Skip to main content
sharethis
  • รายงานผลเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมอย่างไม่เป็นทางการ ฝั่งผู้ประกันตน นับแล้วกว่า 100% ทีมประกันสังคมก้าวหน้า นำโดย 'ษัษฐรัมย์' กวาด 6 จาก 7 ที่นั่ง ส่วนฝั่งนายจ้างนับคะแนนจบแล้ว 
  • ด้านทีมประกันสังคมก้าวหน้า แถลงขอบคุณทุกคะแนนเสียงหลังคว้าชัย ยืนยันตั้งใจดูแลทั้งผู้ประกันตน และเจ้าหน้าที่ประกันสังคม ทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ ยกระดับสิทธิประโยชน์ และปฏิรูปการลงทุนกับคู่ค้าที่ไม่ละเมิดสิทธิแรงงาน

นับคะแนนครบ 100% แล้ว

24 ธ.ค. 2566 เพจเฟซบุ๊ก "สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน" ไลฟ์สดวันนี้ (24 ธ.ค.) เมื่อเวลา 23.07 น. ที่จัดการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ถ.มิตรไมตรี ดินแดง รายงานผลการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม อย่างไม่เป็นทางการ โดยฝั่งผู้ประกันตน นับคะแนนแล้ว 100 เปอร์เซ็นต์ ผู้ที่ได้รับคะแนนมากสุด 7 อันดับแรก ได้แก่

1. นายษัษฐรัมน์ ธรรมบุษดี 71,917 คะแนน 
2. นายธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน 69,403 คะแนน 
3. นายศิววงศ์ สุขทวี 69,264 คะแนน 
4. นายชลิต รัษฐปานะ 69,256 คะแนน
5. นางสาวนลัทพร ไกรฤกษ์ 68,133 คะแนน 
6. นางลักษมี สุวรรณภักดี 67,113 คะแนน 
7. ปรารถนา โพธิ์ดี 15,080 คะแนน

สำหรับเก้าอี้สุดท้าย เป็นของ ปรารถนา โพธิ์ดี ประธานเครือข่ายพนักงานราชการไทย ด้วยคะแนน 15,080 คะแนน เฉือนอันดับที่ 8 จตุรงค์ โพธิ์สิงห์ จากทีมสมานฉันท์แรงงานไทย ซึ่งได้คะแนน 14,907 คะแนน ห่างกันเพียงหลักร้อยคะแนนเท่านั้น 

ขณะที่ฝั่งนายจ้าง นับคะแนนแล้ว 100 เปอร์เซ็นต์ ผู้ที่ได้คะแนนมากสุด 7 อันดับแรก ได้แก่ 

1. ดร.มนตรี ฐิรโฆไท 409 คะแนน
2. นางวิพาพรรณ มาประเสริฐ 403 คะแนน
3. นางสิริวัน ร่มฉัตรทอง 368 คะแนน
4. นายสมพงศ์ นครศรี 319 คะแนน
5. นายสุวิทย์ ศรีเพียร 315 คะแนน
6. นายทวีเกียรติ รองสวัสดิ์ 258 คะแนน
7. นางสาวเพชรรัตน์ เอกแสงกุล 252 คะแนน

ทีมประกันสังคมแถลงขอบคุณหลังคว้าชัยการเลือกตั้ง

ในวันเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก "ณะก้าวหน้า" ถ่ายทอดสดออนไลน์วันนี้ (24 ธ.ค.) เมื่อเวลา 20.00 น. ที่ SOL Bar อาคารพรรคอนาคตใหม่ ทีมประกันสังคมก้าวหน้า นำโดย รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ผู้สมัครรับเลือกตั้ง คณะกรรมการประกันสังคม ในสัดส่วนผู้ประกันตน หมายเลข 27 ได้แถลงข่าว หลังผลนับคะแนนอย่างไม่ทางการการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม นับไปแล้วเกินครึ่งทาง หรือ 60 กว่าเปอร์เซ็นต์ และสามารถยืนยันได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์แล้วว่า ทีมประกันสังคมก้าวหน้า ชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 และกวาดที่นั่งไปถึง 6 ใน 7 ของบอร์ดประกันสังคม ซึ่งษัษฐรัมย์ เน้นย้ำว่า นี่เป็นชัยชนะของฝั่งประชาธิปไตย และของผู้ที่ปรารถนาความเปลี่ยนแปลง

ษัษฐรัมย์ กล่าวขอบคุณทุกคะแนนเสียงจากคนทำงานที่มาใช้สิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องผู้ใช้แรงงานตามนิคมอุตสาหกรรม พี่น้องแรงงานรุ่นใหม่จำนวนมากในออฟฟิศ แรงงานรุ่นใหม่ที่ปรารถนาความเปลี่ยนแปลง หรือแรงงานอิสระจำนวนมหาศาล

ษัษฐรัมย์ กล่าวขอบคุณทุกทีมผู้สมัครเลือกตั้งทีมอื่นๆ ที่ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีสีสันมีการแข่งขันเชิงนโยบาย และหวังว่าในการเลือกตั้งครั้งต่อไป เราจะออกแบบการเลือกตั้งให้มีส่วนร่วม และเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น 

ตัวแทนทีมประกันสังคมก้าวหน้า ระบุต่อว่า เขาหวังว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นนิมิตหมายอันดีที่จะทำให้การเลือกตั้งครั้งต่อไป เราคิดฝันถึงแนวคิดประชาธิปไตยในที่ทำงาน มันคงไร้ความหมายหากเราต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในระดับประเทศ แต่ต้องมาขูดรีดแรงงานในที่ทำงาน 

ตัวแทนทีมประกันสังคมก้าวหน้า อยากขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่พยายามเลือกตั้งระบบประกันสังคมภายใต้ข้อจำกัดมากมาย และเราปรารถนาว่าชีวิตผู้ประกันตนดีขึ้นแล้ว และผู้ที่ดูแลระบบประกันสังคม เจ้าหน้าที่ในสำนักงานประกันสังคมต้องได้รับการดูแลตามหลักกฎหมายแรงงาน การเหมาค่าแรงต้องหมดไป หรือค่าจ้างตามล่วงเวลาต้องได้อย่างครบถ้วน นี่เป็นสิ่งที่เราให้คำสัญญาในฐานะตัวแทนบอร์ดประกันสังคม

ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า สาเหตุที่ธนพร วิจันทร์ ถูกตัดสิทธิ์นั้น เนื่องจากเธอถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และศาลฎีกา ได้มีคำตัดสินแล้ว ซึ่งสิทธิ์ของธนพร ควรกลับมา แต่ว่าในการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม เธอถูกตัดสิทธิ์เนื่องจากไม่ผ่านคุณสมบัติ แม้ว่าจะขอยื่นอุทธรณ์แล้ว ก็ยังไม่ผ่านอยู่ดี เราจึงยืนยันหลักการเรื่องของเบอร์ 27-33 แม้ว่าครั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานประกันสังคม เราจะได้เข้าไป 6 ท่าน ซึ่ง ณ ตอนนี้ อิงตามที่ปรากฏบนหน้าจอ แต่ผู้ประกันตนที่เข้าสู่อันดับที่ 7 ปรารถนา โพธิ์ดี สหภาพพนักงานราชการ ก็เป็นกลุ่มที่ถูกกดขี่เช่นเดียวกัน และเราพร้อมคุยกับผู้สมัครทุกทีมในการนำเสนอเชิงนโยบาย

(ซ้าย-ขวา) ชลิต รัษฐปานะ ธนพร วิจันทร์ ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ลักษมี สุวรรณภักดี และ ธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน (ที่มา: เพจคณะก้าวหน้า)

"ครั้งนี้จึงเป็นนิมิตรหมายสำคัญ นิยามของคำว่า ‘คนทำงาน’ เปลี่ยนไป พวกเราต่างตระหนักถึงสิทธิที่พวกเราถูกพรากถูกเสียไป และครั้งนี้คนที่ส่งเราเข้ามาที่บอร์ดประกันสังคม ไม่ใช่ใครที่ไหน คือแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ทำงานโรงงาน ที่ทำงานหนัก คือคนที่ทำงานในระบบอุตสาหกรรม 30-40 ปี และเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้าง พนักงานทำงานสะอาด กระเป๋ารถเมล์ คนขับรถเมล์ แม่ค้าขายลูกชิ้นปิ้ง คนเหล่านี้ใช้เงินของพวกเขาสมทบแต่ละเดือนอย่างลำบาก เพื่อปรารถนาให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้น แต่ในตลอดเวลาที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคมไม่สามารถทำอะไรที่ตอบสนองสิ่งเหล่านี้ได้ พวกเราจึงปรารถนาให้วันนี้ 24 ธันวาคม เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง" ษัษฐรัมย์ กล่าว 

ษัษฐรัมย์ ยืนยันว่าจะทำตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ทั้งหมด คิดคำนวณทุกอย่างครบถ้วน ทั้งเรื่องการปรับเกณฑ์การลงทุนให้ไปอยู่กับกลุ่มทุนธรรมาภิบาล ไม่รับใช้ทุนผูกขาด และอำนาจนิยม นี่คือสิ่งที่เราพยายามจะทำ การสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมที่ไม่ผูกติดกับสหภาพแรงงานเดิมๆ เป็นสิ่งที่เราพยายามสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 

ตัวแทนทีมประกันสังคมก้าวหน้า ระบุต่อว่า นโยบายด้านสิทธิประโยชน์ แม้ว่าต้องหารือร่วมกับบอร์ดประกันสังคม ฝั่งนายจ้าง และก็ฝ่ายรัฐ เราหวังว่าไม่ว่าจะเป็นการเริ่มสิทธิประโยชน์ด้านบำนาญ การปรับเรื่องของการวางแผนการออม การนำเงินออกมาใช้ของผู้ประกันตน หรือว่าตัวบัญชียา กองทุนสุขภาพของประกันสังคม ให้ทัดเทียมกับบัตรทอง เราหวังว่าประชาชนจะเป็นผนังทองแดง กำแพงเหล็ก ให้พวกเราผลักดันเรื่องเหล่านี้ได้

'ธนพร' หารือหลังเลือกตั้ง กรณีถูกยกคำร้องอุทธรณ์ถูกตัดสิทธิ์

ธนพร วิจันทร์ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน และผู้สมัครรับเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม หมายเลข 33 กล่าวถึงกรณีที่เธอถูกตัดสิทธิ์ว่า มีการยื่นอุทธรณ์ตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2566 และมีจดหมายแจ้งกลับมาวันที่ 22 ธันวาคม 2566 ผลคือยกคำร้อง

ธนพร ระบุต่อว่า หลังประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการแล้ว อาจจะมีการหารือเรื่องกระบวนการอุทธรณ์อีกครั้งว่า จะอุทธรณ์ต่อได้หรือไม่ในทางกฎหมาย 

นอกจากนี้ มีกรณีที่บัตรเลือกตั้งเสียบางส่วน แต่ถูกประกาศว่าเสียทั้งฉบับ โดยธนพร ระบุว่าจะทำเรื่องของตรวจสอบบัตรเลือกตั้งอีกครั้ง เนื่องจากมีหลายหน่วยที่พบปัญหานี้ อย่างที่อำเภอแม่สอด จ.ตาก ก็มีการประสานงานมา 

เชื่อไม่มีปัญหาตั้งบอร์ดประกันสังคม แม้คนมาใช้สิทธิน้อย

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ระบุว่า ตามระเบียบกระทรวงแรงงาน หลักเกณฑ์ และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายผู้ประกันตน เป็นกรรมการ ในคณะกรรมการประกันสังคม พ.ศ. 2564 ถ้ายึดตามระเบียบนี้ คิดว่าไม่มีปัญหา แม้ว่าผู้มาใช้สิทธิน้อย 

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานระบุว่า มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งเพียง 18.36 เปอร์เซ็นต์ หรือ 156,870 ราย จากผู้ลงทะเบียนที่ผ่านคุณสมบัติใช้สิทธิเลือกตั้ง จำนวน 854,414 ราย 

ธนพร มองว่า ระเบียบฯ ทำให้คนมาใช้สิทธิน้อย เนื่องจากต้องให้คนมาลงทะเบียน และการมาลงทะเบียนออนไลน์ ซึ่งพบว่าการสื่อสารช้า และมีระยะเวลาที่สั่น สิ่งหนึ่งทำให้ผู้ประกันตนอยากลงทะเบียน แต่ลงไม่ทัน ซึ่งจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ถือว่าน้อยมาก 

ธนพร ระบุต่อว่า หน่วยเลือกตั้งสร้างภาระให้กับผู้ประกันตน เช่น หน่วยเลือกตั้งที่จังหวัดสระบุรี มีจุดเดียว คือวิทยาลัยอาชีวศึกษาสระบุรี ซึ่งปรากฏว่าคนที่ทำงานอยู่ อ.ม่วงเหล็ก หรือ อ.บางม่วง ต้องเดินทางมา 60 กิโลเมตร (กม.) ไป-กลับ 100 กว่า กม. อันนี้เป็นโจทย์เลือกตั้งคราวหน้าของทีมประกันสังคมก้าวหน้า คือทำยังไงถึงจะอำนวยความสะดวก ให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วมมากที่สุด อันนี้เป็นปัญหาที่พบจากระเบียบการเลือกตั้ง

นอกจากนี้ ธนพร ระบุว่า การกำหนดวันเลือกตั้งมีปัญหาเหมือนกัน เพราะว่าช่วงนี้หลายโรงงานปิดหยุดยาว หลายคนไม่มีที่ไป ก็เดินทางกลับบ้าน ทำให้ไม่ได้ไปเลือกตั้งตามสถานที่ที่ลงทะเบียนไว้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net