Skip to main content
sharethis

ประชาไท -- 12 พ.ค. 48 "จำกัดตัดสิทธิประชาชนบ้างคงได้ แต่ต้องอยู่ในขอบเขตของรัฐธรรมนูญที่ยอมให้จำกัดตัดสิทธิบางอย่างในกรณีที่มีสถานการณ์ความรุนแรงต่อความมั่นคง ฉะนั้น อาจจะล่วงล้ำกล้ำเกินบ้างแต่อย่าให้เกิดสมควร และต้องมีหลักประกันประชาชนให้มาก"

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวพร้อมเปิดเผยถึงกฎหมายฉบับฉบับใหม่ซึ่งบัญญัติขึ้นใช้แทนกฎอัยการศึก ว่ามีบทบัญญัติเกี่ยวกับการลิดรอนเสรีภาพของประชาชนน้อยกว่ากฎอัยการศึก โดยระบุว่านอกจากประกาศใช้กฎหมายแล้ว ยังต้องมีคณะกรรมการพลเรือนบริหารในสถานการณ์เป็นกรณี ๆ ไปด้วย

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารสถานการณ์อาจจะตั้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หรือรองนายกรัฐมนตรีสักหนึ่งคนเป็นประธาน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นรองประธาน

กรรมการอาจประกอบไปด้วย ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้บัญชาการการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ร่วมเป็นกรรมการและเลขานุการ

ทั้งนี้ กรรมการชุดดังกล่าวจะเกิดขึ้นเฉพาะเวลาที่มีสถานการณ์ฉุกเฉินเท่านั้น โดยจะมีอำนาจหน้าที่กำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อใช้ในกรณีที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินพร้อมเสนอคำแนะนำในการใช้อำนาจหน้าที่ต่างๆ ต่อนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการชุดนี้จะเกิดขึ้นเฉพาะเวลาที่มีการประกาศสถานการณ์พิเศษ

นายวิษณุ กล่าวว่า กฎหมายฉบับใหม่ที่จะใช้กับสถานการณ์ฉุกเฉินแทนกฎอัยการศึกนั้น กำลังอยู่ระหว่างการตั้งชื่อ คาดว่าไม่น่าใช้เวลาเกิน 7 วัน

สำหรับสถานะของกฎหมายฉบับใหม่ซึ่งอาจจะซ้ำซ้อนกับพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถาน การณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2495 นายวิษณุกล่าวว่า เมื่อกฎหมายฉบับใหม่ออกมาก็จะต้องยกเลิก พ.ร.บ.ฯ ปี 2495 โดยระบุว่า กฎหมายฉบับใหม่ไม่ได้ให้อำนาจทหารแต่ให้อำนาจพลเรือน ต่างจากกฎอัยการศึกที่ใช้อำนาจทหารนำอำนาจพลเรือน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net