Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 8 มิ.ย.48 "ตามวิถีของเกษตรกร ไม่ว่าจะไปไหนก็เอาพันธุ์เขามา และให้พันธุ์ของเราไป แลกเปลี่ยนพันธุ์กันเป็นเรื่องปกติ ดูง่ายๆ ว่าจากเมื่อก่อนที่ประเทศเราไม่เคยมีพริกก็มีพริกกินมาจนทุกวันนี้ เรื่องสิทธิบัตรที่กำลังจะเข้ามาพร้อมเอฟทีเอจึงเป็นเรื่องที่เข้าใจไม่ได้สำหรับเกษตรกร" นายอุบล อยู่หว้า จากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกกล่าวในการเสวนา "ชะตากรรมข้าวหอมมะลิไทย ภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐ"

การเสวนาดังกล่าวมีตัวแทนจากหลายภาคส่วนทั้งเกษตรกร องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรอิสระ และหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตร กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับข้าวหอมมะลิ ซึ่งเป็นหนึ่งในพืชหลักของไทยจากการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างไทยกับสหรัฐที่กำลังจะมีการเจรจากันเป็นครั้งที่ 4 ที่สหรัฐอเมริกาในเดือนกรกฎาคมนี้

ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ตั้งข้อสังเกตว่า ทรัพยากรหลักของแต่ละประเทศกลายเป็นประเด็นในข้อตกลงระหว่างประเทศทุกระดับ เนื่องจากเป็นทรัพยากรที่เกี่ยวพันกับอาหารและยา ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นอยู่ตลอดเวลา และหากผูกขาดได้จะผูกขาดโครงสร้างของทั้งประเทศ

"สังเกตดูญี่ปุ่น เขาไม่เคยปล่อยเรื่องข้าว แตะต้องไม่ได้เลย ไม่ว่าประเทศจะไปไกลแค่ไหน ก็ไม่เคยคิดจะหยุดปลูกข้าว เพราะวันหนึ่งคนอาจหยุดใช้รถยนต์ แต่คงไม่หยุดกิน มันเป็นความมั่นคงทางอาหารที่ประเทศเขาตระหนักอย่างมาก" ดร.เจษฎ์กล่าว

ดร.เจษฎ์ยืนยันว่า ระบบทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นเรื่องหลักในการทำเอฟทีเอของสหรัฐกับทุกประเทศ ถือเป็นเครื่องมือในการล่าอาณานิคมยุคใหม่ของสหรัฐ โดยที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยมีจุดยืนที่ชัดเจนในเรื่องนี้ เพราะเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาไม่ใช่พื้นฐานของสังคมตะวันออก แต่มีจุดเริ่มต้นและถูกผลักดันโดยตะวันตก ในกรณีของสหรัฐนั้นยกเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเป็นวาระแห่งชาติมาถึง 300 ปี จึงมีเรื่องนี้ปรากฏในรัฐธรรมนูญและหลอมอยู่ในความคิด ความเข้าใจของประชาชน ในขณะที่ประเทศไทยยังมีบุคลากรในด้านนี้น้อยมาก และมีแนวโน้มถูกครอบงำจากการตัดสินใจของฝ่ายการเมือง

นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผอ.โครงการยุทธศาสตร์นโยบายฐานทรัพยากร คณะกรรมกาสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ในการเจรจารอบหน้ากำหนดไว้ 6 วันจะเป็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเสีย 4 วัน จึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องมีการร่วมหารือกันกำหนดท่าทีของประเทศไทย เพราะเรื่องนี้ รวมถึงเรื่องการเปิดตลาดสินค้าเกษตร ทรัพย์สินทางปัญญา สินค้าดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) และเรื่องสิ่งแวดล้อมจะกระทบโดยตรงกับภาคเกษตรกรรม

นายบัณฑูรชี้แจงในประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาว่า สหรัฐต้องการให้ประเทศคู่เจรจาขยายผลการคุ้มครองสิทธิบัตรให้ครอบคลุมสิ่งมีชีวิตทุกประเภททั้งพืช สัตว์ จุลินทรีย์ รวมทั้งต้องการให้คู่เจรจาเป็นภาคีอนุสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (อนุสัญญายูปอฟ) ซึ่งใกล้เคียงกับระบบกฎหมายสิทธิบัตรมาก ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถทำตามกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชพ.ศ.2542 ของตนเอง ซึ่งให้ความคุ้มครองพันธุ์พืชป่า และพันธุ์พืชพื้นเมือง รวมทั้งมีข้อกำหนดในเรื่องการเข้าถึงและการแบ่งปันผลประโยชน์ให้แก่ชุมชนด้วย ไม่ได้เน้นการคุ้มครองนักประดิษฐ์หรือนักลงทุนเป็นหลักเหมือนกฎหมายสิทธิบัตร

ขณะที่ตัวแทนพ่อค้าข้าวนายวัลลภ พิชญ์พงศา จากบริษัทนครหลวงค้าข้าว ระบุว่า การทำเอฟทีเอกับสหรัฐ ไม่ส่งผลต่อการขยายตัวในการส่งออกข้าวหอมมะลิไปยังสหรัฐมากนัก เพราะปัจจุบันภาษีนำเข้าข้าวของสหรัฐไม่เกิน 5% ซึ่งต่ำมากอยู่แล้ว และปกติประเทศไทยก็มีส่วนแบ่งตลาดสหรัฐสูง โดยสหรัฐนำเข้าข้าวหอมมะลิไทยระหว่างปี 2545-2547 เฉลี่ย 55-60% แต่อุปสรรคใหญ่แท้จริงคือการอุดหนุนภาคเกษตรของสหรัฐ ที่บิดเบือนราคาตลาดมาโดยตลอด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net