Skip to main content
sharethis

องอาจ เดชา : รายงาน


 


 


เพื่อเตือนความจำ โปรดอ่านอีกครั้ง


"เจริญ วัดอักษร" ได้ร่วมกับพี่น้องบ่อนอก-บ้านกรูด ต่อสู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จนรัฐต้องระงับโครงการดังกล่าว หลังจากนั้น เขาได้ร่วมกับชาวบ้านคัดค้านกลุ่มนายทุนที่ได้เข้ามาบุกรุกพื้นที่สาธารณะและการทำนากุ้ง กระทั่ง เขาถูกมือปืนเดินปรี่เข้าไปยิงอย่างโหดเหี้ยม เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2547 ตรงบริเวณทางแยกบ้านบ่อนอก ขณะลงจากรถบัสก่อนจะเดินเข้าไปในหมู่บ้าน


 


 "สมชาย นีละไพจิตร" ประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม และเป็นคณะกรรมการฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายสภาทนายความ เขาถูกอุ้มลักพาตัวหายไป ในวันที่ 12 มีนาคม 2547 ขณะที่กำลังเรียกร้องความยุติธรรมให้กับชาวบ้าน กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจทำการทารุณกรรมผู้ต้องสงสัยในคดีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ปล้นปืนจากกองพันทหารพัฒนา จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547


 


"พระสุพจน์ สุวโจ" พระนักพัฒนาแห่งสำนักปฏิบัติธรรมสวนเมตตาธรรม ได้ถูกคนร้ายฆาตกรรมจนมรณภาพอย่างโหดเหี้ยม ด้วยของมีคม มีบาดแผลฉกรรจ์กว่า 20 แผล ทั้งที่ ศีรษะ ใบหน้า ลำคอ มือ แขน และลำตัว ห่างจากกุฏิที่พักกว่า 300 เมตร ริมทางเดินซึ่งอยู่ห่างจากถนนระหว่างหมู่บ้าน ประมาณ 10 เมตร ในเขตสถานปฏิบัติธรรมสวนเมตตาธรรม บ้านห้วยงูใน ต.สันทราย อ.ฝาง จ.เชียงใหม่


เมื่อวันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน 2548 ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อกันว่าคดีดังกล่าว ต้องเป็นประเด็นเรื่องความขัดแย้งการแย่งชิงฐานทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำฝาง ระหว่างนายทุผู้มีอิทธิพล กับเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่


 


แต่จนถึงบัดนี้ คดีการฆาตกรรม-อุ้มฆ่าทั้ง 3 คดีนี้ ยังมิอาจหาข้อสรุปและชี้ชัดคลี่คลายคดีได้ และนี่คือบทสัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับคดีทั้งสาม บนความเคลือบแคลงสงสัยกับนโยบายของรัฐ กับระบบยุติธรรมของไทย!


 


 


พระกิตติศักดิ์ กิตฺติโสภโณ


ประธานกลุ่มเสขิยธรรม


 


"ถ้าหากกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือว่าฝ่ายรัฐ รับฟังแนวทาง หรือสมมติฐานของผู้เกี่ยวข้องก็ตามนักวิชาการก็ตาม หรือว่านักการเมืองที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รับรู้เรื่องการทำงานของพวกเราก็ตาม น่าจะมีความคืบหน้าไปมากกว่านี้ตั้งนานแล้ว"


 


ความคืบหน้าของคดีฆาตกรรมพระสุพจน์ สุวโจ ตอนนี้ไปถึงไหน?


ก็เรียกได้ว่า ยังไม่มีความคืบหน้า ไม่มีตัวผู้ต้องสงสัยชัดเจน ไม่มีการออกหมายจับหรือการจับกุมตัวผู้กระทำผิดหรือว่าการสืบสาวไปถึงผู้บงการ ซึ่งถือยังไม่มีความคืบหน้า แต่ถ้าหากว่าในแง่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษที่เป็นผู้รับผิดชอบ ตอนนี้ก็มีการปรับเปลี่ยนท่าที มีการพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้องมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยกับพระกิตติศักดิ์เอง หรือพ่อแม่ของพระสุพจน์ มีการประชุมร่วมกันระหว่างกรมสอบสวนคดีพิเศษกับอัยการกับสำนักคดีพิเศษ นิติวิทยาศาสตร์ หรือผู้อำนวยการฝ่ายต่างๆ ก็มีการประชุมกัน 2 ครั้งที่ผ่านมา แล้วก็กำลังจะนัดประชุมกันอีกครั้งหนึ่ง


 


แต่ถ้าดูในเนื้อหาสาระของการประชุมนั้น มันไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจน ว่าคดีนี้ได้มีความคืบหน้าในการหาตัวผู้กระทำผิด มันเป็นเพียงแต่การปรับเปลี่ยนท่าที ซึ่งการปรับเปลี่ยนนี้ จริงๆ แล้ว พวกเราผู้เกี่ยวข้องและเรียกร้องเรื่องพวกนี้มาตั้งแต่ต้นแล้วว่า ต้องให้มีผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วม ให้ผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบข้อมูลถึงความคืบหน้าต่างๆ เพียงพอ ถ้าไม่อย่างนั้น มันจะกลายเป็นเรื่องของการที่ต้องถกเถียงกันผ่านสื่อ ซึ่งเรียกง่ายๆ จะเป็นวิธีการที่เหมาะสมที่จะทำให้เกิดความจริงขึ้นมาเกี่ยวกับคดี


 


มาถึงตอนนี้ยังเชื่อมั่นว่าคดีพระสุพจน์ นั้นเป็นการฆาตกรรม?


ก็แน่นอนว่า พระสุพจน์นั้นถูกฆาตกรรม แล้วเป็นลักษณะของการฆาตกรรมอำพราง แต่เดิมเมื่อเราพูดถึงประเด็นนี้ขึ้นมา ก็ถูกคัดค้านจากตำรวจท้องที่ ถูกคัดค้านจากกรมสอบสวนคดีพิเศษในเบื้องต้น แล้วต่อมาก็มีท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้


 


จนถึงตอนนี้ในการประชุมครั้งหลังสุด ก็มีการพูดอย่างชัดเจนว่า คดีนี้เป็นคดีฆาตกรรมอำพราง และน่าจะมีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น่าจะเป็นผู้เกี่ยวข้องที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องของกระบวนการยุติธรรม พูดตรงๆ ก็คือว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับตำรวจท้องที่ และน่าจะเกี่ยวข้องกับบุคคลแวดล้อมนักการเมืองระดับชาติ เหมือนอย่างสมมติฐานที่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้น


 


หมายความว่า 17 เดือนผ่านมา ความคืบหน้าของคดี ก็คือ ดีเอสไอได้ออกมายอมรับเท่านั้นเองหรือ?


ก็คือเท่ากับว่าเวลา 17 เดือนเต็มๆ หลังจากพระสุพจน์มรณภาพนี่ มันก็สูญเสียไปเพียงเพื่อว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษจะยอมรับสมมติฐาน เพราะฉะนั้นถามว่า เรามีความเชื่อมั่นต่อการทำงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษแค่ไหนอย่างไร ก็พูดได้ว่า ถ้าหากกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือว่าฝ่ายรัฐรับฟังแนวทาง หรือสมมติฐานของผู้เกี่ยวข้องก็ตามนักวิชาการก็ตาม หรือว่านักการเมืองที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รับรู้เรื่องการทำงานของพวกเราก็ตาม น่าจะมีความคืบหน้าไปมากกว่านี้ตั้งนานแล้ว


 


เพราะฉะนั้น มาถึงตอนนี้ มันเป็นเรื่องของความจำใจ เป็นเรื่องของความจำยอม ก็คือว่าพวกเราเคยคาดหวังว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษน่าจะอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นได้มากกว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถึงตอนนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างไรที่จะกดดันให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทำให้เกิดความถูกต้องขึ้นมาให้ได้ ก็เป็นเรื่องที่ ถึงแม้ว่าจะไม่เชื่อมั่นแต่ก็จำใจจะต้องเชื่อมั่นแล้วก็ต้องให้กำลังใจเขา


 


0 0 0 0 0


 


 


 


อังคณา นีละไพจิตร


ภรรยา นายสมชาย นีละไพจิตร


 


"ถ้ารัฐมีความจริงใจในการที่จะให้ความเป็นธรรมกับกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว รัฐจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการคุ้มครองพยาน เพื่อให้พยานมีความมั่นใจในความปลอดภัย ในการที่จะพูดความจริง"


 


ความคืบหน้าทางคดีทนายสมชาย ขณะนี้ไปถึงไหนแล้ว?


หลังจากที่ดิฉันได้ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงรักษาการณ์กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อชะลอการออกหมายจับผู้ร่วมกระทำความผิดในกรณีการหายตัวไปของคุณสมชาย เนื่องจากดิฉันเชื่อว่าไม่น่าจะมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะเอาผิดต่อผู้กระทำผิดในข้อหา " ฆ่า " ได้ เนื่องจากจนถึงปัจจุบันพยานหลักฐานแวดล้อม เช่นหลักฐานการใช้โทรศัพท์ที่ได้ส่งเป็นพยานเอกสารในศาลชั้นต้นที่ศาลเห็นว่าไม่น่าเชื่อถือ เพราะเป็นสำเนาเอกสารนั้น จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับคำยืนยันจากทาง DSI ว่าได้ทำให้ถูกต้องแล้วหรือยัง


 


หรือการหาพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ ต.ห้วยชินศรี จ.ราชบุรี ทาง DSI เองก็มิได้นำพยานทีรู้เห็นเหตุการณ์มาชี้จุดที่เชื่อว่าเป็นสถานที่ทำลายศพแต่อย่างใด และผลการตรวจสอบวัตถุพยานก็ยังไม่สามารถยืนยันการเสียชีวิตของคุณสมชายได้ ซึ่งถ้าออกหมายจับก็จะติดเงื่อนไขเรื่องเวลาในการที่จะต้องส่งฟ้อง และถ้ายังไม่สามารถหาพยานหลักฐานที่หนักแน่นได้ สุดท้ายก็จะเป็นการฟอกตัวให้แก่ผู้ที่เชื่อว่าน่าจะมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด


 


อย่างไรก็ดีทาง DSI ก็แจ้งให้ทราบว่าคดีมีความคืบหน้าไปมาก แต่ไม่ได้แจ้งว่าคืบหน้าไปอย่างไร และก็อย่างที่ทราบกันดีว่าเมืองไทยเรามีปัญหาเรื่องการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร


 


ที่ผ่านมา ดิฉันสิ่งที่ดิฉันพยายามร้องขอมาโดยตลอดคือ ขอความจริงใจในการคลี่คลายคดีนี้ ขอให้ผู้มีส่วนรับผิดชอบได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ แต่ก็พบปัญหาอุปสรรคมากมาย เพราะผู้เกี่ยวข้องล้วนเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และกรมสอบสวนคดีพิเศษเองส่วนใหญ่ก็เป็นตำรวจ ปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่พบคือ การคุ้มครองพยาน นอกจากตัวดิฉันเองที่ถูกคุกคามมาโดยตลอด พยานที่เห็นเหตุการณ์ส่วนใหญ่ก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน


 


ดิฉันจึงเห็นว่าถ้ารัฐมีความจริงใจในการที่จะให้ความเป็นธรรมกับกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว รัฐจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการคุ้มครองพยาน เพื่อให้พยานมีความมั่นใจในความปลอดภัย ในการที่จะพูดความจริง


 


เห็นว่าทางรัฐบาลนายกฯ สุรยุทธิ์ และ คมช.ออกมายืนยันจะเร่งคลี่คลายคดีนี้?


ทางรัฐบาลโดยท่านนายก และ คมช. ต่างยืนยันว่าจะต้องคลี่คลายคดีนี้ให้ได้ โดยท่านได้มอบหมายให้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และท่านปลัดกระทรวงฯ เป็นผู้รับผิดชอบดูแล ซึ่งในการที่ได้มีเข้าโอกาสเข้าพบท่านเหล่านี้ ดิฉันมิได้พูดเฉพาะกรณีของคุณสมชายคนเดียว แต่ยังกล่าวถึงกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกรณีพระสุพจน์ คุณเจริญ หรือกรณีอุ้มหายทั้งในภาคใต้ และในจังหวัดอื่นๆ และการสังหารนอกระบบกฎหมายอื่นๆอีก


 


กรณีพระสุพจน์ และคุณเจริญ นั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน และเป็นคดีพิเศษเหมือนกัน (อยู่ในความรับผิดชอบของ DSI ) ต้องบอกว่า เราสู้มาด้วยกัน ปัญหาที่พบไม่ต่างกัน ถ้าถามว่าทำไมคดีคุณสมชาย จึงนำมากล่าวถึงบ่อย ดิฉันมองว่า กรณีคุณสมชาย อาจเป็นสัญญาลักษณ์ของการต่อสู้ในเรื่องการ "อุ้มฆ่า - อุ้มหาย" ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมานาน แต่ไม่มีใครกล้าที่จะพูดถึง ถ้ากรณีคุณสมชายไม่สามารถเอาผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมายได้ ก็คงจะเป็นการยากที่จะสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม


 


แต่ถ้าสามารถคลี่คลายกรณีคุณสมชาย ก็จะสามารถเรียกความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมกระแสหลักให้กลับคืนมาได้ โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมชั้นต้น คือ พนักงานสอบสวน เพราะกรณีคุณสมชายเป็นการร่วมมือกันในการผลักดันอย่างหนักจากภาคประชาสังคมทั้งในและต่างประเทศ และเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่กระทำต่อประชาชน กรณีคุณสมชายจะเกี่ยวพันถึง การซ้อมทรมาน การอุ้มฆ่า และการสังหารนอกระบบกฎหมาย ดิฉันจึงมองว่า นี่เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ด้วยสันติวิธีของประชาชนค่ะ


 


มีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลสุรยุทธ์ และ คมช.มากน้อยเพียงใด?


ดิฉันในฐานะของผู้เสียหายและผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรม เราไม่มีทางเลือกที่จะเชื่อใคร หรือไม่เชื่อใคร แต่ไม่ว่าใครก็ตามที่เข้ามารับผิดชอบ เราจำเป็นต้องทวงถาม ต้องติดตามตรวจสอบ อีกทั้งยังต้องให้กำลังใจ และให้เวลาในการทำงาน โดยส่วนตัวดิฉันมองว่า ไม่ว่าจะเป็นท่านนายกฯ ท่าน รมต.ยุติธรรม หรือท่านปลัดฯจรัญ ท่านเหล่านี้เป็นคนดี มีใจเป็นธรรม เป็นที่เชื่อถือของประชาชนมานาน ดิฉันเชื่อว่ากรณีการอุ้มฆ่าคุณสมชาย จะทำให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมกระแสหลักค่ะ ซึ่งถือเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญในการต่อสู้ของดิฉันและภาคประชาชนทั่วไป


 


0 0 0 0 0


 


 


กรอุมา พงษ์น้อย


ภรรยา นายเจริญ วัดอักษร


 


"รู้สึกสิ้นหวังกับกระบวนการการทำงานของกลไกรัฐที่ผ่านมา...ซึ่งที่จริงแล้ว มันมีคดีชาวบ้านอีกหลายคดี ที่อยู่ในความรับผิดชอบของดีเอสไอ เช่น ประเภทถูกยิงกลางวันแล้วไม่ฟ้อง แต่อัยการสั่งให้ฟ้อง อะไรอย่างนี้ ไม่ได้อยากให้ความเป็นธรรมกับคดีเจริญอย่างเดียว อยากให้ความเป็นธรรมกับทั้งหมด"


           


 


มองระบบยุติธรรมในรัฐบาลสุรยุทธ์ กับคมช.ที่มีต่อคดีเจริญ วัดอักษร อย่างไรบ้าง?


จริงๆ ต้องย้อนกลับไปรัฐบาลเก่า(รัฐบาลชุด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี) ว่าสิ่งที่ผ่านมา รู้สึกสิ้นหวังกับกระบวนการการทำงานของกลไกรัฐที่ผ่านมา แต่ว่าจากสถานการณ์มันมีสภาวะใหม่ แล้วดูเหมือนว่า คมช. พยายามปรับเปลี่ยน โครงสร้างของกระทรวงยุติธรรม ตั้งแต่รัฐมนตรี ปลัดกระทรวงยุติธรรม รวมไปถึงหน่วยงานที่อยู่ในสังกัด เช่น ดีเอสไอ ซึ่งรับทำคดี ได้มีการเปลี่ยนตัวอธิบดี พวกเราก็คิดกันอยู่ว่า อยากจะเอาสิ่งที่ค้างคาใจในคดีของเจริญ คิดดูว่าจะไปนำเสนอในกระทรวงยุติธรรม ชุดนี้


 


จะไปเมื่อไหร่นั้นก็คงต้องปรึกษาหารือกันก่อน คาดว่าน่าจะไวๆ นี้ เพราะว่ามันมีหลายประเด็นที่ค้างคาอยู่ เช่นประเด็นแรก ดีเอสไอบอกว่าจะเป็นต้องส่งผู้ต้องหาทั้งหมดที่จับได้ ทั้งหมด 5 คน ตั้งแต่ชั้นตำรวจที่จับได้ จนถึงดีเอสไอที่จับเพิ่มได้คนหนึ่ง ขึ้นสู่ศาลเพราะว่าหมดอำนาจในการควบคุมตัว 84 วัน แต่ก็บอกกับเราว่ายังไม่ปิดคดี จะสืบสวนขนายผลต่อแต่ว่า นับตั้งแต่วันนั้นจึงถึงวันนี้คาดว่า 2 ปีเศษ แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีอะไรที่ปรากฏให้เห็น


 


หมายถึงครบ 84 วันตอนที่เขาส่งตัวผู้ต้องหาไปแล้ว ขึ้นสู่ศาล นับตั้งแต่นั้นมา 2 ปีกว่าแล้ว ที่บอกว่าปิดคดีนี่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆให้เราเห็นเลย


 


ประเด็นต่อมาที่ยังค้างคาใจในคดีของเจริญ คือ ในระหว่างที่ถูกยิง ที่เราติดตามอย่างละเอียดในช่วงต้น มือปืนรับสารภาพกับในชันสอบสวนของตำรวจ เช่น นายเสน่ห์ บอกว่า ลงมือยิงเจริญเสร็จก็โทร.หาลูกพี่ 3 ครั้ง ลูกพี่คือ สจ.มาโนช หินแก้ว ก็เป็นผู้ต้องหาในคดีนี้ด้วย ถูกตั้งข้อหาใช้จ้างวาน แต่ปรากฏว่าในชั้นตำรวจที่เราทราบมา ก็บอกกับเราว่า ไม่มีสัญญาณ หมายถึงว่าไปตรวจสอบเอกสาร การบันทึกสัญญาณการใช้โทรศัพท์ บอกว่าไม่พบ แต่จริงที่เรารู้มาคือมี แต่ไม่ถูกนำมาประกอบในคดี


 


เสร็จแล้วนี่ ในประเด็นตรงนี้เราก็นำเรื่องนี้ไปบอกกล่าวกับดีเอสไอ แต่ว่าดีเอสไอก็พยายามสร้างความน่าเชื่อถือว่า เขาเองก็ได้กระทำในประเด็นเหล่านี้แล้ว หมายถึงทำในสิ่งที่เราบอกกล่าวนี้แล้ว คือตรวจเช็คสัญญาณแล้วก็ไม่เจอเช่นกัน โดยการเอากระดาษที่เสมือนเป็นสัญญาที่เขาตรวจสอบมาได้ เอามาให้ทางเรา 1 ชุดแต่พอเรามานั่งดูในรายละเอียดจะเห็นว่ามันเป็นเอกสารที่ ทีแรกเข้าใจว่ามันเป็น 2 ชุด แต่พอมาเทียบกันแล้วมันมีความเหมือนความต่างอะไรที่เราดูแล้วก็เลยมีความเห็นว่า มันเป็นสัญญาณที่ถูกตกแต่ง


 


ไม่เชื่อว่าเอกสารชุดนั้นเป็นของจริง?


มันไม่ใช่ของจริงอยู่แล้ว เพราะเขาคือเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ บอกกับเราว่า อันนี้ไม่ใช่สัญญาณอย่างเป็นทางการ ถ้าเป็นทางการต้องขอเป็นเดือน ซึ่งประเด็นนี้ ขอเป็นเดือนอันนี้ก็คือโกหากอยู่แล้ว เพราะโดยอำนาจหน้าที่ของเขา สัญญาณโทรศัพท์ตัวนี้เขาสามารถขอเช้าก็ได้เลย ขอเย็นก็ได้เลย คือโดยอำนาจหน้าที่ของเขา เขาสามารถมีอำนาจขอได้ แต่ตอนเขานำเอกสารชุดนี้มาให้ เขาอ้างว่าไม่ใช่สัญญาณโทรศัพท์ที่เป็นทางการ ที่เป็นทางการต้องใช้เวลาขอเป็นเดือนถึงจะรู้ผล


 


เขาขอไปเมื่อไหร่?


ตั้งแต่ดีเอสไอรับคดีไปได้ประมาณไม่ถึงเดือน แล้วฉบับที่เป็นทางการสรุปแล้วก็ยังไม่รู้ว่าเขาขอหรือเปล่า แต่ว่าถ้าคุณไม่ขอแล้วเอกสารชุดที่คุณเอามาแล้วดูเสมือนที่เรามีความเห็น เรามานั่งตรวจสอบกันอย่างละเอียดว่าเป็นเอกสารที่ตกแต่งมาให้เราดู แล้วคุณเอามาจากไหน?


 


ได้ตรวจสอบดูหรือไม่ว่าตัวเอกสารที่เป็นทางการเขาได้ขอไปหรือเปล่า?


คือเราพยายามติดต่อตลอดแต่ก็อ้างว่ายังเช็คไม่ได้ ตอนนี้ 2 ปีกว่าแล้วไม่รู้ว่าเช็คได้หรือเปล่า แต่ว่าตอนนี้คดีมันก็ไปคาอยู่ในชั้นศาลแล้ว กำลังมีการพิจารณาคดีอยู่ตอนนี้ ที่สำคัญคือมือปืน 2 คนได้รับการดูแลเป็นอย่างดี คือไปเมืองผีหมดแล้ว ตายในคุก


 


แล้วมีการสรุปว่าอย่างไร?


ที่จริงในเรื่องของการตายของมือปืน เราก็มีความเห็นว่ามือปืนตายในขณะที่คดีนี้ได้รับความสนใจจากสังคมเป็นอย่างกว้าง ตายคนแรกก็ไม่เห็นจะแถลง พอตายคนที่สองคุณก็ไม่คิดจะแถลง จนเราเป็นคนให้ข่าวการตาย หลังจากที่เขาเสียชีวิตไปตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม พอเราให้ข่าว นักข่าวโทรมาสัมภาษณ์ ก็กลายเป็นว่า อธิบดีกรมราชภัณฑ์ เพิ่งจะออกมาแถลงในวันที่ 8 สิงหาคม พูดถึงสาเหตุการตาย วันที่ 7 สิงหาคม นักข่าวเริ่มรู้จากการแจ้งข่าวของเรา แล้วก็มีการให้สัมภาษณ์ไป


 


ทราบว่ามีประเด็นหนึ่ง ที่เกี่ยวกับ "เส้นทางปืน" ที่นำมาใช้ยิงคุณเจริญ ?


อันนี้ถือเป็นประเด็นเรื่องสำคัญในคดีว่า จากการที่ดีเอสไอมีการทำงานรับช่วงต่อจากตำรวจพื้นที่ ในคดีเจริญ นั่นคือ เรื่องของ "เส้นทางปืน" ปืนที่ใช้ยิงเจริญ นั่นคือปืนขนาด 9 มม. ที่ "นายเสน่ห์ เหล็กล้วน" เป็นคนใช้ ซึ่งในชั้นตำรวจมีการจับกุมนายเสน่ห์ได้ แล้วก็มีการจับปืนของกลางได้ ปรากฏว่า พอช่วงที่ดีเอสไอมารับช่วงต่อคดี ก็พบว่า ปืนกระบอกนี้มีหมายเลขประจำปืน ตามที่ดีเอสไอให้การในชั้นศาล เขาเบิกความว่าเขาเป็นสืบเรื่องนี้เอง ด้วยความที่เขาเป็นตำรวจเก่า มีประสบการณ์ทำให้เขาเห็นปั๊บ ก็รู้เลยว่าปืนกระบอกนี้เป็นปืนสวัสดิการของตำรวจอย่างแน่นอน ทำให้เขาลงมือสืบสวนขยายผล จนพบว่าปืนกระบอกนี้เป็นปืนที่กองสวัสดิการนำมาจำหน่ายให้นายตำรวจที่ประจวบฯ


 


และมีการสอบถามว่าปืนล็อตนี้มันมาอย่างไร แล้วทำไมถึงไปอยู่ในมือนายเสน่ห์ เขาก็สืบพบว่ามีการสั่งปืนล๊อตนี้โดยผู้การฯ ได้มอบหมายให้กับ "ดาบตำรวจโชคชัย ทัดสี" ดูแล


 


โดยแต่เดิมนั้น จ่าสิบตรีบุญเลิศ(จำนามสกุลไม่ได้) เป็นผู้สั่งซื้อ แต่ว่าต่อมา จ่าสิบตรีบุญเลิศ ได้ไปซื้อปืนกระบอกใหม่เอง แต่ไม่ได้มาเอาปืนกระบอกที่สั่งซื้อนี้


 


พอปืนกระบอกที่เคยสั่งซื้อนี้มาถึง ก็ไปตกค้างและอยู่ในความดูแลของดาบตำรวจโชคชัย ซึ่งเป็นคนที่ไปนำปืนจากกองสวัสดิการ แต่พอดีเอสไอไปสัมภาษณ์ดาบตำรวจโชค ให้การว่า ปืนกระบอกนี้มาอยู่ที่กองกลางสองปีแล้ว แล้วก็ไม่มีใครมาเอา แล้วตัวเองก็เดือดร้อนเงิน ก็เลยนำปืนกระบอกนี้มาจำนำให้กับกำนันเจือ หินแก้ว ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีจ้างวานฆ่าเจริญ และก็เป็นลูกพี่นายเสน่ห์ ซึ่งเป็นพ่อของ สจ.มาโนช นายธนู หินแก้ว นายเจือเป็นอดีตกำนันตำบลบ่อนอก


 


ที่ติดใจก็คือ คดีนี้ขึ้นศาล และมันเป็นช่วงที่ดาบตำรวจโชคเองก็ไปให้การในชั้นศาลได้ ปรากฏว่า จนถึงขณะนี้ดีเอไอก็ยังไม่สามารถนำตัวดาบตำรวจโชคไปขึ้นศาลได้ จึงมีคำถามว่า โดยสัญชาตญาณของความเป็นตำรวจเก่า ไม่รู้เลยหรือว่า ดาบตำรวจโชคเป็นปมเงื่อนสำคัญในคดีที่เป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างกำนันเจือ กับนายเสน่ห์ ถึงได้ไม่ไปดูแลเขา และก็ไม่สามารถนำตัวเขาไปขึ้นศาลได้ ถือว่า ปัจจุบัน ดาบตำรวจโชคหนีหมายศาล จนกระทั่งศาลเรียกตัวสองครั้งแต่ไม่ไปขึ้นศาล ดีเอสไอก็ไม่สามารถตามตัวพบ จนกระทั่งขณะนี้ศาลเองต้องออกหมายจับตั้งแต่สามเดือนที่แล้ว ขึ้นศาลวันที่ 4 กันยายน 2549


 


ดีเอสไอให้การกับชั้นศาลด้วยว่า จากการที่เขาเป็นคนสอบ ก็ถาม ดาบตำรวจโชค ว่า ในเมื่อเอาไปจำนำทำไมไม่คิดไถ่คืนมา ดาบตำรวจโชคชัย บอกว่าไม่คิดจะไถ่ ก็แสดงว่าเอาปืนไปขาย ซึ่งที่จริงแล้ว ดาบตำรวจโชคเองก็มีความผิดที่เอาปืนหลวงไปขาย แต่ก็ไม่เห็นมีใครดำเนินคดีนี้ หนำซ้ำจะต้องมาเป็นพยานปากสำคัญในคดีของเจริญ ทาง ดีเอสไอก็ไม่สามารถที่จะนำตัวมาได้อีก


 


เท่าที่เรารู้มา ดาบตำรวจโชคชัย เป็นคนประจวบคีรีขันธ์ มีเมียน้อยอยู่ที่บ่อนอกด้วย แล้วก็มีเมียหลวงอยู่ในตัวเมืองประจวบฯ ก็เป็นแม่ค้าขายข้าวแกง พอดีว่าตัวเมียหลวงมีความสนิทสนมกับครอบครัวกับญาติเจริญซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน ญาติเจริญก็มาเล่าว่า ตัวของจำเลย คือกำนันเจือกับทนายธนูเป็นผู้ที่ไปบอกกับดาบตำรวจโชคว่าให้หลบหนีไปก่อน แล้วก็คดีทางนี้เขาจะจัดการให้ เพราะว่าในตอนนั้น มีการพูดในเรื่องของที่อัยการที่ขอเสนอกับศาลอายัดเงินเดือนในฐานะที่เป็นข้าราชการบำนาญ แต่เราก็ไม่รู้ว่ามีการอายัดเงินจริงหรือเปล่า


 


ตอนนี้ ทั้งสามคนนี้ได้รับการประกันตัวทั้งหมด แล้วมีการถูกข่มขู่คุกคามหรือไม่?


ใช่ มีการประกันตัวออกไปทั้งหมด ถามว่ามีการคุกคามไหม ข่มขู่ไหม โดยตรงกับตัวเราเอง ตอนนี้ไม่มี แต่ว่าต้องระวังตัวไหม ก็ต้องระวัง แล้วก็ในตัวของพยานเองที่เราพยายามค้านต่อศาลมาโดยตลอด ค้านการประกันตัวมาตั้งแต่ต้น ปรากฏว่าได้รับการประกันตัวออกมาอย่างรวดเร็ว ถามว่าเป็นอย่างนี้มันจะไปยุ่งกับพยานหรือไปทำให้รู้คดีมันเสียหรือไม่ คือไปพูดกับพยานปากสำคัญ และทำให้พยานปากสำคัญหลบหนีไป


 


มาถึงตอนนี้ มีการเรียกร้องให้ถอนประกันหรือไม่?


อันนี้คือประเด็นที่เราจะไปเรียกร้อง เราเรียกร้องได้ แต่ดุลพินิจขึ้นอยู่กับศาล และถ้าศาลสั่งถอนก็ต้องเอาตัวไปควบคุมในห้องขัง


 


มีประเด็นอีกอีกหรือไม่ที่ยังค้างคาใจ?


จริงๆ มันมีหลายประเด็น คดีนี้มันอยู่ในชั้นศาลแล้ว พูดไปมันจะเป็นการไปทำลายน้ำหนักคดีในศาลหรือเปล่า คดีนี้มันถูกออกแบบให้เป็นเรื่องของความแค้นส่วนตัว ก็เลยนายเสน่ห์จากการที่มีการรับสารภาพในชั้นสอบสวนเบื้องต้น พอมาขึ้นชั้นศาลก่อนที่จะทำให้เสียชีวิต ก็มีการกลับคำให้การในชั้นไต่สวน บอกว่ายิงเจริญเพราะว่าโกรธแค้นส่วนตัว แต่ว่าในส่วนแล้วก็ในรูปของคดี การขึ้นศาลการพิจารณาคดีในส่วนของจำเลย เขาเองก็ต้องขึ้นเบิกความในศาลอีกหนึ่งรอบ แล้วก็ตราบใดที่เขายังมีชีวิตอยู่ความจริงก็ย่อมปรากฏ


 


อีกคนหนึ่งคือนายประจวบ หินแก้ว ตอนเกิดเหตุ มาด้วยกัน แล้วก็มีการจับมือปืนมาจากการที่ประจักษ์พยานนั่งอยู่ด้วยตรงศาลารอรถเมล์ แล้วก็ประจักษ์พยานก็เป็นเพื่อนกับลูกเขาด้วย


 


การตายของผู้ต้องหาทั้งสองจะเรียกร้องให้มีการสอบสวนไหม?


ที่ผ่านมา เราก็เรียกร้องมาตลอด แต่ว่าไม่ถูกทำให้ปรากฏอย่างกระจ่าง ก็มีเพียงแค่อธิบดีกรมราชทัณฑ์เป็นผู้มาแถลง ส่วนนิติเวชเองก็ยังไม่มีการแถลงด้วยซ้ำไป เพราะว่าศพถูกส่งไปที่นิติเวช ตอนนั้นติดตามข่าวก็มีคนที่ติดใจอยู่ในส่วนของญาติ แต่ถามว่า เขากล้าที่จะเรียกร้องอะไรสุดขั้วไหม เขาคงไม่กล้าเพราะว่า กลัวอิทธิพลของจำเลยที่ถูกประกันตัวไป เชื่อว่าเขาต้องกลัวอย่างแน่นอน ซึ่งจำเลยที่ประกันตัวออกไป ตอนนี้เขาก็ไม่ได้รู้สึกหวาดกลัวกับกฎหมายที่เขาถูกดำเนินคดีอยู่แต่อย่างใด


 


ตอนนี้อยากให้ทางดีเอสไอรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่?


ประมาณนั้น ถ้าเป็นไปได้ จริงๆ ดีเอสไอชุดเก่า ตอนที่อยู่ในช่วงรัฐบาลทักษิณ เราก็มีการพูดคุยกันตลอดว่า ถ้าคุณทำงานกันอย่างรีบเร่งอย่างนี้ มันไม่รัดกุม ประเด็นไม่กระจ่างอะไรสักเท่าไร พยานหลักฐานไม่รัดกุม ก็ไม่จำเป็นต้องส่งขึ้นศาลก็ได้ ก็ปล่อยเขาไปก่อน อายุความคดีตั้ง 20 ปี ถ้ามีความตั้งใจจริงในการทำงาน ก็สามารถจับกุมเมื่อไรก็ได้ ให้หลักฐานครบก่อน แล้วค่อยลงมือจับแล้วก็ค่อยส่งขึ้นศาล แต่เขาก็จะอ้างตลอดว่า มันครบแล้วก็จำเป็นต้องส่งตัวขึ้นศาล แต่ยังไงคดีนี้ก็ยังไม่ปิด แต่วันนี้ปิดหรือไม่ปิดมันมีค่าเท่ากันในความรู้สึกของพวกเรา คุณไม่ได้ขยับอะไรเลย


 


จะเรียกร้องไปยังรัฐบาลหรือ คมช.หรือไม่?          


ถ้าไป คงไม่ไปที่ คมช.แต่ตั้งใจจะไปที่ปลัดกระทรวงยุติธรรมซึ่งเป็นบอร์ดของดีเอสไอด้วย


 


แล้วจะถือโอกาสเรียกร้องให้เร่งคดีอื่นๆด้วยหรือไม่ เช่น คดีพระสุพจน์ สุวโจ ?


จริงๆ ต้องให้ความสำคัญกับทุกคดี แล้วที่ผ่านมา ถ้าสมมติว่าในส่วนของปลัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องและมีอำนาจกับหน่วยงานนี้โดยตรง ถ้าเห็นว่าที่ผ่านมาดีเอสไอมีปัญหายังไง วันนี้ก็ควรจะมีอำนาจในการสั่งการ เช่น สั่งให้รื้อฟื้นคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบของดีเอสไอที่ผ่านมาทั้งหมด และยังไม่ปรากฏผลงานอะไรที่ชัดแจ้ง เช่น คดีของทนายสมชาย คดีของพระสุพจน์ ฯลฯ


 


ซึ่งที่จริงแล้ว มันมีคดีชาวบ้านอีกหลายคดี ที่อยู่ในความรับผิดชอบของดีเอสไอ เช่น ประเภทถูกยิงกลางวันแล้วไม่ฟ้อง แต่อัยการสั่งให้ฟ้อง อะไรอย่างนี้ ไม่ได้อยากให้ความเป็นธรรมกับคดีเจริญอย่างเดียว อยากให้ความเป็นธรรมกับทั้งหมด


           


                                                            0 0 0 0 0


 


ข่าวประกอบ


นักต่อสู้สามัญชน ความยุติธรรมที่สูญหาย : พระสุพจน์ สุวโจ


 


นักต่อสู้สามัญชน ความยุติธรรมที่สูญหาย : เจริญ วัดอักษร


 


นักต่อสู้สามัญชน ความยุติธรรมที่สูญหาย : สมชาย นีละไพจิตร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net