Skip to main content
sharethis

วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม 2005 15:34น.


ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


 


 งานของคณะกรรมกรอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติของไทย มีคุณลักษณ์โดดเด่นผิดจากการทำงานทำนองนี้ในที่อื่นๆ อยู่บ้าง การเข้าใจความแตกต่างดังกล่าวจะช่วยให้เข้าใจข้อเสนอของ กอส. ในการแก้ไขลดทอนปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มากขึ้น


 


เมื่อพิจารณาจากการทำงานของคณะกรรมการเกี่ยวกับ "สัจจะและการสมานฉันท์" ในต่างประเทศ พบว่ามีเงื่อนไขที่เอื้อต่อการทำงานสมานฉันท์อยู่ 4 ประการคือ


 


ประการแรก ความรุนแรงหรือภัยคุกคามด้วยความรุนแรงต้องยุติลง เพราะไม่เช่นนั้นคนที่ทำงานเพื่อแนวทางสมานฉันท์ก็ทำงานของตนให้หยั่งรากฝังลึกไม่ได้


 


ประการที่สอง ต้องเกิดจากการยอมรับความจริงและต้องมีการชดเชยให้กับเหยื่อของความรุนแรง เพราะถ้าผู้ก่อความรุนแรงไม่ยอมรับความจริง เหยื่อก็ให้อภัยไม่ได้


 


ประการที่สาม ต้องอาศัยพลังเชื่อมร้อยผู้คนเข้าด้วยกัน ในความขัดแย้งที่เกิดขึ้นหลายแห่งในอัฟริกา กลุ่มชาติพันธุ์ที่ต่อสู้ขัดแย้งกันไม่มีสายสัมพันธ์ระหว่างกันที่เข้มแข็งจึงจำเป็นต้องสร้างให้สายสัมพันธ์นี้เกิดขึ้น


 


ประการที่สี่ ต้องแก้ไขปัญหาความไม่เสมอภาคจากเชิงโครงสร้างและตอบสนองความต้องการทางวัตถุด้วย คณะกรรมการสัจจะและสมานฉันท์ของอัฟริกาใต้จึงสรุปว่า ผู้ที่เคยได้ประโยชนจากโครงสร้างที่เอารัดเอาเปรียบคนพวกหนึ่งมีพันธะที่จะต้องเปลี่ยนแปลงความไม่เสมอภาคที่ไม่ยุติธรรม (unjust inequalities) และความยากจนที่ไม่เห็นคนเป็นคน (dehumanizing poverty) ให้หมดไป


 


ถ้าพิจารณาจากเงื่อนไขข้างต้นอาจกล่าวได้ว่า การทำงานสมานฉันท์ในสังคมไทยปัจจุบันท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงที่กำลังเผชิญอยู่ในจังหวัดชายแดนใต้ แตกต่างจากงานประเภทนี้ในที่อื่นๆ อยู่หลายประการ


 


ประการแรก มักตั้งคำถามกันว่า "จะสมานฉันท์กับใคร ถ้ายังระบุไม่ได้ว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นใคร" เชื่อกันทั่วไปว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นในระยะเวลาที่ผ่านมา เป็นฝีมือของหลายฝ่ายด้วยเหตุผลหลายอย่าง ด้วยเหตุนี้จึงยังเป็นไปได้ด้วยว่า สถานการณ์ความรุนแรงที่กำลังดำเนินอยู่ให้ประโยชน์แก่คนบางหมู่บางเหล่าที่ไม่เห็นแก่ความอยู่เย็นเป็นสุขของคนในสังคม ในแง่นี้จึงไม่แปลกนักที่ความรุนแรงจะดำรงอยู่ต่อไป แม้ขณะที่งานสมาฉันท์กำลังดำเนินอยู่


 


ประการที่สอง แม้จะมีความพยายามค้นหา "ความจริง" ทั้งในกระบวนการยุติธรรม (เช่นการผลักดันให้ใช้นิติวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือสำคัญ) และในทางสังคมการเมือง (เช่นการเปิดเผยรายงานกรณีตากใบและกรือเซะของรัฐบาล) แต่ก็ยังไม่ได้หมายความว่า เกิดการยอรับ "ความจริง"เหล่านั้นในสังคมไทย


 


ประการที่สาม ปัญหาสำคัญประการหนึ่งในขณะนี้คือ "พลังเชื่อมร้อย" ผู้คนที่แตกต่างหลากหลายในสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเคยดำรงอยู่ในรูปลักษณ์ต่างๆ กำลังถูกกร่อนให้เสื่อมโทรมลง งานสมานฉันท์จึงไม่ใช่งาน "สร้าง" สานสัมพันธ์นี้เท่ากับความพยายามส่งเสริผู้คนในพื้นที่ร่วมกัน "ฟื้นฟู" สายสัมพันธ์ดังกล่าวให้คืนกลับมา


 


ประการที่สี่ งานสมานฉันท์ (reconciliation) ในที่อื่นๆมักเป็นการทำงานหลังจากความรุนแรงจบลงแล้ว เช่นในอาร์เจนตินา ประธานาธิบดีตั้งคณะกรรมการตรวจสอบค้นหาความจริงเกี่ยวกับคนหาย (National Commission on Disappearance of Persons) ขึ้นเมื่อปี 1983 หลังจากที่อาร์เจนตินาพ้นจากระบบทหารแล้ว คณะกรรมการชุดนี้จึงทำงานครอบคลุมกรณีคนหายตั้งแต่ปี ค.ศ. 1976-1983 ในชิลี ประธานาธิบดีตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อความจริงและการสมานฉันท์ (National Commission on Truth and Reconciliation) ขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1990 และให้รวบรวมข้อมูลความรุนแรงในช่วงวันที่ 11 กันยายน 1973 ถึง 11 มีนาคคคม 1990 ในเอล ซัลวาดอร์ สหประชาชาติตั้งคณะกรรมการสัจจะเพื่อเอล ซัลวาดอร์ (Commission on the Truth for El Salvador) ขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1992 ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสันติภาพในประเทศนั้นโดยให้ค้นหารวบรวมความจริงเกี่ยวกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ มกราคคคม 1980 ถึง กรกฎาคม 1991 ที่รู้จักกันดี คือ คณะกรรมการสัจจะและสมานฉันท์ (Truth and Reconciliation Commission) ของอัฟริกาใต้ซึ่งรัฐสภาแต่งตั้งขึ้นให้ทำงานค้นหาความจริงและสร้างสมานฉันท์เมื่อเดือน ธันวาคม ค.ศ.1995 โดยทำงานครอบคลุมข้อมูลตั้งแต่ปี ค.ศ.1960 ถึง 1994 ส่วนในกัวเตมาลา สหประชาชาติก็ตั้ง คณะกรรมการเพื่อความกระจ่างทางประวัติศาสตร์ (Commission for Historical Clarification) เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างสันติภาพที่สหประชาชาติมีส่วนเป็นคนกลางให้เกิดขึ้นเมื่อกลางปี 1997 โดยให้ทำงานครอบคลุมข้อเท็จจริงตั้งแต่ปี ค.ศ.1962 ถึง 1990 ในกรณีของศรีลังการที่การต่อสู้ระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายพยัคฆ์ทมิฬในภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังดำเนินอยู่แม้ในปัจจุบัน แต่เมื่อประธานาธิบดี กุมาราตุงคะได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ "การอุ้ม" หรือทำให้คนหายโดยไม่สมัครใจ(Commissions of the inquiry into the Involuntary Removal or Disappearance of Persons) เมื่อเดือน พฤศจิกายน 1994 นั้น ก็กำหนดให้คณะกรรมการซึ่งตั้งขึ้น3 พื้นที่ ทำงานครอบคลุมเฉพาะช่วงเวลาตั้งแต่ ค.ศ.1987 ถึง ค.ศ.1990 เท่านั้น


 


ในกรณีของประเทศไทย การทำงานสมานฉันท์เป็นการทำงานท่ามกลางความรุนแรงที่ดำเนินอยู่รายวัน สภาพเช่นนี้ทำต้องใส่ใจหาหนทางแก้ปัญหาเยียวยาผู้คนที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงซึ่งยังมิได้ยุติลง พร้อมๆกับพยายามแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและปัจจัยทางวัฒนธรรมความเชื่อ ที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานสมานฉันท์ในเวลาเดียวกัน ในแง่นี้นอกจากจะต้องใส่ใจกับมาตรฐานรูปธรรมเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแล้ว ยังจำต้องคำนึงถึงงานสมานฉันท์ในสังคมไทยในฐานะความพยายามแก้ปัญหาระดับโครงสร้างของสังคมเช่นปัญหาการปรับปรุงปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และยังเป็นกระบวนการที่ทำหน้าที่ให้การศึกษาสังคมโดยรวม เช่นหาวิธีส่งเสริมให้สาธารณชนยอมรับความเป็นจริงว่า ความหลากหลายทางวัฒนธรรมเป็นข้อด้อยแต่เป็นพลังสร้างความเข้มแข็งในสังคมไทย กล้าจินตนาการถึงอนาคตของความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและชุมชนรวมทั้งความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชน


 


ด้วยคุณลักษณ์เช่นนี้กระบวนการสร้างสมานฉันท์ในสังคมไทย จึงแตกต่างจากการทำงานของคณะกรรมการ "สัจจะ" ในที่อื่นๆ และเป็นยิ่งกว่าการแก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กำลังปรากฏ เพราะเป็นการพยายามใช้แนวทางสันติวิธีสร้างชุมชนทางการเมืองที่พึงประสงค์ เข้มแข็งมั่นคง ชนิดที่ทุกคนมีศักดิ์ศรี และอยู่ด้วยกันด้วยน้ำมิตรไมตรี


----------------------------------------------------------------------------


 


ข่าวประกอบ


 











เปิดร่างกอส.ตอนที่ 5 : สมานฉันท์ที่ยั่งยืน














เปิดร่าง กอส. ตอนที่ 4 : ยุทธศาสตร์พระราชทานกับแนวคิดสมานฉันท์
เปิดร่าง กอส.ตอนที่ 3 : แนวโน้มความรุนแรง
เปิดร่างรายงาน กอส. ตอนที่ 2 : "ชาติพันธุ์และศาสนา" ข้ออ้างจุดไฟใต้
เปิดร่างรายงาน กอส. (ตอนที่ 1) : จินตนาการเพื่อสมานฉันท์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net