Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ -3 พ.ค.48 ส.ว.เชียงราย ชี้ช่องอนุรักษ์พันธุ์ปลาบึกแม่น้ำโขงให้สมดุลและยั่งยืน ต้องแก้นระเบียบอาญาบัตรของกรมประมง ด้านคนเชียงรายย้ำต้องให้ชาวบ้าน ตัวแทนชมรมปลาบึกเข้าไปมีส่วนร่วม เพื่อหาทางออกร่วมกัน

"คงจะต้องมีการนำเรื่องนี้เข้าประชุมในคณะกรรมาธิการวุฒิสภาว่า ควรจะมีการปรับแก้นโยบายในเรื่องดังกล่าวนี้อย่างไร โดยเฉพาะในเรื่องของอาญาบัตร ที่มุ่งเพียงเรื่องวิจัยการผสมเทียมปลาบึกอย่างเดียว แต่ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องการอนุรักษ์พันธุ์ปลาบึกและปลาทุกชนิดในแม่น้ำโขงให้มีความสอดคล้องและยั่งยืนอย่างไร รวมทั้งไม่ได้มองถึงเรื่องวัฒนธรรมประเพณีการจับปลาบึก ว่าชาวบ้าน ชุมชนเขายึดวิถีนั้นมานานหลายชั่วอายุคนแล้ว" นางเตือนใจ ดีเทศน์ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเชียงรายกล่าว

ที่ผ่านมาชาวบ้านชมรมปลาบึก และกลุ่มรักษ์เชียงของ ได้รื้อฟื้นโครงการรักษ์ปลาบึก-รักษ์แม่น้ำโขงขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อหาแนวร่วมในการระดมทุนเพื่อจัดตั้งกองทุนซื้อชีวิตปลาบึกที่จับได้ ทำการวิจัยการผสมเทียมก่อนปล่อยลงสู่แม่น้ำโขง โดยนางเตือนใจได้ประสานงานกับทางกรมประมงเพื่อขออนุญาต แต่ทางกรมประมงบอกว่า ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากในกฎกระทรวงนั้นไม่ได้ระบุเอาไว้ว่า ห้ามมีการจับปลาบึกในช่วงฤดูวางไข่ อีกทั้งยังระเบียบเกี่ยวกับกฎอาญาบัตร

นางเตือนใจ กล่าวว่า ปัญหาเรื่องการอนุรักษ์ปลาบึกในแม่น้ำโขง ไม่ใช่เป็นปัญหาเฉพาะท้อง
ถิ่น แต่เป็นปัญหาในเชิงนโยบาย ไม่ว่าในเรื่องการจัดการที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่ผ่านมาชาวบ้าน ชมรมปลาบึกและประมงจังหวัดเชียงราย ต่างก็ประสานงานร่วมกันมาโดยตลอด แต่ติดขัดในเชิงนโยบาย

นอกจากนั้นจะทำอย่างไรที่จะก่อให้เกิดความร่วมมือทั้งภาคประชาชนและภาครัฐของ 6 ประเทศ เพื่อร่วมกันใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน โดยศึกษาองค์ความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศ พันธุ์ปลา พันธุ์พืช อันเป็นฐานความมั่นคงในชีวิตของประชาชน 60 ล้านคน 100 ชนชาติ โดยชูประเด็นการอนุรักษ์ปลาบึก ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดของโลก มีแห่งเดียวที่แม่น้ำโขง และมีสถิติการจับได้เพียงแห่งเดียวในโลกที่อำเภอเชียงของ

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของกล่าวว่า ไม่หนักใจเรื่องการระดมทุนในการจัดตั้งกองทุนซื้อชีวิตปลาบึก แต่เรื่องใหญ่คือ ทำอย่างไร จึงจะสามารถทำการอนุรักษ์พันธุ์ปลาบึก รวม ทั้งปลาพันธุ์อื่นๆ รวมทั้งพรรณพืชท้องถิ่นที่อยู่ในแม่น้ำโขงมากมายหลายพันชนิด ให้ระบบนิเวศเหล่านี้คงอยู่อย่างยั่งยืนมากกว่า

"หากรัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องนี้ มีการแก้ไขในเรื่องนโยบาย โดยเฉพาะอาญาบัตรที่ควรมีการปรับเปลี่ยนกันใหม่ รวมทั้งขอให้นำเอางานวิจัยจาวบ้านเรื่องพันธุ์ปลาแม่น้ำโขงมาศึกษา ก็จะเป็นประโยชน์ต่อคนท้องถิ่นอย่างมาก" นายนิวัฒน์ กล่าว

นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า ชาวบ้านมีข้อเสนอว่า ในการแก้ปัญหาดังกล่าว ขอให้มีตัวแทนชาวบ้าน ตัวแทนชมรมปลาบึกเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายด้วย เพราะมองเห็นปัญหาเหล่านั้นได้ดีและเชื่อว่าทุกอย่างน่าจะดีขึ้น

ทั้งนี้ นายเขมชาติ จิวประสาท ประมงจังหวัดเชียงราย ได้เปิดเผยว่า ตอนนี้ข่าวออกมาสร้างความสับสนเป็นอย่างมาก ในส่วนของซึ่งอยากขอร้องให้ทางกรมประมงได้ทำงานให้เสร็จภารกิจเสียก่อน หลังจากนั้น ค่อยมาสรุปหาวิธีการแก้ไขปัญหาร่วมกันในภายหลัง

องอาจ เดชา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net