Skip to main content
sharethis




ประชาไท--23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 องค์ฮิวแมนไรท์ เฟิร์ส (Human Rights First)ซึ่งมีสำนักงานที่นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา และ The Observatory ที่มีสำนักงานที่กรุงเจนีวา สวิสเซอร์แลนด์เป็นสององค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ในการดำเนินคดีเกี่ยวเนื่องกับการหายไปของทนายความสมชาย นีละไพจิตรได้นำเสนอรายงานการสังเกตการณ์การคดีและได้ระบุถึงข้อบกพร่องของการทำคดีและการล้มเหลวในการสืบสวนสอบสวนของตำรวจ


 


รายงานการสังเกตการณ์ทางคดีของฮิวแมนไรท์ เฟิร์ส ที่เปิดเผยต่อสาธารณะชนวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ระบุว่า การดำเนินคดีการหายไปของทนายความสิทธิมนุษยชนสมชาย นีละไพจิตร มีข้อบกพร่องอย่างมากมาย และความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นเป็นเชื้อเพลิงให้เกิดความรุนแรงในภาคใต้ของไทย  


 


เมารีน บรินส์ ผู้อำนวยการบริหารของ ฮิวแมนไรท์ เฟิร์สกล่าวว่า "รัฐบาลไทยล้มเหลวในการสืบสวนสอบสวนกรณีการอุ้มหายทนายสมชายซึ่งส่งสัญญานที่น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับความเอาใจใส่เรื่องสิทธิมนุษยชน แทนที่รัฐบาลจะดำเนินการอย่างถึงที่สุดในเรื่องการสืบสวนและการตั้งข้อหาฟ้องคดี รัฐบาลไทยกลับปล่อยให้ผู้กระทำความผิดหลุดมือไปได้" และระบุว่า "สมชายทำงานเพื่อปกป้องคุ้มครองความยุติธรรมและนิติรัฐของไทยในกรณีปัญหาทางภาคใต้มาเป็นเวลากว่า 20 ปี และตอนนี้ครอบครัวของสมชายกลับไม่สามารถได้รับความยุติธรรม" ในรายงานยังระบุด้วยว่า "ข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรม อธิบายง่าย ๆ ได้ว่า ตำรวจไม่ควรได้รับความเชื่อถือให้สืบสวนเอาผิดพวกเดียวกัน" เมารีน บรินส์ กล่าว "ประเทศไทยมักจะยอมเสียหน้าต่อนานาชาติต่อกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเสมอ"


 


The Observatory นำเสนอรายงานการดำเนินคดีเกี่ยวกับการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร: เรื่องเราจะได้รับความยุติธรรมหรือจะถูกปฎิเสธ" ระบุว่าการพิจารณาคดีมีข้อจำกัดที่สำคัญในเรื่องการฟ้องร้องคดี หลักฐานในการฟ้องร้องคดีอ่อน อันเกิดจากการสืบสวนสอบสวนที่บกพร่อง ตำรวจซึ่งเป็นหน่วยงานเดียวกันกับผู้ต้องหาในคดีเป็นผู้ดำเนินการสืบสวนสอบสวน The Observatory ระบุด้วยว่าการเยียวยาด้วยความยุติธรรมในกรณีการหายตัวไปมีความสำคัญมากกว่าการชดใช้เยียวยาด้วยวิธีอื่น  มีการตั้งข้อหาของคดีนี้ไม่สมเหตุผลและไม่ได้สมกับอาชญกรรมที่เกิดขึ้นกับนายสมชาย  และ The Observatory เสนอด้วยว่าสมควรที่จะมีการสร้างบทบัญญัติทางกฎหมายใหม่ที่สามารถเอาผิดกับคดีการทำให้คนหาย  จึงจะเป็นก้าวแรกของประเทศไทยที่จะช่วยสนับสนุนหลักการทางสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นปฏิญญาว่าด้วยการป้องกันคนหายและร่างอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันคนหาย


 


 


 


ทาง The Observatory เสนอด้วยว่าควรจะมีการปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญาให้มีข้อหาความผิดเกี่ยวกับการถูกบังคับ


 


ให้หายตัวไปและเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบังคับให้หายตัวอีก เพื่อเป็นการรับรองมาตรา 3 ของปฏิญญาว่าด้วยการป้องกันคนหายขององค์การสหประชาชาติในปี พ.ศ. 2535 รวมทั้งประเทศไทยควรที่จะยอมบังคับใช้มาตรา 4 ในร่างกติการะหว่างประเทศเรื่องการป้องกันคนหายว่า "รัฐสมาชิกจำเป็นต้องมีกำหนดให้การหายไปเป็นข้อหาในกฎหมายอาญาของประเทศ"


   


 


ด้านคณะทำงานปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนได้จัดทำรายงานการสังเกตการณ์คดีในครั้งนี้ด้วย โดยจะนำส่งรายงานการสังเกตการณ์คดีของคณะทำงานปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยขน รายงานของฮิวแมนไรท์เฟิสต์ และรายงานของ Observatory เป็นจำนวน 3 ฉบับ ถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อเป็นเอกสารประกอบในการดำเนินการของกรมสอบสวน เพื่อเป็นข้อมูลในอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเร่งรัดตามหาทนายสมชายและจับกุมผู้กระทำผิดโดยอิสระและไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อนำความจริงเรื่องการหายไปของทนายสมชายปรากฏต่อครอบครัวและสาธารณชน


 


 ฮิวแมนไรท์เฟิร์ส Human Rights First หรือ ชื่อเดิม Lawyer Committee on Human Rights มีrสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมือง นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา เป็นองค์การที่ให้ความสนใจในการส่งเสริมการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ระบบยุติธรรมและการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม มีโครงการพิเศษเกี่ยวกับทนายความและนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน  


 


สำหรับกรณีการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร และการดำเนินคดี ฮิวแมนไรท์เฟิร์สได้จัดทำรายงานความเป็นมาและผลการพิจารณาคดีในศาลลงในเว็บไซด์ขององค์กรด้วย (www.humanrightsfirst.org รายงานฉบับภาษาอังกฤษดูได้ที่ ..


http://www.humanrightsfirst.info/pdf/06221-hrd-somchai-trial-report.pdf  แถลงการณ์ของฮิวแมนไรท์เฟิสต์ฉบับภาษาไทยที่ http://www.humanrightsfirst.info/pdf/06221-hrd-trial-report-press-thai.pdf)


 



 


The Observatory เป็นการทำงานร่วมกันของ สหพันธ์สากลเพื่อสิทธิมนุษยชน หรือ International Federation for Human Rights - FIDH และ องค์การสากลว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน หรือ World Organisation Against Torture - OMCT เป็นสององค์กรสิทธิมนุษยชนที่มีสำนักงานอยู่ที่กรุงเจนีวาประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ทำงานด้านการปกป้องคุ้มครอง  นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน และทำงานต่อต้านการทรมาน รายงานฉบับภาษาอังกฤษและภาษาไทยดูที่ www.ucl.co.th


 



 


คณะทำงานปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน เป็นการทำงานร่วมกันของสมาชิก : คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.), มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาคณะกรรมการประสานงานองค์กรสิทธิมนุษยชน(กปส.),ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติธรรม(สสธ.),สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.) สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.),คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ,กลุ่มเพื่อนประชาชน(Fop.) รายงานการสังเกตุการณ์คดี ดูที่ http://www.ucl.or.th/story_1/somchai.htm    

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net