Skip to main content
sharethis

 



 


ประชาไท—29 ต.ค. 2549 วานนี้ (28 ต.ค.49) เวลาประมาณ 15.00 น. ประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีเข้ายื่นหนังสือต่อนายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รมว.อุตสาหกรรม ที่ได้เดินทางมาเป็นประธานปิดงาน สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ 2549 ณ ห้องประชุมแกรนด์ไดมอน อิมแพค เมืองทองธานี


 


นายประจวบ แสนพงษ์ ประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เปิดเผยว่าเนื่องจากที่ผ่านมามีแรงผลักดันให้เกิดโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี และในพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ ในภาคอีสานโดยกลุ่มนักธุรกิจและนายทุนฝ่ายการเมือง โดยไม่ได้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศในพื้นที่โครงการทำเหมืองแร่โปแตชทั่วอีสาน ซึ่งพบว่าภายหลังที่ได้มีการแก้ไข พรบ.แร่ ปี 2545 ให้สามารถทำเหมืองใต้ดินในระดับความลึกเกิน 100 เมตร ลงไปโดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของที่ดินได้ทั่วประเทศ เป็นผลทำให้บัดนี้เหล่านายทุนกำลังแห่กันเข้าไปรุมทึ้งแผ่นดินอีสาน โดยยื่นขอสำรวจและผลิตแร่โปแตช รวมพื้นที่ทั้งสิ้นที่จะมีการพัฒนาเหมืองแร่ใต้ดินในอีสานประมาณ 654,145 ไร่ ในจังหวัดอุดรธานี สกลนคร ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม และนครราชสีมา ซึ่งพื้นที่ทั้งหมดล้วนอยู่ท่ามกลางชุมชนและพื้นที่เกษตรกรรม นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมยังมีเป้าหมายจะพัฒนาอุตสาหกรรมเคมีต่อเนื่องจากเกลือและโปแตชในพื้นที่ภาคอีสาน


 


นายประจวบกล่าวเพิ่มเติมว่า จากกรณีตัวอย่างเรื่องความขัดแย้งทางความคิดและความฉ้อฉลของการดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานีตลอดเวลาที่ผ่านมา และสถานการณ์ยังคงคุกรุ่นรุนแรงอยู่จนปัจจุบันนี้ได้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการ 5 ราย รวมทั้งความขัดแย้งแตกแยกรุนแรงในระดับหมู่บ้านชุมชนต่าง ๆ อย่างยากที่จะประสานทำความเข้าใจ และในปัจจุบันบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ได้เข้าซื้อบริษัทเอพีอาร์ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัทเอพีพีซี ที่ประเทศแคนาดากระทำโดยการจัดตั้งบริษัทที่ชื่อบริษัทเอสอาร์เอ็มที โฮลดิ้ง ลิมิเต็ด ( SRMT Holding limited ) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท สินแร่เมืองไทย จำกัด ที่เป็นบริษัทลูกของอิตาเลียนไทย อีกทอดหนึ่ง ซึ่งซับซ้อนและไม่รู้ว่ามีใครอยู่เบื้องหลังบ้าง


และที่ผ่านมาโครงการนี้ก็เป็นโครงการที่ผ่านมาโดยผิดขบวนการทางกฎหมาย ไม่ได้รับการยอมรับ เช่น อีไอเอผิดขั้นตอนและบกพร่องในเนื้อหา การรังวัดปักหมุดที่แอบลอบทำจนเกิดเป็นความขัดแย้งแม้จะเปลี่ยนแปลงเจ้าของโครงการจะเป็นบริษัทอิตาเลียนไทยแล้วแต่ปัญหาก็ยังคงอยู่ไม่ได้สร้างสรรค์ หรือสร้างมาตรฐานทางสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมที่ดีขึ้นในสังคมไทย เป็นแต่เพียงการสวมประโยชน์ แบบลวงตาเท่านั้น จึงต้องยกเลิกโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานีเพราะความฉ้อฉลอันยาวนานของโครงการนี้ ต้องยกเลิกสัญญาล้างไพ่ใหม่เพื่อที่จะได้ให้ประชาชนคนไทยหันหน้ามาพูดคุยกันเองเกี่ยวกับแร่โปแตชว่าจะรักษาหรือใช้สอยกันอย่างไร ที่สำคัญรัฐบาลต้องทบทวนแนวนโยบายในการพัฒนาอุตสาหกรรมเกลือและเหมืองแร่โปแตชทั้งหมดในอีสาน เพราะหากมุ่งพัฒนาเหมือง 5-6 จังหวัดนั้นเป็นแนวทางที่ไม่สอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง


 


ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าในวันเดียวกัน นายทองหล่อ ทิพย์สุวรร รองประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ นพ.มงคล ณ สงขลา รมว.สาธารณสุข เพื่อขอให้ผลักดันให้นำผลการประเมินผลกระทบสุขภาพ หรือ Health Impact Assesment (HIA) ที่จัดทำขึ้นโดยประชาสังคมอุดรธานี และนักวิชาการสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี เพราะปัจจุบันจากที่สังคมไม่ยอมรับอีไอเอที่บกพร่องของบริษัท บริษัทจึงได้แถงว่าจะยื่นรายงานการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ใหม่เข้าสู่ขบวนการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการใหม่ โดยได้ทำสัญญาว่าจ้างนักวิชาการจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะพยายาบาลศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้จัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมใหม่ พร้อมด้วยการจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบสุขภาพ (HIA) และปัจจุบันได้เริ่มดำเนินการลงเก็บข้อมูลโดยที่ไม่มีการชี้แจงหรือยกเลิกรายงาน EIA เก่าแต่อย่างใด ซึ่งนับว่าเป็นขบวนการที่ขาดการส่วนร่วมเช่นที่บริษัทเดิมดำเนินการมาและจะเป็นประเด็นซึ่งจะนำมาซึ่งความขัดแย้งและไม่ยอมรับมาตรฐานของการศึกษาโดยนักวิชาการ "มือปืนรับจ้าง" ที่ไร้จรรยาบรรณเหล่านี้


 


ต่อกรณีการศึกษาประเมินผลกระทบทางสุขภาพ ซึ่งไม่ได้มีการประเมินแต่อย่างใดในรายงาน EIA ฉบับเก่านั้น อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาได้มีกระบวนการประชาสังคมในจังหวัดอุดรธานี ร่วมกับประชาชนในพื้นที่โครงการ พร้อมทั้งนักวิชาการที่มีใจอาสาสมัครไม่ได้รับค่าจ้างเรือนล้านอย่างที่นักวิชาการมหาวิทยาลัยขอนแก่นดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งบัดนี้ได้มีการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ HIA โครงการเหมืองแร่โปแตชและได้จัดทำรายงานการศึกษาและประเมินผลกระทบทางสุขภาพเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้วยความสนับสนุนของสำนักงานวิจัยระบบสาธารณสุขแห่งชาติ (สวรส.) และกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข


 


กลุ่มอนุรักษ์ ฯ จึงขอให้กระทรวงสาธารณสุข ที่เกี่ยวข้องในเรื่องการพัฒนาขบวนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ ได้จัดเวทีเผยแพร่ผลงานการศึกษาผลกระทบทางสุขภาพที่ทางกรมอนามัย กระทรวงสาธารณะสุข และ สำนักงานวิจัยระบบสุขภาพ (สวรส.) ได้สนับสนุนให้จัดทำเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องต่อประชาชน และพัฒนามาตรฐานขบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพในประเทศต่อไป


 


ทั้งนี้ในงานสมัชชาสุขภาพวันนี้ได้มีเวทีเสวนาเรื่องการพัฒนาขบวน "การประเมินผลกระทบสุขภาพเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันชุมชนสูความอยู่เย็นเป็นสุข" โดยได้ยกกรณีศึกษาการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางสุขภาพในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตชขึ้นเป็นหนึ่งกรณีศึกษา เพราะการประเมินผลกระทบทางสุขภาพเป็นสาระสำคัญส่วนหนึ่งที่อยู่ใน ร่าง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.... ในฐานะเครื่องมือเพื่อป้องกันผลกระทบจากโครงการพัฒนาในลักษณะต่าง ๆ ต่อสุขภาพของประชาชน โดยขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว กำลังรอให้รัฐบาลเสนอสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายแม่บทด้านสุขภาพของประเทศไทยต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net