Skip to main content
sharethis

รายงานเสวนา 'สงครามและความขัดแย้งในการเมืองมหาอำนาจ : บทบาทประเทศไทย กับแนวทางการสร้างสรรค์สันติภาพโลก' จัดโดยคณะทำงานสันติภาพโลก 'อภิสิทธิ์-ธีระชัย-ปรีดา' รวมถก

30 ม.ค.2567 คณะทำงานสันติภาพโลก World Peace Working Group (Thailand) รายงานต่อสื่อมวลชนว่า เมื่อวันที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา ทางคณะทำงานฯ จัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “สงครามและความขัดแย้งในการเมืองมหาอำนาจ : บทบาทประเทศไทย กับแนวทางการสร้างสรรค์สันติภาพโลก” ที่ห้อง 501 ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย ชัชวาลย์ พริ้งพวงแก้ว ผู้ก่อตั้งคณะทำงานสันติภาพโลก, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี, ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, ปรีดา เตียสุวรรณ์ นักธุรกิจระหว่างประเทศ และเมธา มาสขาว ผู้ประสานงานคณะทำงานสันติภาพฯ เป็นผู้ดำเนินรายการ 

ชัชวาลย์ กล่าวว่า ตนเองเคยผ่านเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 มาเมื่อครั้งอยู่เชียงราย เห็นความโหดร้ายของภัยสงครามที่มีเครื่องบินทิ้งระเบิดลงมา มีล้อเกวียนขนผู้บาดเจ็บมาจนล้นโรงพยาบาล ตนจึงไม่อยากให้สงครามครั้งใหม่เกิดขึ้นอีก เพราะปัจจุบันเกิดความขัดแย้งกว่า 10 พื้นที่พิพาทและอีกกว่า 5 พื้นที่ที่กำลังขัดแย้งกันอยู่ นับจากสงครามยูเครน ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง รวมถึงปัญหาไต้หวันและคาบสมุทรเกาหลี จึงต้องป้องกันไม่ให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ขึ้นซึ่งจะกลายเป็นหายนะฉับพลันของมนุษยชาติ

นอกจากนี้โลกยังต้องเฝ้าระวังหายนะผ่อนส่งจากปัญหาโลกร้อนที่ประชาคมโลกต้องร่วมมือกันผ่านองค์การสหประชาชาติ แทนที่จะแข่งขันกันไปแสวงหาโลกใหม่ในอวกาศ 8 ชาติ ทำไมไม่ร่วมมือกันเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ เพราะถ้าต่างคนต่างไปก็ไปรบแย่งชิงอำนาจกันอีกในโลกใหม่

ชัชวาลย์ กล่าวว่า ปัญหาของสงครามและความขัดแย้งจะต้องให้เยาวชนมีบทบาทในการแก้ไขปัญหา ถ้าผู้นำโลกรับฟังเยาวชนของตนที่จะต้องใช้ชีวิตอีกยาวนานในสังคมก็อาจไม่มีใครคิดที่จะก่อสงครามขึ้น แต่ปัจจุบันก็เกิดความขัดแย้งทางความคิดระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่มากขึ้น จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการสื่อสารระหว่างกัน เพราะทุกคนและทุกวัยจะต้องร่วมมือกันทำงานเป็นทีม คนเราไม่สามารถอยู่คนเดียวทำอะไรคนเดียวได้ วิธีการสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญเพื่อเข้าใจความแตกต่างหลากหลาย และบางครั้งเราต้องเปลี่ยนวิธีการสื่อสารที่ทุกฝ่ายยอมรับเพื่อสร้างสันติภาพ

อภิสิทธิ์ กล่าวว่า หลังกำแพงเบอร์ลินล่มสลาย คนคิดว่าโลกทั้งโลกจะกลับมามีค่านิยมเดียวกันคือเสรีนิยมและเศรษฐกิจแบบกลไกตลาด โดยเชื่อว่าโลกาภิวัตน์จะเชื่อมโยงคนทั้งโลกด้วยค่านิยมใหม่นำมาสู่ความเจริญร่วมกัน แต่ 30 กว่าปีที่ผ่านมาไม่ได้เป็นดั่งที่คิด ปัจจุบันเราล้มเหลวในการหลอมรวมโลกทั้งโลกจากยุคหลังสงครามเย็นที่คิดจะใช้โลกาภิวัตน์และเสรีนิยมใหม่ในการจัดระเบียบโลก แม้จะเกิดความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมากมายแต่ประชาธิปไตยกลับถดถอยลง ค่านิยมเสรีนิยมประชาธิปไตยที่คิดว่าจะครองโลกก็ไม่เกิดขึ้นจริง เพราะเสรีนิยมใหม่ได้ไปสร้างความมั่งคั่งที่กระจุกตัว ไม่ได้สร้างความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันและสร้างสันติภาพขึ้น โลกาภิวัตน์อาจทำให้คนใกล้ชิดกันมากขึ้น แต่วันนี้คนที่กำหนดกติกา คนที่มีอำนาจทั่วโลก กลับหันหลังให้กับโลกเกือบทั้งสิ้น แล้วกลับไปอิงอยู่กับกระแสชาตินิยมในขณะนี้

อภิสิทธิ์ กล่าวว่า การหาเสียงในประเทศต่างๆ จึงเริ่มมีการโจมตีพวกสนับสนุนโลกาภิวัตน์แม้แต่ในอเมริกาและตะวันตก โลกไร้ระเบียบมากขึ้น จนเกิดปรากฎการณ์สงครามความขัดแย้งปะทุขึ้นมาใหม่เพราะความล้มเหลว กรณีของยูเครนกับรัสเซียก็สะท้อนปัญหามาจากยุคสงครามเย็น และเมื่อยืดเยื้อมากขึ้นตะวันตกที่ดูแลยูเครนก็ตั้งคำถามต่อการแบกรับปัญหา กรณีอาหรับก็เกิดจากปัญหาความเชื่อที่แตกต่างด้านศาสนาจนเกิดความโหดร้ายที่เกิดขึ้นอีกครั้งที่ฉนวนกาซา และภาวะสงครามภายในพม่าก็ยืดเยื้อจนกำลังจะเลยจุดที่จะทำให้การเจรจาเป็นไปได้

“ถ้าเราจะวิเคราะห์ว่าเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ส่วนหนึ่งเพราะความล้มเหลวของความเชื่อในระบอบทุนนิยมเสรี เพราะทุนนิยมสร้างความเจริญแต่ไม่ได้สร้างความเสมอภาค และความขัดแย้งหลายที่เกิดขึ้นเพราะคนจำนวนมากคิดว่าทุนนิยมไปเอื้อคนเฉพาะกลุ่ม จึงมีคำถามต่อมาว่าประเทศไทยจะยืนอยู่อย่างไรในสถานการณ์โลก เพราะจะต้องได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่รุนแรงอย่างมากจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในโลก เพราะเศรษฐกิจประเทศไทยเป็นแบบเปิด หลังสงครามยูเครนประเทศไทยได้รับผลกระทบด้านค่าครองชีพรุนแรงมากขึ้น รวมถึงความขัดแย้งภายในประเทศเองจากความขัดแย้งระหว่างวัยที่คนรุ่นใหม่เติบโตด้วยโลกทัศน์แบบสากล แต่กลับกลายเป็นว่าเมื่อเขาโตขึ้น โลกกลับถอยหลังและปิดโอกาสของเขา จึงเกิดสงครามระหว่างวัยขึ้นในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย”

อภิสิทธิ์ เห็นว่าสถานะของประเทศไทยจะต้องแสวงหาความพอดี แต่การไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งของมหาอำนาจเลยก็ไม่สามารถทำได้แม้จะแอบอยู่ในฐานะประเทศเล็ก แต่สุดท้ายจะถูกบีบให้เลือกข้าง แต่ต้องไม่มองข้ามศักยภาพของเรา บวกกับอาเซียนก็มีบทบาทพอสมควรในการเมืองโลก ที่เคยช่วยสร้างเวทีให้เกิดสันติภาพขึ้นในคาบสมุทรเกาหลีและพม่า เรายังสร้างเวทีให้เกิดการเจรจาอีกหลายเรื่องในปัญหาระหว่างประเทศ จึงควรใช้ศักยภาพนี้สร้างความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจ และส่งเสริมบทบาทตนเองในตะวันออกกลางด้วย

อดีตนายกฯ ยังกล่าวต่อว่า ตนเห็นว่ารัฐบาลไทยจะต้องดำเนินนโยบายต่างประเทศในเชิงรุกมากขึ้น น่าเสียดายตอนประเทศไทยเป็นประธานเอเปคให้ความสำคัญเพียงเรื่องความร่วมมือทางเศรษฐกิจ แต่ไม่ชูประเด็นความมั่นคงทางอาหารของโลกจากผลพวงของสงคราม ซึ่งอาจทำให้เรามีบทบาทมากขึ้น แต่ก็ผ่านมาแล้ว วันนี้จีนและสหรัฐฯ เริ่มคุยกันที่ประเทศไทย เป็นโอกาสดีที่ไทยจะสร้างบทบาทสำคัญ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศเริ่มดำเนินนโยบายเชิงรุกมากขึ้น และเราควรสนับสนุนบทบาทประธานอาเซียน คือประเทศลาวให้มีบทบาทขับเคลื่อนอาเซียนร่วมกันมากขึ้นด้วย

อภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในส่วนภาคประชาชนก็เริ่มมีบทบาทสูงเช่นกัน โดยเฉพาะประเด็นพม่า ที่ไทยมีความใกล้ชิดกับฝั่งต่อต้านรัฐบาลทหาร สามารถสร้างเวทีการสื่อสารเจรจารวมถึงการเชื่อมสื่อมวลชนเข้ามาร่วมกันทำความเข้าใจกับสาธารณะและเยาวชนมากขึ้นว่า เราเพิกเฉยต่อเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ เราจะทำอย่างไรที่จะไม่ให้เกิดภาวะคุ้นชินกับสงคราม เช่น สงครามในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลายเป็นเรื่องปกติ ทั้งๆ ที่ผ่านมาคนตายไปเป็นหมื่นคน แต่วันนี้คนไทยเห็นเป็นเรื่องปกติไปแล้ว คงต้องช่วยกันส่งเสริมบทบาทของไทย ไม่ว่าจะการทำหน้าที่เป็นห้องรับแขก เช่นกรณีจีนและสหรัฐฯ แต่เราจะต้องมีหลังพิง โดยการอิงกับหลักการที่เป็นสากล

ธีระชัย กล่าวว่า โลกของเรามีสงครามมาโดยตลอดคู่กับมนุษยชาติ ในอดีตทำสงครามแย่งชิงทรัพยากรและทาส ปัจจุบันก็เพื่อสร้างอำนาจต่างๆ การล่าอาณานิคมเริ่มจากมหาอำนาจตะวันตก โปรตุเกส มาสเปน และฮอลันดา หรือดัทช์ แต่ปัจจุบันมหาอำนาจโลกกำลังย้ายมาสู่เอเชียเป็นครั้งแรกในรอบ 5-600 ปี คือจีน และกำลังเปลี่ยนจากโลกมหาอำนาจขั้วเดียว (Unipolar) กลายเป็นเกิดโลกหลายขั้ว (Multipolar) จากมหาอำนาจระดับภูมิภาคมากขึ้น กระจายไปอาหรับ  อินเดีย เป็นต้น ในสถานการณ์นี้ ประเทศไทยสามารถมีบทบาทกับมหาอำนาจจีนและสหรัฐได้อย่างสมดุลย์มากขึ้น เพราะการอ่อนตัวลงของอิทธิพลสหรัฐฯ  

ธีระชัย ยังกล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลก่อนหน้านี้เข้าใกล้สหรัฐฯ มากเกินไป ทั้งเรื่องยุทธศาสตร์และการทหาร ปัจจุบันควรขยับเข้าใกล้จีนมากขึ้นเพื่อสร้างความสมดุลย์ นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยีที่เปลี่ยนกระบวนการของสงครามไปในรูปแบบใหม่ ยกตัวอย่างสงครามทะเลแดงกับฮูตีที่เยเมน ทำให้สถานะของกองทัพสหรัฐฯ ที่มีศักยภาพไม่สามารถเอาชนะได้ในเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป และจีนก็พัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ไปอย่างรวดเร็วมาก ในขณะที่สหรัฐลงทุนในการพัฒนาอาวุธที่ล้าสมัยลงด้วย ทำให้ประเทศไทยสามารถวางบทบาทของตนเองได้มากขึ้น รวมถึงในเรื่องกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่แบ่งออกเป็น 2 ค่ายอย่างชัดเจน

ธีระชัย กล่าวว่า เวลานี้ฐานะในการควบคุมการเงินโลกของสหรัฐอ่อนแอลง ทั้งในทางเศรษฐกิจโลกและการทหาร เมื่อสหรัฐกำลังหมกมุ่นกังวลเกี่ยวกับจีนมาก ข้อกังวลนี้สามารถทำให้ไทยสามารถจัดกระบวนการทางนโยบายได้ เพราะเราอยู่ใกล้จีนมาก ขณะที่ในอาเซียน ลาว-กัมพูชา มีความโน้มเอียงค่อนไปทางจีน เวียดนามและสิงคโปร์ มีความโน้มเอียงค่อนไปทางสหรัฐในทางรัฐศาสตร์ แต่ไทยเป็นพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ที่ทุกฝ่ายมาเจรจาที่นี่ได้โดยไม่รู้สึกเสียหน้า ดังนั้นจะต้องวางบทบาทให้ดี โดยทำให้การนำเสนอแนวคิดเรื่องกระบวนการสันติภาพอย่างไรไม่ให้รู้สึกเลือกข้าง และไม่ถูกอีกฝ่ายผลักให้อยู่อีกฝ่ายหนึ่งเพราะการนำเสนอที่ทำให้อีกฝ่ายเสียประโยชน์

ธีระชัย กล่าวว่า ในระดับอาเซียนเราสามารถมีบทบาทได้อย่างเด่นชัดที่สุด การทำให้จีนดูแลความสัมพันธ์โดยเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นในรูปแบบเหมือนพี่กับน้อง จะทำให้เราดำเนินนโยบายต่างประเทศปลอดภัยและเป็นปึกแผ่นได้ แต่ควรส่งเสริมช่องทางให้ภาคประชาชนร่วมเดินหน้าไปกับภาครัฐก็จะเป็นไพ่ใบที่สองของอาเซียนในการขับเคลื่อนสันติภาพในภูมิภาคให้เกิดขึ้นได้

ปรีดา กล่าวว่า หลังการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน ทุกคนหวังเห็นโลกาภิวัตน์จนนายฟรานซิส ฟุกุยามะ เขียนหนังสือเรื่องจุดจบของประวัติศาสตร์ (The End of History) แต่การเติบโตของโลกาภิวัตน์กลับไม่เกิดขึ้นจริง ประเทศที่ได้รับประโยชน์จากการกระจายอุตสาหกรรมจากตะวันตกมาตะวันออกที่เรียกว่าโลกใต้ (Global South) นั้นไม่ได้สร้างความเท่าเทียมแต่เกิดความไม่เท่าเทียมขึ้น จึงไม่สามารถคาดหวังให้ประเทศเหล่านั้นเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตยได้ จึงไม่สามารถเป็นพลังในการยับยั้งสงครามของมหาอำนาจ เพราะประเทศเหล่านั้นไม่แข็งแรงพอ รวมถึงประเทศไทย

“ถ้าประเทศไทยแบ่งประชาชนเป็นกลุ่ม a b c กลุ่มชนชั้นสูงหรือคนรุ่น a ที่ได้รับอานิสงฆ์จากโลกาภิวัตน์ แต่คนกลุ่ม b ได้น้อยมากขณะที่คนกลุ่ม c ไม่ได้เลย ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและถูกเลือกปฏิบัติ ความเหลื่อมล้ำถูกใช้หาผลประโยชน์จากประชานิยมทางการเมืองเรื่อยมา และเกิดขึ้นในอีกหลายประเทศ ที่คนกลุ่ม a เสวยสุขกันอยู่กลุ่มเดียว”

ปรีดา กล่าวว่า ภายหลังสงครามยูเครน-รัสเซีย โลกถูกแบ่งแยกมากขึ้นจากผลการโหวตในที่ประชุมสหประชาชาติ กลุ่มประเทศสีเหลืองที่โหวตประณามรัสเซียก็จะเป็นฝ่ายประชาธิปไตยทุนนิยมเสรีที่อยู่ฝั่งสหรัฐอเมริกา ขณะที่กลุ่มประเทศสีแดงเป็นฝ่ายที่ไม่โหวตประณามก็เป็นกลุ่มประเทศที่ปกครองด้วยการใช้ระบบอำนาจนิยมเป็นส่วนใหญ่ ส่วนหนึ่งทำมาหากินด้านพลังงานและน้ำมันที่ต้องทำการค้ากับรัสเซียซึ่งเป็นประเทศที่มีพลังงานน้ำมันมากที่สุดในโลก  ดังนั้นนอกจากโลกถูกแบ่งด้วย Geo Politics แล้ว ปัจจุบันยังถูกแบ่งด้วย Geo Economic คือภูมิศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองด้วย นอกจากนี้ผลการกระทำของอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลา ทำให้คนมุสลิมโกรธแค้นมหาศาล ทำให้เกิดการโจมตีต่อเนื่องและประเทศเหล่านั้นเกิดการเปลี่ยนข้างมาอยู่กลุ่มระบบอำนาจนิยมมากขึ้นแทนที่จะอยู่กับกลุ่มเสรีประชาธิปไตยเหมือนเดิม นี่คือสงครามเย็นครั้งที่สอง

“ในยุคสงครามเย็นครั้งที่สองที่เกี่ยวกับภูมิศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองกับจีนด้วย ทำให้นักธุรกิจที่ทำการค้ากับสหรัฐไม่กล้าที่จะลงทุนกับจีนในระยะยาวเพราะจะมีปัญหาทางธุรกิจกับสหรัฐ เหตุการณ์ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับสหรัฐจะรุนแรงมากขึ้น และทำให้ประเทศต่างๆ ถูกแบ่งแยกและเลือกข้างไปด้วย แต่ประเทศไทยโชคดีที่มีพรมแดนแผ่นดินที่ใกล้ชิดติดกับจีนและกลุ่มประเทศสีแดง ทำอย่างไรเราสามารถจะใช้เรื่องนี้เป็นตัวเชื่อม โดยไม่ไปอยู่ฝั่งไหนโดยเฉพาะ และควรต้องเชื่อมกับอินเดียที่เล่มเกม Geo Economic เป็นทั้งกับกลุ่มประเทศสีเหลืองและสีแดง ทั้งยังเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ในโลก”

ปรีดากล่าวด้วยว่า อีกทางเลือกเราต้องส่งเสริมบทบาทองค์การสหประชาชาติให้มากขึ้น ไม่ให้เป็นเพียงเสือกระดาษ และองค์กรที่จะรวบรวมประเทศต่างๆ มาทำเรื่องโลกร้อนได้ก็คือสหประชาชาติ ที่จะชักนำทุกฝ่ายมาร่วมมือกัน 

เสกสรร อานันทศิริเกียรติ นักวิจัยศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ให้ความเห็นว่า เวทีนี้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสันติภาพจากภายในและอุดรอยรั่วทำให้คนต่างรุ่นได้แลกเปลี่ยนกัน ตนคิดว่าในสถานการณ์เช่นนี้ ประเทศไทยจะอยู่เฉยไม่ได้ จะต้องมีบทบาทการต่างประเทศเชิงรุกโดยมีธงในใจ เชื่อมทุกคนเข้าด้วยกัน ไม่ใช่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปเรื่อยๆ ตามที่นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเคยกล่าวว่า คงถึงเวลาประเทศไทยกลับสู่จอเรด้าร์ เพราะที่ผ่านมาไทยมีเรื่องภายในเยอะ เรียกคืนความเชื่อมั่นทางการทูตไทยที่เคยโดดเด่นกลับเข้ามาอีกครั้งและวันนี้เรามีจุดเชื่อมโยงมหาอำนาจจีนและสหรัฐได้ รวมถึงเราจะต้องเชื่อมอินเดียเพิ่มขึ้นเพื่อกระจายความเสี่ยงและสร้างทางเลือกด้วย

เสกสรร กล่าวว่า ประเทศไทยค่อนข้างมีเพื่อนบ้านที่ดีสามารถรักษาสันติภาพได้อย่างยาวนาน เราสามารถหาเพื่อนใหม่ๆ เพิ่มเพื่อสร้างสมดุลจากโลกที่เปลี่ยนไป ในการต่างประเทศของไทยมีปฏิสัมพันธ์กับจีนกับรัสเซียอยู่แล้ว ต้องคงความเป็นตัวเองไว้ และหาเพื่อนใหม่ๆ ทำงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการรับความสมดุลจากตะวันออกกลาง รวมถึงความร่วมมือกับภาคประชาชนเพื่อร่วมกันสื่อสารทำความเข้าใจจากเรื่องที่เข้าใจผิดและอาจสร้างความขัดแย้งระหว่างกันขึ้น

เมธา กล่าวสรุปว่า วันนี้ประเทศไทยอยู่ในจุดภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญของมหาอำนาจทั้งจีนและสหรัฐฯ สถานการณ์สงครามที่เกิดขึ้นหลายสมรภูมิ ทั้งสงครามทางเศรษฐกิจการค้า สงครามความขัดแย้งทางอาวุธ สงครามจากความเชื่อศาสนา และความขัดแย้งภายในประเทศต่างๆ จากทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ที่สร้างความเหลื่อมล้ำและการผูกขาดอำนาจของคนรุ่นเก่า ดังเช่นที่เกิดสงครามภายในพม่า และความขัดแย้งของคนรุ่นใหม่-คนรุ่นเก่าภายในประเทศไทย

เมธา กล่าวว่า ภาคประชาชนไทยน่าจะร่วมกันแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและส่งเสริมสันติภาพร่วมกันได้ โดยการทำงานร่วมมือกับภาครัฐและคู่ขนานในบางเรื่องที่ภาครัฐทำไม่ได้ในการต่างประเทศ ยกตัวอย่างในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่รัฐบาลจำต้องยินยอมเข้าร่วมกับญี่ปุ่น แต่เสรีไทยก็ทำให้ไทยไม่ต้องตกเป็นฝ่ายประเทศผู้แพ้สงครามเป็นต้น ประเทศไทยมียิ้มสยามหรือ Thai Smile เป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญที่จะสร้างมิตรภาพ และนับถือพุทธศาสนาและธรรมชาติ อาจจะนำจุดเด่นนี้เป็นตัวเชื่อมกับอินเดีย หรือการจัดกิจกรรมทอดผ้าป่าเพื่อสันติภาพโลก เช่น การฟื้นฟูกาซ่า ร่วมมือกับภาคนักธุรกิจระหว่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศต่างๆ ซึ่งสามารถซื้อใจกับกลุ่มประเทศมุสลิมต่างๆ ได้ด้วย

นอกจากนี้ คณะทำงานสันติภาพโลก จะขยายความร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆ หลังจากที่คณะเข้าไปพูดคุยกับนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเปิดช่องทางความร่วมมือกับภาครัฐแล้ว จะมีความร่วมมือกับภาคสื่อมวลชนและสถาบันการศึกษา ในการศึกษาวิจัยสันติภาพศึกษา (Peace Study) และการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง (Peace Dialogue) ในสังคมและการเมืองระหว่างประเทศด้วยคู่ขนานไปกับการทำงานของกระทรวงการต่างประเทศ มีส่งเสริมสันติภาพระหว่างประชาชนหรือ People Peace ให้เกิดขึ้น รวมถึงการส่งเสริมบทบาทเยาวชนที่เป็นผู้อยู่ในโลกนี้นานที่สุดให้สามารถมีส่วนร่วมแก้ไขความขัดแย้งและกำหนดอนาคตตนเอง

 

*หมายเหตุมีการแก้ไขข้อความบางส่วนเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2567 เวลา 21.37 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net