Skip to main content
sharethis

'เอกราช' สส.ก้าวไกล อภิปรายงบฯ ปี’67 งบกลาโหมเพิ่ม ส่วนใหญ่เป็นงบฯ รายจ่ายบุคลากร สวนทางนโยบายปฏิรูปกองทัพ-ลดกำลังพล เสนอต้องลดโครงการทับซ้อน เน้นสร้างไม่เน้นซื้อ และนำธุรกิจกองทัพให้ รบ.ดูแล

 

4 ม.ค. 2567 ยูทูบ TP Channel ถ่ายทอดสดออนไลน์ ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 5 ประจำวันที่ 4 ม.ค. 2567 เอกราช อุดมอำนวย สส.พรรคก้าวไกล กรุงเทพฯ อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ปี 2567 ในส่วนของงบกระทรวงกลาโหม พาไปดูนโยบายปฏิรูปกองทัพของพรรคเพื่อไทย 1. ปฏิรูปกองทัพเป็นมืออาชีพ 2. ป้องกันการก้าวก่ายแทรกแซงการเมือง และ 3. เสนอกฎหมายป้องกัน และต่อต้านรัฐประหาร

ถัดมา นายกฯ แถลงนโยบายเอาไว้เอง บอกว่าจะเปลี่ยนการเกณฑ์ทหารเป็นสมัครใจ ลดกำลังนายพลชั้ยสัญญาบัตรระดับสูง และอัตรา กอ.รมน.ให้สอดคล้องกับบทบาทและภารกิจในปัจจุบัน และบอกว่าจะนำพื้นที่หน่วยทหารที่เกินความจำเป็นมาให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะด้านการเกษตร การสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค และอื่นๆ 

งบรายจ่ายบุคลากรพุ่ง สวนทางนโยบายลดกำลังพล

เอกราช กล่าวว่า จากแผนร่างการจัดสรรงบประมาณของกระทรวงกลาโหม เขาขอตั้งคำถามว่าคนไทยจะฝันเห็นกลาโหมรูปโแมใหม่ ดูดี ทันสมัยได้หรือไม่ เพราะการจัดสรรงบฯ ภาพรวม กลาโหม อยู่ที่ 198,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,800 ล้านบาท แต่พอมาดูงบฯ การจัดสรรบุคลากรภาคต่างๆ ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี นอกจากนี้ เมื่อดูประมาณการรายจ่ายล่วงหน้า รายจ่ายบุคลากรเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งสวนทางกับนโยบายลดกำลังพลที่นายกฯ แถลงต่อสภาฯ แห่งนี้โดยสิ้นเชิง ทำไมถึงจัดสรรงบประมาณไม่สมเหตุสมผล และย้อนแย้งกับนโยบายของนายกฯ ว่าจะลดกำลังพล

เอกราช กล่าวต่อว่า งบประมาณกระทรวงกลาโหมส่วนใหญ่หมดเงินไปกับรายจ่ายบุคลากรภาครัฐ ร้อยละ 55 หรือเท่ากับ 109,000 ล้านบาท หากดูเฉพาะงบฯ กองทัพบกใช้ถึง 64% ของงบประมาณ ขณะที่เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ รายจ่ายบุคลากรของเขาจะอยู่ประมาณ 30% ของงบประมาณกลาโหมเท่านั้น

เมื่อดูรายละเอียด งบประมาณบุคลากรยังซ่อนรูปอยู่ในงบฯ รายจ่ายอื่นที่ใช้กับทหารกองประจำการ ทั้งค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าอาภรณ์เครื่องแต่งกาย ค่าใช้จ่ายในการเรียกเกณฑ์และปลดปล่อยกำลังพล และเมื่อรวมค่าตอบแทนทหารกองประจำการ ยอดงบประมาณจะสูงถึง 14,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.8 ของงบประมาณกระทรวงกลาโหม 

เอกราช ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า เล่มงบประมาณส่วนของบุคลากรกองทัพ ควรเปลี่ยน KPI และชี้ให้ชัดว่าจำนวนทหารกองประจำการเท่าไร สมัครจริงเท่าไร และต้องบังคับเกณฑ์เท่าไร สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (รมว.กลาโหม) ในฐานะผู้ที่บริหารกระทรวง ถ้าไม่ตั้งเป้าหมายและตัวชี้วัด และจะวัดผลการทำงานอย่างไร 4 ปีข้างหน้าเยาวชนที่เขารอ เขาจะได้บังคับยกเลิกเกณฑ์ทหารตอนกี่โมง

สุทิน ในฐานะ รมว.กลาโหม ต้องมีนโยบายไปสู่เป้าหมาย ไม่ใช่ให้กองทัพจัดการตัวเอง ไม่ให้ตัวเองเป็นแค่ ‘ตรายาง’ ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา กองทัพสามารถลดกองประจำการ หรืองบประมาณลงไปได้ แต่พอช่วงนี้ทหารเกณฑ์ยังใช้อัตราใกล้เคียงแบบเดิม นี่ยังเป็นนโยบายเรือธง หรือไม่ อยากให้ช่วยตอบแบบเป็นวิทยาศาสตร์ ทหารกองประจำการจำนวนเท่าไร ทหารมืออาชีพต้องมีจำนวนเท่าไร และมีนายพลจำนวนเท่าไร

ลดนายพลกี่โมง

สส.พรรคก้าวไกล กรุงเทพฯ กล่าวว่า เขาใช้วิธีประมาณการจากงบประมาณส่วนนี้ งบประมาณค่าตอบแทนในการจัดหารถประจำตำแหน่งของกระทรวงกลาโหมอยู่ที่ 565 ล้านบาท ส่วนนี้ไม่เคยลดลงมาเลย ภายใต้ระเบียบกระทรวงกลาโหม นายพลมีศักดิ์มีศรีเท่าอธิบดี นายพล 2,000 คน เหมือนมีอธิบดี 2,000 คนเดินเบียดกันอยู่ กมธ.การทหาร ขอจำนวนกำลังพลที่ชัดเจนไม่เคยได้รับข้อมูลจากกองทัพเลย การที่งบฯ ค่าตอบแทนเหมาจ่ายในการจัดหารถประจำตำแหน่งของกระทรวงกลาโหมไม่เคยลดเลย มันสะท้อนว่าจำนวนนายพลของกลาโหมไม่เคยลดลงเลย แบบนี้มันย้อนแย้งหรือไม่

งบฯ ลับเท่าเดิม แหล่งหาผลประโยชน์มิชอบ

เอกราช กล่าวต่อว่า ส่วนงบฯ อีกตัวหนึ่งที่ติดใจคืองบฯ ลับของกระทรวงกลาโหมทำไมต้องเท่ากันทุกปี แถมอัตราการเบิกจ่ายรวดเร็ว ครบถ้วน 100% ไม่รู้จะพิจารณาความคุ้มค่ากันแบบไหน แต่งบฯ ลับของ กอ.รมน. ลดไปได้ 10 ล้านบาท และสำนักนายกฯ ลดงบฯ ลับไปได้ 5 ล้านบาท ท่านนายกฯ เศรษฐาทำยังไงกระซิบบอกสุทิน คลังแสง กระกลาโหมจะได้งบฯ ลับลงไปบ้าง

สส.พรรคก้าวไกล กรุงเทพฯ ระบุว่า ระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีกฎหมายปิดปากเขียนล็อกเอาไว้ว่า ผู้ใดเปิดเผยข้อมูลจากการตรวจสอบเงินราชการลับ ผิดวินัยร้ายแรง และผิดจริยธรรมด้วย เขายืนยันว่างบฯ คือช่องทางให้งาบอย่างลับๆ ของนายทหารที่มีอำนาจหรือไม่

หน่วยงานทับซ้อน เพิ่มภาระงบประมาณ

เอกราช ระบุต่อว่า ปัญหาของงบประมาณกระทรวงกลาโหม คือการมีหน่วยงานซ้ำซ้อนกับหน่วยงานภาครัฐงบประมาณเพื่อพัฒนาประเทศ 3,154 ล้านบาท ก้อนใหญ่อยู่ที่กองบัญชาการกองทัพไทย ซึ่งตั้งงบฯ โครงการทหารพัฒนามากกว่า 2,875 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการจัดหาแหล่งน้ำ 1,308 ล้านบาท เท่ากับร้อยละ 39 ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ที่มีหน้าที่ในการจัดหาแหล่งน้ำโดยตรง แต่ว่าการตั้งงบฯ ขนาดนี้เพื่อมาซ้ำซ้อนกับหน่วยงานรัฐโดยตรง มันไม่ควรจะเป็นอย่างนี้ กลัวคนจะรู้เหรออันที่จริงแล้ว เราไม่จำเป็นต้องมีจำนวนทหารเยอะอย่างเท่าที่เป็นอยู่ เลยพยายามหางานใส่ตัว กลัวคนไม่เห็นความสำคัญ

อีกงบประมาณหนึ่งคืองบฯ ซ้ำซ้อนด้านต่างประเทศ งบประมาณผู้ช่วยทูตทหารที่สังกัดกรมการข่าวของแต่ละกองทัพ ถ้าลดความทับซ้อนของสำนักงานลงไปได้ จะสามารถลดงบประมาณ 275 ล้านบาท หรือมากกว่า 57% 

งบประมาณด้านยาเสพติดทั้งป้องกัน และปราบปราม บำบัด จะได้เห็นความสำเร็จหรือไม่ ย้อยไป 3 ปี ขอจัดสรรเท่ากัน 3 ปี หมายความว่าไม่มีการวัดผลสัมฤทธิ์ ตั้งงบฯ ไปงั้นๆ มีประสิทธิภาพหรือเปล่าไม่รู้ มันควรจะมี KPI ที่ชัดเจน

ทร. ดันทุรังรับผิดชอบสนามบินอู่ตะเภา ส่ออนุมัติเงินกู้ต่างประเทศไม่ผ่าน

โครงการสนามบินอู่ตะเภา หวังให้เป็นสนามบินพาณิชย์เชื่อมต่อเศรษฐกิจพิเศษ ผมขอพาไปดูงบประมาณก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภา ในร่าง พ.ร.บ.ปี 2567 กองทัพเรือมีโครงการบูรณาการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC โครงการก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 มูลค่า 16,259 ล้านบาท แต่สิ่งที่ทำให้เอ๊ะ คือในจำนวนนี้ 2,450 ล้านบาท เป็นงบประมาณแผ่นดิน และเขาจะกู้เงินจากต่างประเทศ 13,778 ล้านบาท 

แต่เดิมไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะว่า มติ ครม.อนุมัติเงินกู้วงเงินเดิม 16,210 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นกู้เงินจากต่างประเทศ (คือธนาคาร AIIB) จำนวน 15,455 ล้านบาท ผสมกับงบประมาณแผ่นดิน 755 ล้านบาท แต่เอกสารงบประมาณรายจ่ายประจำปี กลายเป็นว่า กู้จากต่างประเทศ 13,778 ล้านบาท และงบประมาณแผ่นดิน 2,450 ล้านบาท ทำไมมันเพิ่มขึ้น 

เมื่อย้อนไปดูการประชุมบอร์ด EEC ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน และมติ ครม. เมื่อปี 2564-2565 พบว่ามีการเจรจาให้ทหารเรือ (ทร.) ส่งมอบอำนาจรับผิดชอบโครงการสร้างรันเวย์ที่ 2 ให้กับ สกพอ. แต่ทาง ทร.ยืนยันว่าจะดำเนินการรับผิดชอบต่อ ซึ่งมีผลต่อการอนุมัติเงินกู้จากธนาคาร AIIB จำนวน 431 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสถานะล่าสุดจากการตรวจสอบคือ ผ่านมา 24 เดือนแล้วยังไม่อนุมัติ ทำให้ต้องดึงงบประมาณแผ่นดินเข้ามา ซึ่งเป็นเพราะว่า ทร.ปฏิเสธทำตามคำขอหรือไม่ และกองทัพเรือมีการยัดไส้โครงการนี้หรือไม่ 

สส.พรรคก้าวไกล ระบุต่อว่า กมธ.ความมั่นคง เคยเรียก ทร.มาชี้แจงแล้วโครงการสร้างรันเวย์ที่ 2 หรือการบริหารสนามบินพาณิชย์เกี่ยวอะไรกับ ทร. โดย ทร.ระบุว่า เนื่องจากสนามบินอู่ตะเภาตั้งอยู่ในที่ดินของ ทร. ดังนั้น ทร.ควรได้รับผิดชอบดูแล แต่ว่าที่ดินตรงนั้นเป็นที่ราชพัสดุเป็นที่ของประชาชน

เอกราช กล่าวว่า ขอตั้งคำถามกับนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สุทิน คลังแสง ว่าทราบเรื่องราวเหล่านี้หรือไม่ ย้ำทั้งหมดว่าถูกตั้งงบประมาณเริ่มต้นงบผูกพัน 2567 นี้ เชื่อว่าหากตรวจสอบให้ดี งบประมาณแผ่นดินที่ต้องสมทบในโครงการจะน้อยกว่า 2,400 ล้านบาท ต่อไปนี้สุทิน ช่วยเปิดเผยเอกสารที่มาที่ไปว่า ทำไมประเทศไทยถูกปรับลดเงินกู้จาก AIIB 2. เปิดรายละเอียดโครงการให้ภาคประชาชนได้ตรวจสอบ และโครงการก็ล่าช้า แทนที่จะได้ใช้สนามบินพาณิชย์อู่ตะเภาอย่างเต็มที่ สนามบินน่าจะกำไรหลายพันล้านบาทต่อไป เป็นส่วนหนึ่งที่จะขับเคลื่อนกระตุ้นเศรษฐกิจ EEC ได้

ธุรกิจกองทัพควรชดเชยรายจ่ายที่เสียไป

เอกราช กล่าวต่อว่า นายกฯ เศรษฐา พูดว่า เราวิกฤตแล้ววิกฤตอีก แต่กระทรวงกลาโหม มีแหล่งเงินกู้ที่ซ่อนเร้นอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นรายได้ธุรกิจกองทัพ สนามกอล์ฟ สนามม้า สนามมวย โรงแรม หรือปั๊มน้ำมัน ธุรกิจเหล่านี้เหมือนอยู่ในแดนสนธยา ตรวจสอบได้บ้างไม่ได้บ้างว่ามีรายได้เท่าไร เสมือนเงินนอกงบประมาณไปอีก และในปี 2567 เรายังไม่เห็นเงินสมทบธุรกิจกองทัพแม้แต่สตางค์เดียว ที่ผ่านมากองทัพอ้างว่านำผลประโยชน์ไปใช้ในกองทุนสวัสดิการ อยากถามว่ารถประจำตำแหน่งยังไม่พอเหรอ หรือทหารชั้นผู้น้อยเขาเคยได้รับเงินเหล่านี้ไหม หลายหน่วยงานบริหารไม่ดี ลงบัญชีไม่ครบ เป็นแหล่งผลประโยชน์ให้กับคนบางกลุ่มในแดนสนธยา ดังนั้น ธุรกิจกลาโหมน่าจะสร้างรายได้ ควรนำมาชดเชยรายจ่ายที่จะต้องสมทบไป 

สส.พรรคก้าวไกล กรุงเทพฯ เสนอว่า นายกฯ ธุรกิจในกองทัพที่ใช้ประโยชน์จากที่ราชพัสดุ และยังไม่ได้ทำข้อตกลงแหล่งรายได้ให้กับกรมธนารักษ์ ทางที่ดีที่สุดให้คืนกับรัฐบาลตามที่เคยแถลงไว้ เพื่อทำมาพัฒนาประเทศต่อไป 

สรุปข้อเสนอ

เอกราช สรุปข้อเสนอแนะ 1. ลดโครงการที่ทับซ้อน ซ้ำซ้อน 2. ลดกำลังพลที่ไม่จำเป็น 3. ลดกำลังพลใหม่ 4. เร่งพัฒนาเทคโนโลยีกองทัพ 5. ลดงบประมาณอุดหนุนภายในประเทศ 6. เน้นสร้างไม่เน้นซื้อ และสุดท้าย 7. นำธุรกิจกองทัพกลับมาให้รัฐบาลรับผิดชอบดูแล

"ผมไม่สามารถเห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัตินี้ได้ ท่านต้องปรับเปลี่ยนกองทัพให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างแท้จริง สุดท้ายจุดมุ่งหมายของเราในการทำงาน อย่าลืม ไม่มีแค่พวกเราในนี้ หรือแค่กระทรวง แต่เป็นประชาชนที่เลือกเรามา ต้องคุ้มทุกบาททุกสตางค์ที่เป็นความหวังของประชาชน ไปสู่การบริหารที่เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศชาติจริงๆ" เอกราช ทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net