Skip to main content
sharethis



 


 


ประชาไท—1 ก.พ. 2549 สถาบันสหัสวรรษ ย้อนรอยปี 2535 จัดเวทีชนช้างสื่อมวลชน ประกอบด้วย ดร. เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ส.ว.กรุงเทพฯ ดร. สมเกียรติ อ่อนวิมล ส.ว. สุพรรณบุรี และนายเทพชัย หย่อง บรรณาธิการเครือเนชั่น ดำเนินรายการโดย ดร. วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันสหัสวรรษโดยเสวนาในหัวข้อ "ตีตรวนสื่อมวลชน" ซึ่งเป็นหนึ่งในซีรีส์ เสวนาของสถาบันสหัสวรรษ ซึ่งจัดทั้งหมด 8 ครั้ง มีหัวข้อใหญ่ว่า "นายกทักษิณคือปัญหาของแผ่นดิน" ที่ ร.ร. อิมพีเรียลควีนส์ปาร์ค ทุกวันอังคาร ระหว่างวันที่ 24 ม.ค. - 14 มี.ค. โดยการเสวนาวาน นี้ (31 ม.ค. 2549) เป็นตอนที่ 2 ของซีรีส์ดังกล่าว


 


"จบแล้ว" เสรีภาพสื่อ


นายเจิมศักดิ์ ซึ่งเป็นผู้เริ่มเสวนาเป็นคนแรก กล่าวว่า มาร่วมเวทีเสวนาของสถาบันสหัสวรรษด้วย 2 เหตุผล เหตุผลแรกคือ เมื่อได้รับการเชิญจากสถาบันสหัสวรรษทำให้นึกถึงเหตุการณ์พฤษภาคมปี 2535 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตสื่อ โดยนายเจิมศักดิ์ นายสมเกียรติ อ่อนวิมล และนายสุทธิชัย หยุ่นได้เสวนากันในหอประชุมใหญ่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 


"เราหวังว่าจะปฏิรูปสื่อ พอมาถึงวันนี้ก็กลายเป็นปัญหาว่าทักษิณเป็นปัญหาของแผ่นดินซึ่งนำมาสู่วิกฤติสื่ออีกครั้งหนึ่ง"


 


เหตุผลที่ 2 เมื่อทักษิณเป็นปัญหาของแผ่นดินก็ถึงเวลาที่จะต้องพูดกันตรงๆ


 


ทั้งนี้ นายเจิมศักดิ์กล่าวว่าสื่อของเมืองไทยมีปัญหา 2 ประการคือ ปัญหาเรื่องโครงสร้างความเป็นเจ้าของ เจ้าของคลื่นคือรัฐ "แต่เวรกรรมอะไรไม่รู้" ที่รัฐบาลมักคิดว่าเป็นของเขา และเมื่อความเป็นเจ้าของกระจุกตัวอยู่กับราชการและรัฐบาล การเป็นเจ้าของสื่อของไทยจึงเป็นปัญหา


 


ปัญหาประการที่ 2 คือ สภาพปัญหาของระบบตลาด เนื่องจากระบบทุนนิยมเชื่อว่ากลไกตลาดจะเป็นสิ่งที่ทำให้กำหนดประเภทรายการที่สัมพันธ์กับกลุ่มลูกค้า แต่ปัญหาของระบบตลาดแบบทุนนิยมก็คือ กลไกตลาดไม่ทำงานสำหรับรายการเกี่ยวกับคนจน เด็ก คนแก่ และรายการมีสาระ เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงกลไกตลาด


 


นายเจิมศักดิ์กล่าวว่าวีธีที่จะทำให้สื่อมวลชนเดินได้ดีคือการจัดการกับปัญหาความเป็นเจ้าของ แต่ที่ผ่านมา แทนที่จะมีการจัดการกับปัญหาการกระจุกตัว กลับกลายเป็นมาทำมาหากินกับความกระจุกตัว ไม่ว่าจะเป็นทหาร กรมประชาสัมพันธ์ หรือหน่วยงานราชการอื่น ๆที่เกี่ยวข้องกับสื่อ การจ่ายบนโต๊ะมีนิดเดียวแต่การจ่ายใต้โต๊ะมีมาก


 


นายเจิมศักดิ์กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ได้บัญญัติมาตรา 39 40 และ 41 โดยมีเจตนารมณ์ในการแก้ปัญหาเรืองการกระจุกตัวของการเป็นเจ้าของสื่อและการไม่ทำงานของกลไกตลาดซึ่งไม่ตอบสนองผู้บริโภคที่เข้าไม่ถึงตลาด แต่รัฐบาลทักษิณก็ได้ละเมิดทั้ง 3 มาตราไปแล้ว


 


"มันจบแล้วเรื่องเสรีภาพ ถ้าคนทำข่าวมีคำถามว่าเรื่องนี้เสนอได้ไหม ทำได้ไหม นั่นคือการเซ็นเซอร์ตัวเอง สรุปแล้วความเป็นเจ้าของสื่อในประเทศไทยยังมีปัญหา และเมื่อมาผนวกกับเรื่องการเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อก็เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุด"


 


ดร. สมเกียรติ ฟันธง เสรีภาพสื่อในยุคทหารดีกว่ายุคทักษิณ


นายสมเกียรติ อ่อนวิมล ส.ว. สุพรรณบุรี กล่าวว่าในที่ฐานะคนทำสื่อที่ผ่านการปกครองในแบบต่างๆ ของไทยมาตั้งแต่ยุคเผด็จการทหาร ยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และประชาธิปไตยเต็มใบในยุค พล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ นายสมเกียรติยืนยันว่า เสรีภาพของสื่อในยุคเผด็จการทหารดีกว่าในยุครัฐบาลทักษิณ


 


ทั้งนี้ ในยุคที่ทหารปกครองประเทศช่วงรัฐบาลพล.อ. เปรม นั้น เนื่องจากผู้นำมีความกังวลต่อความรู้สึกว่าไม่เป็นรัฐบาลประชาธิปไตยเต็มที่จึงมีความระมัดระวังในการควบคุมสื่อ ซึ่งในสมัยของรัฐบาล พล.อ.เปรม หากสื่อมวลชนสามารถจับจังหวะได้ถูก ก็จะมีช่องทางในการนำเสนอเนื้อหาได้มาก เพราเมื่อทำเสนอข่าวสารแล้วถูกใจชาวบ้านรัฐบาลก็ไม่กล้าเข้ามาควบคุม


 


เมื่อเข้ายุคของพล.อ.ชาติชาย ซึ่งเป็นประชาธิปไตยเต็มใบกลับถูกนักการเมืองอ้างว่าได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน โดยคนที่หยิบยกคำพูดเช่นนั้นก็คือ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ซึ่งในยุคที่ร.ต.อ.เฉลิมดูแลเรื่องสื่อนั้นถึงกับการตั้งศูนย์พิฆาตสื่อเลยทีเดียว


 


ในยุคชวนนั้น เสรีภาพของสื่อค่อนข้างดี เนื่องจากรัฐบาลชวนมีลักษณะอ่อนแอ โดยเน้นขอความเห็นใจจากสื่อมวลชนมากกว่าที่จะข่มขู่คุกคาม


 


"แต่เมื่อมาถึงยุคของรัฐบาลทักษิณ ผมขอเล่าตอนจบของผมเลย ผมทำงานรายการวิทยุ "โลกยามเช้า" จัดมา 17 ปี และเปลี่ยนคลื่นวิทยุไปเรื่อยๆ เพื่อความปลอดภัย แต่ต่อมาผมมีปัญหาจากการแปลบทความชิ้นหนึ่งของ far Eastern Economic Review ซึ่งเขียนว่าทักษิณมีปัญหากับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผมก็แปล แล้วผมก็ถูกระงับการจัดรายการในวันรุ่งขึ้น"


 


อย่างไรก็ตามนายสมเกียรติระบุว่า วิธีการควบคุมสื่อของทักษิณนั้นแยบยลมากกระทั่งกล่าวหาไม่ได้ แต่รู้สึกได้ โดยนายสมเกียรติกล่าวว่าในยุคของรัฐบาลทักษิณนั้นเสรีภาพสื่อแย่กว่าทุกยุคที่ผ่านมา เพราะปัญหาแบบเดิมของระบบเผด็จการทหารก็ยังอยู่ และก็ยังเพิ่มปัญหาจากการคุกคามโดยอำนาจธุรกิจเข้ามาด้วย


 


สำหรับสถานการณ์อันง่อนแง่นของนายกฯ ซึ่งไม่สามารถตอบคำถามสื่อมวลชนเรื่องการขายหุ้น ชินคอร์ปให้กับเทมาเซคนั้น เมื่อนายกฯ เป็นคนพูดเองว่า "ก็คนมันไม่เชื่อ" ก็ต้องถือว่านายกฯ วิเคราะห์ได้ถูกแล้ว


 


"ผมคิดว่า จบแล้ว ไม่ต้องตีความ แต่ที่เขาตอบแบบพัลวัลพัลเกก็เพราะว่าเขาไม่มีคำตอบ คุณทักษิณเป็นปัญหาของแผ่นดินแน่นอน และถ้าเขาเป็นคนที่รู้จักคิด เขาก็จะต้องรู้ว่าลูกของเขาทั้ง 2 คน จะร่ำรวยอย่างไม่มีความสุข"


 


ทั้งนี้ นายสมเกียรติเสนอว่า สำหรับกรณีการขายหุ้นชินคอร์ปให้เทมาเสกนั้น สื่อมวลชนควรสอบถามจากนายพานทองแท้ และนางสาวพิณทองทาชินวัตร มากกว่าจะถามนายกรัฐมนตรี เพราะผู้ขายหุ้นคือนายพานทองแท้และนางสาวพิณทองทา แต่ที่ผ่านมาบุคคลทั้ง 2 ก็ตอบคำถามไม่ได้ เพราะความจริงแล้วทั้ง 2 คนเป็นแค่เด็กที่ไม่น่าจะรู้เรื่องการยักย้ายถ่ายเทและกลวิธีในการซื้อ-ขายหุ้นมากขนาดนั้น


 


บ.ก. เครือเนชั่น ดักคอหาทางลงด้วยการบีบน้ำตา


ด้านนายเทพชัย หย่อง บรรณาธิการเครือเนชั่น กล่าวว่า เวลาของนายกทักษิณกำลังงวดเข้ามาแล้ว และคาดว่าไม่น่าจะเกินตอนที่ 8 ของซีรีส์ "นายกทักษิณคือปัญหาของแผ่นดิน" ในเดือนมีนาคมนี้


 


ในส่วนของการคุกคามสื่อนั้น นายเทพชัยกล่าวว่ารัฐบาลทักษิณมีความแยบยลไม่ซุ่มซ่ามเหมือนรัฐบาลที่ผ่านๆ มา โดยนายเทพชัยระบุว่า นายกทักษิณมักจะอ้างอิงสื่อมวลชนของสิงคโปร์ว่าลงข่าวการเมืองน้อย เป็นการนำเสนออย่างสร้างสรรค์ แต่สิ่งที่นายกทักษิณไม่ได้บอกประชาชนไทยคือว่า ประเทศสิงคโปร์นั้นไม่มีความเคลื่อนไหวทางการเมือง เนื่องจากมีพรรคเสียงข้างมากพรรคเดียว ในขณะที่มีฝ่ายค้านอยู่เพียง 2 คนเท่านั้น รัฐบาลสิงคโปร์จัดการกับสื่อได้อย่างแน่นอนและแยบยลกระทั่งประชาชนไม่รู้สึก และแม้แต่สื่อมวลชนเองก็ไม่รู้สึก แต่ต่างมีสำนึกร่วมกันว่า สื่อมวลชนเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างชาติ


 


"นักข่าวสิงคโปร์เคยพูดกับผมว่า คนในรัฐบาลเป็นคนที่น่านับถือ และเป็นคนที่ถูกเลือกแล้ว แล้วเราก็เป็นแค่สื่อมวลชน จะไปตั้งคำถามกับเขาได้อย่างไร ผมฟังแล้วตกใจมาก"


 


ทั้งนี้ บรรยากาศสื่อมวลชนในสิงคโปร์นั้นถูกแทรกแซงโดยรัฐบาลอย่างชัดแจ้งเช่น หนังสือ State Time ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่แพร่หลายในสิงคโปร์ก็มีคนของรัฐบาลเข้าไปนั่งอยู่ในสำนักงานเพื่อตรวจข่างวันต่อวันเลยทีเดียว


 


สำหรับวิธีการของทักษิณนั้น อาวุธของทักษิณคือ โฆษณา เป็นที่รู้กันว่าถ้าเป็นมิตรก็จะมีโอกาสได้รับโฆษณามาก เป็นอาวุธที่มีศักยภาพและไม่เคยมีผู้นำรัฐบาลคนไหนใช้มาก่อน


 


อย่างไรก็ตามในขณะที่นายกฯทักษิณต้องผจญกับมรสุมทางการเมืองอยู่ในขณะนี้ นายเทพชัยตั้งคำถามว่าเงินของนายกฯ จะสามารถกดดันสื่อมวลชนได้แค่ไหน


 


"ความกลัวต่ออารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงของประชาชน ทำให้เขาทำในสิ่งที่บุ่มบ่าม และสำหรับเรื่องการขายหุ้น ผมถือว่าเป็นจุดหักเหทางการเมืองของคุณทักษิณเลยทีเดียว"


 


อย่างไรก็ตามนายเทพชัยกล่าวว่า ต้องจับตาต่อไปว่า ที่นายกฯ ยังไม่ตอบคำถามสื่อมวลชนคราวนี้ จะไปซ้ำรอยกับในครั้งที่มีข่าวเรื่องบุตรสาวนายกทุจริตสอบเข้ามหาวิทยาลัยหรือไม่ เพราะในครั้งนั้นนายกรัฐมนตรีออกมาบีบน้ำตา ขอร้องสื่อมวลชนว่าลูกของตนยังเด็ก อย่าทำร้ายเด็ก ไม่แน่ว่าครั้งนี้ นายกทักษิณอาจจะเลือกวิธีการเดิมซึ่งเคยใช้ได้ผลมาแล้วก็ได้


 


........................................................................


จวก"แม้ว"คุกคามสื่อ เลวร้ายร้ายกว่ายุคทหาร


http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9490000013660


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net