Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 30 มกราคม ที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค ที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอ.มท.) ได้จัดสัมมนาวิชาการเรื่อง "การปฏิรูปการเมืองภาคสอง" โดยมี ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นองค์ปาฐก

 


ศ.ดร.

อมร จันทรสมบูรณ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

ภาพจากwww.manager.co.th

 

เมื่อวันที่ 30 มกราคม ที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค ที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอ.มท.) ได้จัดสัมมนาวิชาการเรื่อง "การปฏิรูปการเมืองภาคสอง" โดยมี ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นองค์ปาฐก โดยมีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า

 

"สังคมไทยตั้งแต่ปี 2475-2534 จะตอกย้ำอยู่เสมอว่าพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมือง ทำให้เราไม่สามารถใช้ทรัพยากรของเราได้ ระบบประชาธิปไตยไทยในช่วงต้นจึงเป็นการแย่งชิงผลประโยชน์ระหว่างนายทุนท้องถิ่นกับคณะทหาร

 

"ขณะที่ในปัจจุบัน สถาบันวุฒิสภานั้น ก็คือตัวแทนพรรคการเมืองที่ไม่ต้องแสดงตัว การเลือกตั้งครั้งหน้าคนดีจะได้เข้ามาน้อยมาก เพราะสภาพสังคมการเมืองไทยต้องใช้เงินและอิทธิพล เป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ของประเทศที่พัฒนาช้า และรัฐธรรมนูญแทนที่จะแก้ปัญหาสถาบันการเมืองกลับทำปัญหาให้ลึกลงไป คือการบังคับให้นักการเมืองต้องสังกัดพรรค โดยคิดว่าถ้าบังคับแล้วรัฐบาลจะเกิดความมั่นคง" โดยเขาเรียกร้องให้นักวิชาการร่วมกันออกแบบและสร้างรัฐบาลที่มีเสถียรภาพโดยไม่มีการบังคับสังกัดพรรค นอกจากนี้เขายังได้กล่าวต่อไปว่า

 

"เดิมทีเดียวรัฐสภากับรัฐบาลเป็นพวกเดียวกัน ถือเป็นจุดอ่อนอย่างยิ่ง แต่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ทำให้จุดอ่อนนี้มากยิ่งขึ้น ด้วยการบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค ทั้งๆที่สภาพสังคมวิทยาการเมืองไทยนั้นยังอ่อนแอ มีการใช้เงิน ใช้อิทธิพล การบังคับสังกัดพรรคทำให้เกิดปรากฏการณ์ปัจจุบัน คือการโวยวายจากนายทุนท้องถิ่น และผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น เนื่องจากขณะนี้นายทุนผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นถูกทำลายมีนายทุนผู้มีอิทธิพลระดับชาติมาแทน"

 

"รัฐธรรมนูญคือระบบ นักการเมืองคือคน ดังนั้น ถ้าถามว่าระบบกับคนอะไรสำคัญกว่ากันนั้น ไม่ว่าจะตอบอย่างไรก็ผิดด้วยกันทั้งคู่ เพราะมันขึ้นอยู่กับขั้นตอน คนที่ไม่ดีมีแนวโน้มแสวงหาประโยชน์ต้องเอาระบบไปคุม แต่ถามว่าใครเป็นคนสร้างระบบต้องเป็นคนที่ดีเสียสละไม่มองอำนาจของตัวเองขึ้นมาสร้างระบบควบคุมคนที่ไม่ดี และตนไม่เคยเชื่อว่าคนที่อยู่ในอำนาจและมีส่วนได้เสียจะแก้รัฐธรรมนูญได้

 

"บางคนที่สามารถจะรวบรวมมูลค่าได้ถึง 8 หมื่นล้าน ถ้าไม่ได้อำนาจผูกขาดจากบ้านเมืองไม่มีทางทำได้ สิ่งที่ได้มาจากอำนาจที่ผูกขาด ย้อนไปดูมือถือ 1 แท่ง ในอดีตมีราคากว่าแสนบาท ขณะที่โทรศัพท์มือถือในต่างประเทศราคาไม่กี่พันบาท ซึ่งปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นลักษณะ String of Corruption (สตริง ออฟ คอร์รัปชัน) หรือเส้นสายแห่งการคอร์รัปชัน เป็นการผูกขาดแล้วแปรรูป (Privatization)" ดร.อมร กล่าว

 

ศ.ดร.อมร ยังคงย้ำว่า "การปฏิรูปการเมืองภาคสองนั้นเราต้องหา State Man ขึ้นมาเพื่อสร้างระบบควบคุมการเมือง ซึ่ง State Man เรานั้นมีอยู่แล้วคือพระมหากษัตริย์ แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่เราวางไว้ ไม่มีประเทศไหนที่ปฎิรูปได้โดยไม่มี State Man โดยเฉพาะอย่างยิ่ง State Man ของเราคือพระมหากษัตริย์ ซึ่งนักวิชาการต้องนำบารมีของพระองค์มาใช้ให้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และไม่ผิดหลัก"

 

นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงการเคลื่อนไหวเพื่อถวายฎีกาของสนธิ ลิ้มทองกุลด้วยว่า "วิธีการนี้ไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก เพราะพระองค์ท่านทำอะไรไม่ได้ ซึ่งต้องเรียกร้องให้ ส.ส.ถวายคืนพระราชอำนาจด้วยการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะแนวทางการปฏิรูปการเมืองต้องทำโดยถูกรัฐธรรมนูญ ซึ่งการที่ประชาชนจะเดินไปหาพระองค์ท่านถวายพระราชอำนาจถือว่าไม่ถูกรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าเป็นการเดินขบวนแล้วกดดันให้ ส.ส.แก้รัฐธรรมนูญ แล้วถวายพระราชอำนาจแก้รัฐธรรมนูญจึงถือว่าถูก

 

"แนวทางการปฎิรูปการเมืองรอบสองต้องทำ 2 แนวทาง คือ 1.ต้องอาศัยพระบารมีของ State Man และ 2.ราชประชาสมาศัย โดยประชาชนต้องมีบทบาทให้ชัดเจน (Referendum) แต่ปัญหาคือเวลาแก้รัฐธรรมนูญแล้วรูปร่างจะเป็นอย่างไร ต้องให้มีการคานอำนาจ ถ้าหากว่าเราต้องการให้มีการบริหารที่ประสิทธิภาพเราวางแนวทาง Strong Prime minister (ระบบนายกรัฐมนตรีเข้มแข็ง) แต่จะทำอย่างไรไม่ให้เข้มแข็งจนไปคุมสภา ส่วนองค์กรอิสระต่างๆ ถ้าการเมืองดีทุกอย่างถูกแก้หมด ผมไม่สนใจหากว่านายกรัฐมนตรีคนนี้จะกลับมาอีก แต่อย่าเอาพรรคการเมืองเป็นแกนคุมรัฐบาลและสภาเท่านั้น" ศ.อมร กล่าวสรุป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net