Skip to main content
sharethis

ขัตติยา สส.เพื่อไทย เสนอญัตติตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาการออก กม.นิรโทษกรรม  ด้าน สส.ก้าวไกล หนุนตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาแนวทางร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ย้ำจะเป็นจุดเริ่มต้นสร้างความสมานฉันท์-ลดความขัดแย้ง ชี้ไม่ใช่การทำผิดให้เป็นถูก แต่เป็นการคืนความปกติให้สังคมไทย ขออย่าเพิ่งปิดประตูนิรโทษกรรม ม.112 เพราะจะยุติความขัดแย้งไม่ได้

 

1 ก.พ.2567 สำนักข่าวไทย รายงานว่า ช่วงบ่ายวันนี้ (1ก.พ.) มีวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม  ได้พิจารณาญัตติด่วน เรื่องขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ที่เสนอ โดย ขัตติยา สวัสดิผล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย

ขัตติยา กล่าวว่าปัจจุบันสังคมไทยมีความขัดแย้งทางความคิดมาหลายปี ทำให้มีนักศึกษาและประชาชน ต้องคดีทางการเมืองเป็นจำนวนมาก ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ส่วนหนึ่งคือการตรากฎหมายนิรโทษกรรม อย่างไรก็ตาม กฎหมายนิรโทษกรรมถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายยึดอำนาจ ที่มานิรโทษให้ตนเอง ผ่านสภาที่แต่งตั้งขึ้นมา แต่ล่าสุดได้มีการเสนอให้นำกฎหมายนิรโทษกรรมพาประเทศกลับสู่สภาวะปกติ ในคดีที่มีปัจจัยทางความผิดเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ปัญหาคือควรมีคดีใดบ้างที่ควรได้รับการนิรโทษกรรม เพื่อนำมาสู่ความสมานฉันท์ปรองดอง และไม่สร้างความขัดแย้งครั้งใหม่ ซึ่งควรมีการศึกษาพิจารณาหลักเกณฑ์ให้เป็นที่ยุติเสียก่อน จึงจะมีการตราเป็นกฎหมาย

สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวต่อไปว่า โจทย์ของสังคมที่มีอารยะ คือทำให้ผู้คนอยู่กับความขัดแย้งได้ ขัดแย้งแต่ไม่ต้องฆ่ากัน หรือทำร้าย ทำลายกัน ไม่ต้องจำกัดสิทธิเสรีภาพของกันและกัน และไม่ถูกคุกคามให้เกิดความกลัว เพราะมีความคิดเห็นที่แตกต่าง จึงต้องออกแบบสภาพสังคมที่ปลอดภัย ให้พลเมืองสามารถตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์อำนาจรัฐได้ โดยไม่ต้องกลัวการถูกเล่นงาน ซึ่งในความขัดแย้งทางการเมืองหลายระลอก ได้มีผู้ออกมาชุมนุมประท้วง และถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ ถูกคุมคามเป็นสิ่งที่นักวิชาการเรียกว่า ’นิติสงคราม‘ ส่งผลให้มีประชาชนจำนวนมาก เป็นนักโทษทางการเมือง หรือต้องลี้ภัย

“ในความเห็นของดิฉัน การออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพาสังคมไทยเดินต่อไปข้างหน้า โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และสร้างบรรทัดฐานใหม่ ว่าเราทุกคนสามารถทะเลาะ เห็นต่าง และขัดแย้งกันได้ ภายในกรอบกติกา โดยที่ไม่ต้องหวาดกลัว ว่าจะถูกคุกคาม หรือถูกปิดปากด้วยกฏหมายอีกต่อไป” ขัตติยา กล่าว

'ก้าวไกล' หนุนตั้ง ย้ำจะเป็นจุดเริ่มต้นสร้างความสมานฉันท์-ลดความขัดแย้ง 

ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานต่อสื่อมวลชนด้วยว่า  สส.พรรคก้าวไกลร่วมอภิปรายหลายคน เริ่มต้นที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ร่วมอภิปรายว่า การนิรโทษกรรมไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย เพราะเคยเกิดขึ้นมาแล้วกว่า 22 ครั้งในอดีต อย่างไรก็ตาม โอกาสในการรับนิรโทษกรรมที่ผ่านมามักผูกขาดอยู่กับเฉพาะคณะรัฐประหาร หรือคนที่จะคิดจะล้มล้างการปกครองเพียงฝ่ายเดียว โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 มาจนถึงปี พ.ศ. 2557 มีเพียงการนิรโทษกรรมในปี พ.ศ. 2521 ครั้งเดียวเท่านั้นที่เป็นการนิรโทษกรรมให้แก่ประชาชนในการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกเหนือจากนั้นเป็นการนิรโทษกรรมผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศในฐานะกบฏทั้งสิ้น

พิธากล่าวต่อไปว่า ต้องยอมรับกันก่อนว่าเราอยู่ในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองไทยอย่างน้อยนับตั้งแต่การทำรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ที่สร้างบาดแผลอย่างร้าวลึกในสังคมไทย นำไปสู่ 10 กว่าปีที่สูญหาย การเมืองไทยผ่านนายกรัฐมนตรีมา 7 คน ไม่นับรักษาการนายกรัฐมนตรี 2 คน พบกับการรัฐประหาร 2 ครั้ง รัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ การชุมนุมใหญ่ต่อต้านรัฐบาล 9 ระลอก รวมถึงการปะทะ ปราบปราม สลายการชุมนุมจนคนล้มตายนับร้อย บาดเจ็บนับพัน เศรษฐกิจเสียหายหลายแสนล้านบาท

เพราะฉะนั้น การนิรโทษกรรมจึงไม่ใช่แค่เรื่องของการทำให้คนพ้นผิดทางกฎหมาย แต่เป็นโอกาสในการสร้างความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคม กล่าวคือ สังคมต้องหาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงและความไม่เป็นธรรมทางการเมืองเกิดขึ้นอีก โดยเสาะแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีต ทำให้เกิดความโปร่งใส นำผู้กระทำผิดมาลงโทษและแสดงความรับผิดชอบต่อสาธารณะ เพื่อไม่ให้เกิดวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวล หากทำได้เช่นนี้ ความปรองดองและความสมานฉันท์จะเกิดขึ้นได้จริงในสังคม

“นี่เป็นโอกาสดีที่สังคมไทยจะสามารถก้าวไปให้ไกลกว่าแค่เรื่องการนิรโทษกรรม เพราะนี่เป็นแค่จุด ๆ หนึ่งเท่านั้นในการที่จะทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศไทยน้อยลงและมีเสถียรภาพ มีสมาธิพอที่จะใช้พลังของพวกเราไปกับการแก้ไขปัญหาเรื่องอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การศึกษา” พิธากล่าว

นอกจากนี้ การนิรโทษกรรมต้องไม่คิดถึงเฉพาะคนที่ถูกทำรัฐประหาร หรือคนที่ออกมาเรียกร้องทางการเมือง แต่ต้องรวมถึงคนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจมาจากการรัฐประหารด้วย ไม่ว่าจะเป็นคดีทวงคืนผืนป่าที่มีคนต้องถูกดำเนินคดีกว่า 80,000 คดี คดีการทำประมงที่ผิดกติกา IUU รวมถึงคดีที่รัฐฟ้องปิดปากประชาชน

พิธากล่าวทิ้งท้ายว่า ในขณะที่สภาฯ กำลังพิจารณาศึกษาแนวทางการร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม กระดุมเม็ดแรกที่รัฐบาลสามารถดำเนินการได้เลยทันที คือการสั่งให้ตำรวจและอัยการชะลอการดำเนินคดีทั้งหมดไว้ก่อน เพื่อยุติบาดแผลและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน

ต่อมา ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กรุงเทพฯ เขต 11 (สายไหม) พรรคก้าวไกล ได้ร่วมอภิปรายว่า ในฐานะอดีตทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่เคยช่วยเหลือนักเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อสู้คดีความมากว่า 10 ปี ตนเชื่อเสมอว่าทุกความเห็นต่างล้วนมีความหวังดีต่อประเทศชาติ ตนได้สบตากับนักโทษคดีการเมืองมาแล้วไม่ต่ำกว่าร้อยคน พวกเขาเหล่านี้คือคนธรรมดาที่ออกมาต่อสู้เรียกร้องเพียงแค่หวังว่าประเทศนี้จะเปลี่ยนแปลงได้ โดยขณะนี้ยังมีผู้ต้องหาคดีทางการเมืองจำนวนไม่น้อยถูกทอดทิ้งอยู่ในเรือนจำ หลายคนกำลังรอการพิจารณาคดี ซึ่งมีบางคนที่หากถูกตัดสินว่าผิด อาจต้องโทษจำคุกไม่ต่ำกว่า 100 ปี

“เพียงเพราะเขาเชื่อและฝันว่าประเทศนี้เปลี่ยนแปลงได้ จึงถูกสิ่งที่เรียกว่าอำนาจในประเทศนี้เฆี่ยนตี ถูกอดีตที่กลัวการมาเยือนของอนาคตล่ามโซ่เอาไว้ หวังว่าจะต่อเวลาชีวิตของพวกเขาอีกสักนิดไม่ให้เวลาเดินไปถึงวันพรุ่งนี้ ดิฉันต้องการจะยืนยันในหลักการอย่างหนักแน่นว่า การนิรโทษกรรมครั้งนี้ไม่ใช่การช่วยเหลือคนที่ทำผิด ไม่ใช่การทำผิดให้เป็นถูก แต่เป็นการคืนความยุติธรรม คืนความปกติให้กับสังคม ให้กับประเทศของเรา ให้แก่ผู้ที่แสดงความเห็นทางการเมือง ให้พวกเขาได้กลับมาใช้ชีวิตในฐานะประชาชนคนหนึ่งในระบอบประชาธิปไตย” ศศินันท์กล่าว

ด้วยเหตุนี้ ศศินันท์จึงอยากชวนทุกคนให้มองกลับไปยังประชาชน โดยไม่ต้องแปะป้ายว่าพวกเขาใส่เสื้อสีอะไร เลือกพรรคอะไร มีความคิดการเมืองแบบใด ต่อสู้เรื่องอะไร แต่พวกเขาเหล่านั้นคือประชาชนที่มีความเชื่อและความกล้าที่จะพูดว่าประเทศเราเปลี่ยนแปลงได้ นำเสนอแนวคิดทางการเมืองด้วยความกล้าหาญ และแลกด้วยชีวิตของพวกเขา เพราะพวกเขาคือเหตุผลที่ทำให้ สส.ทุกคนมีที่ยืนในสภาอันทรงเกียรติแห่งนี้

ในส่วนของ รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมอภิปรายว่า ความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นมาเป็นเวลานานแล้ว ก่อนหน้านี้เรามักจะเห็นคนที่มีอายุออกมาเรียกร้องความยุติธรรมและถูกดำเนินคดี แต่วันเวลาผ่านไปความขัดแย้งทางการเมืองก็ยังไม่สิ้นสุด สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือการที่คนหนุ่มสาวจำนวนมากถูกดำเนินคดี

ประเทศไทยได้อะไรจากการนำคนนับพันไปขังไว้ในเรือนจำ ต้องยอมรับว่าถ้าจะแก้ปัญหาวิกฤตแบบนี้ มันไม่มีหนทางอื่น เพราะถ้ายังใช้ระบบกฎหมายที่เป็นอยู่ในวันนี้ สิ่งที่เราจะเห็นก็คือลูกหลานของเราต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ ไม่ได้รับความเป็นธรรม เชื้อไฟก็จะไม่มีทางหมดไป จะมีการชุมนุมประท้วงและการเรียกร้องต่อไปเรื่อยๆ 

รังสิมันต์กล่าวต่อไปว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมทุกวันนี้ไม่ใช่เพราะมีผู้คนออกมาชุมนุมประท้วง แต่เพราะมีความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นในสังคม ดังนั้นสิ่งแรกที่เราจะต้องติดกระดุมให้ถูกต้องเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม คือ ไม่ควรเริ่มต้นด้วยการจำกัดว่าถ้าทำความผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 แล้วไม่ควรจะได้รับการนิรโทษกรรม เพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือจะมีคนจำนวนมากที่ไม่ได้รับความยุติธรรมต่อไป

ต้องยอมรับว่าผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวานนี้ได้ทำให้พื้นที่การหาทางออกทางการเมืองยากขึ้น แต่ตนก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า อย่างน้อยสภาฯ แห่งนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่จะถอนฟืนออกจากกองไฟ ซึ่งอาจจะไม่ได้แก้ปัญหาวิกฤตทั้งหมด แต่อย่างน้อยที่สุด เรากำลังจะคืนคนหนุ่มสาวที่ออกไปเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งไม่ควรจะเป็นความผิดทางอาญา ให้กลับคืนสู่ความปกติ และนี่คือสิ่งที่กลไกของสภาฯ ควรจะทำหน้าที่

“การนิรโทษกรรมจะต้องอาศัยเจตจำนงทางการเมือง และในบางครั้งการแสวงหาเจตจำนงทางการเมืองเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา บางข้อหา บางมาตรา อย่างเช่นมาตรา 112 ถ้าไม่คุยกัน คนที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ก็คงจะไม่ได้รับการนิรโทษกรรม แต่อย่างน้อยถ้าเรามีประตูบานที่ใหญ่พอ ให้เวลาเพียงพอ เราก็อาจจะหาทางออกได้ แต่ขอร้อง อย่ารีบปิดประตูนี้” รังสิมันต์กล่าว

ด้วยเหตุนี้ พรรคก้าวไกลจึงได้นำเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยมีหลักการ 2 ข้อที่อยากให้คณะกรรมาธิการวิสามัญที่จะตั้งขึ้นนำไปพิจารณาด้วย คือ ประการแรก ไม่ควรมีการกำหนดว่าความผิดมาตราใดมาตราหนึ่งจะไม่เข้าข่ายการได้รับนิรโทษกรรม หากจะมีการจำกัดจริง ๆ ก็ควรเป็นความผิดที่มีลักษณะร้ายแรง เช่น เป็นบุคคลที่ก่อการรัฐประหาร หรือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่ควบคุมการชุมนุม แต่กลับไม่ปฏิบัติตามขั้นตอน เช่น ไปสั่งให้เจ้าหน้าที่ทำร้ายผู้ชุมนุม กระทำการเกินกว่าเหตุ หรือนำไปสู่ความสูญเสียในชีวิต

และประการที่สอง ความขัดแย้งทางการเมืองที่มีมาอย่างยาวนานอาจจะไม่สามารถนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งทั้งหมดได้ จึงมีความจำเป็นต้องคัดกรองว่ากรณีแบบใดที่สมควรได้รับการนิรโทษกรรม ดังนั้น พรรคก้าวไกลจึงเสนอว่าควรจะมีการตั้งคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรอง ประกอบด้วยตัวแทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เพื่อชี้ขาดว่าใครและกรณีใดบ้างที่สมควรจะได้รับการนิรโทษกรรม ซึ่งองค์ประกอบแบบนี้จะไม่นำไปสู่การเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ตนเข้าใจดีว่ามีหลายคนที่อาจจะเชื่อมั่นในเรื่องของกระบวนการยุติธรรม และคิดว่าไม่อยากจะเข้าสู่กระบวนการของการนิรโทษกรรม เราก็จะเปิดช่องให้สามารถสละสิทธิ์ได้

รังสิมันต์กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งเหล่านี้เป็นหลักการสำคัญที่อยากจะให้คณะกรรมาธิการวิสามัญที่จะจัดตั้งขึ้นได้พิจารณา และตนหวังว่าจะมีรายงานศึกษาที่ออกมาเป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนอย่างแท้จริง อย่าให้เขาว่าได้ว่ามีแต่ทหารและคณะรัฐประหารที่สามารถนิรโทษกรรมได้

สุดท้าย ชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ร่วมอภิปรายปิดท้ายญัตติว่า ตนเห็นด้วยกับสมาชิกที่มองเป้าหมายตรงกันว่า การนิรโทษกรรมในครั้งนี้ต้องคลี่คลายความขัดแย้งและสร้างความสมานฉันท์ให้สังคมไทย อย่างไรก็ตาม ต้องย้ำว่าการนิรโทษกรรมไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายและไม่ใช่กระบวนการเดียวในการยุติความขัดแย้งของสังคมไทย แต่จะเป็นประตูบานแรก ๆ ที่สำคัญมากในการคลี่คลายความขัดแย้ง และหาฉันทามติครั้งใหม่ให้กับสังคมไทย

ชัยธวัชกล่าวต่อไปว่า หลายคนมองว่าประเทศไทยไม่มีคดีการเมือง แต่เป็นการไม่เคารพกฎหมาย และการนิรโทษกรรมจะสร้างบรรทัดฐานที่ผิด อย่างไรก็ตาม คดีการเมืองไม่ว่าจะเกิดจากความขัดแย้งหรือมีแรงจูงใจทางการเมืองไม่ควรถูกมองว่าเป็นอาชญากรรม เพราะหลายคนเชื่อว่าตัวเองทำในสิ่งที่ถูกต้อง ผลักดันสิ่งที่ดีกว่าให้กับประเทศ หลายคนถูกดำเนินคดีเพราะการแสดงออกในรูปแบบต่าง ๆ หรือเพียงเพราะมีความคิดที่รัฐไม่อนุญาตให้คิด ดังนั้น หลายคดีจึงเกิดขึ้นจากการใช้กฎหมายโดยไม่ชอบธรรมของรัฐ เป็นรูปแบบหนึ่งของการใช้ความรุนแรงโดยรัฐต่อประชาชน การนิรโทษกรรมที่จะมีการพูดคุยผ่านคณะกรรมาธิการวิสามัญในครั้งนี้ จึงมีทั้งมิติของการให้อภัยต่อกัน และการคืนความยุติธรรมให้ประชาชนจากความขัดแย้งทางการเมือง

ตนทราบดีว่ายังมีอีกหลายประเด็นที่เรายังมีความเห็นไม่ตรงกัน ทั้งวิธีการ ขอบเขต และข้อจำกัดที่เหมาะสม ดังนั้น การนิรโทษกรรมครั้งนี้ต้องระมัดระวังไม่สร้างให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองครั้งใหม่ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องระมัดระวังไม่ให้การนิรโทษกรรมในครั้งนี้ เป็นไปอย่างไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงทางการเมือง จนไม่สามารถนำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้ง สร้างความสมานฉันท์ และการถอดสลักระเบิดเวลาของสังคมไทยในอนาคตได้

ชัยธวัชกล่าวต่อไปว่า ต้องยอมรับความเป็นจริงว่าบ้านเมืองเรายังไม่ปกติ พื้นที่ในระบบรัฐสภาดูเหมือนจะถูกจำกัดลงเรื่อย ๆ สูญเสียโอกาสในการเป็นพื้นที่แสวงหาข้อยุติต่อความเห็นที่แตกต่างกัน เป็นกลไกทางประชาธิปไตยที่จะหาข้อยุติความขัดแย้ง และหาทางออกอย่างมีวุฒิภาวะ แต่ก็ยังพอเห็นโอกาสอยู่บ้าง

“ผมหวังว่าท่ามกลางพื้นที่ที่จำกัดลงเรื่อย ๆ พวกเราจะร่วมมือกันถอดหัวโขนทางการเมืองออก หันหน้ามาพูดคุยกันเพื่อใช้พื้นที่สภาผู้แทนราษฎรที่แต่งตั้งขึ้นโดยประชาชนแห่งนี้ ใช้โอกาสนี้พูดคุยกันเพื่อแสวงหาทางออกในการนิรโทษกรรมทางการเมือง ใช้เป็นประตูบานแรกในการเปลี่ยนการเมืองแห่งความเกลียดชัง เคียดแค้น ชิงชัง ไม่เข้าใจกัน เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างการเมืองแห่งความรัก ความเข้าอกเข้าใจและความปรารถนาดีต่อกัน เพื่อให้เรามีระบบการเมืองและระเบียบสังคมที่เราอยู่ร่วมกันได้ แม้ไม่มีทางเห็นด้วยตรงกันทุกเรื่องทั้งหมด” ชัยธวัชกล่าว

ท้ายที่สุด ที่ประชุมสภาฯ มีมติเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ประกอบด้วยกรรมาธิการจำนวน 35 คน มีระยะเวลาการพิจารณา 60 วัน โดยกรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคก้าวไกลมีจำนวน 8 คน ได้แก่ 1) ชัยธวัช ตุลาธน 2) รังสิมันต์ โรม 3) ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ 4) อังคณา นีละไพจิตร 5) หม่อมหลวงศุภกิตต์ จรูญโรจน์ 6) ผศ.ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ 7) ผศ.ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง และ 8) ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net