Skip to main content
sharethis

สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบผ่านร่างกฎหมาย 'สมรสเท่าเทียม' 400 เสียง เตรียมส่งให้ สว. พิจารณาต่อ คณะ กมธ. เสียงข้างน้อยดันขอเพิ่มคำว่า "บุพการีลำดับแรก" นอกเหนือจากคำว่า “บิดา มารดา” เข้าไปในกฎหมายเพื่อให้สิทธิคู่สมรส LGBTQ+ แต่ที่ประชุมสภาปัดตกในประเด็นนี้

 

27 มี.ค. 2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติผ่านร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ทั้งฉบับในวาระที่ 3 ด้วยมติเห็นชอบ 400 เสียง ไม่เห็นชอบ 10 เสียง งดออดเสียง 2 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 3 เสียง มุ่งปรับแก้บทบัญญัติรับรองสิทธิการหมั้น - สมรส

ขั้นตอนต่อไปเตรียมส่งร่างกฎหมายฉบับนี้ให้ สว. พิจารณาต่อ หากผ่านชั้นของวุฒิสภา เตรียมนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป

ทั้งนี้ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเสร็จแล้ว โดยมีสาระสำคัญเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติบางประการในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อรองรับให้บุคคลเพศเดียวกันสามารถหมั้นและสมรสกันได้ ซึ่งจะทำให้สิทธิ หน้าที่ และสถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกับคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง ที่ประชุมพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวในวาระที่ 2 โดยเริ่มตั้งแต่ชื่อร่าง คำปรารภ และเรียงลำดับมาตราจนจบร่างมีทั้งสิ้น 68 มาตรา ส่วนมาตราที่มีการปรับแก้ไข อาทิ มาตรา 5 แก้ไขมาตรา 1435 วรรค 1 โดยกำหนดอายุการหมั้นสามารถทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์แล้ว จากเดิมที่กำหนดไว้ 17 ปีบริบูรณ์ และคณะกมธ. ได้เพิ่มบัญญัติใหม่อีก 1 มาตรา เพื่อกำหนดให้บทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่งใด ๆ ให้ถือว่าอ้างถึงคู่สมรสที่จดทะเบียนตามกฎหมายฉบับนี้ เพื่อลดภาระให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ในการแก้ไขกฎหมาย และบัญญัติให้หน่วยงานรัฐทบทวนกฎหมายต่าง ๆ ที่ต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน 180 วัน

คณะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ดันขอเพิ่มคำว่า "บุพการีลำดับแรก" นอกเหนือจากคำว่า “บิดา มารดา” เข้าไปในกฎหมายเพื่อให้สิทธิคู่สมรส LGBTQ+ แต่ที่ประชุมสภาปัดตกในประเด็นนี้ คณะกรรมาธิการเสียงข้างมาก อธิบายว่า การกำหนดบุพการีลำดับแรกเป็นคำใหม่ที่ไม่เคยบัญญัติในกฎหมาย และไม่มีการให้คำนิยาม จึงอาจเกิดผลกระทบในการบังคับใช้ได้ เป็นเรื่องที่น่ากังวลที่จะกระทบต่อกฎหมายทั้งหมดของประเทศ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net