Skip to main content
sharethis

พรรคก้าวไกลยื่นร่าง 'พ.ร.บ.ภาพยนตร์' เข้าสภา ปรับโครงสร้างคณะกรรมการภาพยนตร์ให้ยึดโยงกับคนทำหนัง ตัดอำนาจการสั่งห้ามฉาย ย้ำซอฟต์พาวเวอร์จะเกิดไม่ได้หากภาพยนตร์ยังไร้เสรีภาพ - หวังทุกพรรคร่วมดัน 'บำนาญถ้วนหน้า' เพิ่มรายได้ผู้สูงอายุจากหลักร้อยเป็นหลักพันให้สำเร็จในปีนี้

ทีมสื่อพรรคก้าวไกลแจ้งข่าวเมื่อวันที่ 29 ก.พ. 2567 ที่ห้องแถลงข่าวรัฐสภา พรรคก้าวไกล นำโดย อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล สส.บัญชีรายชื่อ, สิริลภัส กองตระการ สส.กรุงเทพฯ, กรุณพล เทียนสุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ, เเละ นนท์ ไพศาลลิ้มเจริญกิจ สส.นนทบุรี ร่วมแถลงข่าวยื่นร่าง “พ.ร.บ.ภาพยนตร์” เข้าสู่สภาฯ

อภิสิทธิ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลได้จับตาสถานการณ์เสรีภาพในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยมาโดยตลอด ซึ่งมีหลายกรณีที่น่ากังวล เช่นกรณีการสั่งห้ามฉายภาพยนตร์เรื่อง “เชคสเปียร์ต้องตาย” ที่ทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์ต้องใช้เวลานับ 10 ปีในการต่อสู้ฟ้องร้องในศาลปกครอง จนในท้ายที่สุดก็ชนะคดี นี่คือหนึ่งในอีกหลายกรณีที่สะท้อนภาพการจำกัดสิทธิในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ โดยสาเหตุหนึ่งเป็นเพราะ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 จำกัดสิทธิคนทำงานในอุตสาหกรรมฯ อย่างเข้มงวดหลายเรื่อง

ด้วยเหตุนี้ พรรคก้าวไกลจึงยื่นเสนอร่าง พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฉบับใหม่เพื่อให้สภาฯ พิจารณา โดยมีสาระสำคัญคือ การปรับโครงสร้างของคณะกรรมการภาพยนตร์ ซึ่งจากเดิมส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ เปลี่ยนเป็นให้คนที่ทำงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์มานั่งเป็นคณะกรรมการแทน นอกจากนี้ยังมีการลดอำนาจของคณะกรรมการฯ ในการสั่ง “ห้ามฉาย” ภาพยนตร์ รวมถึงการปรับรูปแบบการจัดระดับความเหมาะสม (เรตติ้ง) จากเดิมที่เรตสูงสุดคือการกำหนดผู้ชมอายุ 20 ปีขึ้นไป ปรับเป็นเรตสูงสุดคืออายุ 18 ปีขึ้นไป

อภิสิทธิ์กล่าวต่อไปว่า พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฉบับพรรคก้าวไกลยังมีการปรับรายละเอียดอื่น ๆ เช่น การลดบทบาทการควบคุมจากรัฐสำหรับกองถ่ายที่เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย จากเดิมต้องขอตรวจบทและตรวจรายละเอียดอย่างเข้มงวด เปลี่ยนเป็นเพียงแค่การยื่นจดแจ้งแทน ส่วนกรณีโรงภาพยนตร์ จากเดิมกำหนดว่าโรงภาพยนตร์ทุกประเภทต้องขอใบอนุญาตในการทำกิจการ พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดให้โรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก หรือโรงภาพยนตร์ชุมชนขนาดไม่เกิน 50 ที่นั่งใช้เพียงแค่การจดแจ้งเท่านั้น ไม่ต้องขออนุญาต

ด้านสิริลภัส กล่าวว่า ถือเป็นสัญญาณที่ดีของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่มีร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เกิดขึ้น เนื่องจากตนได้มีโอกาสเข้าไปพูดคุยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ทั้งสมาพันธ์ภาพยนตร์ ผู้กำกับ และนักแสดง ทุกคนต่างสะท้อนว่าต้องการสร้างสรรค์ผลงานในมิติและมุมมองที่หลากหลาย แต่หลาย ๆ ครั้งความคิดสร้างสรรค์ก็ถูกจำกัดไว้เพราะกลัวถูกเซ็นเซอร์จากคณะกรรมการภาพยนตร์ พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเข้ามาแก้ไขโดยลดเพดานของการเซ็นเซอร์ลงมา ทำลายขีดจำกัดในการนำเสนอและสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งจะทำให้ภาพยนตร์ไทยมีความหลากหลายมากขึ้น

ขณะที่กรุณพล กล่าวว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะช่วยส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ได้อย่างแท้จริง เพราะซอฟต์พาวเวอร์จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่ออุตสาหกรรมสร้างสรรค์มีเสรีภาพ แต่ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า ภาพยนตร์ไทยที่เกี่ยวข้องกับศาสนาหรือกระบวนการยุติธรรมมักจะไม่ได้รับอนุญาตให้ฉาย ซึ่งถือเป็นการลดทอนคุณค่าของงานสร้างสรรค์

“เราต้องเชื่อในวิจารณญาณของทุกคนในการตัดสินใจ และต้องเชื่อว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศไทยดีขึ้น รับรู้และเชื่อในอำนาจของประชาชนมากขึ้น” กรุณพลกล่าว

หวังทุกพรรคร่วมดัน “บำนาญถ้วนหน้า” เพิ่มรายได้ผู้สูงอายุจากหลักร้อยเป็นหลักพันให้สำเร็จในปีนี้

ด้าน ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กรุงเทพฯ เขต 27 พรรคก้าวไกล ในฐานะประธาน กมธ.สวัสดิการสังคม กล่าวในการนำเสนอรายงานผลการพิจารณาเรื่องสิทธิบำนาญพื้นฐานประชาชน ต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า ประเด็นการปรับเกณฑ์บำนาญประชาชนเป็น 3,000 บาทถ้วนหน้า เคยมีการเสนอเข้ามาในช่วงก่อนยุบสภาชุดที่แล้ว แต่หลังยุบสภาประเด็นนี้เงียบหายไป ซึ่งในสภาชุดนี้ กมธ.สวัสดิการสังคม เห็นถึงความสำคัญของปัญหาเพราะปัจจุบันจำนวนผู้สูงอายุในสังคมไทยยังคงสูงขึ้นเรื่อยๆ เป็น 12 ล้านคน สวนทางกับรายได้และสภาวะเศรษฐกิจ จึงหยิบยกมาศึกษาหาแนวทางปรับเกณฑ์บำนาญพื้นฐานเพิ่ม โดยไม่มีธงระบุว่าบำนาญพื้นฐานควรจะเป็นเท่าไร

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2554 ถึงปัจจุบันไม่เคยมีการพูดถึงการปรับเกณฑ์เลย ยังคงอยู่ที่ 600, 700 และ 800 บาท แบบขั้นบันไดมาตลอด จนมาสู่รายงานฉบับนี้ที่ทุกพรรคการเมืองใน กมธ.มาพูดคุยกันด้วยเป้าเดียวกันว่า ต้องปรับเกณฑ์จากหลักร้อยเป็นหลักพันให้ได้ ส่วนควรเป็นเท่าไร บริหารจัดการอย่างไร พวกเราอยากให้เป็นผลงานของรัฐสภาชุดนี้ในการพิจารณาร่วมกันทำเป้าหมายนี้ให้สำเร็จ โดยรายงานฉบับนี้ศึกษาการปรับเกณฑ์บำนาญแล้ว ข้อเสนอเบื้องต้นอยู่ที่ 1,200 บาทถ้วนหน้าซึ่งจะไม่กระทบงบของหน่วยงานใดเลย

“ผมเชื่อว่าพี่น้องประชาชนคงส่งเสียงผ่านมายัง สส.ทุกคน ในที่นี้เหมือนกันว่าทุกวันนี้ลำบากเหลือเกิน วันนี้เสียงสะท้อนนี้จะได้สะท้อนในที่ประชุมเพื่อหาทางออกร่วมกันในการส่งรายงานฉบับสมบูรณ์ไปยังคณะรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีจะได้จารึกในประวัติศาสตรว์ว่าท่านเป็นคนปรับเกณฑ์บำนาญผู้สูงอายุจากหลักร้อยเป็นหลักพันในปี 67”

“การอภิปรายของผมในวันนี้ขอปลดตัวเองจากทุกอย่าง ไม่มีพรรคการเมือง และไม่มีธงเพื่อปรับเกณฑ์รายได้ให้พี่น้องประชาชนให้ได้ ผมจึงนำเสนอร่างนี้ 1,200 บาท แม้ก่อนหน้านี้ทุกคนอาจจะได้ยินการหาเสียงของผมในการผลักดันบำนาญถ้วนหน้า 3,000 บาทมาตลอด ดังนั้น เสนอเสร็จทัวร์ลงแน่ แต่ต้องยอมเพราะบันไดก้าวแรกเล็กๆ ตรงนี้จะเป็นก้าวที่สำเร็จในอนาคต ผมยอมเพราะจะเป็นก้าวแรกให้ประชาชนมีรายได้ใหม่ได้เร็วที่สุด”

ณัฐชา กล่าวทิ้งท้ายว่า หลังการอภิปรายในวันนี้ อยากให้เพื่อนสมาชิกกลับไปที่เขตของท่าน บ้านของท่านเพื่อพูดคุยให้เป็นเสียงเดียวกันอย่างตกผลึกในสังคมว่าบำนาญพื้นฐานประชาชนคือก้าวแรกในการเพิ่มขึ้นของรายได้ผู้สูงอายุ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net