Skip to main content
sharethis

'ศิริกัญญา' ก้าวไกล ถามรัฐบาล 'เศรษฐา' วิกฤตเศรษฐกิจแบบใด ทำไมจัดงบแบบนี้ แถมงบฯ กลาโหมเพิ่ม 2% เตือนตั้งงบไม่พอ ประมาณการรายได้พลาด แนะไม่แตะปัญหาโครงสร้างงบประมาณ ไม่สามารถผลักดันนโยบายที่สัญญากับประชาชน


3 ม.ค. 2567 ยูทูบ TP Channel ถ่ายทอดสดออนไลน์ การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 5 (สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 2) ประจำวันที่ 3 ม.ค. 2567 ศิริกัญญา ตันสกุล สมาชิกผู้แทนราษฎร (สส.) บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2567 ระบุว่า เธอเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า 'วิกฤตเศรษฐกิจแบบใด ทำไมงบเหมือนไม่มีวิกฤต'

'วิกฤตเศรษฐกิจแบบใด'

ศิริกัญญา ระบุว่า ที่ตั้งคำถามแบบนี้เนื่องจากนายกรัฐมนตรีเคยกล่าวในหลายวาระแล้วว่า ประเทศไทยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจแล้ว แต่ถ้าเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจริงๆ ตัวงบประมาณที่จะเป็นตัว[j’บอกว่า เราอยู่ในภาวะแบบใด และเราจะจัดงบฯ เพื่อตอบสนองวิกฤตแบบใดบ้าง

ศิริกัญญา ระบุว่า ในรายงานเล่มสีขาวคาดด้วยสีม่วง ระบุเศรษฐกิจปี 2566 จะโต 2.5% และปี 2567 จะโต 3.2% เงินเฟ้ออยู่ในระดับปกติ และเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้หรือปีหน้า และการแถลงของเศรษฐา ก็ไม่ได้ระบุว่าเราจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจแต่อย่างใด 

สส.พรรคก้าวไกล ระบุต่อว่า งบประมาณฉบับประชาชน จัดทำโดยสำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่า GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) เราจะโต 5.4% แต่ในเล่มขาวคาดม่วงกลับบอกว่าโต 3.2% ที่ตัวเลขต่างกันเนื่องจากตัวเลข GDP ที่ไม่ได้รวมผลของเงินเฟ้อ เพราะว่าต่างประเทศทั่วโลกเวลาคำนวณ GDP เขาจะใช้แบบที่ไม่รวมผลของเงินเฟ้อ แต่รัฐบาลกำลังโชว์ตัวเลขผลของเงินเฟ้อ และรัฐบาลกำลังอ้างว่า จะบรรลุเป้าหมายตัวเลข GDP เติบโต 5% ด้วยการโกงสูตร GDP แบบนั้นหรือ จึงอยากขอร้องอย่าโกงสูตรเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวตามเป้าหมาย

สส.พรรคก้าวไกล กล่าวต่อว่า ตามปกติในปีที่เกิดวิกฤตเราจะทำงบประมาณขาดดุลเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ เพื่อให้มีการกู้เงินเพิ่มเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไปและกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่พอมาดูงบฯ ขาดดุลของปี 2567 ต้องชดเชยเงินกู้เพื่อการขาดดุล 3.6% ของ GDP ขณะที่ GDP ระบุว่าเติบโต 3.5% ซึ่งยังต่ำกว่าเมื่อปีที่ผ่านมาที่กู้สูงถึง 4% ของ GDP แต่ยังอยู่ในระดับสูงอยู่ ก็กล้อมแกล้มว่าเรายังอยู่ในวิกฤต 

พอไปดูแผนงบประมาณปีถัดๆ ไป เพราะว่ารัฐบาลจัดทำแผนการคลังระยะกลางเอาไว้ ปรากฏว่า ขาดดุลเท่าเดิมทุกปี เลยดูไม่ออกว่าปีไหนจะเกิดวิกฤตกันแน่ หรือเราจะขาดดุลไปเรื่อยๆ หรือไม่ ทำไมรัฐบาลถึงได้ประมาณการว่าเราจะต้องทำขาดดุล 3.4% ไปเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่พรรคเพื่อไทยเคยประกาศว่าจะทำงบประมาณให้สมดุลภายใน 7 ปี งบประมาณสมดุลคือการทำงบประมาณสมดุลไม่กู้เลยสักบาท

'งบฯ กระตุ้นเศรษฐกิจล่องหน'

ศิริกัญญา กล่าวว่า เมื่อมีวิกฤตก็ต้องมาหางบฯ กระตุ้นเศรษฐกิจในงบประมาณปี 2567 กัน โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเรือธงของรัฐบาลคือ ‘ดิจิทัลวอลเลต’ แต่ทั้งๆ ที่มีการประกาศเมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมาว่ามีแพกเกจใหญ่ 600,000 ล้านบาท เพื่อทำนโยบายดิจิทัลวอลเลต โดย 500,000 ล้านบาท เพื่อแจกเงินหมื่นให้กับประชาชน 50 ล้านคน และอีก 100,000 ล้านบาท นำไปเติมในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะใช้เงินมาจาก 2 แหล่ง คือ พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท และงบประมาณรายจ่ายประจำปี 100,000 ล้านบาท

สส.พรรคก้าวไกล ระบุต่อว่า พอมาดูในงบฯ แล้ว งบฯ ดิจิทัลวอลเลตล่องหน ไม่มีเลยแม้แต่บาทเดียว ส่วนกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันลดลงจาก 100,000 ล้านบาท เหลือเพียง 15,000 ล้านบาทเท่านั้นเอง ชัดเจนว่ายังมีเงินไม่พอไปเติมกองทุน และสรุปเรายังต้องฝากความหวังไว้กับ พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทใช่หรือไม่ ในการทำนโยบายดิจิทัลวอลเลต ยอดกู้ตอนนี้ต้องเพิ่ม 585,000 ล้านบาทแล้วหรือไม่ เพื่อทำทั้งดิจิทัลวอลเลต และนโยบายเพิ่มเงินกองทุนฯ

"รัฐบาลกำลังฝากความหวังไว้ใน พ.ร.บ.เงินกู้ ฉบับนี้ เสมือนกับฝากความหวังไว้ในตระกร้าใบเดียว ดังนั้น มันมีความเสี่ยงสูงมาก เราไม่สามารถออก พ.ร.บ.เงินกู้ได้ ไม่งั้นงบกระตุ้นเศรษฐกิจเรา จะกลายเป็นงบกระตุ้นเศรษฐกิจทิพย์" ศิริกัญญา กล่าว 

หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล กล่าวว่า เมื่อไปคุ้ยในงบประมาณรายจ่ายปี 2567 พบว่าเรายังมีงบฯ กระตุ้นเศรษฐกิจจากรายงานงบประมาณฉบับประชาชนเล่มเดิม โดยสำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี ได้จัดทำเอาไว้ สำหรับงบฯ กระตุ้นเศรษฐกิจ และแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเอาไว้ มีเม็ดเงินอยู่ที่ 3 หมื่นกว่าล้านบาท มีการแก้ไขปัญหาหนี้สิน การลดค่าใช้จ่ายภาระด้านพลังงาน และก็การผลักดันการท่องเที่ยว แต่ก็ยังไม่เจองบกระตุ้นเศรษฐกิจเลย

ศิริกัญญา ระบุต่อว่า ที่น่าสนใจคือเมื่อมาดูงบฯ โครงการการท่องเที่ยว ซึ่งจะมีโครงการเบี้ยหัวแตกแบบนี้เยอะแยะมากมาย รวมถึงโครงการก่อสร้างต่อเนื่องจากสมัยพลเอกประยุทธ์ แต่ในท้ายพารากราฟ มีการพูดเรื่องงบตัดถนน เลยไปรวมงบฯ ที่มีชื่อโครงการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว พบว่ามีโครงการตัดถนนเพื่อการท่องเที่ยว สูงถึง 7,700 ล้านบาท จากงบประมาณทั้งหมดของการท่องเที่ยว 1.6 หมื่นล้านบาท ครึ่งหนึ่งเป็นการตัดถนน แน่นอนว่าเราทราบดีว่าต้องมีโครงการตัดถนนเพื่อให้เข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ แต่เราไม่สามารถตัดถนนอย่างเดียวเพื่อให้แหล่งท่องเที่ยวพัฒนา หรือให้ค่าใช้จ่ายรายหัวของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นได้ 

“สรุปแล้วนี่มันวิกฤตแบบใด เราถึงได้กระตุ้นเศรษฐกิจแบบนี้” ศิริกัญญา กล่าว 

ทำไมงบประมาณกระทรวงกลาโหมขึ้น

ศิริกัญญา ระบุว่า เวลาเกิดวิกฤต กระทรวงกลาโหมจะตัดลดงบประมาณ เพื่อเสียสละให้ประเทศ ในการพยุงเศรษฐกิจของประเทศ แต่ในวิกฤตของเศรษฐา ทวีสิน กระทรวงกลาโหม ยังไม่ได้แสดงความรับผิดชอบให้เห็นถึงตรงนี้เลย 

หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคก้าวไกล อภิปราย พร้อมเปิดสไลด์ประกอบ ระบุว่า ถ้าเราย้อนไปเมื่อ 2541-2542 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง งบประมาณกระทรวงกลาโหมลดลง 21% ช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ราวปี 2552-2553 งบฯ ลดลงถึง 10% ช่วงโควิด-19 ราวปี 2564-2565 ลดลง 5% แต่ในวิกฤตของเศรษฐา ทวีสิน งบกลาโหม เพิ่ม 2% 

หางบกระตุ้นเศรษฐกิจนโยบายเรือธงไม่เจอ

ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า รัฐบาลใหม่มีโครงการใหม่จำนวน 236 โครงการจากจำนวน 1,500 โครงการ มีงบประมาณเพียงแค่ 13,000 ล้านบาท จากงบประมาณของโครงการทั้งหมด 830,000 ล้านบาท แม้จะเข้าใจว่าตอนนี้ยังไม่สามารถขับเคลื่อนโครงการทุกอย่างของรัฐบาลได้ แต่โครงการใหม่ที่มีเพียงแค่น้อยนิด ทำให้เราแทบคาดหวังไม่ได้เลยว่าเราจะเจอนโยบายที่รัฐบาลได้สัญญาว่าเป็นนโยบายเร่งด่วนตามที่นายกฯ เคยแถลงไว้ที่จะทำให้สำเร็จภายใน 1 ปี

"แม้ว่าเราจะทราบข้อจำกัดของรัฐบาล แต่อยากจะชวนคิดชวนคุยว่าถ้าเราไม่แตะปัญหาโครงสร้างของรัฐบาลเลย มันไม่มีทางที่จะหลุดพ้นจากวังวนนี้ได้เลย และไม่สามารถผลักดันภารกิจใดที่สัญญากับประชาชนผ่านงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้เลย และงบฯ นี้จะกลายเป็นงบฯ ของข้าราชการเท่านั้น" ศิริกัญญา ระบุ

อ้างเวลาน้อย ฟังไม่ขึ้น

ศิริกัญญา กล่าวว่า ที่บอกว่าระยะเวลาน้อยฟังไม่ขึ้นตั้งแต่ศูนย์เลย มีการรื้อกรอบงบประมาณรายจ่ายถึง 2 รอบ เพราะเมื่อสำนักงบประมาณทำมาแล้ว รัฐบาลยังไม่พอใจ และก็ส่งกลับไปปรับปรุงแก้ไขอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น ท่านก็คงจะทราบแล้วว่าการรื้องบประมาณไม่ง่ายเลย และต้องอาศัยภาวะผู้นำอย่างมาก ที่เข้าใจทั้งเรื่องกระบวนการงบประมาณ เจรจากับพรรคร่วม และเจรจากับข้าราชการอีก 

ดังนั้น การจะไปเปลี่ยนแปลงงบประมาณภายใต้กรอบระเบียบกฎเกณฑ์แบบเดิมๆ ที่ถูกครอบไว้ แผนซ้อนแผนครอบไว้ แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บทย่อย และแผนอื่นๆ อีก ยิ่งทำให้การกระดิกตัวของรัฐบาลเพื่อขับเคลื่อนนโยบายของตัวเองแทบเป็นไปไม่ได้เลย 

มรดกปัญหาจาก 'ประยุทธ์'-งบประมาณบุคลากรราชการขึ้นเร็วน่าใจหาย

สส.พรรคก้าวไกล ระบุว่า นอกจากปัญหาเชิงโครงสร้างแล้ว ยังมีงบฯ มรดกจากประยุทธ์ ตกทอดมาอีก จากงบประมาณ 3.48 ล้านล้านบาท รัฐบาลมีงบฯ จัดสรรได้เอง และบรรจุโครงการใหม่ๆ ได้เพียง 740,000 ล้านบาท รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ แล้ว สรุปเหลืองบจัดสรรได้เองไม่ถึง 1 ใน 4 เท่านั้น สมัยประยุทธ์ ค่าใช้จ่ายบุคลากรข้าราชการขึ้นมาที่ 37% ของงบประจำปี และมีรายงานระบุด้วยว่า แนวโน้มกำลังพลของภาครัฐจะเพิ่มขึ้น แต่เดิมมีข้าราชการเพิ่ม 5 แสนคนใน 10 ปี แต่เนื่องจากมีการตั้งกรมใหม่ 4 กรม จะยิ่งมีข้าราชการเพิ่มขึ้นเพื่อเข้ามาทำงาน และน่าเป็นห่วงว่าต่อไปค่าใช้จ่ายบุคลากร จำนวน 1,029 ล้านล้านบาท และบำเหน็จบำนาญ ต่อไปจะโตเร็วจนแซงงบฯ เงินเดือน 

"พูดแบบนี้ย้ำว่าไม่ได้จะตัดงบฯ บำเหน็จบำนาญ แต่นี่คือปัญหาที่เรากำลังพูดถึง และถ้าเราไม่แก้ไขปัญหาโครงสร้างเหล่านี้เราจะไม่มีวันขับเคลื่อนนโยบายที่เราให้ไว้กับประชาชนได้" หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล กล่าว 

ศิริกัญญา ระบต่อว่า งบฯ ชำระหนี้เพิ่มขึ้นมา 4 หมื่นล้านบาท เป็นมรดกทั้งการก่อหนี้และการบริหารงานที่ผิดพลาดของรัฐบาลประยุทธ์ ที่ไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วขึ้น เงินชดใช้เงินคงคลังสูงอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน คือเกือบ 1.2 แสนล้านบาท งบผูกพัน 3.6 แสนล้านบาท เป็นมรดกที่ประยุทธ์ดาวน์ไว้ และเศรษฐาต้องมาผ่อนต่อ แต่ถ้าเศรษฐา ไม่จัดการเรื่องนี้ งบผูกพันจะพันแข้งพันขาไปเรื่อยๆ 

พลาดตั้งงบฯ ไม่พอ เดือดร้อนงบฯ กลางจ่าย

ศิริกัญญา ระบุว่า เธออยากชี้ให้เห็นว่ามันมีปัญหาในเชิงโครงสร้างอยู่ ไม่ได้โทษว่าเป็นที่รัฐบาลอย่างเดียว ที่ทำให้รัฐบาลไม่สามารถจัดสรรงบฯ ได้เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ แต่เราน่าจะได้ถอดบทเรียนที่ทำให้เราผิดพลาด พลาดแล้ว พลาดอยู่ พลาดต่อ

สส.พรรคก้าวไกล ระบุว่า เรื่องของการจัดการผิดพลาด การชดใช้เงินคงคลัง 120,000 ล้านบาท เอาไปชดใช้งบฯ บุคลากร 2 หมื่นกว่าล้าน งบบำเหน็จบำนาญไม่พอ 5 หมื่นล้านบาท ค่ารักษาพยาบาลตั้งไว้ไม่พอ 3 หมื่นล้านบาท ผสมกันบวกกัน 2 ปี ทำให้ยอดบวมไปใหญ่ ทั้งที่เป็นเรื่องที่ไม่น่าพลาดเพราะเป็นเรื่องเงินเดือนบุคลากร และบำเหน็จบำนาญข้าราชการ มันสามารถคาดการณ์ได้ แต่ 2 ปีที่ผ่านมาบริหารงบแย่มาก สุดท้ายเงินไม่พอ ต้องไปควักเงินคงคลัง แต่ปีนี้ยังคงพลาดต่อ บำเหน็จบำนาญตั้งงบฯ ไว้ 360,000 ล้านบาท แต่รัฐบาลตั้งงบฯ ไว้ 330,000 ล้านบาท หรือค่ารักษาพยาบาลจะทะลุแสนล้านบาทแล้ว แต่ตั้งงบฯ 76,000 ล้านบาท เงินเดือนต้องเพิ่มแน่ๆ เพราะว่าเป็นนโยบายรัฐบาล ก็ไม่ได้ตั้งเพิ่ม ซึ่งพยากรณ์ได้เลยว่า งบฯ ปี 2568-2569 ต้องมีการควักเงินคงคลังออกมาใช้ และก็มาตั้งชดใช้เงินคงคลังอีกสักรอบ 

แต่นี่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำซาก งบประมาณรายจ่ายไม่พอ ก็ต้องไปใช้งบฯ กลาง เงินชดใช้ กฟผ. 38,000 ล้านบาท ยังไม่ได้ตั้งไว้ตรงไหน เงินชดเชยผู้ประกอบการรถยนต์ EV ปีที่แล้วตั้งขาด ปีนี้ตั้งขาดต่อ กรรมสรรพสามิตขอมา 13,000 ล้านบาท ตั้งไว้แค่ 3,000 ล้านบาท 

งบฯ ซอฟต์พาวเวอร์ จำนวน 5,164 ล้านบาท ไม่ปรากฏอยู่ในเอกสารงบประมาณ นโยบาย 20 บาทตลอดสาย ปีไหนเราจะได้ขึ้น 20 บาทอีกถ้าไม่ได้ตั้งไว้ และอื่นๆ สรุปแล้วเกินงบฯ กลางการใช้จ่ายสำรองฉุกเฉินจำเป็นที่ตั้งไว้ 98,500 ล้านบาทแน่นอน แบบนี้เป็นความผิดพลาดที่อดคิดไม่ได้ว่าเป็นความตั้งใจผิดพลาดหรือไม่

ประมาณการรายได้ผิดพลาด

ศิริกัญญา ระบุต่อว่า รัฐบาลผิดพลาดตั้งงบฯ รายจ่ายไม่พอ แต่ผิดพลาดประมาณการรายได้ วันแรกมีการตั้งกรอบประมาณการรายได้ไว้ที่ 2.787 ล้านล้านบาท แต่ในเอกสารระบุไว้ชัดว่าวันนั้นว่าจะมีการเก็บภาษีการขายหุ้น เพื่อมาสมทบรายได้รัฐที่เพิ่มขึ้นมูลค่า 14,000 ล้านบาท แต่เศรษฐา ให้สัมภาษณ์สื่อพูดชัดเจนว่าจะไม่เก็บภาษีการขายหุ้น แล้วจะเอา 14,000 ล้านบาทที่ไหนมาชดเชย 

นโยบายลดหย่อนภาษีนายทุน นักลงทุน ทำให้ประมาณการรายได้หายไป 1 หมื่นล้านบาท รายได้นำส่ง กฟผ. ให้แบกภาระหนี้เอาไว้จนสถานการณ์ตกต่ำ เงินสดจะหมดบริษัทภายในปีนี้ แต่รัฐบาลยังบอก กฟผ.ว่าให้มีรายได้นำส่งเข้ารัฐ 28,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มจากปี 2566 จำนวน 60% คิดว่าไม่น่าจะส่งได้แน่นอน และยังไม่รวมค่าภาษีสรรพสามิตที่ช่วยพยุงค่าน้ำมันให้กับประชาชน ประมาณการรายได้จะหายไป 6 หมื่นล้านบาท 

"ดิฉันไม่มีปัญหากับมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลทำ เพียงแต่ว่ามันกระทบกับยอดประมาณการรายได้ที่ท่านคาดการณ์เอาไว้อย่างน้อยๆ ที่หาได้เจอตอนนี้ ไม่รู้ว่าในอนาคตจะผุดโครงการอะไรมาที่ทำให้รายได้รัฐหายไปอีกหรือเปล่า หายไปเหนาะๆ 100,000 ล้านบาทแล้ว  ซึ่งเรายังไม่เคยยินจากรัฐบาลว่าจะเอาเงินจากไหนมาชดเชยมาทดแทน นอกเสียจากว่าบอกว่าถ้าทำโครงการดิจิทัลวอลเลตแล้ว จะทำให้เรามีรายได้จากการจัดเก็บรายได้รัฐมากขึ้นกว่า 100,000 ล้านบาท 

"แบบนี้ดิฉันคิดว่ามันพลาดแบบที่ไม่น่าที่จะพลาด เราสามารถทบทวนตัวประมาณการรายได้ได้ และก็ตั้งงบฯ การขาดดุลงบประมาณหรือว่าการกู้ชดเชยขาดดุล แต่ท่านก็ต้องพูดความจริงตรงไปตรงมากับสภาฯ แห่งนี้กับประชาชน" ศิริกัญญา กล่าว 

แนวโน้มดอกเบี้ยหนี้สาธารณะส่อพุ่ง-พ.ร.บ.งบฯ ปี'67 บทพิสูจน์ฝีมือรัฐบาล

ศิริกัญญา กล่าวถึงปัญหาหนี้สาธารณะ ถ้าเราดูตัวเลขของปี 2567 จากประมาณการแผนการคลังระยะปานกลางปีนี้อยู่ที่ 64% ของ GDP แต่ดอกเบี้ยที่เราต้องจ่ายต่อปี เมื่อคำนวณเป็นสัดส่วนรายได้ของรัฐแล้วพุ่งขึ้นอย่างน่าใจหาย เนื่องจากช่วงนี้เป็นเทรนด์ดอกเบี้ยขึ้นกันทั่วโลก และตลาดพันธบัตรของไทยค่อนข้างผันผวน  ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคาดว่าจะทะลุ 10% ในปี 2568 และก็เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน เพราะสุดท้าย ภาระดอกเบี้ยตรงนี้จะไปเบียดบังงบประมาณที่เราต้องใช้ในแต่ละปีอยู่ดี เพราะว่าเราต้องกันงบฯ ส่วนหนึ่งเอาไว้ในจ่ายคืนหนี้โดยเฉพาะดอกเบี้ย และ 10% ยังไม่รวมหนี้อื่นๆ ที่รัฐบาลต้องใช้ในการดำเนินนโยบายเรือธงอย่างเช่นดิจิทัลวอลเลต หรือหนี้ตามมาตรา 28 จากการที่รัฐบาลหยิบยืมหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ เหมือนเป็นบัตรกดเงินสดของรัฐบาล 

"ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ดิฉันไม่เห็นอะไรนอกจากเป็นบทพิสูจน์ว่า รัฐบาลไม่สามารถทำงานได้อย่างเป็นมืออาชีพ นี่หรือคือที่สืบทอดชื่อเสียงกันมาว่าเก่งเรื่องเศรษฐกิจ นี่เหรอรัฐบาลที่ขึ้นชื่อเรื่องหาเงินได้ ใช้เงินเป็น กับผิดพลาดในการจัดงบประมาณได้มากขนาดนี้ จัดงบไม่เพียงพอ ประมาณการรายได้ผิดพลาดอย่างไม่น่าให้อภัย และก็ไม่คิดที่จะแก้ มุ่งแต่จะใช้กลไกนอกงบประมาณในการบริหารประเทศ และก็ไม่สนใจเรื่องภาระทางการคลัง มันถึงเวลาที่ประชาชนต้องคิดใหม่กับฝีมือการบริหารราชการของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย" ศิริกัญญา ทิ้งท้ายการอภิปราย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net