Skip to main content
sharethis

ผู้ประกันตน นักวิชาการ ร่วมสะท้อนปัญหา และข้อเสนอถึงบอร์ดประกันสังคมชุดใหม่ ที่จะมีการเลือกตั้ง 24 ธ.ค.นี้ โดยมีโจทย์ใหญ่คือสังคมผู้สูงวัย การบูรณาการประกันสังคมถ้วนหน้า ยกระดับสวัสดิการ จูงใจคนเข้าระบบ

 

23 ธ.ค. 2566 เพจเฟซบุ๊ก The Reporters ถ่ายทอดสดออนไลน์เมื่อ 12 ธ.ค. 2566 วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ้งภากรณ์ จัดเวทีแสดงวิสัยทัศน์ของผู้สมัครรับเลือกตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) ประกันสังคมขึ้นที่ห้องประชุมประภาศน์ อวยชัย อาคารเอนกประสงค์ 1 ชั้น 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยเชิญผู้ประกันตน มาตรา 33 39 และ 40 มาร่วมสะท้อนปัญหาของระบบประกันสังคม และข้อเสนอที่อยากให้คณะกรรมการประกันสังคมชุดใหม่ ที่จะมีการเลือกตั้ง 24 ธ.ค.นี้ เข้าไปแก้ไข

ผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย

  1. นภาพร อติวานิชยพงศ์ นักวิชาการวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  2. อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานจากเครือข่ายด้านประชากรข้ามชาติ หรือ MWG ที่จะมาสะท้อนปัญหาของแรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้ประกันตน
  3. สุจิน รุ่งสว่าง ตัวแทนผู้ประกันตน ม.40 หรือแรงงานอิสระ หรือไม่มีนายจ้าง
  4. วิภา มัจฉาชาติ ตัวแทนผู้ประกันตน ม. 39 หรือแรงงานรับจ้างทั่วไป
  5. สุธิลา ลืนคำ ตัวแทนผู้ประกันตน ม. 33 หรือลูกจ้างบริษัท

การเสวนาแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก นภาพร ได้มาเล่าถึงประวัติการเกิดขึ้นของกระแสธารแนวคิดเรื่อง รัฐสวัสดิการ ที่เริ่มก่อตัวขึ้นในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่ประเทศอังกฤษ เมื่อทศวรรษที่ 18 และการประกาศใช้ พ.ร.บ.ประกันสังคม สำเร็จในประเทศไทย ครั้งแรกในปี 2533 ส่วนช่วงที่ 2 เปิดให้ผู้ประกันตนทุกมาตรา สะท้อนปัญหา และข้อเสนอถึงระบบประกันสังคม

เสนอ: ตั้งกองทุนใหม่ พัฒนาสวัสดิการให้แรงงาน

นภาพร อติวานิชยพงศ์ นักวิชาการวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เสนอว่า มองว่า แม้ว่าเราจะมีกองทุนประกันสังคมจะใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน ด้วยมูลค่า 2.2-2.3 ล้านล้านบาท และประเทศไทยยังมีกองทุนสวัสดิการอีกจำนวนมากเกือบ 20 กองทุน เช่น กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนเงินทดแทน และอื่นๆ แต่ภาครัฐยังไม่สามารถสร้างรัฐสวัสดิการที่ดีให้กับประชาชนได้ เนื่องจากแต่ละกองทุนมีเงินอย่างละนิดอย่างละหน่อย 

นภาพร เสนอการบูรณาการหรือนำเงินจากกองทุนอื่นๆ ราว 10% ของกองทุน ดึงมาอยู่ใน ‘กองทุนกลางเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน’ แยกสักกองทุนหนึ่ง โดยการผ่านกฎหมาย ยกตัวอย่าง กองทุนประกันสังคม เรามีเงินราว 2.2-2.3 ล้านล้านบาท ถ้า 10 เปอร์เซ็นต์ต่อปี คาดว่าจะได้ราว 2 แสนกว่าล้านบาท และถ้าทุกกองทุนแบ่งคนละเล็กน้อย นำมารวมที่กองทุนกลาง เราจะมีเงินมหาศาล และสามารถนำเงินจากกองทุนนี้มาช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนได้ 

ประกันสังคมเตรียมรับโจทย์สังคมผู้สูงวัย 

อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายด้านประชากรข้ามชาติ หรือ MWG หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา ระบุว่า ตอนนี้ประกันสังคมอาจมีโจทย์เรื่องสังคมผู้สูงอายุ ก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์ว่าในปี 2583 หรือ 20 ปีข้างหน้า ตัวเลขของกำลังแรงงานไทยจะลดลงอย่างน้อย 6 ล้านคน แต่ตอนนี้ไม่แน่แล้วว่าภายใน 10 ปีนี้ อาจจะหายไปถึง 7 ล้านคน โจทย์สำคัญตอนนี้คือถ้าเราพึ่งพาระบบประกันสังคมแบบเดิม จะนำเงินที่ไหนมาดูแลผู้สูงอายุระยะยาวได้ ดังนั้น ในแง่ของการผลิตจะมีทางเลือก 2 ทาง ได้แก่ การนำเครื่องจักร หรือนำเทคโนโลยีออโตเมชันเข้ามาทดแทน แต่ว่าจะมีนายจ้างสักกี่รายที่ทำได้ และอีกทางเลือกคือการนำเข้าแรงงานข้ามชาติ ซึ่งคิดว่าอนาคตเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องนำเข้าแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานมากขึ้น 

(ขวา) อดิศร เกิดมงคล

อดิศร ระบุว่า มี 4 ประเด็นใหญ่ที่อยากฝาก คือเรื่องการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน รวมถึงแรงงานข้ามชาติ เพราะว่าตอนนี้แรงงานข้ามชาติถูกกีดกันออกจากระบบการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ดังนั้น เราควรหาระบบกลไกรับฟังความคิดเห็นเรื่องประกันสังคมเข้ามาทดแทน ต่อมา เรื่องที่ 2 คือการปฏิรูประบบประกันสังคมให้ชัดเจน โปร่งใส และตรวจสอบได้ 

ผู้ประสานงาน MWG ระบุต่อว่า เรื่องที่ 3 คือการลงทุน ที่เป็นไปได้หรือไม่ที่จะหาแหล่งรายได้อื่นๆ เข้ามาช่วยเสริม และสุดท้าย หนึ่งมันเลี่ยงไม่ได้ที่เรารับแรงงานข้ามชาติเข้ามามากขึ้น และกระบวนการผลิตอาจเปลี่ยนไป เราอาจจะเจอผู้ประกันตนที่เป็นวิชาชีพอิสระเพิ่มมากขึ้น และเขาอาจจะกลายเป็นคนกลุ่มใหญ่ เราจะออกแบบตัวประกันสังคมอย่างไรให้มันสอดรับกับทุกคน ซึ่งก็คือเรื่องประกันสังคมถ้วนหน้า

นภาพร เสนอโจทย์ให้ผู้ที่ชนะเลือกตั้ง เข้าไปเป็นบอร์ดประกันสังคม อาจต้องคิดถึงเรื่องการขยับเพดานเงินสมทบจาก 15,000 บาท เป็น 50,000 บาท และจำเป็นต้องปรับอัตราเงินสมทบในระดับสูงโดยเร็ว โดยอาจตั้งเป้าว่าภายใน 25 ปีข้างหน้า ต้องปรับเพิ่มเงินสมทบเป็นร้อยละ 30 ของฐานเงินเดือน เพื่อรองรับโจทย์สังคมผู้สูงวัย ซึ่งหากตัดสินใจช้าเกินไปเงินกองทุนอาจไม่พอใช้ 

ด้านสุจิน รุ่งสว่าง ตัวแทนผู้ประกันตน ม.40 และหนึ่งในผู้ร่วมเสวนา แสดงความกังวลถึงความยั่งยืนของกองทุน และมองว่าบอร์ดฯ ต้องหาวิธีดึงให้แรงงานอิสระ ซึ่งตอนนี้มีจำนวนประมาณ 21.6 ล้านคน ให้เข้ามาในระบบประกันสังคมมากขึ้น เพราะตอนนี้มีเพียง 10 กว่าล้านคนเท่านั้น ที่ส่งสมทบกองทุนฯ ซึ่งเป็นจำนวนน้อยมาก แต่การเพิ่มสิทธิประโยชน์อาจช่วยสร้างแรงจูงใจตรงนี้ได้ 

บูรณาการประกันสังคมถ้วนหน้า จูงใจคนเข้ากองทุน

เสียงสะท้อนจากวงเสวนาในเรื่องต่อมา คือการทำประกันสังคมถ้วนหน้า หรือผู้ประกันตน ทุกมาตรา ได้รับสิทธิประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน อดิศร แจกโจทย์ก่อนแล้วว่า เรื่องนี้อาจต้องคำนึงถึง เนื่องจากต่อไปประเทศไทย อาจมีแรงงานอิสระมากขึ้น และการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้เท่ากันทุกมาตรา เป็นเรื่องจำเป็น

สุจิน มองว่า เป็นไปได้ไหมในระยะสั้น เธออยากให้ผู้ประกันตน มาตรา 40 (ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ) ซึ่งตอนนี้สามารถส่งสมทบ 3 รูปแบบ คือ คนรวย คนปานกลาง และคนจน โดย 1. ‘คนจน’ สมทบ 70 บาท รัฐช่วยออกให้ 30 บาท 2. ‘คนปานกลาง’ สมทบ 100 บาท รัฐช่วยออกให้ 50 บาท และ 3. ‘คนรวย’ แรงงานส่งสมทบ 300 รัฐออกให้ 150 บาท 

(ขวา) สุจิน รุ่งสว่าง

ในความเห็นของสุจิน ควรปรับให้เหลือช่องทางเดียวและควรได้รับสิทธิประโยชน์เท่ากัน นอกจากนี้ เธออยากให้ภาครัฐขยับเพดานส่งสมทบ เพื่อช่วยเหลือแรงงานที่รายได้น้อย สุดท้าย เธอเสนอว่าควรให้ผู้ประกันตนทุกมาตรา ได้รับสิทธิประโยชน์เท่ากัน หรือเหลือแค่มาตรา 33 และ 39

ความเห็นนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกับตัวแทนผู้ประกันตนมาตรา 39 วิภา มัจฉาชาติ และตัวแทนผู้ประกันตน มาตรา 33 สุธิลา ลืนคำ โดยวิภา สะท้อนว่าถ้าทำให้สิทธิประโยชน์เท่ากัน เธอเชื่อว่าจะสามารถจูงใจคนให้ส่งสมทบประกันสังคม ก่อนหน้านี้ เธอเคยไปถามผู้ประกันตนว่า อยากส่งสมทบประกันสังคมบ้างไหม บางคนบอกเลยว่าไม่อยาก เพราะมันไม่ตอบโจทย์ และไม่คุ้มค่าในการส่ง 

ปรับปรุงระบบเลือกตั้งต้องเข้าถึงได้ทุกคน

นภาพร จากฝ่ายวิชาการ เสนอว่า เป็นไปได้หรือไม่ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่ควรต้องให้ผู้ประกันตนทุกมาตราลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่ควรเป็นระบบอัตโนมัติ และสามารถใช้สิทธิจากสถานที่ทำงานได้เลย เพื่ออำนวยความสะดวก และลดขั้นตอนยุ่งยากให้กับแรงงาน 

ขณะที่วิภา มัจฉาชาติ ผู้แทนมาตรา 39 มีข้อเสนอถึงผู้ที่ได้เข้าไปเป็นบอร์ดประกันสังคม 3 ข้อใหญ่ 1. แก้ไขระเบียบการเลือกตั้งต่างๆ 2. กระจายงบประมาณมาให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 39 และ 40 ไม่กระจุกที่ใดที่หนึ่ง และ 3. ลดงบประมาณที่ไม่จำเป็นลง เช่น งบประมาณจัดทำปฏิทินประกันสังคม หรืออื่นๆ และเปลี่ยนมาเป็นเรื่องสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตน

(ซ้าย) วิภา มัจฉาชาติ

วิภา ชี้แจงว่า เรื่องระเบียบเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมตอนนี้ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ของแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มมาตรา 39 และ 40 เนื่องจากระเบียบรับสมัครเป็นคณะกรรมการ ในคณะกรรมการประกันสังคม ระบุว่า ผู้ประกันตนต้องส่งสมทบติดต่อกัน 36 เดือน หรือว่า 3 ปี ซึ่งยากมากสำหรับผู้ประกันตน มาตรา 39 และ 40 เนื่องจากแรงงานอิสระรับจ้างทั่วไปไม่มีความมั่นคงด้านรายได้และการงานมากพอที่จะส่งสมทบติดต่อกัน 36 เดือน 

สุจิน ตัวแทนมาตรา 40 มองเช่นเดียวกันว่า ระบบเลือกตั้งผลักให้ผู้ประกันตน มาตรา 40 ออกจากบอร์ดประกันสังคม เธอวิจารณ์เรื่องหน่วยเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมว่า ถ้าเรายังใช้ระบบแบบนี้แรงงานนอกระบบจะไม่สามารถเข้าไปสู่เป็นบอร์ดประกันสังคมได้เลย เนื่องจากเรามีหน่วยเลือกตั้งที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัด แต่คนที่อยู่ตามชายแดน ตำบล หรือพื้นที่ห่างไกล ต้องเดินทางมาที่อำเภอเมือง ต้องจ่ายค่ารถอาจจะประมาณ 500-1,000 บาท เพื่อมาเลือกตัวแทนแรงงานมาตรา 40 ของพวกเขาให้เข้าไปเป็นคณะกรรมการประกันสังคม ซึ่งมันเพิ่มภาระให้กับประชาชนที่ยากจนและอยากเลือกตั้ง อยากให้เลือกตั้งคราวหน้าควรคิดเรื่องนี้ให้มันสอดคล้องกับแรงงานที่มาใช้สิทธิ

อดิศร เสนอว่า ตอนนี้แรงงานข้ามชาติไม่สามารถเลือกตั้งได้ เนื่องจากระเบียบเลือกตั้งกำหนดว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น ซึ่งถ้ามองในแง่นี้ไม่ได้แค่เฉพาะแรงงาน 3-4 สัญชาติเท่านั้น แต่มีแรงงานไร้สัญชาติด้วย ซึ่งมีจำนวนถึง 1.5 ล้านคน พอเขาเลือกตั้งไม่ได้ คำถามคือผู้ลงรับสมัครเลือกตั้งสักกี่คนจะสนใจปัญหาของพวกเขา ดังนั้น ถ้าได้เข้าไปเป็นคณะกรรมการประกันสังคม อยากเสนอแก้ไขให้ตัวของแรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงการเลือกตั้งของบอร์ดประกันสังคมด้วย

อดิศร ระบุด้วยว่า ก่อนหน้านี้ตัวหนังสือของ กสม. ส่งไปที่สำนักงานประกันสังคมแล้วว่า การกำหนดแบบนี้ในระเบียบเลือกตั้งขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน แต่ประกันสังคมอธิบายว่าเป็นเรื่องสิทธิทางการเมือง และการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน 

วิภา มองด้วยว่า สำนักงานประกันสังคมต้องปรับปรุงเรื่องการประชาสัมพันธ์การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมด้วย เนื่องจากตัวเลขของผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งมีเพียง 8 แสนราย ซึ่งน้อยมาก ขณะที่ตัวเลขผู้ประกันตน มาตรา 33 39 และ 40 มีถึงหลายสิบล้านคน ทั้งที่ใช้งบประมาณเยอะมากในการจัดเลือกตั้ง

เพิ่มวาระ 2 ปี เป็น 4 ปี ให้นโยบายต่อเนื่อง

สุจิน เสนอเพิ่มวาระ บอร์ดประกันสังคม จาก 2 ปี เป็น 4 ปี เพื่อให้การผลักดันนโยบาย และการทำงานต่อเนื่อง

วิภา เสนอว่า อยากให้มีการกระจายเงินในกองทุนประกันสังคม หรืองบประมาณต่างๆ เพื่อนำมาใช้ด้านการศึกษาให้กับผู้ประกันตนมาตรา 39 หรือ 40 เพื่อให้มาตรา 39 หรือมาตรา 40 ได้เรียนรู้เรื่องประกันสังคมมากขึ้น 

ปรับปรุงสิทธิประโยชน์รักษาพยาบาล

สุธิลา ลืนคำ ตัวแทนผู้ประกันตน มาตรา 33 กล่าวว่า มาตรา 33 มันมี 7 กรณีสิทธิประโยชน์ มันควรปรับปรุง หลายกรณีอย่างเราไปทำฟัน ได้เงินช่วยเหลือ 900 บาท แต่ 900 บาททำอะไรได้ และต้องเสียค่าธรรมเนียม 50 บาทอีก แต่พอไปรักษาโรคทันตกรรมแล้วมีส่วนต่าง เช่น กรณีครอบรากฟัน สาเหตุจากฟันผุ ค่ารักษาหมดเป็นหมื่นบาท ซึ่งสิทธิประโยชน์สำหรับทำฟันมันไม่พอ และเราอยู่ในประเทศที่ค่าครองชีพต่ำด้วย มันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง มันไม่เพียงพอ เธอเลยอยากให้มีการปรับปรุงสิทธิการรักษา 7 กรณี 

ทั้งนี้ 7 สิทธิประโยชน์จากประกันสังคมของมาตรา 33 ประกอบด้วย 1. สงเคราะห์บุตร 2. คลอดบุตร 3. อันตราย หรือเจ็บป่วย 4. ทุพพลภาพ 5. ว่างงาน 6. ชราภาพ และเสียชีวิต สำหรับการรักษาโรคทันตกรรม อยู่ในกรณีที่ 3 อันตราย และเจ็บป่วย ซึ่งกำหนดว่า ผู้ประกันตนสามารถขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน และผ่าฟันคุด ในวงเงินรวมไม่เกิน 900 บาทต่อปี 

(ซ้าย) สุธิลา ลืนคำ

แรงงานข้ามชาติ: ค่าคลอดบุตรไม่ต้องสำรองจ่าย 

อดิศร นักรณรงค์สิทธิแรงงานข้ามชาติ มองว่า ตอนนี้ปัญหาแรงงานข้ามชาติคือการเข้าถึงการรักษาพยาบาล เขาเชื่อว่า 5 อันดับแรก โรคที่เจอมันเป็นโรคที่ไม่ติดต่อ เช่น เบาหวาน ความดัน หรือหัวใจ ซึ่งเป็นโรคที่สามารถเฝ้าระวัง ป้องกัน และส่งเสริมได้ เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะลดงบฯ ค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาล และไปเสริมระบบป้องกันโรคให้มากขึ้น 

อดิศร กล่าวต่อว่า อีกประเด็นที่อยากให้แก้ไขคือสิทธิประโยชน์การชราภาพ ใน พ.ร.ก.ระบุชัดเจนว่า กรณีของแรงงานข้ามชาติว่าในกรณีที่ต้องใช้สิทธิชราภาพ ในกรณีที่ต้องกลับบ้านไป สามารถขอรับสิทธิประโยชน์ชราภาพได้เลยไม่ต้องรออายุ 55 ปี แต่ประกันสังคมไปออกกฎหมายว่า ถ้าจะใช้สิทธินี้ไทยต้องทำข้อตกลงกับประเทศนั้นๆ ก่อน ซึ่งตอนนี้ไม่มีใครทำข้อตกลงกับไทยเลย เพราะว่าสิทธิประโยชน์ของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน มันเลยไม่ล็อกเขาว่าต้องให้เงินชราภาพเท่านั้นเท่านี้ตามเรา มันเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น มันเป็นเทคนิคที่รัฐใช้เลี่ยงสิทธิประโยชน์นี้เข้ามา 

ผู้ประสานงาน MGW ระบุต่อว่า ต่อมาคือการแก้ไขสิทธิค่าคลอดบุตรที่ต้องสำรองจ่ายเงินก่อน เพราะในหลายๆ ประเทศ รวมถึงไทย การคลอดบุตรเป็นสิทธิพื้นฐานในเรื่องของสุขภาพ แต่ปัญหาที่เราเจอคือว่าประกันสังคมจะคลอดบุตรต้องออกเงินก่อน และให้ขอคืนทีหลัง ทำให้แรงงานข้ามชาติที่ต้องการคลอดบุตร ต้องสะสมเงินให้ได้อย่างน้อย 1 หมื่นกว่าบาท อัตราค่าแรงขั้นต่ำมันต่ำมากกว่าจะสะสมได้ การที่จะต้องสะสมเงินมันเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น มันเกิดภาวะฟุ่มเฟือยเพื่อคลอดบุตร มันเกิดภาวะตัวดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นมา อันนี้ต้องเปลี่ยนกรอบคิดใหม่  

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนออื่นๆ เช่น การปรับปรุงบำนาญชราภาพของมาตรา 39 ที่น้อยเกินไป การผลักดันกฎหมายประกันสังคมต้องให้สอดคล้องกับอนุสัญญาหรือมาตรฐานสากล ระบบมอนิเตอร์การทำงานของสำนักงานประกันสังคมเพื่อป้องกันผู้ประกันตนตกหล่น และต้องมีการปฏิรูประบบสวัสดิการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน นอกเหนือจากปัจจัย 4 เช่น การเพิ่มเรื่องสิ่งแวดล้อม การคมนาคม หรืออื่นๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถเป็นสวัสดิการได้เช่นกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net