Skip to main content
sharethis

‘ประชาไท’ ยกให้ ‘กลุ่มสมัครอาสาล่ารายชื่อเพื่อเสนอคำถามทำประชามติ 'เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100%'’ ที่ร่วมงานกับกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ หรือ conforall เป็น ‘บุคคลแห่งปี 2566’ หลังสามารถรวบรวมรายชื่อจากการตั้งโต๊ะมาได้ถึง 205,739 รายชื่อ ในระยะเวลาเพียง 3 วัน จากวันที่ 22 ส.ค.66 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อ้างว่าไม่สามารถใช้ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ในการเข้าชื่อเสนอคำถามตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ ทำให้มากกว่า 4 หมื่นรายชื่อที่ระดมกันมาก่อนหน้านี้ผ่านอิเล็กทรอนิกส์ อาจไม่ถูกนับนั้น จนต่อมาเกิดปรากฏการณ์ตั้งโต๊ะล่ารายชื่อด้วยการเขียนมือกันใหม่ตามจุดต่างๆ ทั่วประเทศ โดยใช้เวลาเพียง 3 วันตัวเลขทะลุกว่า 2 แสนรายชื่อดังกล่าว อีกทั้งยังเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นท่ามกลางความผิดหวังของประชาชนจำนวนไม่น้อยหลังเห็นการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วอีกเช่นกัน

ภาพผลการนับจำนวนรายชื่อในวันที่ 27 ส.ค. โพสต์โดย iLaw พร้อมระบุว่า “นับแทบจะครบแล้ว ปิดรับแล้ว ถ้าจะมีปรับตัวเลขอีกก็คงไม่มากแล้ว” 

  • ครม.มีมติตั้ง คกก.ศึกษาแนวทาง แก้ รธน. พร้อมรับฟังประชาชน ย้ำไม่แก้หมวด 1 และ 2 https://prachatai.com/journal/2023/09/105887
  • 'ภูมิธรรม' แถลงถามประชามติ 3 ครั้ง เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ไม่แตะหมวด 1 และ 2 เตรียมเสนอ ครม. ม.ค. 67 https://prachatai.com/journal/2023/12/107382

คลิปถ่ายทอดสดบรรยากาศรับรายชื่อเมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยในคลิปจะมีการแชร์ประสบการณ์การล่ารายชื่อในแต่ละพื้นที่ด้วย

จากที่ปัจจัยสำคัญทำให้ต้องเร่งล่ารายชื่อนั้นเนื่องจากกลุ่มดังกล่าวต้องการนำข้อเสนอนี้ให้ทันเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก เพราะหากอ้างอิงจากแถลงของพรรคเพื่อไทยในวันที่ 2 ส.ค.66 ที่ยุติ MOU แนวทางการในการจัดตั้งรัฐบาลกับ 8 พรรคร่วมเดิมระบุไว้ชัดเจนว่า ในการประชุม ครม. นัดแรกจะให้มีการทำประชามติ และตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ให้กระบวนการมีส่วนร่วมในการแก้ แต่ปรากฏว่าเมื่อประชุม ครม. นัดแรก รัฐบาลกลับตั้งเพียงคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญฯ แทน จนเกิดกระแสวิพากษณ์วิจารณ์ว่าเป็นการประวิงเวลา จนล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.ที่ผ่านมา ภูมิธรรม เวชยชัย ประธานกรรมการศึกษาฯ ดังกล่าว ออกมาแถลงแนวทางจัดทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า จะถามประชามติ 3 ครั้ง เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ไม่แตะหมวด 1 และ 2 พร้อมทั้งเตรียมเสนอ ครม.ประมาณช่วงเดือนมกราคมหรือช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 ซึ่งไม่ตรงกับคำถามของ conforall ที่ต้องการแก้ทั้งฉบับ

ภาพ ยื่นรายชื่อประชาชน 212,139 ชื่อเพื่อเสนอคำถามประชามติต่อคณะรัฐมนตรี ผ่านสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เมื่อวันที่ 30 ส.ค.2566 

ในโอกาสนี้จะชวนอ่านมุมมองของผู้เป็นอาสาล่าชื่อทำประชามติ 'เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100% ที่มีทั้งงานตั้งโต๊ะล่ารายชื่อและงานกรอกข้อมูลเป็นแสนรายชื่อ เพื่อบอกเล่าประสบการณ์การล่ารายชื่อ เหตุการณ์ประทับใจและความคาดหวังในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่

 

“เป็นยิ่งกว่าปาฏิหาริย์” ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการ iLaw หนึ่งในเครือข่าย conforall กล่าวถึงปรากฏการณ์ที่จำนวนรายชื่อที่เข้ามาเกินแสนรายชื่อคืนวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา

ล่ามันทุกที่ทั้งที่ทำงาน หน้า MRT หรือแม้แต่คอนโดฯ

จอย พนักงานออฟฟิสในกรุงเทพฯ วัย 31 ปี (คนขวา) ขณะนำรายชื่อมาส่ง

จอย พนักงานออฟฟิศในกรุงเทพฯ วัย 31 ปี เล่าถึงกระบวนการล่ารายชื่อ โดยเธอเริ่มจากล่ารายชื่อในออฟฟิศที่ได้กว่า 200 ชื่อ จากนั้นก็มาล่ารายชื่อบริเวณสถานี ‘MRT’ ภาษีเจริญ หน้าห้างซีคอน บางแค หรือแม้แต่ที่คอนโดฯ เองก็ไปแชตในกลุ่ม ‘LINE Openchat’ ของคอนโดฯ มีคนมาลงชื่อเป็น 100 คน ด้วย

ภาพอุปกรณ์การล่ารายชื่อของจอย

พนักงานออฟฟิศผู้แข็งขันคนนี้ เล่าว่า ตนเริ่มจากที่ออฟฟิศก่อน โดยที่มีบางคนไม่เห็นด้วยกับเรื่องมาตรา 112 แต่ตนยื่นยันไปว่ากรณีนี้ไม่เกี่ยวกับมาตรา 112 เขาก็จะลงชื่อให้ คือความเห็นทางการเมืองมันอาจจะคนละด้านกัน แต่เขาก็เห็นด้วยว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มันไม่โอเค เขาเลยอยากมีส่วนร่วมกับการเปลี่ยนแปลง บางคนสงสัยว่าลงชื่อออนไลน์ไม่ได้เหรอ ลงชื่อมือแล้วมันจะถึงหรือไม่ รวมทั้งบางคนใช้เวลาตัดสินใจอยู่ข้ามคืน เมื่อเขาเห็นว่าเราเก็บชื่อได้ 200 กว่าชื่อแล้ว เขาเลยร่วมลงชื่อด้วยเช่นกัน

“มีคนเดินลงมาจากคอนโดฯ แล้วเอาขนมมาให้กิน พี่ซื้อขนมให้น้อง เพราะเขารู้สึกว่าเรามานั่งตรงนี้ไม่ได้อะไรหรอก เขาก็บอกว่าเอาขนมไปกินนะน้อง และก็เหมือนมีเพื่อนอีกคนหนึ่ง เจอในคอนโดฯ เลย บอกเราว่า งั้นเราออกไปตรง MRT ไหม ใกล้ๆ ช่วงสี่ถึงห้าทุ่มใกล้เที่ยงคืน เผื่อมีคนสนใจ ก็คือเดินออกมาที่สถานีกัน และมีคนมาเห็น เขาก็ขอลงชื่อด้วย ก็คือมันมืดแล้ว รปภ. เขาค่อนข้างที่จะเคร่งเนอะ เขาก็แบบว่าพี่ช่วยยืนหลบๆ มุมหน่อยได้ไหมครับ จริงๆ เขาก็ไม่ค่อยสนับสนุนเท่าไร ผมช่วยพี่ได้แค่ให้พี่ยืนหลบๆ กล้องวงจรปิดหน่อยนะครับ” จอย เล่าเหตุการณ์ที่ประทับใจระหว่างล่ารายชื่อ

Q&A ที่เตรียมไว้ตอบคำถาม

 เมื่อจำนวนรายชื่อรวมของแคมเปญมันทะลุเป้าหมายในการล่าไปมากแล้ว จอย บอกว่า ตนรู้สึกดีใจ ตนได้ประมาณ 300 กว่ารายชื่อ แถบที่ทำงาน ย่านบางแค ภาษีเจริญ เอาไปส่ง ก็ทำใหhรู้สึกดีใจที่ตนเอาชื่อคนที่เขาอยากมีส่วนร่วมไปส่ง เนื่องจากบริเวณนี้บางทีไม่ค่อยมีคนทำอะไรลักษณะนี้

“ดีใจว่ามีคนเห็นคุณค่าแบบนี้” จอย อธิบายสิ่งที่ตัวเองทำ

จอย กล่าวถึงความคาดหวังของตนว่า อยากให้มาจาก สสร. 100% หรือแก้ไขได้ทุกหมวดทุกมาตรา แต่ดูทรงก็คือกลุ่มอีกกลุ่ม เขาคงไม่ยอม ก็เป็นอนาคตอีกก้าว แต่ในอนาคตมันมีความเป็นไปได้ว่า เราจะทำได้ เพราะตนรู้สึกว่าเขารับรู้แล้วว่าตอนนี้มีประชาชนหลักแสนลงชื่อ เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ถ้าตอนนี้ยังไม่ได้ 100% อยากให้อนาคตมันเป็นไปได้มากขึ้น เนื่องจากตนรู้สึกว่ามีแนวโน้มที่มันไปในทางที่ดี

“รู้สึกว่าเขามองจากมุมสูงลงมาหาประชาชน ในขณะที่เขาไม่ได้มองว่า เป็นภาคส่วนประชาชนมองขึ้นไป”  พนักงานออฟฟิศผู้แข็งขันในการล่ารายชื่อคนนี้ฝากถึงผู้มีอำนาจในการกำหนดทิศทางการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ พร้อมอธิบายถึงประสบการณ์ตนเองเพิ่มว่าที่ตนไปคุยกับทุกคน เขาก็จะมองประมาณว่าหากลงชื่อไปแล้วมันจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ก็คงดี พร้อมกับตั้งคำถามด้วยว่า คนที่มีอำนาจในการร่างรัฐธรรมนุญจะยอมเขียนในสิ่งที่ประชาชนชนต้องการจริงๆ อยากให้ผู้ที่มีอำนาจคิดถึงรากฐานที่แบบเติบโตขึ้นมาโดยเฉพาะที่มาจากประชาชน ให้มองว่าทุกคนเป็นประชาชน อยากให้แบบมีสังคมที่ดีมากขึ้น ไม่ใช่ว่าคนร่างจะเอาสิ่งที่ตนเองต้องการเท่านั้น ขณะที่ประชาชนเสนออะไรเข้ามาก็ปัดตก ไม่มองจึงอยากฝากให้เขาเหล่านั้นฟังเสียงประชาชนมากขึ้นด้วย

ย้อนดูบุคคลแห่งปี 

ไม่ได้ล่าแค่ในกรุงเทพฯ 

แผนที่จุดที่มีการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อ

ไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ เท่านั้นที่มีกิจกรรมล่ารายชื่อกัน ต่างจังหวัดก็มีเช่นกัน โดยพื้นที่หนึ่งคือ บางแสน จ.ชลบุรี ‘เดียร์’ ลลิตา เพ็ชรพวง อายุ 28 ปี เป็นหนึ่งในผู้ประสานงานในพื้นที่นั้น เล่าว่า ตอนล่ารายชื่อ ตนประสานเครือข่ายที่บางแสน จ.ชลบุรี ติดต่อไปหาพวกร้านค้า คาเฟ่ และบาร์ เพื่อขอนำใบล่ารายชื่อเข้าไปวางให้คนสามารถเข้ามาร่วมลงรายชื่อ นอกจากนี้ เธอยังได้ไปล่ารายชื่อที่ จ.เชียงใหม่ ที่เขาเปิดให้ล่ารายชื่อกัน 24 ชั่วโมง ที่ประตูท่าแพ และมีการนำโต๊ะไปตั้งเพิ่มที่ตลาดถนนคนเดินด้วย

“คนวิ่งเอาเอกสารเอาใบลงทะเบียนเข้ารายชื่อหลายๆ ใบเข้ามาให้เราที่ตั้งจุดอยู่ตอนตีสาม ซึ่งช่วงดึกคนไม่เยอะก็จริง แต่มีมาเรื่อยๆ จนถึงเช้าเลย มีคนเอามาให้เรื่อยๆ เท่าที่คุยกัน เขาเห็นแคมเปญนี้ในออนไลน์ อยากช่วย แต่เขาไม่มีเวลาช่วงกลางวัน เขาก็เลยค่อยขับเข้ามาให้อีกทีหนึ่ง คนทั่วไปที่อยู่แถวนั้น” ลลิตา เล่าปรากฎการณ์ที่ประทับใจระหว่างล่ารายชื่อ

ลลิตา เพ็ชรพวง อายุ 28 ปี

ลลิตา กล่าวถึงความรู้สึกหลังจากยอดผู้มาร่วมลงชื่อเกินเป้าหมาย ว่ามีความหวังมากขึ้นมาก รู้สึกว่าแบบคนในประเทศนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อยู่จริงๆ ทำให้ตนมีแรงที่จะทำให้รัฐบาลเห็นว่า ประชาชนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้จริงๆ และเขาต้องฟังมัน

ลลิตา ย้ำว่า สสร. ต้องมาจากการเลือกตั้ง 100% เนื่องจากมันเป็นเหมือนบทเรียนที่ผ่านๆ มาว่า เมื่อเราเขียนรัฐธรรมนูญที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม มันไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน ได้จริงๆ ดังนั้น ถ้าเราต้องการรัฐธรรมนูญที่ฟังเสียงของประชาชน ประชาชนก็ต้องเป็นคนเขียน สะท้อนความต้องการปัจจุบันของประชาชน

ผู้นำรายชื่อจากโต๊ะที่ร้านลาบ อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ มานำส่งที่จุดนับรายชื่อค่ำวันที่ 25 ส.ค.66

ต่อกรณีหากไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญใหม่ได้ทั้งฉบับและ สสร.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง 100% นั้น ลลิตา กล่าวว่า การแก้ไขไปก่อน มันไม่มีประโยชน์สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มันจะเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่หลายคนไม่เห็นด้วย แต่มีหลายคนออกมาบอกว่าให้ ‘รับๆ’ ไปก่อน อย่างน้อย ก็ได้สักหน่อยหนึ่ง แต่ตอนนี้การรับๆ ไปก่อน มันไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาในประเทศนี้ได้จริงๆ การรับไปก่อน มันไม่ใช้การรับกฎหมายสูงสุดของประเทศนี้ที่ลดทอนสิทธิบางอย่างของเราไปด้วยซ้ำ มันจะนำมาซึ่งการรณรงค์ และส่งเสียง เพื่อเรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกรอบ

ลลิตา ฝากให้ผู้มีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ว่า อยากให้เขาฟังเสียงของประชาชนจริงๆ และประชาชนที่มาร่วมลงชื่อไป 2 แสนกว่าคน เขาใช้ความกล้าหาญมาก และเขาก็ไม่ได้มีเวลาเยอะ แต่เขาก็ยังออกมา เพื่อที่จะบอกว่าเขาต้องการอะไร ก็อยากให้เขาฟังเสียงของประชาชน

คำถามประชามติที่ล่ารายชื่อ

“รัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจกับประชาชนอย่างแท้จริง เอาการบริหารจัดการ เอาการคิดออกแบบการตัดสินใจ กลับไปให้ประชาชนในพื้นที่ของตัวเอง มากกว่ารัฐ อยากให้มีรัฐธรรมนูญรับประกันสิทธิคนทุกคน อยากให้เป็นถ้วนหน้า มากกว่าสงเคราะห์ เพื่อคนยากไร้อย่างเดียว ต้องพิสูจน์ความจนถึงจะได้รับสวัสดิการ หรือสิทธิต่างๆ รัฐธรรมนูญที่ดีควรทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนมันดีขึ้น” ลลิตา กล่าวถึงรัฐธรรมนูญที่ตนคาดหวัง

ภาพบางส่วนการรณรงค์ล่ารายชื่อตามจุดต่างๆ ที่มีผู้โพสต์ในโซเชียลเน็ตเวิร์ค

การจุดประกายในรั้วมหาวิทยาลัยของ นิเทศ จุฬาฯ

ในรั้วมหาวิทยาลัยก็เป็นอีกพื้นที่ในช่วงเวลานั้นที่มีการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อ ฟิซซา อวัน นิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ชั้นปีที่ 2 และเป็นกรรมการนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ และ อภิสิทธิ์ ฉวานนท์ นิสิตคณะเดียวกันชั้นปีที่ 3 ร่วมตั้งโต๊ะล่ารายชื่อในรั้วจุฬาฯ เล่าถึงเหตุผลในการร่วมกิจกรรมนี้ โดย ฟิซซา กล่าวว่า สนใจประเด็นการร่างรัฐธรรมนูญใหม่อยู่แล้ว พอรู้ว่ามีการรวมรายชื่อ คิดว่าการที่จะมีโต๊ะในมหาวิทยาลัยก็เป็นเรื่องที่ดีเหมือนกัน ประจวบเหมาะกับเป็นช่วงเวลาที่คณะนิเทศศาสตร์มีกิจกรรม ‘เซ็นสมุด’ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ให้คนในคณะมานั่งคุยกัน จึงเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีเพราะเป็นช่วงเวลาที่สามารถตั้งโต๊ะให้คนที่มาร่วมกิจกรรมร่วมลงชื่อได้ และตอนนั้น #conforall ยังมีการเปิดให้ลงชื่อในรูปแบบออนไลน์อยู่แต่เราก็เปิดโต๊ะควบคู่ไปด้วย ไม่ใช่ว่าพึ่งมาเปิดตอน กกต. ปัดตกรายชื่อ ตอนนั้นตนคิดว่าการเปิดโต๊ะจะเป็นช่องทางหนึ่งในการประชาสัมพันธ์ให้คนรับรู้ว่า กำลังมีแคมเปญร่างรัฐธรรมนูญใหม่

ภาพโต๊ะล่าชื่อของนิสิตคณะนิเทศ จุฬาฯ

อภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในฐานะของนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เราคิดว่าเรามีทรัพยากรที่ง่ายต่อการตั้งโต๊ะ คือ มีพื้นที่ของคณะ มีโต๊ะ ประจวบกับช่วงหลังที่ กกต. ปัดตกรายชื่อออนไลน์ ทำให้มีคนที่เขาไม่ได้มาลงชื่อกับเราแต่เขารวบรวมรายชื่อในพื้นที่ของเขาแล้วนำมาฝากเราส่งต่อให้ iLaw ซึ่งเราก็อยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ได้เปรียบในแง่ของการเดินทาง อยู่ใกล้ห้างสรรพสินค้า ก็จะมีคนที่มาทำธุระที่ห้างหรือนั่ง MRT มาแปปเดียวก็ถึง นอกจากนั้น เรายังสามารถรวมรายชื่อจากเพื่อนในจุฬาฯ ได้ เลยคิดว่าการตั้งโต๊ะของพวกตนก็เป็นการอำนวยความสะดวกให้คนที่ตั้งใจมาลงชื่อ

สำหรับความประทับใจระหว่างการล่ารายชื่อนั้น อภิสิทธิ์ กล่าวว่า พอนิเทศเริ่มทำก็ทำให้เห็นว่าคณะอื่น ๆ ก็เริ่มมีการตั้งโต๊ะมาบ้าง แบบเกิดมาเป็นดอกเห็ดเลย เช่น คณะรัฐศาสตร์ สหเวชศาสตร์ ฝ่ายสิทธิมนุษยชนสากล องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ (อบจ.) ใต้หอใน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสิ่งเหล่านี้เป็นแรงกระเพื่อมจากการตั้งโต๊ะของนิเทศให้คนอื่น ๆ เห็นว่า นิสิตก็สามารถทำอะไรแบบนี้ได้ มันมากกว่าการลงเชิญชวนให้ไปลงชื่อที่หอศิลป์ คือ ทำในพื้นที่ของตัวเองเลย

ข้อแตกต่างของการล่ารายชื่อออนไลน์กับออฟไลน์นั้น ฟิซซา กล่าวว่า แบบออนไลน์จะไม่ได้ทำให้เราได้เชื่อมร้อย (connect) กับผู้คนเท่าไหร่ แต่การล่าแบบออฟไลน์ทำให้ได้เชื่อมกับคนในชุมชนมากขึ้น เพราะไม่ได้มีแค่นิสิตจากต่างคณะ แต่มีทั้งคนที่บังเอิญและตั้งใจเข้ามาที่สามย่าน แล้วเอารายชื่อ/มาลงชื่อที่นิเทศเพราะรู้ว่ามีจุดตั้งโต๊ะอยู่ที่นิเทศ ส่วนตัวเคยไปทำงานอยู่ที่ Block 28 แล้วคนที่อยู่ใน Block 28 ก็ได้มีการรวมรายชื่อมาให้ที่ร้านร้านหนึ่ง และได้มาถึง 70-80 รายชื่อจากพื้นที่นั้น แล้วเขาก็ขี่สกูตเตอร์เอารายชื่อมาให้เรา เราก็รู้สึกว่ามันน่ารักดี

นอกจากนั้น เราได้เห็นความพยายามมากกว่าการตั้งโต๊ะ คือ บางคนก็อาจไม่ได้ว่างมาตั้งโต๊ะหรือเฝ้าโต๊ะ เขาก็พิมพ์แบบฟอร์มมาแล้วนำให้เพื่อนในชั้นเรียนมาช่วยกันเซ็น พอเซ็นเสร็จก็นำมาให้เรา และมีวันหนึ่งที่เราล่ารายชื่อ ก็มีคนเดินมาหาเราแล้วบอกว่า ขอบคุณนะที่ทำสิ่งนี้ บางคนก็เคยทำเหมือนกันและก็เข้าใจว่ามันเหนื่อยยังไง ทำให้เราได้กำลังใจกลับมา มันก็เป็นหนึ่งในความทรงจำดีๆ เพราะถ้าให้พูดตามตรงจุฬาฯ ก็ไม่ได้ woke แต่พอเราได้เจอคน เราก็ได้รู้ว่ามีคนที่ยังเชื่อในการเปลี่ยนแปลงในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่เหมือนกัน เป็นเรื่องที่จับต้องได้มากขึ้น

จำนวนยอดที่นิสิตคณะนิเทศ จุฬาฯ ประกาศล่ารายชื่อได้

สำหรับกระบวนการจัดทำประชามติและทำรัฐธรรมนูญใหม่ที่รัฐบาลดำเนินการอยู่นั้น อภิสิทธิ์ มองว่า ตอนนี้ #conforall ก็ดูไม่ได้มีความหมายอะไรเลย คือ เหมือนไม่ได้อยู่ในสายตา การพิจารณา ตนไม่เห็นท่าที่การตอบรับหรือแทบไม่ได้ยินคำว่า #conforall ออกจากปากของคนที่มีบทบาทในคณะกรรมการ แต่ก็ต้องพูดตรงๆ ว่า #conforall ไม่ใช่หนทางเดียวสำหรับการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ในขณะเดียวกัน เขาก็ดูมีวิธีของเขา คือ พรรคเพื่อไทย ฝ่ายรัฐบาล คณะกรรมการ ก็มีกระบวนการรับฟังเสียงนักศึกษา เขาก็มีวิธีของเขา แต่ขณะเดียวกันประชาชนก็มีวิธีการของประชาชน สิ่งที่เราอยากให้เพิ่มขึ้นก็คือ อยากให้มีการผสมผสานกันมากกว่านี้ #conforall ควรถูกรับฟังและนำไปปรับใช้ ประชาชนก็อยากเลือกตั้ง สสร. แก้รัฐธรรมนูญทุกหมวดทุกมาตรา และพรรคเพื่อไทยก็คงมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถแก้ทุกหมวดทุกมาตราได้ สิ่งที่คาดหวังคงไม่ใช้ผลลัพธ์สุดท้ายที่เราได้ทั้งหมด แต่ตอนนี้รู้สึกว่ามันทำให้เกิดการที่เรารู้สึกว่าเรื่องพวกนี้ถูกพิจารณาไปแล้ว พยายามทำให้เกิดขึ้นไปแล้ว และถ้าสุดท้ายมันพยายามอย่างถึงที่สุดแล้วได้หรือไม่ได้ เราว่าประชาชนจะเข้าใจ

หากไม่ไม่สามารถจัดทำประชามติอย่างที่ #conforall เสนอนั้น อธิสิทธิ์ กล่าวว่า  ในฐานะที่ตนเป็นนิสิตและคณะกรรมการนิสิต คงทำอะไรได้ไม่มากขนาดนั้น อย่าง #conforall ตนก็ไม่ได้เป็นตัวตั้งตัวตี แค่พยายามช่วย และถ้าเป็นแบบนั้นจริงๆ ก็คงช่วยพยายามส่งเสียงถึงฝ่ายรัฐบาลโดยการรวมเสียงกับเพื่อนนักศึกษาองค์กรอื่น แต่ก็คงต้องรอดูกันต่อไป

ฟิซซา ยืนยันอีกเสียงว่า หากข้อเสนอของ #conforall ไม่สามารถเป็นไปได้ก็น่าสงสัยและน่าจับตาดูว่าทำไมถึงไม่สามารถเป็นไปตามข้อเรียกร้องได้ ตนมองว่า #conforall  มันมีหลักประกันว่ามีคน 200,000 กว่าคน ที่จะคอยจับตาดูเรื่องนี้เหมือนกัน รู้สึกว่าหากรัฐบาลจะทำอะไรมันก็ต้องระวังตัวนิดนึง เพราะประชาชนกำลังจับตามองคุณอยู่ หลักๆ ถ้าไม่เป็นไปตามข้อเรียกร้องเราก็คิดว่า คงมีความพยายามอะไรสักอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะจาก NGO ภาคประชาสังคม ไม่ว่าจะจากประชาชนกลุ่มไหน อาจเป็นนิสิต-นักศึกษาก็ได้ ตนเชื่อว่ามันคงมีความพยายามที่จะให้เป็นไปตามข้อเรียกร้องมากที่สุด

บอร์ด ล่าชื่อ ของนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ

หมายเหตุเพิ่มเติม :

สำหรับรายชื่อ แคนดิเดต บุคคลแห่งปีที่ถูกนำเสนอในกองบรรณาธิการนอกจาก อาสาล่าชื่อทำประชามติ 'เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100%' ที่ได้รับมติแล้ว ยังมีการเสนอชื่อ 'เก็ท โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง' อานนท์ นำภา และ คำผกา ด้วย

โดยเฉพาะ โสภณ แกนนำโมกหลวงริมน้ำ มีการยกเหตุผลในการอภิปรายเพิ่มเติมว่า ตลอด 2 ปีที่ผ่าน นับจากที่เขาเริ่มทำกิจกรรมผู้ถูกบังคับสูญหายที่หน้าทำเนียบรัฐบาล จนถึงปัจจุบัน เก็ท เป็นนักกิจกรรมทางการเมือง ที่ยืนหยัดการเรียกร้องความยุติธรรมทางการเมืองอย่างสม่ำเสมอ และในปี 2566 เก็ท ยังคงออกมาต่อสู้เรียกร้องสิทธิประกันตัวในเรือนจำ ร่วมกับตะวัน และ แบม โดยการใช้วิธีอดนอน ร่วม 14 วัน 336 ชั่วโมง จนได้รับผลกระทบทางสุขภาพร่างกาย

หลังจากได้รับสิทธิประกันตัว โสภณ ยังมีบทบาทในการณรงค์แก้ไขมาตรา 112 และเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับ 'หยก' ธนลภย์ เยาวชนผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 และถูกคุมตัวที่สถานพินิจ จ.นครปฐม เป็นเวลาร่วม 2 เดือน แม้ว่าห้วงสังคมอยู่ในกระแสการเรียกร้องด้านสิทธิมนุษยชน ไม่ดังเท่าปี 2563-2564

ช่วงก่อนและหลังการเลือกตั้ง สส.เมื่อ 14 พ.ค. 2566 โสภณ ออกมารณรงค์เรียกร้องให้ สว. โหวตนายกฯ ตามเสียงข้างมากของประชาชน และเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทย จับมือตั้งรัฐบาลกับพรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม แม้โสภณ ถูกศาลตัดสินจำคุก มาตรา 112 และ พ.ร.บ.เครื่องเสียงฯ เป็นเวลา 3 ปี 6 เดือน ปมจากการปราศรัยในกิจกรรมทัวร์มูล่าผัว และไม่ได้รับการประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ แต่โสภณ ยังคงต่อสู้ในเรือนจำ โดยการปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม และเปิดปฏิบัติการนั่งหันหลังให้กับผู้พิพากษาศาล ระหว่างการสืบพยานคดี เพื่อสะท้อนความผิดปกติของกระบวนการยุติธรรม

นอกจากบทบาทข้างต้น โสภณ ยังทำงานร่วมกับสหภาพคนทำงาน ซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวผลักดันสิทธิแรงงานในสังคมไทย นอกเหนือจากที่สื่อมวลชนรายงาน เก็ท มีบทบาทด้านนักกิจกรรมที่เชื่อมร้อยประสานกับนักกิจกรรมชาวเมียนมาที่ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศอีกด้วย ดังนั้น ด้วยจุดเริ่มต้นในฐานะนักกิจกรรมตั้งแต่ปี 2564 ที่ออกมาผลักดันและพูดเรื่องการบังคับสูญหายที่หน้าทำเนียบรัฐบาล จนถึงปัจจุบัน นับเวลาร่วม 2 ปี โสภณ ให้ความสำคัญในด้านสิทธิมนุษยชนเสมอมา โดยไม่แบ่งแยก สัญชาติ หรือเชื้อชาติใดๆ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net