Skip to main content
sharethis

โดย วรดุลย์ ตุลารักษ์, อิสระ ชูศรี


 


ในระยะหลังมานี้มีงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งที่พยายามพูดถึง "ความสุข"  และใช้ "ความสุข"


เข้ามาเป็นตัวแปรหนึ่งในสมการทางเศรษฐศาสตร์  โดยตั้งเป็นประเด็นคำถามว่าอะไรบ้างที่มีผลต่อความสุขของคน   หนึ่งในนั้นคือ เงิน หรือ รายได้ 


 


ในโลกทุนนิยมมีความเชื่ออย่างสามัญสำนึกว่า เงินเป็นปัจจัยที่ทำให้คนมีความสุข แต่กลับมีงานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ที่พบว่า ในประเทศที่มีรายได้ประชาชาติสูง คนในประเทศกลับไม่มีความสุข หรือขาดความพึงพอใจต่อชีวิต


 


จริงอยู่สำหรับคนที่มีรายได้ต่ำ การเพิ่มขึ้นของรายได้อาจทำให้ความสุขเพิ่มขึ้นมาก แต่ถ้าหากรายได้เพิ่มขึ้นไปถึงจุดหนึ่งแล้ว การเพิ่มขึ้นของเงินไม่ได้ทำให้ความสุขเพิ่มขึ้น และจะลดลงในท้ายที่สุด ไม่เหมือนกับตอนต้นที่เรายังมีเงินน้อยๆอยู่ เรียกกันว่า "กฎของการเพิ่มขึ้นอย่างถดถอย" (Increasing at a Diminishing Rate)


 


ยกตัวอย่างเช่น ถ้าปีที่ 1 คุณมีเงิน 2 หมื่นกว่าล้าน ปีที่ 2 เพิ่มขึ้นไปเป็น 3 หมื่นกว่าล้าน แล้วคุณสังเกตว่า ความสุขของเราทำไมไม่เพิ่มขึ้น ทั้งๆที่เงินเพิ่มขึ้นมากมาย นั่นแปลว่า คุณได้ไปถึงหรือผ่านจุดที่ความสุขเพิ่มขึ้นน้อยมาก


หรือไม่เพิ่มขึ้นเลย จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาก


          


ไมดัสเป็นตัวละครสำคัญตัวหนึ่งในตำนานของชาวกรีก ตามตำนานเล่าว่าเขาเป็นราชาแห่งแคว้นโบราณนามฟรีเกียในเอเชียกลางสมัยศตวรรษที่ 8 ก่อนคริสตกาล


 


เรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับราชาพระองค์นี้ก็คือ อยู่มาวันหนึ่งราชาไมดัสได้ให้ความช่วยเหลือแก่ครูของเทพไดโอนีซุสซึ่งหลงทางมายังอุทยานของของพระองค์


 


เพื่อเป็นการตอบแทนความดีนี้ เทพไดโอนีซุสได้ให้โอกาสราชาไมดัสขอพรวิเศษอะไรได้หนึ่งข้อ...อะไรก็ได้


 


ชะรอยไมดัสผู้นี้จะมีนิสัยโลภโมโทสันเป็นพื้น พระองค์จึงขอพรว่าต่อจากนี้ไปเมื่อสิ่งใดก็ตามที่พระองค์สัมผัสก็ขอให้มันกลายเป็น "ทอง" แท้ๆ เสียให้หมด


 


เทพไดโอนีซุสแสนเสียดายที่ราชาไมดัสผู้มีโอกาสขอพรวิเศษเพียงไหนก็ได้ แต่กลับสายตาสั้นเห็นแก่ได้


หวังแค่ให้มีทองในครอบครองมากๆ เท่านั้นเอง


 


แรกๆ พรอันมหัศจรรย์นี้คงจะให้ความสุขอย่างล้นเหลือแก่ไมดัส คนมันชอบทองลองได้สัมผัสขี้หมูขี้หมาอะไรก็เป็นกลายเป็นทอง ทอง และทอง ก็ต้องดีใจมากเป็นธรรมดา


 


แต่ต่อมาอำนาจวิเศษนี้มันกลับสร้างทุกข์อย่างมหันต์แก่ราชาไมดัส เพราะแม้แต่อาหารที่เขาสัมผัสมันก็กลายเป็นก้อนทองที่ล้ำค่าแ ต่กินไม่ได้เสียนี่


 


จะสัมผัสลูกชายลูกสาวเพื่อแสดงความรักสักหน่อยก็ทำเอาลูกๆ กลายเป็นตุ๊กตาทองไปหมด


 


มีแต่ความหิวโหยและอ้างว้าง


 


บรรดาพี่น้องประชาชนในปกครองก็คงพากันหัวเราะเยาะสมน้ำหน้า แต่จะอิจฉาหรือไม่อันนี้ไม่แน่ใจ


 


ก็ราชาไมดัสนั้นมีโอกาสครั้งเดียวในชีวิตที่จะขอพรประเสริฐสักแค่ไหนก็ได้ กลับตกที่นั่งลำบากเพราะเห็นแก่ตัวเห็นแก่เงินทองเกินพอดีไปเสียนี่ เรียกว่ามีทรัพย์เพิ่มขึ้นแต่ความสุขลดลงฮวบฮาบเลย


 


ด้วยเหตุนี้เขาจึงอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากเทพไดโอนีซุส ให้พ้นจากทุกข์ที่มีทองในครอบครองมากเกินไป


เทพไดโอนีซุสจึงแนะเขาว่าให้ไปชำระล้างร่างกายเสียในแม่น้ำแพคโทลุส


 


เมื่อเขาทำเช่นนั้นแล้วอำนาจในการเปลี่ยนสรรพสิ่งให้เป็นทองได้เพียงเพราะการสัมผัสจึงหมดไป แต่ทำให้เม็ดทรายในแม่น้ำทั้งสายนั้นกลับกลายเป็นทอง


 


เวลาผ่านไปหลายพันปี ชื่อของราชาไมดัสจึงหมายถึงคนซึ่งมีความร่ำรวยมหาศาล และ "สัมผัสของไมดัส"


หมายถึงคนผู้ซึ่งร่ำรวยได้จากทุกๆกิจกรรมที่เขาทำ


 


พูดแบบปากๆ ก็ต้องบอกว่า ทำกิจการอะไรก็กวาดเงินถล่มทลายไปซะหมด


 


สำหรับตำนานเก่าแก่อายุหลายพันปีของไมดัสก็มีเนื้อหาย่นย่อแต่เพียงเท่านี้


 


ความหมายสอนใจของตำนานเรื่องนี้ไม่ได้เป็นการชื่นชมไมดัสหรือผู้นำประเภทไมดัสเลย แต่เป็นการติเตียนแบบเปรียบเปรยผสมผสานกับเรื่องราวมหัศจรรย์


 


คนโบราณเขาก็มองการณ์ไกลแบบนี้แหละ เพราะหากจะติผู้นำกันเฉยๆว่าโลภมากไปและเห็นแก่ตัว


มันก็คงสอนใจใครไม่ได้นาน เพราะผู้นำแบบนี้มันก็คงมีมาทุกยุคทุกสมัย เล่าเป็นตำนานไปซะเลยดีกว่า จะได้ให้คนรุ่นหลังจดจำให้ขึ้นใจ เรียกว่าเป็นอมตะไปเลย แต่เป็นอมตะในความหมายที่ไม่ดี


 


กลับมาสู่ตำนานร่วมสมัยในสังคมไทยของเรา ว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับการขายหุ้น "ชินคอร์ป" ของนายกฯในราคาญาติมิตรนอกตลาดหลักทรัพย์ก่อนที่ท่านจะเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมตรี แล้วเร็วๆ นี้ก็นำไปผ่องถ่ายผ่านตลาดหลักทรัพย์ฟันกำไรเป็นหลายๆ ๆ เท่าตัวโดยไม่มีภาษีสักบาทเดียว


 


ตอนที่ท่านนายกรัฐมนตรีและภรรยาขายหุ้นของตัวเองในราคาต่ำกว่าราคาตลาดให้กับพี่ชายและลูกๆ ท่านขายนอกตลาดโดยไม่เสียค่าธรรมเนียมโบรกเกอร์ด้วยและไม่เสียภาษีด้วย เพราะกรมสรรพากรท่านบอกว่าแม้จะมีส่วนต่างระหว่างราคาซื้อ (สิบบาท) กับราคาตลาดในขณะนั้น แต่ก็ยังไม่ถือว่าเกิดรายได้หรือมีกำไรที่เป็นตัวเงินอะไร เพราะผู้ที่รับเอาหุ้นไปยังไม่ได้ขายออกมาเพื่อทำกำไรจากส่วนต่างนั้น


 


เวลาผ่านไป 5 ปี มูลค่าของหลักทรัพย์เหล่านั้นนั้นสูงขึ้นไปจากราคาตลาดในขณะนั้นอีก 7 เท่าตัว (จะเพิ่มขึ้นมามากขนาดนั้นเพราะเหตุอะไรก็คงหาอ่านได้ตามหน้าหนังสือพิมพ์ทั่วไป) พอมีคนมาซื้อต่อไปก็ยังไม่ต้องเสียภาษีอีก เพราะกรมสรรพากรท่านบอกอีกว่าซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์มันไม่ต้องเสียภาษี โอ... ต้องขอใช้ภาษาอังกฤษว่า ample rich คือรวยล้ำรวยเหลือจริงๆ


 


เมื่อเราพิจารณาคำอธิบายเหตุการณ์สองหนนี้ทีละครั้งมันก็แลสมเหตุสมผลดี ทีแรกไม่เสียภาษีเพราะยังไม่มีการขายต่อทำกำไร (ก็รอให้เขาขายซะก่อนสิ มีกำไรเดี๋ยวเขาก็จ่ายเองล่ะน่า อย่าทำตัวเป็นคนขี้อิจฉาสิ)


 


ทีที่สองก็ไม่เสียภาษีอีกเพราะเขาขายหลักทรัพย์ในตลาดซึ่งได้รับการยกเว้น Capital Gain Tax (ก็รัฐเขาส่งเสริมให้ประชาชนลงทุนระยะยาวในตลาดหลักทรัพย์ไง เศรษฐกิจดีคนก็อยู่ดีกินดี เว้นภาษีให้หน่อยเพื่อจูงใจไง อย่าทำตัวเป็นคนขี้อิจฉาสิ) เฮ้อ... ไม่ว่าจะดูตรงไหนมันก็ถูกต้องชอบธรรมไปโม้ด


 


ปัญหาก็คือทำไมคนที่ได้ฟังเบื้องหลังตำนานแสนมหัศจรรย์อันนี้แล้วยังรู้สึกตะหงิดๆ หรือรู้สึกไม่สบายอกสบายใจไร้ความสุข ก็คนเขามีพรวิเศษจับอะไรก็เป็นเงินเป็นทองไปหมด จะไปว่าอะไรเค้าล่ะ?


 


มองแบบการเมืองก็ต้องอธิบายว่าเพราะ "ความโลภ" และ "ความเห็นแก่ตัว" เกินขนาดนั้นไม่ใช่คุณสมบัติของผู้นำที่มนุษย์โลกชื่นชมครับ ไปหาดูเถิด เรื่องนี้แหละสากลของจริงเลย ผู้นำที่ไหนๆถ้าจะให้คนยกย่องก็มีแต่จะต้องสละประโยชน์ส่วนตัวเพื่อประโยชน์ส่วนรวมทั้งนั้น ถ้ามี conflict of interest แล้วก็ต้องเลือก public interest ก่อน self- หรือ family interest ทั้งนั้น เหมือนผู้ที่ได้รับพรประเสริฐมาก็ควรใช้ให้มันมีคุณค่าสมกับความประเสริฐของพรที่ได้รับมา มิฉะนั้นมันก็แล "อั๊กลี่" เหมือนเรื่องของราชาไมดัสไปซะงั้น


 


เรื่องนี้จะมาอ้างตัวบทกฎหมายอะไรให้มันซับซ้อนยุ่งยากสักแค่ไหนก็ไม่ช่วยให้ใครรู้สึกรับได้อย่างจริงใจหรอกครับ


 


เผ่าพันธุ์มนุษย์เรานั้นวิวัฒนาการมายาวนานกว่าระบบกฎหมายสมัยใหม่ที่เรามีใช้กันอยู่ ฉะนั้นสำนึกแห่งความชอบธรรมมันมีอยู่แน่นอนในมนุษย์ทุกชาติทุกภาษา ดูเปรียบเทียบเอาก็รู้ได้ด้วยตัวเองครับ ว่าอะไรคือความโลภและความเห็นแก่ตัวอย่างหยาบคาย


 


การโลภหรือเห็นแก่ตัวเล็กๆ น้อยๆ เพียงเพื่อการเอาชีวิตรอดและเพื่อการสืบพงศ์พันธุ์นั้นมันต่างกับความโลภแบบ "แอมเพิล ๆ" แน่นอน


 


หากมองด้วยทฤษฎี  "ความสุข" ในทางเศรษฐศาสตร์อย่างที่เราคุยกันไว้ตั้งแต่ต้นบทความ การมีเงินถึงจุดหนึ่งความสุขย่อมเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องไม่ต่อต้าน การพยายามต่อต้านกฎนี้ด้วยการเพิ่มปริมาณเงินให้มากขึ้นเป็นทวีคูณ วันแล้ววันเล่า ความสุขกลับอยู่คงที่เท่าเดิม


 


ฉะนั้นจึงมีแต่คนเขลาและเสียสติเท่านั้น ที่ยอมทำทุกอย่างเพื่อแลกกับการเพิ่มปริมาณทรัพย์สิน โดยเฉพาะคนที่ได้รับเกียรติอันประเสริฐให้เป็นผู้นำของคนอื่น 


 


ไม่น่าเอาอย่างเลยจริงๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net