Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 9 ธ.ค. 2549 กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย ออกแถลงการณ์ ลงวันที่ 4 ธันวาคมเรียกร้องให้มีการสืบสวนสอบสวนว่า ชิ้นส่วนกระดูกนั้นหากไม่ใช่ของนายสมชาย นีละไพจิตรดังที่เป็นข่าว แล้วเป็นของผู้ใด เพื่อเป็นความหวังกรณีคนหายและสร้างความหวังให้กับญาติพี่น้องของบุคคลที่สูญหายรายอื่นๆ ทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่รัฐมุ่งหวังที่จะแก้ไขปัญหาการฆ่านอกระบบกฎหมาย การบังคับให้บุคคลสูญหาย และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวัน และจะเป็นการยอมรับว่ามีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นจริง


 


เรียกร้องให้ ดำเนินการสืบสวนสอบสวนและค้นหาตัวนายธเรศ สดศรี ผู้นำชาวบ้านในการปกป้องรักษาป่าในจังหวัดราชบุรี ซึ่งมีรายงานว่าเขาหายตัวไปจากบ้านเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม รวมทั้งตั้งข้อหาเอาผิดตามกฎหมาย และระบุว่าบุคคลใดมีส่วนร่วมในอาชญากรรมนี้บ้าง


 


สุดท้าย เรียกร้องให้รัฐบาลไทยลงนามในอนุสัญญาฉบับใหม่ขององค์การสหประชาชาติเรื่องการป้องกันคนหาย เพื่อหลังจากกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านนิติวิทยาศาสตร์จะได้รับอนุญาตให้ตรวจสอบสถานที่ที่เชื่อว่าเป็นที่ฝังทำลายผู้สูญหาย หรือการก่อตั้งศูนย์พิสูจน์บุคคลสูญหายที่เป็นอิสระ รวมทั้งอนุญาตให้ผู้แทนพิเศษขององค์การสหประชาชาติที่มีความชำนาญในเรื่องการตรวจสอบการฆ่านอกระบบกฎหมาย มาประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลมีความมุ่งมั่นในการยุติการฆ่านอกระบบกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารหรือเจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆ ให้หมดสิ้นไป


 


 


 .........................................


แถลงการณ์โดย กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (AHRC)


ประเทศไทย: ถ้าไม่ใช่กระดูกสมชาย เป็นกระดูกของใคร?


 


จากรายงานข่าวใน เว็บไซต์ของผู้จัดการเมื่อวันจันทร์ที่ 4 ธันวาคม แพทย์หญิงคุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้กล่าวว่า ดีเอ็นเอที่ตรวจจากชิ้นส่วนกระดูกที่ค้นได้จากสถานที่กำจัดขยะในเขตจังหวัดราชบุรี ทิศตะวันตกของกรุงเทพนั้น ไม่ใช่กระดูกของทนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความนักสิทธิมนุษยชนที่หายตัวไปโดยกระทำของตำรวจเมื่อเดือนมีนาคม 2547 อย่างไรก็ดี มีการรายงานว่ากระดูกนั้นเป็นชิ้นส่วนของกระดูกมนุษย์


 


ถ้าชิ้นกระดูกนั้นไม่ใช่ของทนายสมชาย แล้วเป็นของผู้ใด? มีครอบครัวของบุคคลที่สูญหายหลายรายได้รายงานตัวและต้องการที่จะตรวจพิสูจน์ว่าเป็นชิ้นส่วนกระดูกที่มีดีเอ็นเอตรงกับญาติของตัวเองที่หายไปหรือไม่ มีรายงานผลการตรวจสอบที่ตรงกับญาติที่ร้องเรียนมาบ้างหรือยัง และยังมีคำถามต่อว่าชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์นี้ไปอยู่ที่นั่นได้อย่างไร ใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบ


 


สถานที่ที่พบชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์นั้นมีหลายแห่งในประเทศไทย ซึ่งเชื่อได้ว่าเป็นสถานที่ที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่หน่วยงานรักษาความปลอดภัย หรือกลุ่มบุคคลที่ทำงานใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่เหล่านี้ใช้เป็นที่ทิ้งทำลายศพที่ถูกฆ่า สถานที่เหล่านี้พบอยู่ได้ในทุกจังหวัดจากอีสานถึงใต้สุดแดนถึงภาคตะวันตกของประเทศไทย ยังไม่มีใครทราบจำนวนคนหายไป


 


อย่างไรก็ตาม แพทย์หญิง คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ ได้รับข้อมูลว่ามีคนหายนับจำนวนได้กว่า 1,000 คนแต่ละปีจากการเก็บข้อมูลของหน่วยงานเดียว ซึ่งทำให้มีความพยายามในการจัดตั้งศูนย์พิสูจน์บุคคลสูญหาย ขึ้นในประเทศไทย โครงการนี้ได้รับการคัดค้านจากตำรวจและเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงยุติธรรม ความพยายามของแพทย์หญิงคุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ และบุคคลอื่นๆ ในการตรวจพิสูจน์ร่างบุคคลนิรนาม 400 ร่างในจังหวัดภาคใต้ก็ไม่ประสบผลเนื่องจากมีการกีดกันและขาดการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐ มากกว่าที่จะทำงานเพื่อการเปิดเผยความจริงให้ปรากฏ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย ได้รับจดหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสในขณะนั้น เมื่อเดือนสิงหาคม 2549 ซึ่ง ปฏิเสธว่ามีสุสานของศพนิรนามอยู่จริง


 


การพยายามปฏิเสธว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางในประเทศนั้น เกิดขึ้นอย่างเป็นปกติธรรมดา การหายตัวไปของทนายสมชายก็ถูกปฏิเสธว่า ไม่ใช่การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และต่อมาก็ปฏิเสธว่าไม่ใช่การกระทำของรัฐบาล และต่อมาก็ปฏิเสธว่า ไม่มีหลักฐานใดๆ เหลืออยู่ เพื่อค้นหาสิ่งลี้ลับนี้ หรือแม้แต่ปฏิเสธว่า ไม่มีสุสานศพไร้ญาติเป็นจำนวนร้อยๆ ศพในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ ปฏิเสธว่าศพไร้ญาติเหล่านี้ไม่ใช่คนไทย เป็นพม่าหรือบุคคลที่หลบหนีเข้าเมืองจากประเทศอื่นๆ แต่ต้องยอมรับว่าศพไร้ญาติจำนวนร้อย ๆ รายนี้ไม่ใช่สิ่งปกติธรรมดาที่จะเกิดขึ้นได้ในพื้นที่เล็กๆ พื้นที่เดียวอย่างที่เป็นอยู่


 


เรื่องคนหายยังเป็นปัญหาสำคัญสำหรับประเทศไทยที่แสดงภาพให้ชัดขึ้นเมื่อนักรณรงค์สิ่งแวดล้อมหนึ่งราย ชื่อนายธเรศ สดศรี ที่จังหวัดราชบุรี นายธเรศเป็นผู้นำชาวบ้านในการปกป้องรักษาป่าในจังหวัดราชบุรี มีรายงานว่าเขาได้หายตัวไปจากบ้านเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม มีรอยเลือดและกระสุนปืนตกอยู่ให้เห็นหน้าบ้าน สิ่งเหล่านี้เป็นหลักฐานอย่างดีในทางนิติวิทยาศาสตร์ที่จะเริ่มต้นการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมครั้งนี้


กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียของเรียกร้องร่วมกับญาติผู้เสียหายและชาวบ้านในชุมชน รวมทั้งรวมกับคณะทำงานปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนว่า ต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนและค้นหาตัวนักรณรงค์สิ่งแวดล้อมรายนี้ รวมทั้งตั้งข้อหาเอาผิดตามกฎหมาย รวมทั้งระบุว่าบุคคลใดมีส่วนร่วมในอาชญากรรมนี้บ้าง


 


กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย ขอเรียกร้องให้มีการสืบสวนสอบสวนว่า ชิ้นส่วนกระดูกนั้นเป็นของผู้ใด คำตอบที่ได้ก็จะเป็นความหวังของกรณีคนหายและสร้างความหวังให้กับญาติพี่น้องของบุคคลที่สูญหายรายอื่นๆ และเป็นการแสดงให้เห็นถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่มุ่งหวังที่จะแก้ไขปัญหาการฆ่านอกระบบกฎหมาย การบังคับให้บุคคลสูญหาย และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวัน และจะเป็นการยอมรับว่ามีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นจริงแทนการปฏิเสธ


 


กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยลงนามในอนุสัญญาฉบับใหม่ขององค์การสหประชาชาติเรื่องการป้องกันคนหาย และต่อไปกฎหมายฉบับนี้ก็จะมีผลบังคับใช้ อนุญาตให้ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านนิติวิทยาศาสตร์สามารถมาตรวจสอบสถานที่ที่เชื่อว่าเป็นที่ฝังทำลายผู้สูญหาย หรือการก่อตั้งศูนย์พิสูจน์บุคคลสูญหายที่เป็นอิสระ รวมทั้งอนุญาตให้ผู้แทนพิเศษขององค์การสหประชาชาติที่มีความชำนาญในเรื่องการตรวจสอบการฆ่านอกระบบกฎหมาย มาประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งเคยขออนุญาตเข้าประเทศไทยมาเป็นระยะเวลากว่าสองปีแล้ว ซึ่งน่าจะเป็นหนทางให้เห็นว่ารัฐบาลได้มีความมุ่งมั่นในการยุติการฆ่านอกระบบกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารหรือเจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆ ในประเทศไทยให้หมดสิ้นไป


 


………………


กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย หรือ AHRC เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนในระดับภูมิภาค ที่ทำงานด้านการตรวจสอบและรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชีย AHRC ก่อตั้งปี 2527 และมีสำนักงานอยู่ที่ฮ่องกง


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net