Skip to main content
sharethis

ย้อนประวัติศาสตร์การใช้พื้นที่ 'สนามหลวง' 4 ยุค คือ ยุคสถาปนากรุงเทพฯ ในชื่อ 'ทุ่งพระเมรุ' ยุครัชกาลที่ 5 ครั้งแรกของเปิดให้ประชาชนใช้พื้นที่ ยุคสนามราษฎร และยุคสนามหวงและการช่วงชิงความหมาย

สมัยทุ่งพระเมรุ รัชกาลที่ 1-4 

รายการประวัติศาสตร์นอกตำรา ตอน ""สนามหลวง" พื้นที่ชีวิตบนซอกหลืบประวัติศาสตร์" ตอนที่ 157 ออกอากาศเมื่อ 11 ต.ค. 2565 ผ่านช่องทางยูทูบ ได้มีการนำเสนอประวัติศาสตร์ และพลวัตรการใช้พื้นที่สนามหลวง ตั้งแต่ยุคการก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ยุครัชกาลที่ 5 ยุคคณะราษฎร และปัจจุบัน 

ประวัติโดยคร่าวของ 'สนามหลวง' ถูกสร้างขึ้นพร้อมการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เมื่อ พ.ศ. 2325 ขนาดปัจจุบัน 74 ไร่ 63 ตารางวา ตั้งอยู่ทิศเหนือของพระบรมมหาราชวัง หรือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) สนามหลวงสมัยก่อนไม่เหมือนกับปัจจุบัน เพราะมีขนาดเล็กกว่าครึ่งหนึ่ง และไม่ได้เป็นลักษณะ 'วงรี' รูปไข่ แต่เป็นลักษณะรูปร่างสี่เหลี่ยมคางหมู ทางด้านทิศเหนือของสนามหลวง เคยเป็นพื้นที่ของวังหน้า หรือพระราชวังบวรสถานมงคล เหตุที่ทราบนั้นเพราะมีการขุดค้นพบกระสุนปืนใหญ่ และปืนใหญ่จำนวนมาก

ธงทอง จันทรางศุ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ระบุในรายการ 'ประวัติศาสตร์นอกตำรา' ว่า สันนิษฐานว่า การสร้างสนามหลวงน่าจะได้รับอิทธิพลรูปแบบมาจาก "สนามหน้าจักรวรรดิ" พระราชวังหลวงกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 1893-2310) เพื่อทำพิธีพระเมรุ และอื่นๆ  ทำให้ ‘สนามหลวง’ แต่เดิมเป็นพื้นที่สำหรับประกอบพระราชพิธีที่สืบทอดมาจากสมัยอยุธยา นอกจากนี้ ด้วยความที่สนามหลวงถูกใช้ในงานออกพระเมรุของสถาบันพระมหากษัตริย์ และชนชั้นสูง ทำให้หลายคนรู้จักสนามหลวงในชื่อ "ทุ่งพระเมรุ" ทีนี้ก็มีคำถามต่อว่า ถ้าเป็นศพของไพร่เขาจะทำอย่างไร รายการประวัติศาสตร์นอกตำรา ระบุว่า เขาจะเอาศพไพร่ออกทางด้านประตูผี (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น 'สำราญราษฎร์') และนำไปทำพิธีฌาปนกิจที่วัดสระเกศ

รัชกาลที่ 5 ครั้งแรกที่เปิดให้ประชาชนใช้

เวลาผ่านไปจนปี พ.ศ. 2398 รัชกาลที่ 5 หรือสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการเปลี่ยนชื่อจากเดิม "ทุ่งพระเมรุ" เป็น "ท้องสนามหลวง" เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้ทำกิจกรรมและพระราชพิธีมากยิ่งขึ้นกว่าสมัยก่อน และชื่อ 'ทุ่งพระเมรุ' ไม่เป็นมงคล โดยมีบันทึกว่า หากใครฝ่าฝืนเรียกท้องสนามหลวงว่า "ทุ่งพระเมรุ" จะถูกตำรวจจับ และปรับสินไหม เพื่อเป็นการลงโทษ

ปี พ.ศ. 2428 ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้สนามหลวงมีการเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพ โดยรัชกาลที่ 5 มีคำสั่งยกเลิกตำแหน่งมหาอุปราชวังหน้า และมีการลดพื้นที่เขตวังหน้าลง โดยการรื้อกำแพงพระราชวังบวรด้านเหนือออก ประจวบเหมาะกับรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้อาณานิคมของ เนเธอร์แลนด์ สมเด็จพระจุลจอมเกล้าประทับใจสวนอลุน-อลุน หน้าพระราชวังสุลต่าน เมืองยอร์กจาการ์ตา จึงนำมาปรับปรุงพื้นที่ท้องสนามหลวง โดยมีการขยายพื้นที่เป็นสนามวงรีอย่างที่เห็นปัจจุบัน และนำต้นมะขามมาปลูกตกแต่งรอบๆ

ช่วงเวลานี้มีความเปลี่ยนแปลงเรื่องการใช้งานสนามหลวง โดยรัชกาลที่ 5 ได้เปลี่ยนจากแต่เดิมถูกใช้เพื่องานในพระราชพิธี ให้มีการใช้เป็นลานกิจกรรมสำหรับเจ้าขุนมูลนาย และประชาชนในบางโอกาส หนึ่งในกิจกรรมที่ประชาชนนิยมเล่นในสนามหลวงคือการเล่นว่าว ได้รับความนิยมจนมีประเพณีแข่งเล่นว่าวระหว่างว่าวจุฬา และว่าวปักเป้า ความนิยมของการเล่นว่าวสะท้อนผ่านกฎหมาย และคำเตือนถึงประชาชนว่า ระวังสายป่านว่าวไปเกี่ยวพันตัวอาคารหรือยอดปราสาท 

"นี่อาจเป็นภาพของพื้นที่สาธารณะยุคแรกเริ่มที่อนุญาตให้สามัญชน เข้าใช้ท้องสนามหลวงในบางโอกาสได้ โดยไม่จำกัดเพียงสถานะของการเป็นมณฑลของการประกอบพระราชพิธี อย่างที่เคยเข้าใจ และจดจำกันเรื่อยมา" ผู้บรรยายรายการ "ประวัติศาสตร์นอกตำรา" ระบุ

แฟ้มภาพ การแข่งขันว่าวในสมัยรัชกาลที่ 5 (ที่มา: สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

สู่ 'สนามราษฎร' สมัยปฏิวัติ 2475 

24 มิ.ย. 2475 กลุ่ม 'คณะราษฎร' ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปสู่ระบอบ 'ประชาธิปไตย' และได้ทำการเปลี่ยนจาก 'สนามหลวง' เป็น 'สนามราษฎร'

สนามหลวงในฐานะพื้นที่สาธารณะ หรือสนามราษฎร เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงนี้หลังจากรัฐบาลนำโดย พระยาพหลพลพยุหเสนา ปีกทหารของคณะราษฎร จัดพิธีปลงศพทหาร-ตำรวจที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดช 17 นาย เมื่อปี 2476 ถือเป็นครั้งแรกที่มีการสร้างพระเมรุปลงศพราษฎรบนท้องสนามหลวง

ชาตรี ประกิตนนทการ ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมยุคคณะราษฎร ให้สัมภาษณ์ในรายการประวัติศาสตร์นอกตำรา ระบุว่า การสร้าง 'พระเมรุของสามัญชน' ใน 'สนามหลวง' ถือเป็นสัญลักษณ์ของการทำลายรูปแบบระบบระเบียบกติกาที่แบ่งแยกชนชั้นผู้คนในสนามหลวง ตัวรูปแบบสถาปัตยธรรมของพระเมรุใช้ เป็นรูปบบสถาปัตยกรรมใหม่ หรือเป็น 'อาร์ตเดโก' (Arts Deco) แบบคณะราษฎร จุดเด่นคือตัวสถาปัตย์พื้นผิวเรียบเกลี้ยง ไม่มีลวดลาย อีกทั้งมีการนำโรงศพของทหารตำรวจ 17 นายมาล้อมรอบ 'พานรัฐธรรมนูญ' ซึ่งไม่มีใครเคยมีการทำมาก่อน 

ในปี 2477 ยังมีการงานเฉลิมฉลองที่ให้ราษฎรได้มีส่วนร่วมบนพื้นที่สนามหลวง เช่น การจัดงานฟุตบอลเหล่าทัพ การแข่งขันฟุตบอลประเพณีระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ครั้งแรก การจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญเป็นประจำทุกปี การจัดงานประกวดประณีตศิลปกรรม การประกวดนางสาวสยาม และอื่นๆ

"ด้วยลักษณะความหลากหลายของกิจกรรม แชร์การใช้ร่วมกันบางอย่าง ไม่มีใครมีอภิสิทธิ์มากกว่าหรือน้อยกว่า ทุกคนสามารถเข้าใช้พื้นที่นี้ได้ ผมจึงเสนอว่าสนามหลวงจึงเริ่มเปลี่ยนกลายเป็นที่พับลิกสเปซ (พื้นที่สาธารณะ) เพราะฉะนั้น สนามหลวงในฐานะ 'เจ้าของ' หลัง 2475 ก็คือรัฐ …รัฐหลัง 2475 ก็คือประชาชน เพราะฉะนั้น สนามหลวงจึงเป็นพื้นที่ของประชาชน" ชาตรี กล่าวในรายการ 'ประวัติศาสตร์นอกตำรา'

จอมพล ป. สมัย 2: จุดเริ่มต้นตลาดนัดสนามหลวง เวทีไฮปาร์ก

ข้อมูลจากรายการประวัติศาสตร์นอกตำรา ระบุต่อว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2 (พ.ศ. 2490-2500) ประเทศไทยขณะนั้นประสบปัญหาเศรษฐกิจและขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรงซึ่งเป็นผลจากสงคราม จอมพล ป. จึงเปิดให้ประชาชนเอาสินค้าเข้ามาขายในท้องสนามหลวง จนได้รับความนิยมมากและพัฒนาเป็น 'ตลาดนัดสนามหลวง' ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปี 2501

นอกจากเป็นตลาดค้าขายสินค้า สนามหลวงยังเปิดให้ประชาชนเข้ามาไฮปาร์ก (Hype Park) ปราศรัยแสดงออกทางการเมือง จนมีการขนานนามว่าเป็น 'สภาประชาชน' และได้เกิดการดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพครั้งแรก โดยผู้ถูกดำเนินคดีคือ สง่า เนื่องนิยม จากกรณีไฮปาร์กกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 หรือพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลฯ

อย่างไรก็ตาม เวทีไฮปาร์กสนามหลวงถูกปิดตัวในปี 2499 เนื่องจากรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ไม่พอใจการไฮปาร์กโจมตีคณะรัฐบาล และมีการกล่าวหาว่าสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือ พคท. เข้ามาแทรกแซงการทำกิจกรรมดังกล่าว

เผาศพสามัญชนครั้งสุดท้ายบนสนามหลวง

ปี 2517 สนามหลวงถูกใช้เป็นสถานที่ปลงศพสามัญชน เป็นครั้งสุดท้าย สืบเนื่องจากการประท้วงของนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 วันนั้นทหารใช้อาวุธสงครามยิงใส่ประชาชนจนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 77 ราย

ชาตรี เน้นย้ำว่า การปลงศพประชาชนบนท้องสนามหลวงเมื่อ 14 ตุลา ไม่เหมือนกับสมัยคณะราษฎร เนื่องจากเป็นการทำพิธีที่ได้รับอนุญาตจากฝั่งอนุรักษ์นิยม และสถาปัตยกรรมของพระเมรุ แม้ว่าจะมีความเรียบเกลี้ยงเหมือนสมัยคณะราษฎร แต่ก็มีการประยุกต์เอาศิลปะจารีตนิยมเข้ามาใช้ผสมผสานกัน

ต่อมา 'สนามหลวง' ยังข้ามผ่านอีกหนึ่งเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญคือ เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ซึ่งท้องสนามหลวงขณะนั้นกลายเป็นพื้นที่ชุมนุมของกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่มาขับไล่นักศึกษาที่ชุมนุมอยู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 14 ตุลา ถึง 6 ตุลา อาจเป็นภาพสะท้อนของการเมืองคณะราษฎรที่อยู่ในยุคถดถอย และการเริ่มเข้าสู่ยุคสนาม 'หวง' มากขึ้น

แฟ้มภาพ : ภาพเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 (ภาพโดย 'สวรรค์รัก')

สมัย 2520 จุดเริ่มต้นสนามหวง

ชาตรี ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ "101.world" มองด้วยว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ประชาชนเริ่มห่างหายออกไปจากสนามหลวง เนื่องจากรัฐบาลมีการตั้งคณะกรรมการโครงการกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อรองรับแนวคิดด้านการอนุรักษ์โบราณสถาน และงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี มีการขึ้นทะเบียนสนามหลวงเป็น "โบราณสถาน ทุ่งพระเมรุ สนามหลวง" โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 94 ตอนที่ 126 ประกาศเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2520 โดย เดโช สวนานนท์ อธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งมีข้อกำหนดตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ ระบุว่า คนที่ทำลาย บุกรุกแหล่งโบราณสถาน หรือทำให้เสื่อมค่า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท

ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตย์ ยุคคณะราษฎร เสริมว่า นโยบายนี้เป็นจุดสำคัญที่ทำให้ประชาชนเริ่มหายออกไปจากสนามหลวงมากขึ้น ทั้งการย้าย 'ตลาดนัดสนามหลวง' ไปที่ 'จตุจักร' ราวปี 2525 และการย้ายส่วนราชการออกจากรัตนโกสินทร์ชั้นใน

แม้ว่าจะมีระเบียบ พ.ร.บ.โบราณสถานฯ กำกับ แต่หลังรัฐประหาร 2549 สนามหลวงยังคงถูกใช้เป็นพื้นที่การชุมนุมอย่างเข้มข้น เช่น การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อขับไล่ ทักษิณ ชินวัตร การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และอื่นๆ ชาตรี มองว่าการชุมนุมทางการเมืองบนท้องสนามหลวงช่วงนี้คึกคักกว่าช่วง 14 ตุลา 2516

แฟ้มภาพ: ภาพสนามหลวง เมื่อปี 2563

การปรับปรุงภูมิทัศน์สนามหลวง เกิดขึ้นอีกครั้ง หลังจากการสลายการชุมนุม 'คนเสื้อแดง' เมื่อปี 2553 โดยในสมัยของ สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในขณะนั้น มีการล้อมรั้วเหล็กสูง 1.7 เมตร และเปิดช่องให้ประชาชนเข้าใช้พื้นที่ออกกำลังกาย กำหนดเวลาเปิด-ปิด ทั้งที่จากเดิมเปิดตลอด 24 ชั่วโมง 

นอกจากนี้ เมื่อ 1 ก.ย. 2555 ผู้ว่าฯ กทม. แก้ไขระเบียบกรุงเทพมหานคร ห้ามใช้สนามหลวงจัดงานที่มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ทำให้การเป็นพื้นที่สาธารณะของสนามหลวงสิ้นสุดลง

ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้ว่าระเบียบจะห้าม แต่ยังพบการชุมนุมทางการเมืองในพื้นที่สนามหลวงอีกหลายครา บางครั้งปักหลักชุมนุมเป็นเวลาหลักเดือน โดยยังไม่พบข้อมูลการดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกโบราณสถาน อาทิ แนวร่วมคนไทยรักชาติรักษาแผ่นดินชุมนุมต่อต้านการพิจารณาคดีปราสาทพระวิหารของศาลโลก และไล่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อ 7 พ.ค.-12 ก.ค. 2556 กปปส. ชุมนุมต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เมื่อ 24 พ.ย. 2556 และอื่นๆ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

19กันยา 2563 ปฏิบัติการทวงคืนสนามหลวง 

หลังเดือน ก.ค. 2563 เป็นต้นมา การชุมนุมของคนรุ่นใหม่ถูกจุดติดขึ้นโดยมีชนวนจากพรรคอนาคตใหม่ นำโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถูกศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค และตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค 10 ปี

เมื่อ 19 ก.ย. 2563 กลุ่มคณะราษฎร (รุ่นใหม่) ซึ่งเป็นกลุ่มนักกิจกรรมนักศึกษาเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ทันสมัย ได้ใช้พื้นที่ท้องสนามหลวง จัดชุมนุม "ทวงคืนอำนาจราษฎร" โดยไฮไลท์สำคัญคือ อานนท์ นำภา ทนายความ และนักกิจกรรม ได้ประกาศให้สนามหลวง เปลี่ยนชื่อเป็น "สนามราษฎร์" นอกจากนี้ นักกิจกรรมได้ทำพิธีปักหมุดคณะราษฎร และอ่านประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 2

อนึ่ง หลังการชุมนุมสิ้นสุด แกนนำนักกิจกรรมถูกดำเนินคดีในหลายข้อหา และ 1 ในนั้นคือ พ.ร.บ.โบราณสถานฯ โทษจำคุกสูงสุด 10 ปี ซึ่งมีข้อสังเกตด้วยว่า ทางการไม่เคยใช้ข้อหานี้ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมในสนามหลวงมาก่อน แต่กลับมาใช้ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมครั้งนี้

แฟ้มภาพ: อานนท์ นำภา เมื่อ 20 ก.ย. 2563

แฟ้มภาพ: การฝังหมุดคณะราษฎร ที่สนามหลวง ในการชุมนุม 20 ก.ย. 2563

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2564 หรือ 1 ปีถัดมา มีการชุมนุม "จำกัดพระราชอำนาจสถาบันพระมหากษัตริย์ และเรียกร้องให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ" จัดโดยกลุ่ม 'REDEM' ที่สนามหลวง หรือสนามราษฎร์ วันนั้นผู้สื่อข่าวประชาไท ได้ลงรายงานข่าว และพบว่าแนวคิดของการทำกิจกรรมคือการพยายามทำให้สนามหลวงเป็นสนามราษฎร (อีกครั้ง) เป็นการทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์

โดยผู้จัดงานเชิญชวนให้ประชาชนใช้พื้นที่สนามหลวงทำกิจกรรมเหมือนเมื่อสมัยก่อน มีครอบครัวพาลูกมาทำกิจกรรมเล่นสเก็ตบอร์ด มีการแจกว่าวให้ประชาชนเล่นในสนามหลวง คู่ขนานกับการชุมนุมและการปราศรัย แต่อย่างไรก็ตาม การชุมนุมในวันนั้นจบลงด้วยการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ คฝ. หลังประชาชนพยายามดึงตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้กั้นสนามหลวงลงมา มีรายงานการใช้กำลัง คฝ. พร้อมอุปกรณ์ควบคุมฝูงชนเข้าจับกุม มีการใช้กระสุนยาง และรถฉีดน้ำแรงดันสูง สลายการชุมนุมของประชาชน

แฟ้มภาพ: สนามหลวงเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เมื่อปี 25 มิ.ย. 2566 ชมรม "Immortal Thailand" ขอจัดงาน "รวมพลคน Harley รักในหลวง (Long Live The King 10)" เพื่อจัดงานแปรอักษรโดยใช้มอเตอร์ไซค์ เทิดพระเกียรติรัชกาลที่ 10 ที่สนามหลวง ทั้งนี้ ทางกลุ่มยืนยันว่าเป็นการจัดงานเพื่อเทิดพระเกียรติในหลวง รัชกาลที่ 10 และไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ สัมฤทธิ์ สุมาลี ผอ.เขตพระนคร ไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่ โดยให้เหตุผลว่างานดังกล่าวอยู่นอกเหนือระเบียบกรุงเทพมหานครฯ ข้อ 7 ทำให้สุดท้ายกลุ่ม Immortal Thailand ได้เปลี่ยนไปจัดกิจกรรมที่ลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (หลังเก่า) แทน

อนึ่ง ระเบียบกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการใช้การบำรุง และการดูแลรักษาพื้นที่ท้องสนามหลวง พ.ศ. 2555 ข้อ 7 ระบุให้ใช้ "พื้นที่ท้องสนามหลวง เพื่อการจัดงานดังนี้ ได้แก่ งานพระราชพิธี งานรัฐพิธี งานประเพณีสำคัญของชาติ โดยหน่วยงานของรัฐ และการจัดการแข่งขันกีฬาไทยประจำปี" แต่ยังอนุญาตให้ประชาชนเข้าไปพักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกาย 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ที่เป็นประเด็นล่าสุดคือเมื่อ 15 ม.ค. 2567 รายงานสื่อหลายสำนัก ระบุมีชาวต่างชาติเข้าไปนอนอาบแดดที่สนามหลวง ซึ่งภายหลังได้ถูกเจ้าหน้าที่เทศกิจ เขตพระนคร เข้าไปตักเตือน และไม่ให้ทำลักษณะดังกล่าวซ้ำ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่จะมีการติดป้ายประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนเพิ่ม 

ปรากฏการณ์ที่หยิบยกขึ้นมาจึงเป็นเครื่องสะท้อนว่าแม้ว่าทางกฎหมายจะไม่ได้ห้ามให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาใช้สนามหลวง คือยังออกกำลังกาย และใช้พักผ่อนหย่อนใจได้ แต่ในทางปฏิบัติสนามหลวงกลับกำลังจำกัดการใช้งานของประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ 

ชาตรี เคยกล่าวในรายการ 'ประวัติศาสตร์นอกตำรา' ให้ความเห็นว่า การออกระเบียบการใช้สนามหลวง ทั้งการห้ามชุมนุมทางการเมือง และการปรับภูมิทัศน์ เป็นนโยบายที่ทำให้สนามหลวงเริ่มกลายเป็นพื้นที่ไร้ชีวิต และกำลังเหลือเพียงแค่เป็นพื้นที่สำหรับจัดงานพระราชพิธี เช่น จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ การถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ 9 เมื่อปี 2560 งานเฉลิมพระชมพรรษา หรืองานรัฐพิธี ส่วนความเป็น "ประชาพิธี" หรือการแบ่งปันพื้นที่ร่วมกันระหว่างประชาชน และรัฐ เหือดแห้งลงไป

เสรีภาพแย่กว่ายุครัตนโกสินทร์ตอนต้น

ชาตรี เคยให้สัมภาษณ์ในเว็บไซต์ 101.world ประเด็นการต่อสู้เพื่อช่วงชิงความหมายและความทรงจำบนพื้นที่สนามหลวง มองว่าเสรีภาพการใช้สนามหลวงของประชาชนแย่กว่าช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (รัชกาลที่ 1-4) เนื่องจากหลักฐานในพงศาวดาร ยังระบุว่าแม้ว่าสนามหลวงจะถูกใช้ในพระราชพิธี แต่ก็เปิดโอกาสให้ไพร่ได้ใช้สถานที่ ยามสนามหลวงว่างเว้นจากงานพระราชพิธี

การต่อสู้แย่งชิงความหมายความทรงจำจะมีอีก

อาจารย์คณะสถาปัตย์ เสริมในบทสัมภาษณ์ของ 101.world ด้วยว่า การล้อมรั้วและการจำกัดการใช้งานพื้นที่สาธารณะอย่างสนามหลวง ขัดกับมุมมองตามแนวคิดของระบอบประชาธิปไตย พร้อมเผยแนวคิดเรื่อง 'พื้นที่สาธารณะ' ต้องมีด้วยกัน 3 องค์ประกอบ ประกอบด้วย 1. ต้องเป็นของทุกคน 2. สามารถแสดงออกได้อย่างเสรี โดยมีรัฐเป็นผู้ควบคุม ดูแล หรืออำนวยความสะดวก และ 3. เปิดกว้างให้ทุกคนสามารถเข้าใช้ได้อย่างเสมอหน้า หรือหากมีการจำกัด ก็ต้องบังคับใช้อย่างเท่าเทียม ไม่มีการกีดกันอย่างไม่เป็นธรรม โดยถ้าหากขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใด การเป็นพื้นที่สาธารณะก็จะสิ้นสุดลง และ "หมดสิ้นความเป็นประชาธิปไตย" ลงพร้อมๆ กัน

ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรม ยุคคณะราษฎร มองด้วยว่า ยิ่งรัฐเข้มงวดกับการใช้พื้นที่สาธารณะดังกล่าวก็จะยิ่งเป็นแรงกดดันสะสม และเขาเชื่อว่าการต่อสู้เชิงอุดมการณ์และความหมายจะเกิดขึ้นอีกจนกว่า 'สนามหลวง' จะกลายเป็น 'สนามราษฎร'

 

เรียบเรียงจาก

สนามหลวง-สนามราษฎร : พื้นที่ต่อสู้ทางอุดมการณ์และความทรงจำร่วมของประชาชน โดย 101.world เผยแพร่เมื่อ 18 ก.ย. 2563

"สนามหลวง" พื้นที่ชีวิตบนซอกหลืบประวัติศาสตร์ I ประวัติศาสตร์นอกตำรา EP.157 โดยช่องยูทูบ ประวัติศาสตร์นอกตำรา เผยแพร่เมื่อ 11 ต.ค. 2565

จากสนามหลวงสู่สนามหวง: เมื่อการเมืองถูกไล่ออกจากพื้นที่สาธารณะ โดย ประชาไท เผยแพร่เมื่อ 2563

"สนามหลวง" โบราณสถานสู่พื้นที่ชุมนุมการเมือง โดย Thai PBS เผยแพร่เมื่อ 18 ก.ย. 2563 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net