Skip to main content
sharethis

เครือข่ายรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม แถลงข้อเสนอรัฐบาลไทยและ 175 ประเทศที่มีส่วนร่วมกับการร่างสนธิสัญญาพลาสติกโลก โดยมีหลักสำคัญคือนโยบายควบคุมตลอดวงจรพลาสติก ต้องมีการกำหนดเป้าหมาย กรอบระยะเวลา มีระบบกลไกทางเงินที่ยั่งยืน เพื่อบรรลุเป้าหมายโลกที่ไร้มลพิษจากพลาสติก 

 

25 มี.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (25 มี.ค.) เวลาประมาณ 14.00 น. ที่ Creative Space ณ สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน เขตราชเทวี กรุงเทพฯ องค์กรภาคประชาสังคมเพื่อยุติมลพิษพลาสติกจากหลากหลายมิติในประเทศไทย ประกอบด้วย มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation - EJF) กรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) และมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ร่วมกันจัดงานเสวนาหัวข้อ "สนธิสัญญาพลาสติกโลก สู่การยุติมลพิษพลาสติก สำคัญอย่างไรต่อสังคมไทย"

บรรยากาศกิจกรรมวันนี้ก่อนเข้าสู่วงเสวนา จะมีการทำความเข้าใจเบื้องต้นให้เห็นความสำคัญและที่มาที่ไปของสนธิสัญญาพลาสติกโลก โดยปุญณธร จึงสมาน นักวิจัยด้านนโยบายพลาสติกจาก EJF

ที่มาที่ไปของสนธิสัญญาพลาสติกโลก 

ปุญณธร กล่าวว่า ที่มาที่ไปของสนธิสัญญาพลาสติกโลกมาจากมลพิษจากขยะพลาสติกปัจจุบันกำลังคุกคามโลก ทั้งไมโครพลาสติกที่เข้าไปในร่างกาย การเผาขยะพลาสติกก็ทำให้เกิดมลพิษได้เหมือนกัน แม้กระทั่งสารเคมีที่ใช้ในพลาสติก ก็ส่งผลกระทบต่อเด็กและประชาชนได้ และด้วยเหตุนี้เมื่อ 2 มี.ค. 2565 การประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 5 (UNEA 5)  ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา ได้มีมติเห็นชอบร่วมกันกับสมาชิก 175 ประเทศ ให้มีการจัดทำมาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษจากพลาสติก รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยตั้งเป้าให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 การร่างสนธิสัญญาที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย (legally binding) มุ่งเน้นแนวทางการจัดการพลาสติกที่ครอบคลุมและ "ตลอดวงจรชีวิต" อยากเน้นตรงนี้ 

ปุญณธร กล่าวว่า คำว่า "ตลอดวงจรชีวิต" คือตั้งแต่ขั้นตอนการขุดเจาะ เพราะพลาสติกส่วนใหญ่มาจากน้ำมัน หรือในกรณีพลาสติกที่ผลิตจากพืช การปลูกพืชหรือ้อยก็เป็นขั้นแรกของการผลิตเช่นกัน ต่อมา การควบคุมปริมาณการผลิตและการขนส่งเม็ดพลาสติก การจำหน่ายการใช้งาน อุปกรณ์มือถือมีชิ้นส่วนพลาสติก และเห็นภาพคือการจัดการมลพิษ หรือการฝังกลบ และอื่นๆ ดังนั้น สนธิสัญญานี้จะจัดการพลาสติกตั้งแต่ต้นจนจบ 

อย่างไรก็ตาม  ขั้นตอนจนกว่าการจัดทำสนธิสัญญาจะแล้วเสร็จนั้น คณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาล (INC) จะต้องเจรจาผ่านการประชุม 5 รอบ โดยผลการประชุมครั้งที่ 2 (INC-2) ได้มีการปล่อยร่างเอกสารฉบับแรกออกมา (Zero Draft) และในการประชุมครั้งที่ 3 (INC-3) ที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อ ธ.ค. 2566 ได้มีการเผยแพร่ร่างสนธิสัญญาฉบับแรกที่เป็นฉบับปรับปรุง (Revised Zero Draft) ซึ่งเป็นร่างที่น่าจับตามอง เนื่องจากมีการถกเถียงกันเยอะระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ยกตัวอย่าง บริษัทด้านปิโตรเคมีก็จะไม่เห็นด้วยกับมาตรการที่เข้มงวด เนื่องจากจะทำให้เขาเสียประโยชน์ ขณะที่ประเทศกลุ่มเอเชียแปซิฟิก และแอฟริกา ถือเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษพลาสติกก็อยากให้มีการบังคับใช้อย่างเข้มงวด ซึ่งปัจจุบันยังตกลงกันไม่ได้ และจะนำมาคุยกันใน INC-4 ที่เมืองออตตาวา ประเทศแคนาดา ในระหว่างวันที่ 23-29 เม.ย. 2567  ซึ่งจะเป็นการเจรจาก่อนการเจรจารอบสุดท้าย (INC-5) ที่มีความสำคัญและเป็นที่คาดหวังว่าเอกสารร่างสนธิสัญญาจะต้องแล้วเสร็จและจะกลายเป็นร่างฉบับแรก (First Draft) และปี 2568 จะเปิดให้มีการลงนามสนธิสัญญาพลาสติกโลกดังกล่าว 

ทั้งนี้ เงื่อนไขหลักในการที่ประเทศต่างๆ จะให้สัตยาบันได้ คือการมีกฎหมายในประเทศที่สอดรับกับสนธิสัญญาฯ ซึ่งก็ต้องการเจตจำนงจากคณะรัฐมนตรี 

มาตราไหนที่เราต้องสนใจ

นักวิจัยนโยบายพลาสติก กล่าวว่า ปัจจุบัน แม้ว่าสนธิสัญญาฯ ยังเป็น ‘zero draft’ หรือร่างเอกสารฉบับแรก แต่มีมาตราไหนที่ควรจับตามองบ้าง 1. การลดการใช้พลาสติก 2. เลิกผลิตและใช้พลาสติกบางประเภท 3. การเลิก/ลดสารเคมีแต่งเติมในพลาสติก 4. การกำหนดมาตรการเป้าหมายการรีไซเคิลพลาสติก และการควบคุมอันตรายจากการรีไซเคิล 5. การใช้พลาสติกทางเลือก อย่างพลาสติกจากการเกษตร หรือพลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ซึ่งยังเป็นข้อถกเถียงว่าจะเป็นทางออกของการแก้ไขมลพิษจากพลาสติกหรือไม่

6. ตั้งเป้าการจัดระบบใช้ซ้ำ การเติม และการซ่อมแซมสิ่งต่างๆ 7. การขยายความรับผิดชอบต่อผู้ผลิตพลาสติก (EPR) 8. การจัดการขยะ และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม 9. การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม คือเราจะทำให้การเปลี่ยนผ่านสู่โลกที่ไร้มลพิษพลาสติกเป็นธรรมกับทุกภาคส่วนที่จะมีส่วนเกี่ยวข้องเข้าถึงได้ 

อ่านแถลงการณ์

กำหนดการต่อมา เป็นเวทีเสวนาหัวข้อ "สนธิสัญญาพลาสติกโลกสู่การยุติมลพิษพลาสติก สำคัญอย่างไรต่อสังคมไทย" ซึ่งมีองค์กรภาคประชาสังคมจากหลายภาคส่วนร่วมสะท้อนความหวังถึงสนธิสัญญาพลาสติกโลกนี้ควรมีหน้าตา หรือมีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง เพื่อทำให้เกิดโลกที่ไร้มลพิษจากพลาสติกได้จริง 

ต่อมา องค์กรภาคประชาสังคมเพื่อยุติมลพิษพลาสติกจากหลากหลายมิติในประเทศไทย ประกอบด้วย EJF กรีนพีชฯ และบูรณะนิเวศ ได้ร่วมอ่านแถลงการณ์ โดยมีข้อเสนอถึงประเทศไทยให้ร่วมกับ 175 ประเทศ ร่วมร่างสนธิสัญญาพลาสติกโลก ที่มีการกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน มีการใช้ระบบกลไกการเงินที่โปร่งใสยั่งยืน และเป็นธรรม เปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการบรรลุเป้าหมายทั้ง 10 ประการ รายละเอียดดังนี้ 

  1. ลดการผลิตพลาสติกอย่างจริงจัง ยกเลิกการผลิตและการใช้พลาสติกที่เป็นปัญหา จัดการได้ยาก สามารถหลีกเลี่ยงการใช้ได้ 
  2. กำหนดให้มีการเลิกใช้สารเคมีอันตรายตลอดวงจรชีวิตของพลาสติก พิจารณาการใช้สารเคมีทดแทนที่ปลอดภัยและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
  3. กำหนดให้มีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการลดการใช้พลาสติก การใช้ซ้ำ การเติม การซ่อมแซม ที่มีมาตรฐาน ปลอดภัย และเข้าถึงได้โดยมนุษย์ทุกคน 
  4. กำหนดให้มีการพัฒนากฎหมายการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility: EPR) ที่ครอบคลุมตลอดวงจรชีวิตของพลาสติกและค่าความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม 
  5. กำหนดให้ผู้ผลิตพลาสติกรายงานข้อมูลสารเคมีในวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการรายงานข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายสารเคมีและมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลาสติก สู่สาธารณะ
  6. กำหนดให้มีมาตรฐานสากลในการจัดการพลาสติกที่ใช้แล้ว ที่ให้ความสำคัญกับการลดพลาสติกแต่ต้นทาง การห้ามเผาขยะพลาสติก การกำหนดมาตรฐานการจัดการขยะที่เข้มงวด รวมไปถึงการรีไซเคิลและการผลิตพลังงาน และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน
  7. ไม่สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่ผิดทาง รวมไปถึงการรีไซเคิลสกปรก (1) การขยายโรงไฟฟ้าขยะ และพลาสติกทางเลือกที่ก่อให้เกิดปัญหาอื่น
  8. ไม่สนับสนุนการเคลื่อนย้ายพลาสติกใช้แล้วข้ามพรมแดน และการส่งออกเทคโนโลยีที่ก่อมลพิษ อันเป็นการผลักภาระมลพิษไปยังประเทศกำลังพัฒนา 
  9. กำหนดให้มีการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการเยียวยาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษพลาสติก
  10. กำหนดให้มีการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม โดยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน รวมไปถึง ชุมชนผู้ได้รับผลกระทบทั้งในด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ผู้ปฏิบัติงานและแรงงานที่เกี่ยวข้องกับพลาสติก เข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบอนาคตที่ปลอดมลพิษพลาสติก โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

(1) "การรีไซเคิลสกปรก" หมายถึงการรีไซเคิลของเสียและวัสดุที่ไม่ใช้แล้วโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพและสังคม ไม่คำนึงถึงหลักการบริหารจัดการทางสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ดี (Environmentally and Socially Sound Management) ก่อให้เกิดมลพิษและละเมิดสิทธิมนุษยชน และหมายรวมถึงการที่ประเทศที่พัฒนาแล้วส่งออกของเสียมารีไซเคิลในประเทศที่กำลังพัฒนา อันเป็นการลดต้นทุนในการบริหารจัดการของเสียในประเทศของตนด้วยการผลักภาระมลพิษมายังกลุ่มประเทศที่มีเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานในการจัดการของเสียที่ยังด้อยกว่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net