Skip to main content
sharethis


ประชาไท—24 ม.ค. 2549 เวลา ๑๑.๐๐ น. วันที่ 23 ม.ค. ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ประมาณ ๓๐ คน ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายแก้วสรร อติโพธิ ประธานกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมของวุฒิสภา (กมธ.) เพื่อขอให้ยับยั้งการตัดสินใจก่อสร้างโครงการของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม และขอให้เรียกผู้เกี่ยวข้องจากคณะกก.สิ่งแวดล้อมและครม.มาตอบข้อซักถามถึงผลการประชุมเกี่ยวกับเรื่องเหมืองแร่โปแตชด้วยว่ามีผลหรือมติเป็นอย่างไร โดยกลุ่มอนุรักษ์ฯ ให้เหตุผลว่า ได้ทราบข่าวว่าบ่ายวันเดียวกันนี้ (23 ม.ค.) คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจะมีการประชุมวาระเร่งด่วนเพื่อพิจารณาเรื่องโครงการเหมืองแร่โปแตช

 


นายแก้วสรร ซึ่งออกมารับหนังสือด้วยตัวเอง ได้กล่าวกับชาวบ้านว่า ข้อมูลล่าสุดเท่าที่ตนทราบคือ เมื่ออธิบดีกรมทรัพยากรและเหมืองแร่มาตอบคำถามของกมธ.เกี่ยวกับโครงการนี้เมื่อ ๕ เดือนที่แล้วนั้น อธิบดียืนยันว่ายังไม่มีการขอประทานบัตรโครงการดังกล่าว ซึ่งหากจะมีการยื่นขอเมื่อใด ก็จะต้องทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอให้เสร็จเสียก่อน และให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติตรวจพิจารณา จากนั้นก็ต้องจัดประชาพิจารณ์ขึ้นในพื้นที่ โดยในการทำประชาพิจารณ์จะต้องมีการวางเงินเพื่อให้ชาวบ้านสามารถนำไปว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญมาตรวจดูรายงานข้อมูลก่อนด้วย


 


"ผมสนใจแค่ว่าต้องทำตามที่รับปากไว้ กรรมการสำนักนายกฯ ที่ไหนจะมาพิจารณาตอนนี้ เป็นกรรมการเถื่อน ผมไม่ยุ่ง อำนาจตามกฎหมายคือให้บอร์ดสิ่งแวดล้อมพิจารณาอีไอเอก่อน" นายแก้วสรรยังกล่าวอีกว่า บริษัทหรือหน่วยงานใดจะอ้างว่าอีไอเอผ่านแล้วไม่ได้ เนื่องจากกระบวนการยื่นขอยังไม่เสร็จสิ้น "บริษัทจะยืนยันยังไงก็ช่าง อีไอเอที่ผ่านมาเป็นอีไอเอเถื่อน"


 


ทั้งนี้นายแก้วสรรได้แจ้งต่อชาวบ้านว่าในวันพุธที่ ๘ กุมภาพันธ์นี้ จะนัดหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตอบคำถามกรรมาธิการต่อหน้าตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ฯ ที่วุฒิสภา ในเรื่องความคืบหน้าและกระบวนการต่างๆ รวมทั้งข้อห่วงใยของกมธ.ในประเด็นเรื่องผลกระทบจากโครงการที่อาจทำให้เกิดการยุบตัวของพื้นดินหากบริษัทรีบขุดแร่ขึ้นมาโดยไม่มีการนำกากแร่ใส่กลับลงไปใต้ดินตามที่เคยเสนอไว้ แต่กลับจะนำขึ้นมากองไว้บนดินเป็นเวลา ๑๐-๒๐ ปี "ทำแบบนี้บริษัทสอบไม่ผ่านแน่ ทั้งในประเด็นเรื่องการคัดค้านของชาวบ้านและในแง่หลักวิชาการ"


 


จากนั้นเวลาประมาณ ๑๔.๐๐ น. ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ฯได้เดินทางต่อไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านโครงการฯ ต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยเนื้อหาในหนังสือระบุข้อเรียกร้องขอให้พิจารณาหาช่องทางยกเลิกสัญญาสิทธิสำรวจและผลิตแร่โปแตชอุดรธานี เพราะเป็นสัญญาที่กดขี่ข่มเหงคนไทย และแย่งชิงแร่โปแตชออกไปจากอำนาจการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน ควรจะให้ประชาชนไทยหันหน้ามาพูดคุยกันเองเกี่ยวกับแร่โปแตชในจังหวัดอุดรธานี ว่าจะสงวนรักษาหรือใช้สอยกันอย่างไร นอกจากนี้ยังเรียกร้องว่าการพูดคุย ประชุม หรือเสวนาใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องเหมืองแร่โปแตชจังหวัดอุดรธานีต่อจากนี้ไป จะต้องไม่กระทำกันเองแต่ในส่วนราชการ นักธุรกิจ ฝ่ายนักการเมืองและบริษัทเอพีพีซี แต่ต้องมีตัวแทนชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีเข้ามามีส่วนร่วมในการประชุมหารือ ให้ความคิดเห็น ตัดสินใจด้วยทุกครั้งไป


 


นายชนินทร์ ทองธรรมชาติ รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นตัวแทนของคณะกรรมการฯออกมารับหนังสือ กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ไม่ได้เป็นการงุบงิบอนุมัติ แต่เพื่อมองให้เห็นภาพรวมของโครงการ ไม่ได้จะอนุมัติ เพราะนายกรัฐมนตรีรับปากกับชาวบ้านไว้ตั้งแต่ที่จ.ร้อยเอ็ดแล้วว่าวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์จะไปคุยกับชาวบ้านที่จ.อุดรธานี "ส่วนการจะตัดสินใจอนุมัติให้โครงการนี้ผ่านหรือไม่นั้นต้องขึ้นอยู่กับชาวบ้านอยู่แล้ว" รองเลขาธิการสผ.กล่าว


 


นายเดชา คำเบ้าเมือง หนึ่งในตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ฯกล่าวว่า ชาวบ้านทราบข่าวว่าเรื่องโปแตชเพิ่งถูกบรรจุเข้ามาอยู่ในวาระประชุมอย่างเร่งด่วน ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการที่กลุ่มอนุรักษ์ฯได้บุกไปยื่นหนังสือถึงนายนายกฯที่ร้อยเอ็ด ทำให้นายกฯต้องรับปากว่าจะไปพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ "และเท่าที่ทราบ ตอนนี้ก็ได้มีการยื่นขอประทานบัตรแล้วด้วย แต่ขั้นตอนทั้งหมดยังอยู่ระหว่างการพิจารณา การที่จู่ๆกก.สิ่งแวดล้อมมารีบร้อนประชุมในตอนนี้ เป็นไปได้ว่าก็เพื่อจะชงข้อมูลให้กับนายกฯ ก่อนลงพื้นที่ กลุ่มอนุรักษ์ฯจึงต้องการมาเสนอข้อมูลของชาวบ้านบ้าง เพื่อให้คณะกก.มองเห็นปัญหาอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งในพื้นที่ซึ่งกำลังคุกรุ่นอยู่ในขณะนี้"


 


"ถ้ากรรมการสิ่งแวดล้อมรีบร้อนตัดสินใจชงเรื่องไปในตอนนี้ แล้วเกิดความผิดพลาด ความขัดแย้งก็จะยิ่งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งนั่นจะเป็นผลมาจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดของกรรมการสิ่งแวดล้อมเอง" นายเดชากล่าว


 


จากนั้นกลุ่มฯ ได้เดินทางไปยังสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อเข้าพบและให้ข้อมูลต่อคณะอนุกรรมการจัดการน้ำและเหมืองแร่ของกรรมการสิทธิฯ ทั้งนี้ในวันพรุ่งนี้ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ฯจะเดินทางกลับไปยังทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง เพื่อขอพบรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากได้ทราบว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันพรุ่งนี้ก็จะมีการนำเรื่องเหมืองแร่โปแตชเข้าสู่วาระการประชุมด้วยเช่นกัน


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net