Skip to main content
sharethis

สำนักงานประกันสังคม รายงานผลเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมปี 2566 อย่างไม่เป็นทางการ ทีมประกันสังคมก้าวหน้า คว้า 6 ที่นั่ง เครือข่ายพนักงานราชการไทยส่งคนเดียว คว้าเก้าอี้สุดท้าย พร้อมเช็กนโยบายทั้ง 2 ทีม เตรียมเสนอ รมว.แรงงาน เพื่อตั้ง คกก.ต่อไป

 

25 ธ.ค. 2566 เพจเฟซบุ๊ก สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน - Social Security Office ได้รายงานวันนี้ (25 ธ.ค.) เมื่อเวลา 14.45 น. ระบุว่า ผลเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม ฝั่งผู้ประกันตน และฝั่งนายจ้าง ชุดใหม่ ปี 2566 อย่างไม่เป็นทางการ โดยผู้ที่ได้รับคะแนนมากสุด 7 อันดับแรก ได้แก่

ฝั่งผู้ประกันตน

  1. รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 71,917 คะแนน 
  2. นายธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง 69,403 คะแนน 
  3. นายศิววงศ์ สุขทวี เครือข่ายด้านประชากรข้ามชาติ 69,264 คะแนน 
  4. นายชลิต รัษฐปานะ สหภาพคนทำงาน 69,256 คะแนน
  5. นางสาวนลัทพร ไกรฤกษ์ นักรณรงค์สิทธิผู้พิการ 68,133 คะแนน 
  6. นางลักษมี สุวรรณภักดี สหภาพ มอลลิเก้ เฮลท์ แคร์  67,113 คะแนน
  7. นายปรารถนา โพธิ์ดี เครือข่ายพนักงานราชการไทย 15,080 คะแนน

ผู้แทนนายจ้าง

  1. ดร.มนตรี ฐิรโฆไท บริษัท กะรัต เอ็นเตอร์ไพรส์ (ประเทศไทย) 409 คะแนน
  2. นางวิภาพรรณ มาประเสริฐ บจก. รักษาความปลอดภัย ดูอิ้งเวล แอนด์ ฟาซิลิตี้ เซอวิสเซส 403 คะแนน                             
  3. นางสิริวัน ร่มฉัตรทอง บจก.อีคอท ดีเวลลอปเม้นท์ เซ็นเตอร์ 368 คะแนน                  
  4. นายสมพงศ์ นครศรี บจก.สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล 319 คะแนน                             
  5. นายสุวิทย์ ศรีเพียร บจก.ไทยจิระพัฒน์ 315 คะแนน                                       
  6. นายทวีเกียรติ รองสวัสดิ์ บจก.นำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศไทยอินเตอร์ซิตี้ 258 คะแนน    
  7. นางสาวเพชรรัตน์ เอกแสงกุล บมจ.อีซึ่น แอนด์ โค 252 คะแนน

ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้แถลงตัวเลขผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งประกันสังคมโดยฝั่งนายจ้างมีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งกว่า 1,460 คน หรือ 46.8 เปอร์เซ็นต์ และมีผู้ประกันตน มาตรา 33 39 และ 40 รวมจำนวน 156,870 ราย หรือคิดเป็น 18.36 เปอร์เซ็นต์ จากผู้ลงทะเบียน และผ่านคุณสมบัติใช้สิทธิเลือกตั้ง 854,414 แสนคน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนผู้ประกันตนที่อยู่ระบบประกันสังคมกว่า 20 ล้านคน    

สำหรับขั้นตอนต่อจากนี้ บุญสงค์  ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ระบุว่า คณะกรรมการดำเนินการเลือกตั้งแต่ละจังหวัดและกรุงเทพมหานคร (กดต.) จะรายงานผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการมายังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการเลือกตั้งจะได้ประชุมเพื่อประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการอีกครั้ง โดยสำนักงานประกันสังคมจะได้เสนอชื่อผู้ได้รับเลือกตั้งต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการประกันสังคมฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตนต่อไป 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นโยบายของทีมประกันสังคมก้าวหน้า-เครือข่ายพนักงานราชการไทย

ในช่วงการแถลงข่าวขอบคุณของทีมประกันสังคมก่าวหน้า นำโดย รศ.ดร. ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ผู้สมัครรับเลือกตั้งหมายเลข 27 ได้ยืนยันว่าถ้าได้เข้าไปเป็นบอร์ดประกันสังคมแล้ว จะทำนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ ซึ่งมีทั้งหมด 14 นโยบาย ประกอบด้วย

  1. เพิ่มค่าคลอดบุตร 20,000 บาทต่อครั้ง และเพิ่มสิทธิลาคลอดรวม 180 วัน
  2. เพิ่มเงินสงเคราะห์เด็ก 0-6 ปี เป็น 1,000 บาทต่อเดือน
  3. เพิ่มเงินดูแลเด็กอายุ 7-12 ปี เป็น 7,200 บาทต่อปี
  4. ชดเชยการลาเพื่อดูแลคนในครอบครัว วันละ 300 บาท
  5. เพิ่มประกันว่างงาน สูงสุด 9 เดือน
  6. สูตรคำนวณบำนาญใหม่ เพื่อบำนาญที่เป็นธรรม
  7. สินเชื่อที่อยู่อาศัย เพิ่มวงเงินเป็น 5 ล้านบาท ดอกเบี้ย 1.99 เปอร์เซ็นต์
  8. ขยายสิทธิคนพิการ ไม่ตัดสิทธิการเข้าร่วมสวัสดิการอื่นๆ รักษาพยาบาลได้ทุกที่
  9. ประกันสังคมถ้วนหน้าพื้นฐานสำหรับแรงงานอิสระทั้งระบบ วางระบบระยะยาว 2 ปี
  10. พัฒนาบัญชียาเดียวกัน ไม่น้อยกว่าราชการและบัตรทอง ไม่ต้องสำรองจ่ายทุกกรณี
  11. สิทธิทันตกรรม รักษารากฟันเทียม เชื่อมโยงกับ สปสช. เหมาจ่าย 17,500 บาท ตลอดการรักษา
  12. ปรับเงื่อนไขการรับบำนาญ บำเหน็จ แรงงานข้ามชาติให้เข้ากับสภาพการทำงาน 
  13.  วางเงื่อนไขการลงทุน และบริษัทคู่สัญญา มีธรรมาภิบาล การลงทุนขนาดใหญ่ต้องตรวจสอบได้ยึดโยงกับผู้ประกันตน 
  14. มุ่งหน้าสู่การเป็นองค์กรอิสระ ตรวจสอบได้ โดยมีส่วนร่วมทุกระดับ

นโยบายเครือข่ายพนักงานราชการไทย มีทั้งหมด 9 นโยบาย ประกอบด้วย

  1. ผู้ประกันตน สามารถเลือกรับเงินสะสมชราภาพได้ เลือกรับบำนาญชราภาพ หรือเงินบำเหน็จชราภาพ (รับเงินเพียงครั้งเดียว)
  2. ผู้ประกันตนสามารถรับเงินสะสมคืนโดยไม่ต้องรอให้ถึงอายุ 55 ปี กรณีส่งเงินสมทบติดต่อกันเกิน 3 ปี
  3. ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาได้ ทั้งโรงพยาบาลรัฐ และเอกชน โดยไม่ต้องเลือกโรงพยาบาล
  4. ผู้ประกันตน สามารถใช้สิทธิประโยชน์ กรณีทันตกรรม รวมปีละ 2,000 บาท และสามารถสะสมได้ หากไม่ได้ใช้ในปีนั้น แต่สะสมได้ไม่เกิน 5,000 บาท
  5. เพิ่มเบี้ยบำนาญชราภาพไม่น้อยกว่า 10,000 บาท
  6. ส่งเงินสมทบตามความสมัครใจ (จัดให้มีเรทส่งสมทบ 3 ระดับ ซึ่งผู้ประกันตนสามารถเรทได้ โดยไม่ต้องบังคับตามเงินเดือนของผู้ประกันตน สะดวกเท่าไรจ่ายในเรทนั้น)
  7. ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิประกันตนได้ต่อเนื่อง หลังจากได้รับเงินสะสมชราภาพแล้ว (กรณีส่งสมทบมาเกิน 300 งวด ให้มีรับสิทธิรักษาพยาบาลตลอดชีวิต แต่ผู้ประกันตนต้องได้รับบำนาญชราภาพเป็นรายเดือน)
  8. เร่งรัดหนี้ที่รัฐบาลค้างจ่ายสมทบ
  9. จัดให้มีการลิงก์ระบบข้อมูลระหว่างระบบประกันสังคม และระบบทะเบียนราษฎร์ ในแจ้งเรื่องบุคคลผู้เสียชีวิตให้ สปส. เพื่อให้ สปส. แจ้งญาติของผู้เสียชีวิตให้มารับเงินสะสมบำนาญชราภาพคืน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net