณ 10 % เพราะต้องการเก็บกักน้ำไว้ปล่อยในหน้าแล้ง


 


"ซึ่งจะส่งผลต่อระบบนิเวศน์แม่น้ำโขงทั้งสาย หากมีการสร้างเขื่อนในไทย ลาว เวียดนาม ในอนาคต แม่น้ำโขง ก็จะเหลือเพียงแค่เป็นคลองส่งน้ำเท่านั้น" นายมนตรี กล่าวทิ้งท้าย


 


นักวิจัยไทบ้านลุ่มน้ำสงคราม เผยการขึ้น-ลงน้ำโขง กระทบคนลุ่มน้ำ


ในขณะที่ นายสุริยา โคตะมี ประธานเครือข่ายนักวิจัยไทบ้านลุ่มน้ำสงคราม อาจกล่าวได้ว่า แม่น้ำสงคราม ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาสายหลักของแม่น้ำโขง มีต้นกำเนิดอยู่ในจ.อุดรธานี ก่อนนั้น อาจถือได้ว่า เป็นแม่น้ำสุดท้ายของอีสาน ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ก็ว่าได้ แต่ในรอบ10 ปีที่ผ่านมา ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง และแม่น้ำสงคราม ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะได้เกิดผลกระทบต่อวิถีคนลุ่มน้ำในแถบนี้


 


"ตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา เมื่อเราได้ทำงานวิจัยไทบ้าน พบว่า พันธุ์ปลาได้ลดหายไปเป็นจำนวนมาก โดยที่ปลาแม่น้ำโขงไม่ยอมขึ้นมาวางไข่เหมือนแต่ก่อน เพราะว่าปลางง เนื่องจากระบบการขึ้นลงของน้ำ อีกทั้งในช่วงน้ำขึ้น ก็จะท่วมพื้นที่เพาะปลูกสูงถึง 1-2 เมตร พอน้ำลงน้ำลดก็เกิดปัญหาทำให้ตะไคร่ พันธุ์พืชริมน้ำนั้นเน่าเสียหายไปหมด รวมไปถึงระบบวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวบ้านได้สูญสลายไปด้วย จนทำให้ทุกคนรู้สึกหวั่นไหวของการขึ้นลงของแม่น้ำโขงในขณะนี้" ประธานเครือข่ายนักวิจัยไทบ้านลุ่มน้ำสงคราม เล่าถึงปัญหาผลกระทบให้ฟัง


 


ดันประเด็นปัญหาแม่น้ำโขง ให้กลายเป็นประเด็นโลก


ดร.ปรีชา อุปโยคิน มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย กล่าวเสริมว่า การสร้างเขื่อนขอประเทศจีน รวมไปถึงการระเบิดแก่ง ก็เหมือนการทำลายระบบนิเวศน์ ทำให้ปลาบึกไม่มีบ้านอยู่ ไม่มีแฟน ทำให้ขนาดของปลา พันธุ์ปลาลดลง


 


"เห็นด้วย ที่จะทุกฝ่ายจะต้องหยิบประเด็นเหล่านี้ออกมานำเสนอ เพื่อให้เป็นประเด็นระดับโลก เพราะมิฉะนั้น ต่อไป ปลาบึก และแม่น้ำโขง ก็จะกลายเป็นเพียงตำนาน"


 


คนเชียงของ ชี้ทำอย่างไรจะให้ ปลาดำรงอยู่ได้ คนอยู่ได้


ด้าน นายบุญเรียน จินะราบ ตัวแทนชาวบ้านเครือข่ายแม่น้ำโขง - เชียงของ กล่าวว่า อยากฝากไปถึงชุมชนเชียงของ และชุมชนลุ่มน้ำโขงทุกภูมิภาค ได้มาร่วมกันรักษาระบบนิเวศน์ของแม่น้ำโขง ไม่ให้มีการทำลาย โดยเฉพาะคนเชียงของ ซึ่งมีอาชีพเก็บพืชพันธุ์ริมน้ำ และการจับปลา ซึ่งปีที่ผ่านมา มีการจับปลาบึกได้เพียง 4 ตัว และขนาดน้ำหนักของปลาที่จับได้หนักที่สุด เพียง 286 ก.ก. ซึ่งถือว่าจำนวนและน้ำหนักลดลงไปมาก


 


"ในส่วนของการจับปลาบึกนั้น คิดว่าคงต้องมีต่อไป เพราะถือว่าเป็นวิถีวัฒนธรรมประเพณีมาช้านาน แต่เราจะจับมาเพื่อเป็นงานวิจัย เพื่อหาทางในการอนุรักษ์ต่อไป ซึ่งอยากจะให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันหาทางรักษาระบบนิเวศน์ ระบบวิถีชีวิตให้สอดคล้องกัน ว่า ทำอย่างไร ให้ปลาดำรงอยู่ได้ และคนลุ่มน้ำโขงอยู่ได้" นายบุญเรียน กล่าวทิ้งท้าย


 


ชี้ทางออก ภาคประชาชนต้องลุกขึ้นสู้กันเอง


ทั้งนี้ ก่อนจบการเสวนา "กระแสแม่น้ำโขงที่เปลี่ยนไป กระทบอย่างไรกับชาวบ้าน" นายมนตรี ได้เปิดประเด็นทิ้งท้ายเอาไว้อย่างน่าสนใจ ว่า กรณีที่จะผลักดันให้ประเทศจีนรับรู้ว่า การสร้างเขื่อนนั้นก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ และคนลุ่มน้ำโขงนั้น ตนยังไม่มั่นใจว่า จีนจะยอมรับฟังหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา เมื่อตนไปขอข้อมูลเกี่ยวกับระดับน้ำของแม่น้ำโขง จากเจ้าหน้าที่ หน่วยงานรัฐของไทย ซึ่งจะได้รับการปฏิเสธ ไม่ยอมให้ข้อมูลใดๆ เลย


 


"ซึ่งเจ้าหน้าที่ไทย บอกว่า หากข้อมูลที่เกี่ยวกับจีน ถ้าต้องการ ต้องทำหนังสือขอผ่านในระดับอธิบดี เป็นรายกรณีไป เนื่องจากเบื้องบนสั่งมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของจีน ที่เข้าไปครอบแม้กระทั่งระบบการทำงานของภาครัฐไทย ซึ่งทำให้เห็นว่า มีทางเดียว คือ ภาคประชาชนเท่านั้น ที่จะต้องร่วมกันออกมาลุกขึ้นสู้กันเอง" นายมนตรี กล่าวย้ำในช่วงท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net