Skip to main content
sharethis



 


กิ่งอ้อ เล่าฮง, ช่อผกา บัวแก้ว
ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

"แม่บอกว่าอย่าร้องให้ แม่อยู่สบายแล้วตรงนี้"น้ำเสียงแปร่งๆของ กูฟารีซา ลอเซ็ง เด็กหญิงวัย 8 ขวบ หลุดออกมาอย่างยากลำบาก เมื่อเล่าย้อนเหตุการณ์วันที่ไปเยี่ยมแม่ที่โรงเรียนพลตำรวจภูธร 9 ที่ จ.ยะลา หลังจากที่พ่อ "กูซา ลอเซ็ง"และแม่ "ต่วนมีเมาะ นิกาจิ"ได้ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีก่อความไม่สงบตั้งแต่เกิดเหตุที่หมู่ 7 บ้านตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส

เป็นเวลาเกือบเดือนหนึ่งแล้วที่เด็กหญิงและพี่น้องๆอีก 5 คนต้องอยู่กันตามลำพัง แม้ว่าเด็กๆจะมีโอกาสตามเพื่อนบ้านไปเยี่ยมพ่อและแม่ ณ ที่ถูกคุมขังบ้าง แต่ก็ลำบากยิ่งนักเพราะพ่อและแม่ถูกฝากขังอยู่คนละเขตพื้นที่ทุกครั้งที่มีโอกาสไปเยี่ยมแม่ที่โรงเรียนตำรวจยะลา นั่นหมายถึงว่าการไปพบพ่อในเรือนจำเป็นเรื่องที่ไกลเกินฝันสำหรับเด็กๆอย่างพวกเธอ

"ตอนที่ตำรวจจับพ่อขึ้นรถ หนูเห็นแต่ไม่กล้าวิ่งเข้าไปหาพ่อ หนูกลัว"เด็กหญิงพูดประโยคสั้นๆ แต่แววตาอ้างว้างสองดวงนั้นกลับคลอไปด้วยน้ำตาเต็มเบ้า ทำให้ผู้มาเยือนหลายๆคนถึงกับต้องหันหน้าเบือนหนี

เสียงใครคนหนึ่งถามเด็กหญิงว่า "หนูเชื่อมั๊ยคะว่า พ่อกับแม่เป็นผู้บริสุทธิ์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์"

เด็กหญิงส่ายหน้าปฏิเสธและตอบด้วยประโยคสั้นๆว่า "ไม่รู้"

ขณะที่เพื่อนบ้านซึ่งร่วมวงสนทนาอยู่ด้วย เล่าว่า ในวันเกิดเหตุพ่อและแม่ของกูฟาซารีอยู่ในบ้าน ทั้งคู่พูดภาษาไทยไม่ได้ ส่วนสาเหตุที่ทำให้ถูกเพ่งเล็งจากเจ้าหน้าที่เพียงเพราะว่าบ้านของครอบครัวนี้ตั้งอยู่ตรงข้ามกับศาลาที่ควบคุม 2 นาวิกโยธิน ประกอบกับการตรวจค้นได้พบ "สะตอดอง"และ "ผลไม้"จำนวนมากที่ได้จากการแบ่งครึ่งกับเจ้าของสวนที่มาจ้างลิงของกูฟารีซาไปเก็บ จึงทำให้เจ้าหน้าที่เข้าใจว่า สะตอดองและผลไม้ คือ อาหารที่เตรียมไว้ให้กับผู้ร่วมชุมนุม

"มีเพื่อนบ้านมาบอกว่า แม่จะถูกปล่อยออกมาวันนี้ หนูรอแม่อยู่ แต่ตอนนี้แม่ยังมาไม่ถึงเลย"กูฟาซารี บอกพร้อมทอดสายตามองตรงไปที่ถนนทางเข้าหมู่บ้าน

กูอินดรา ต่วนสะมะแอ เด็กชายวัย 6 ขวบ หน้าตาน่ารัก จะบอกกับ " ตือกูซีรัง"ผู้เป็นพ่อแทบทุกครั้งเมื่อรู้ว่าจะเดินทางไปเยี่ยมแม่ที่เรือนจำ จ.นราธิวาส เป็นภาษามลายูว่า "ฮารีอีนี เตาะเซกีแตเงาะมิงแดะ ซือบะกี มิงตีเยาะเซาะมอ" หรือ "อะป๊ะ วันนี้หนูไม่ไปหาแม่นะ ไปแล้วแม่ร้องให้ หนูไม่อยากเห็นแม่ร้องให้เลย"

นิเม๊าะ ตีงี วัย 28 ปี แม่ของเด็กชายถูกเจ้าหน้าที่จับกุมในข้อหาเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดกับผู้ก่อความไม่สงบ หลังจากถูกซัดถอดว่าเป็นผู้นำผ้าไปแจกให้กับกลุ่มผู้ร่วมชุมนุมในวันนั้น ทั้งๆที่ "ตือกูซีรัง"สามีซึ่งป็นวิทยากรอิสลามศึกษาตันหยงลิมอ ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า ครอบครัวของเขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุร้ายที่เกิดขึ้นเลย แม้ว่าจะให้ "เศษผ้า"กับกลุ่มวัยรุ่นในหมู่บ้านที่เข้ามาขอในคืนนั้นก็ตาม

"ตอนเที่ยงคืน เด็กวัยรุ่นในหมู่บ้าน เข้ามาร้องเรียกขอเศษผ้า ภรรยาของผมก็ให้ไป 3-4 ชิ้น แต่เขาจะเอาไปฉีกแจกันหรือเปล่า ไม่ทราบนะ ไม่ได้สนใจอะไร ผมเข้าใจว่า ที่เขามาขอเพราะว่าใครๆก็ทราบว่า ที่บ้านผมมีอาชีพตัดเสื้อผ้า คือ ตอนกลางวันก็ไปรับจ้างทำอาหารให้โรงเรียน ตอนเย็นก็ทำลูกชิ้นเกี๊ยวขาย แล้วก็ตัดผ้า กรีดยาง ซึ่งข้อหาที่แฟนผมโดนก็คนละเรื่องกันเลย ดูในสำนวนเจ้าหน้าที่บอกว่า แฟนเอาผ้าไปแจกเป็นกระสอบๆ มันเป็นไปได้ยังไง แถมยังบอกอีกว่า ผ้าจากบ้านผมนี่แหละที่ใช้ผูกมือทหาร 2 คนนั้น มันไม่ใช่เลยนะ" ตือกูซีรัง กล่าว

เป็นเวลากว่า 20 วันแล้วที่นิเม๊าะ เข้ามอบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหลังจากพบว่าตนเองมีรายชื่ออยู่ในบัญชีผู้ก่อความไม่สงบ ทุกครั้งที่สามีและลูกไปเยี่ยม มิเม๊าะมักจะบอกครอบครัวของเธอว่าไม่ต้องเป็นห่วงและอีกไม่นานคงจะได้กลับบ้าน แต่ในวันนี้ทุกสิ่งเหมือนจะเลือนรางลงทุกขณะเพราะเธอไม่ใช่ผู้ต้องสงสัยอีกต่อไปแล้ว หากได้ตกเป็นผู้ต้องหาโดยสมบูรณ์แบบแล้ว และแม้ว่าทางสภาทนายมุสลิมจะส่ง อ๊ะ เจ๊บราเฮง ทนายอาสามุสลิมมาช่วย แต่นั่นก็เป็นเพียงการช่วยเหลือในเบื้องต้นที่ครอบครัวต่วนสะมะแอได้รับเท่านั้น ทุกวันนื้สิ่งที่"ตือกูซีรัง"
ทำได้คือ การเฝ้ารอ

"ผมไม่โกรธแค้นใคร ทุกครั้งที่ผมไปเยี่ยมภรรยา เขามักจะร้องให้ อย่างวันนี้เขาก็บอกว่า ผู้คุมดุ ไม่ได้อาบน้ำเลย ผมก็บอกเขาว่า ให้อดทน คนเราก็มีทั้งดีและไม่ดี ...วันนั้นพอมีข่าวว่า 12 คนในหมู่บ้านที่ถูกจับจะถูกปล่อยออกมา คนในหมู่บ้านก็ไปรับกันนะ พอไปถึงมันไม่ใช่ เขาพากันเดินร้องให้ออกมาแล้วบอกว่า พวกเขาตกเป็นผู้ต้องหาแล้ว มันพูดไม่ออกนะ"เขาเล่า

ก่อนจะบอกว่า สิ่งที่ครอบครัวเสียดายมากที่สุด หลังจากผ่านพ้นเทศกาลเดือนรอมฎอนแล้ว คือ การได้อยู่ร่วมกันของทุกคนในครอบครัวอย่างพร้อมเพรียงในวันฮารีรายอ ซึ่งในศาสนาอิสลามถือว่าเป็นวันสำคัญในรอบหนึ่งปี แต่ปีนี้ถือเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจของครอบครัว เพราะนิเม๊าะต้องไปฉลองฮารีรายอยู่ในเรือนจำพร้อมคนอื่นๆ

"ผมบอกกับภรรยาว่า อย่าไปโกรธแค้นใครเลย ทุกสิ่งถูกกำหนดมาแล้ว ถ้าประสงค์ของพระเจ้าต้องการให้เราเป็นอย่างนี้ เราก็ต้องยอมรับ เราจะใช้อารมณ์ไม่ได้ อัลเลาะห์ไม่ประสงค์ให้เป็นอย่างนั้น" พ่อของกูอินดรา บอกพร้อมกับดึงลูกชายเข้ามากอดแนบอก

แมะแย นิและ หญิงชราวัย 62 ปี เจ้าของร้านน้ำชาที่ถูกกราดยิง ขณะนี้ "ซุลกิฟลี"ลูกชายของแกยังถูกกุมขังอยู่ที่เรือนจำ จ.นราธิวาส

และตั้งแต่เหตุร้ายเกิดขึ้นยายแมะแย บอกว่าไม่เคยนอนหลับ ทุกค่ำคืนมักจะหวาดผวากับเสียงที่เกิดขึ้น ทุกวันนี้แม้วัยจะล่วงเลยมาถึง 62 ปีแล้ว แต่ก็ยังต้องออกไปกรีดยางที่สวนทุกๆหัวรุ่งหลังจากละหมาดเสร็จ

"เมื่อก่อนรายได้จากร้านน้ำชา ก็จะมาใช้เป็นค่ากับข้าวสำหรับทุกคนในครอบครัว ส่วนรายได้จากการกรีดยางที่ได้วันละ 60 บาท ก็จะส่งให้ลูกสาวที่ยังเรียนหนังสืออยู่ที่ยะลา แต่พอร้านน้ำชาปิดตัวลง เงินส่วนหนึ่งที่ได้จากการกรีดยางก็ต้องถูกเจียดมาเป็นค่าใช้จ่ายในบ้าน"ยายแมะแย เล่าผ่านล่าม

ยายแมะแย มีลูก 6 คน แต่มี 2 คนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ คือ "ซูไลมาน" ซึ่งเป็นหนึ่งในเหยื่อคมกระสุนปืนจากการกราดยิงร้านน้ำชา ขณะที่อีก "ซุลกิฟลี"ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีฆ่า 2 นายทหารนาวิกโยธิน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยายรู้สึกว่ารับไม่ได้ เนื่องจากในวันเกิดเหตุลูกชายคนโตได้นำน้องชายซึ่งถูกยิงไปส่งที่โรงพยาบาลระแงะ แต่พอกลับมาถึงบ้านตอนประมาณเที่ยงคืนก็ถูกจับ

"ยังกลัวอยู่ ไม่รู้เหมือนกันว่ากลัวอะไร แต่ก็ต้องอดทน คิดว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นพระเจ้ากำหนดมาแล้ว ยายเชื่อว่า ทุกอย่างคงจะดีขึ้น" ยายแมะแย พูดด้วยสีหน้าวิตกกังวล

เสียงอาซานช่วงละหมาดอัศรีสิ้นสุดลงแล้ว ดวงตะวันก็คล้อยต่ำลงเรื่อยๆบรรยากาศในหมู่บ้านตันหยงลิมอยังคงเงียบเหงาเหมือนกับช่วงผ่านๆมา ต่างเพียงว่า วันนี้หน้าหมู่บ้านยังมีคนในครอบครัวนิกาจิ สาและ และสะนินั่งจับกลุ่มสนทนากับเงียบๆ ขณะที่สายตาก็ชะเง้อมองหาคนที่จะถูกส่งกลับคืนหลังจากได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่าพวกเขาจะมาถึงบ้านพร้อมๆกันในวันนี้

"แมะเกอและเดอะ" น้ำเสียงกูฟารีซาเอ่ยขึ้นด้วยความดีใจ พร้อมๆกับวิ่งเข้าไปสวมกอดแม่และน้องชายวัยสองขวบด้วยความคิดถึง ขณะที่คนอื่นๆต่างก็วิ่งเข้าหาญาติของตัวเองด้วยความดีใจเช่นกัน ในคืนค่ำวันนั้นครอบครัวของผู้ที่ได้บุคคลอันเป็นที่รักกลับคืนเรือน คงได้ร่วมละศีลและกินข้าวร่วมกันอย่างมีความสุข แต่อีกหลายๆ ครอบครัวยังอาจจะต้องระทมทุกข์กับการพลัดพรากไปอีกช่วงเวลาหนึ่ง จนกว่ากระบวนการยุติธรรมจะมาถึง

"บอกตัวเองต้องอดทนเอาไว้ เราจะไม่กล่าวโทษใคร เพราะทุกสิ่งอัลเลาะห์ได้กำหนดไว้แล้ว"น้ำเสียงใครคนหนึ่งรำพันออกมาเบาๆหลังจากเห็นรอยยิ้มของเพื่อนที่ได้กลับคืนสู่อ้อมกอดของหมู่บ้านอีกครั้งหนึ่ง

ล้อมกรอบ
"ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน"

พ.ญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา คณะอนุกรรมการโครงการดูแลเยียวผู้ได้รับผลกระทบจิตใจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (กยต.) กล่าวว่า ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบและสูญเสียจากการเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัด มีจำนวนมากว่า 1,200 ครอบครัว และคาดว่ายังมีมากกว่านี้ แต่กยต.ไปเยี่ยมได้เพียง 600 กว่าครอบครัวเท่านั้น เพราะเราเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ ครอบครัวหนึ่งไม่ได้ไปครั้งเดียวแต่ไป 3-4 ครั้งขึ้นไป ที่ผ่านการช่วยเหลือของรัฐจะเน้นทางด้านวัตถุ เช่น การให้เงินชดเชย ทุนการศึกษา แต่ขาดการดูแลเรื่องจิตใจ

"ในฐานะที่เป็นกยต.และเป็นผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ดูแลพื้นที่ 3 จังหวัดก็จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลให้มากขึ้นโดยจะเน้นในกลุ่มเด็กกำพร้า เด็กวัยรุ่นที่มีปัญหา รวมทั้งหัวหน้าครอบครัวที่เสียชีวิต อย่างที่ตันหยงลิมอ ยอมรับว่า ชาวบ้านยังมีความหวาดกลัว ครอบครัวอัลซูวัลย์ แม่ยังมีอาการซึมเศร้า เราก็จะจัดจิตแพทย์ให้เข้ามาเยี่ยมบ่อยๆ บางทีการพูดคุยจากเพื่อนบ้าน ความเห็นอกเห็นใจก็ช่วยเขาได้มาก"พ.ญ.เพชรดาว กล่าว

พ.ญ.เพชรดาว ยังกล่าวอีกว่า ชาวบ้านบอกมาว่า ทุกคนที่เข้ามาล้วนต้องการข้อมูลทั้งนั้น แม้กระทั่งสื่อมวลชน ซึ่งมาแล้วก็ไปหลังจากได้ข้อมูล แต่ไม่เคยหันกลับมามองว่าชาวบ้านต้องการอะไร อยากให้รัฐหรือใครก็ตามที่เข้ามามีโอกาสได้สอบถามความรู้สึก สารทุกข์สุกดิบ หรือมีของติดไม้ติดมือมาฝากชาวบ้านบ้าง ไม่ใช่จะมาหวังข้อมูลจากชาวบ้านอย่างเดียว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net