Skip to main content
sharethis

'พริษฐ์' อภิปราย พยากรณ์รัฐบาลซ่อนไพ่ตาย 3 ใบ ลดทอนอำนาจของ ปชช.แก้ไขรัฐธรรมนูญ เปิดทางอำนาจที่ไม่ยึดโยงกับ ปชช.เข้ามาแทรกแซง ล็อกสเปก เสนอนายกฯ ต้องสนับสนุน สสร.ที่มาจากการเลือกตั้ง 100%

 

4 เม.ย. 2567 ยูทูบ TP Channel ถ่ายทอดสดออนไลน์วันนี้ (4 เม.ย.) การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 32 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ วาระอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายเรื่องกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ที่ล่าช้า และข้อเสนอให้นายกฯ สนับสนุนสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และไม่สนับสนุน สสร.ที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน

พริษฐ์ วัชรสินธุ (ที่มา: TP Channel)

สส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ต้อตอปัญหาในการเมืองไทยหลายประการ ยกตัวอย่าง การแต่งตั้งองคมนตรีที่มาจากคณะรัฐประหาร ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การเสนอแก้ไขมาตรา 112 เป็นสิทธิการล้มล้างการปกครอง ศาลอุทธรณ์ปฏิเสธสิทธิการประกันตัวผู้ถูกกล่าวหามาตรา 112 แม้ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี หรือยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน กกต.ยื่นคำร้องยุบพรรคการเมืองที่ประชาชนเลือกเข้ามาในสภาฯ 

ต้นตอปัญหาที่ยกขึ้นมานั้นมีที่มาจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ซึ่งนายกฯ และรัฐบาลยืนยันมาตลอดว่าต้องแก้ไข เราจะหลุดจากรัฐธรรมนูญนี้ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความแน่วแน่ของรัฐบาล ซึ่งวัดได้จาก 2 โจทย์ และ 2 คำถามสำคัญ ประกอบด้วย

  1. รัฐธรรมนูญ จะสำเร็จเมื่อไร 
  2. รัฐธรรมนูญ จะหน้าตาเป็นอย่างไร

ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เคยให้สัมภาษณ์ว่าจะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หลังการเลือกตั้ง โดยผ่าน สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด โดยคาดว่าใช้เวลา 18 เดือน แต่ตอนนี้ผ่านมาเกือบครึ่งทาง ชัดเจนว่าคำพูดเมื่อเวทีนั้นเป็นเพียงลมปากที่เชื่อถือไม่ได้ และหลังจากรัฐบาลไปจับมือกับพรรคการเมืองที่มีความเชื่อมโยงกับคณะรัฐประหาร ก็เห็นแล้วว่าความกระตือรือร้นของรัฐบาลระเหยหายไป 

พริษฐ์ เผยว่า รัฐบาลจะมีอยู่ 2 ทางเลือกหลักในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือการเดินตามเส้นทางประชามติ 2 ครั้ง โดยขั้นตอนแรก ยื่นและหาทางบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผ่าน สสร. เข้าสู่รัฐสภา และเดินตามทางประชามติ 3 ครั้ง ซึ่งเริ่มต้นจากการเพิ่มประชามติขึ้นใหม่อีกรอบ ตอนต้นกระบวนการก่อนเสนอร่าง รธน. ใหม่ต่อรัฐสภา โดยทั้ง 2 แบบมีข้อดีข้อเสียต่างกัน บางคนมองว่าทางเลือกที่ 1 เร็วกว่า ประหยัดงบประมาณ ขณะที่ทางเลือกที่ 2 อาจจะชัวร์กว่า อย่างไรก็ตาม โจทย์นี้ไม่ได้ใหม่ และรัฐบาลทราบอยู่แล้ว มันจึงเป็นเรื่องน่าผิดหวังที่รัฐบาลไม่ได้เดินหน้าอย่างเต็มที่ แต่ผ่านมา 6 เดือน รัฐบาลยังตอบข้อสอบนี้ไม่ได้ ทำได้เพียงเดินหน้าเป็นวงกลม พายเรือในอ่าง เหมือนตลก 6 ฉากที่ไม่ได้ขยับเข้าใกล้รัฐธรรมนูญใหม่ของพี่น้องประชาชน

พริษฐ์ กางกรอบระยะเวลาการทำงานของรัฐบาล 6 เดือนที่ผ่านมา โดย 3 เดือนแรก หลังจัดตั้งรัฐบาล พรรคเพื่อไทย ให้สัญญาว่าจะมีการเดิมทีในประชุม ครม.นัดแรก รัฐบาลจะออกมติ ครม. เพื่อจัดทำประชามติ และตั้ง สสร.เพื่อทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่เมื่อมีประชุม ครม.มีการเปลี่ยนจากทำประชามติ เป็นการจัดตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติแทน 

25 ธ.ค. 2566 คณะกรรมการฯ มีการแถลงแค่ข้อสรุปการศึกษาข้อเดียวคือเสนอให้ ครม.เดินหน้าประชามติ 3 ครั้ง โดยให้ประชามติครั้งแรกมีคำถามว่า ‘เห็นชอบหรือไม่หากท่านจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเว้น หมวด 1 หรือหมวด 2’ ซึ่งหลายฝ่ายโต้แย้งไว้ว่าการตั้งคำถามแบบนี้มีปัญหา และมีความเสี่ยงว่าจะทำให้ประชามติไม่ผ่านน้อยลง เพราะพอยัดไส้เงื่อนไขหรือรายละเอียดปลีกย่อยในคำถาม ทำให้ประชาชนอาจเห็นด้วยกับบางส่วนของคำถาม และอาจไม่เห็นด้วยกับบางส่วนของคำถาม ไม่แน่ใจว่าจะลงมติเช่นไร ทำให้คนที่อยากจะเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะลงคะแนนเห็นชอบอย่างเป็นเอกภาพ 

อย่างไรก็ตาม ผ่านไปไม่ถึง 28 วันหลังแถลงข้อเสนอ สส.พรรคเพื่อไทย กลับลำเสนอยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญกับเรื่อง สสร. เข้าสู่การพิจารณาของรัฐบาล ย้อนกลับมาใช้การทำประชามติ 2 ครั้ง 

ผ่านมา 6 เดือน รัฐบาลส่งศาล รธน.วินิจฉัย ประชามติแก้ไขร่าง รธน.ไร้จุดหมาย

พริษฐ์ กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลหันไปใช้วิธีการทำประชามติ 2 ครั้ง ต้องมาเจอตอเรื่องการบรรจุวาระรัฐธรรมนูญ เข้าสู่ระเบียบการประชุมรัฐสภา ซึ่งมีการชี้ว่าสวนทางกับความเห็นเสียงข้างมากคำวินิจฉัยรัฐธรรมนูญ 4/2564 ที่ประธานฯ หยิบมาอ้าง พอถูกบีบให้จนมุม จึงตัดสินใจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินใจแทน โดยไม่มีหลักประกันว่าจะตัดสินใจเมื่อไร หรือวินิจฉัยอย่างไร

ความล่าช้าตลอด 1 ปีแรกของรัฐบาล อาจทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสในการมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนพร้อมใช้งานก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้า ที่พูดแบบนี้หากเรากางดูขั้นตอนต่างๆ การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเทียบกับกรอบระยะเวลา ที่เป็นไปได้ เราจะเห็นได้ชัดว่า หากรัฐบาลตัดสินใจได้ตั้งแต่ต้น ไม่ว่าทำประชามติ 2 ครั้ง หรือ 2 ครั้ง เราน่าจะมี รธน.ฉบับใหม่ทันภายใน 3-4 ปี แต่พอรัฐบาลใช้เวลา 6 เดือนศึกษา และไม่ตัดสินใจ ทำให้รัฐบาลต้องรอว่า ศาล รธน.จะเมตตาหรือไม่ 

ถ้าศาล รธน.วินิจฉัยว่า ทำประชามติ 2 ครั้ง ก็น่าจะทันกรอบระยะเวลา 4 ปีพอดี แต่หากศาลฯ วินิจฉัยออกมาว่าทำประชามติ 3 ครั้ง มันจะมีความเสี่ยงต้องกลับมาเริ่มกระบวนการทั้งหมดใหม่ และอาจไม่ทันการเลือกตั้งครั้งหน้า

คำถามสำคัญ รธน. หน้าตาเป็นเช่นไร

พริษฐ์ ระบุว่า เขาต้องการเตือนภัยในอนาคตว่ามันอาจจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ แม้ว่าโจทย์รัฐธรรมนูญใหม่อาจเป็นเรื่องที่น่ากังวลว่าจะเสร็จเมื่อไร แต่มีโจทย์อีกข้อคือรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมาแล้ว หน้าตาเป็นอย่างไร เนื้อหาสาระอย่างไร และออกแบบระบอบการเมืองแบบไหน

พริษฐ์ ฟันธงว่า แม้ว่าเราจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมาทันก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้าก็ตาม แต่รัฐบาลเศรษฐา ที่ตั้งตัวอยู่ได้จากใบบุญเครือข่ายอำนาจเดิม จะไม่มีทางไว้ใจให้ประชาชนมาร่วมออกแบบระบอบการเมือง และจัดทำกติกาสูงสุดของประเทศตามที่พวกเขาใฝ่ฝัน และพวกเขาควรจะมีสิทธิทำได้ในฐานะคนที่มีอำนาจสูงสุดของประเทศนี้ 

สส.พรรคก้าวไกล เชื่อว่า รัฐบาลจะล็อกไม่ให้แก้ไขหมวด 1 หรือ 2 แต่ประชาชนอาจจะไม่สามารถแก้ไขหมวด 3 หรืออื่นๆ ด้วยเหมือนกัน เพราะเมื่อไรก็ตามที่จินตนาการของประชาชนไปขัดกับผลประโยชน์ของรัฐบาล และกลุ่มอำนาจเดิม รัฐบาลอาจจะนำไพ่ไม้ตาย 3 ใบที่ไปซุ่มออกแบบ และเตรียมควักออกมาใช้ เพื่อลดทอนอำนาจของประชาชนในการกำหนดเนื้อหาของ รธน.ฉบับใหม่ 

ไพ่ใบแรก สสร. สูตรผสม 

พริษฐ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลผสมนำโดยเศรษฐา ไม่เคยบอกว่าสนับสนุน สสร.ที่มาจากการเลือกตั้ง 100 % และอาจมีการนำโมเดล สสร. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดมาใช้ ซึ่งคิดค้นโดย นิกร จำนง ประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 กำหนดว่า 77 คนมาจากการเลือกตั้ง 1 คนต่อ 1 จังหวัด และอีก 23 คนมาจากนักวิชาการตัวแทนกลุ่มความหลากหลายที่แต่งตั้งโดยรัฐสภา ฟังแล้วอาจจะดูดี แต่อย่าลืมว่าหากองค์กรที่ทำการแต่งตั้งกลุ่มดังกล่าวคือรัฐสภา โมเดลนี้กำลังเปิดช่องให้วุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากเลือกตั้งเข้ามาเขียน รธน.ฉบับใหม่ได้ 

พริษฐ์ มองว่า 2 เป้าหมายนี้ทำควบคู่กันได้ และ กมธ.พัฒนาการเมืองฯ เคยจัดส่งรายงานเสนอรัฐสภา เพื่อพยายามชี้ให้เห็นว่าหากรัฐบาลจำเป็นจริงๆ ที่จะต้องมีนักวิชาการหรือกลุ่มความหลากหลายอยู่ใน สสร. รัฐบาลก็มีเมนูระบบเลือกตั้ง สารพัดรูปแบบ เพื่อรับประกันระบบดังกล่าว โดยไม่จำเป็นต้องหันไปหาโมเดลของ สสร.ที่ไม่ได้จากการเลือกตั้งทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการมี สสร.แบบบัญชีรายชื่อ ที่ลงสมัครเป็นทีม อาจจะทำให้เรามีตัวแทนวิชาการหรือกลุ่มความหลากหลายเข้าไปอยู่ใน สสร. โดยธรรมชาติอยู่แล้ว หรือการเพิ่มบัตรเลือกตั้งขึ้นมาอีก 1 ใบ เพื่อให้ประชาชนเลือกนักวิชาการหรือกลุ่มความหลากหลายเข้าไปเป็น สสร. แต่ถ้าในอนาคตรัฐบาลยังดึงดันเพื่อเปิดช่องให้มี สสร.บางส่วนที่มาจากการแต่งตั้ง โดยอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มันก็แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้ต้องการนักวิชาการหรือกลุ่มความหลากหลายอยู่ใน สสร. แต่เจตนาคือการมี สสร.ที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน เพื่อให้ท่านสามารถควบคุม เพื่อไปต่อกรหรือโหวตแข่งกับ สสร.ที่มาจากการเลือกตั้ง

ไพ่ใบที่ 2: กินรวบ กมธ.ยกร่าง

สส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า แม้ว่า สสร.จะเป็นคนลงมติชี้ขาด แต่คนยกร่างมาตราต่างๆ ใน รธน. คือ กมธ.ยกร่างที่ทำงานภายใต้ สสร. ดังนั้น องค์ประกอบของคณะกรรมการยกร่างที่พรรคเพื่อไทยได้เข้าไปสมาชิก ได้มีการเปลี่ยนจากร่างพรรคเพื่อไทยปี 2563 ซึ่งสะท้อนให้เห็นชัดว่าเจตนาและความพยายามของพรรคเพื่อไทยที่จะรุกคืบและเข้าไปยึดกุมกินรวบคณะกรรมาธิการยกร่าง 

ประการแรก สัดส่วนสมาชิก กมธ.ยกร่าง ที่มาจากการ สสร.ที่มาจากเลือกตั้งของประชาชน มีสัดส่วนลดลงจาก 30 คน เหลือ 24 คน หรือ 2 ใน 3 เดิม 61% ตอนนี้เหลือเพียง 51% ประการที่ 2 เห็นว่า กมธ. ที่ไม่ได้เป็น สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งก็เปลี่ยน จากเดิมที่ถูกแต่งตั้งโดย สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เปลี่ยนมาเป็นการถูกแต่งตั้งโดยองค์ประกอบต่างๆ ที่มีทั้งส่วนมาจากการเลือกตั้งอย่างสภาผู้แทนราษฎร และส่วนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอย่างสมาชิกวุฒิสภา 

ประการที่ 3 ร่างที่เสนอมาในปีนี้ มีการจงใจแจกโควต้าให้ ครม. และ สส.รัฐบาลแยกออกจากกัน แทนที่จะรวมกัน ทำให้ กมธ.คนนอกที่ต้องถูกเสนอชื่อ ฝ่ายรัฐบาลสามารถเสนอชื่อได้ 14 คน ขณะที่ฝ่ายค้านเสนอชื่อได้เพียง 4 คนเท่านั้น 

ใบสุดท้าย: สว.

สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุว่า สำหรับไพ่ใบสุดท้าย เมื่อ สสร.จัดทำรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว จะทำประชามติกับประชาชนทั่วประเทศว่าเห็นชอบหรือไม่ แต่พอเป็นร่างปี 2567 พอ สสร.จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้วจะต้องส่งไปที่รัฐสภา เพื่อให้รัฐสภามีสิทธิในการกลั่นกรองแก้ไขหรือตีกลับร่างดังกล่าว ก่อนที่จะมีการส่งไปทำประชามติ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการเปิดให้อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเข้ามาแทรกแซงอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งได้ เพราะว่าเวลาเราพูดถึงรัฐสภาที่มีสมาชิก 700 คน โดย 200 คนเป็นสมาชิกวุฒิสภา โดยในชุดใหม่นี้ไม่ได้ถูกแต่งตั้งโดย คสช. แต่มาจากการเลือกตั้ง “ระบบแบ่งกลุ่มอาชีพ เลือกกันเอง” ซึ่งถูกวิจารณ์หนักว่าจะถูกแทรกแซงจากอำนาจรัฐ เพราะฝ่ายรัฐถือว่าเป็นฝ่ายที่มีอำนาจมากที่สุดในการจัดตั้งผู้สมัครทั่วประเทศ ซึ่งอาจจะทำให้มี สว.ชุดใหม่ก็จริง แต่ก็อาจจะยึดโยงกับกลุ่มอำนาจเดิม สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่คิดค้นกันไว้ และจะทยอยออกมาใช้เพื่อควบคุมเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 

หากคำทำนายของผมเป็นจริง ผมคิดว่ารัฐบาลเอาความคิดของตัวเองเป็นใหญ่มากว่าความคิดของประชาชน ท่านไม่ยอมให้ประชาชนออกแบบเนื้อหาของ รธน.ใหม่กันเอง แต่พยายามคิดค้นนวัตกรรมใหม่ที่จะเข้ามาล็อกสเปกรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แบบนี้เขาไม่เรียกว่าประชาธิปไตยเต็มใบ แต่เป็น ปชต.ที่ต้องขอใบอนุญาต ที่ต้องจ่ายด้วยราคาที่แพง เทียบเท่ากับอนาคตของประเทศนี้

ข้อเสนอแนะ นายกฯ ต้องหนุน สสร.เลือกตั้ง 100%

พริษฐ์ ระบุว่า จากข้อกังวลที่ได้ตั้งต้นไว้ตอนต้นที่ได้ระบุว่าเราอาจจะได้ รธน.ที่ล่าช้า และไม่ตรงสเปกของประชาชน ผมขอสรุปข้อเสนอแนะ 4 ข้อ 1. หากมีความจำเป็นที่ต้องเพิ่มการทำประชามติจาก 2 ขึ้นมาเป็น 3 ครั้ง ก็ขอให้ปฏิเสธคำถามยัดไส้ที่ คกก.ศึกษาเสนอขึ้นมา และหันไปใช้คำถามที่มีลักษณะเปิดกว้างสำหรับประชามติครั้งแรก เพื่อให้คำถามประชามติครั้งแรกจะผ่านความเห็นชอบของประชาชน

2. ไม่ว่าจะต้องทำประชามติกี่ครั้งว่า ท่านจะเสนอ หรือสนับสนุน สสร.ที่มาจากการเลือกตั้ง 100% และไม่เปิดช่องให้อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแทรกแซง หรือขี่คอได้ 3. อยากให้นายกฯ ยืนยันว่าจะสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่ทำให้ รธน.นั้นมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น อย่างน้อย ในบริบทที่สมาชิก สว. 250 คนที่ผ่านมาเป็นอุปสรรคแก้ไข รธน.กำลังจะหมดวาระลง

4. อยากให้รัฐบาลเร่งพิจารณาแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งปัจจุบันมี 2 ร่างคือ ร่างที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล และอีกร่างเสนอโดยพรรคเพื่อไทย ที่เข้าคิวรอพิจารณาในระเบียบวาระสภาผู้แทนราษฎร 

พริษฐ์ ขออนุญาตทิ้งท้ายถึงรัฐบาล และนายกรัฐมนตรี ว่าความสำเร็จหรือความล้มเหลวของรัฐบาลชุดนี้ในการผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน จะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อระบบการเมืองไทย หรืออนาคตของรัฐธรรมนูญของประเทศ แต่จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อความจริงใจและความสามารถในการรักษาสัจจะที่นักการเมืองให้ไว้กับประชาชน ซึ่งถูกตั้งคำถามจากประชาชนมาโดยตลอดถึงรัฐบาล เช่น นโยบายดิจิทัลวอลเลต ขึ้นค่าแรง นโยบายเกณฑ์ทหาร ซอฟต์พาวเวอร์ และอื่นๆ และสิ่งที่เขากังวลมากที่สุดคือการที่ต่อไปพรรคเพื่อไทย จะไม่สนใจประชาชนอีกต่อไป 

"สิ่งที่ผมกังวลที่สุด คือท่านเองอาจจะไม่ได้สนใจหรือไม่ได้รู้สึกเป็นเดือดเป็นร้อนกับการที่ท่านผิดคำพูดประชาชน เพราะสุดท้ายแล้ว ระบบการเมืองที่ทำให้ท่านเข้าสู่อำนาจ ระบบการเมืองที่ทำให้ท่านสามารถดำรงอยู่อำนาจต่อได้ ระบบการเมืองที่ท่านต้องการจะออกแบบสำหรับอนาคตผ่านการล็อกสเปกรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ไม่ได้มีประชาชนเป็นตัวแปรหลักสมการและไม่มีประชาชนอยู่กลางหัวจิตหัวใจของท่านอีกต่อไป" พริษฐ์ ทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net