Skip to main content
sharethis

อดีตแรงงาน 3 บริษัท บริษัทแอลฟ่า สปินนิ่ง บริษัท AMC และบริษัทบอดี้แฟชั่น ปักหลักค้างคืนหน้ากระทรวงแรงงาน รอคำตอบว่าจะยื่นวาระขออนุมัติงบฯ กลางช่วยเหลือแรงงานถูกนายจ้างลอยแพ ภายในวันที่ 26 ธ.ค.นี้หรือไม่

 

22 ธ.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานวานนี้ (21 ธ.ค.) สืบเนื่องจากอดีตคนงาน 3 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท แอลฟ่า สปินนิ่ง บริษัทเอเอ็มซี และบริษัทบอดี้แฟชั่น นัดรวมตัวที่ใต้ทางด่วนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อเวลา 10.00 น. ก่อนเดินขบวนไปที่กระทรวงแรงงาน เพื่อยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้รับผิดชอบ และช่วยเหลืออดีตคนงานทั้ง 3 บริษัท ที่ถูกนายจ้างลอยแพ โดยการอนุมัติงบประมาณจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง และงบประมาณกลาง เพื่อช่วยเหลือแรงงานที่ถูกลอยแพก่อน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ อดีตพนักงานทั้ง 3 บริษัทถูกนายจ้างชาวต่างชาติค้างค่าจ้าง โบนัส ตลอดจนค่าชดเชยตามกฎหมาย มูลค่าความเสียหายรวม 189 ล้านบาท โดยประมาณ โดยกรณีที่หนักที่สุดคืออดีตพนักงานของบริษัทบอดี้แฟชั่น ซึ่งถูกค้างค่าจ้าง และเงินชดเชย มาถึง 4 ปี (บริษัททยอยเลิกจ้างตั้งแต่ปี 2562) พนักงานที่ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์ ถูกค้างค่าจ้างและเงินชดเชยสูงถึง 1 แสนบาท

อย่างไรก็ตาม เมื่ออดีตคนงานทั้ง 3 บริษัท เดินทางถึงประตู 2 กระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี ดินแดง เมื่อช่วงเวลา 11.21 น. กลับพบว่า กระทรวงแรงงาน ปิดประตูเหล็ก ขัดขวางไม่ให้แรงงานและรถเครื่องเสียงเข้าไปในพื้นที่กระทรวงแรงงาน และให้แต่เฉพาะแกนนำเข้าไปเจรจาข้อสรุปด้านในกระทรวงแรงงานเท่านั้น 

เมื่อช่วงเวลา 13.49 น. ธนพร วิจันทร์ สมาชิกเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน และเป็นแกนนำการชุมนุมครั้งนี้ ได้ให้สัมภาษณ์หลังหารือกับกระทรวงแรงงาน ระบุว่า ทางกระทรวงแรงงานจะจัดทำบันทึกการประชุม โดยมีสาระสำคัญ 2 ประเด็น คือ ข้อเรียกร้องของแรงงานที่ต้องการให้อนุมัติเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง จากเดิม 70 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ ให้กับอดีตแรงงานทั้ง 3 บริษัทก่อน เพื่อบรรเทาทุกข์แรงงาน โดยกำหนดการประชุมคณะกรรมการ กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้าก่อนปีใหม่ ซึ่งเป็นการเลื่อนจากนัดประชุมเดิมปลายเดือน ม.ค. 2567 เข้ามา และยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าทางคณะกรรมการฯ จะอนุมัติไหม 

อย่างไรก็ตาม กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ปัจจุบันมีงบประมาณราว 169 ล้านบาท และยังมีแรงงานยื่นเรื่องขอความช่วยเหลือจากกองทุนอีก 400 ราย ต้องใช้งบประมาณ 10 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้กองทุนฯ มีสถานะคงเหลือประมาณ 150-160 ล้านบาท ซึ่งต่อให้อนุมัติงบกองทุนสงเคราะห์ 100 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนแล้ว ยังไม่พอจ่ายค่าชดเชยทั้งหมดให้กับอดีตแรงงาน 3 บริษัท

ธนพร ระบุต่อว่า ทางแรงงานจึงเสนอให้กระทรวงแรงงานนำเรื่องพิจารณาอนุมัติงบประมาณกลาง เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อช่วยเหลือเงินชดเชยอดีตแรงงานทั้ง 3 บริษัท โดยทางกระทรวงแรงงานรับปาก และจะระบุในบันทึกการประชุมระหว่างขบวนการแรงงาน และกระทรวงแรงงาน

อย่างไรก็ตาม ผลปรากฏว่า บันทึกการประชุม ระบุแต่เพียงว่าจะนำเรื่องเข้าที่ประชุม ครม.เท่านั้น แต่ไม่ได้ระบุวันเวลาที่ชัดเจนที่จะเข้าเรื่องเข้าที่ประชุม ครม. ทางขบวนการแรงงานจึงท้วงติง และให้กระทรวงแรงงาน ระบุลงในบันทึกการประชุมให้ชัดเจนว่า จะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม ครม. เมื่อใด 

กระทรวงแรงงาน ตอบกลับว่า จะระบุว่า "เร่งด่วนที่สุด" แต่ทางคนทำงานมองว่า คำว่า "เร่งด่วนสุด" เป็นคำที่คลุมเครือ และไม่มีการกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน จึงยืนยันข้อเรียกร้องเดิมคือให้ระบุวัน-เวลานำเรื่องเข้าที่ประชุม ครม.ให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการบิดพลิ้วไม่นำเรื่องเข้าที่ประชุม ครม. และเนื่องจากเคยมีการมายื่นเรื่องหลายครั้งแล้ว แต่ถูกภาครัฐบ่ายเบี่ยงตลอด 

สุดท้าย ผลการหารือจบลงที่กระทรวงแรงงานจะขอนำเรื่องนี้ไปหารือภายในอีกครั้ง และจะแจ้งอดีตคนทำงานทั้ง 3 บริษัทอีกครั้งในวันนี้ (22 ธ.ค.) ขณะที่ทางขบวนการแรงงาน จึงประกาศปักหลักชุมนุมหน้ากระทรวงแรงงาน เพื่อรอฟังคำตอบจากกระทรวงแรงงาน 

เตือนใจ แวงคำ อดีตพนักงานบอดี้แฟชั่น วัย 50 ปี ที่ปักหลักชุมนุมหน้ากระทรวงแรงงานค่ำคืนนี้ ให้สัมภาษณ์สื่อ เมื่อเวลา 21.30 น. ระบุว่า เธออยากให้กระทรวงแรงงานมีการระบุเวลาให้ชัดเจน เพราะเขาบอกว่าจะเอาเข้าวันที่ 26 ธ.ค.นี้ เราเลยบอกว่าให้ระบุในบันทึกการประชุมให้ชัดเจน เพื่อให้คนงานมั่นใจว่าเรื่องจะถูกนำเข้าที่ประชุม ครม. จริงๆ แต่สุดท้าย ทางกระทรวงแรงงานไม่ได้ระบุ ส่วนทำไมถึงไม่สามารถระบุวันเวลาเอาเรื่องเข้าประชุม ครม.ได้นั้น กระทรวงแรงงานบอกแค่เพียงว่าจะทำๆ เท่านั้น แต่ไม่ยอมใส่ในบันทึกการประชุม 

"คนงานเขาถูกเลิกจ้างมาตั้ง 4 ปีแล้ว ไม่ควรให้คนงานเขามาเรียกร้องสิทธิพื้นฐาน เจ้าหน้าที่มีกฎหมายในมือ น่าจะดูแลได้ดีกว่านี้ แล้วทีนี้พอเรามา แล้วมาเจอปัญหาแบบนี้ ... เขามาหาคุณเพื่อให้คุณช่วยแก้ไขปัญหา ทางเจ้าหน้าที่ทำได้หรือไม่ได้ ก็ให้คุยกับคนงานที่เขาเดินทางไกลมาจากนครสวรรค์ นี่คุณเอาแต่ชี้แจงว่าทำไม่ได้ๆ ไม่แน่ใจทางเจ้าหน้าที่ได้ทำรึยัง นี่คนงานมาเจอกระทรวงปิดประตูไม่ให้คนงานร้องเรียน มันเสียความรู้สึกนะ 

"อยากฝากทางเจ้าหน้าที่ให้ดูแลคนงานให้ดีกว่านี้หน่อย เอ็นดูคนงานอย่างพวกเราด้วย" เตือนใจ กล่าว 

อดีตคนงานบอดี้แฟชั่น อายุ 50 ปี ระบุว่า เบื้องต้น แรงงานที่ค้างคืนวันนี้ไม่ได้ประสบปัญหาอะไร แต่ว่าค่อนข้างกะทันหัน เนื่องจากแรงงานตอนเดินขบวนมาที่กระทรวงแรงงานไม่นึกว่าทางกระทรวงฯ จะปิดประตูกันไม่ให้คนงานเข้าไปข้างใน ทำให้หลายคนไม่ได้เตรียมตัวมาค้างคืน แต่เบื้องต้น ได้รับการช่วยเหลือจากเพื่อนแรงงานคนอื่นๆ นำน้ำดื่ม และเสื่อ มาให้

เวลา 22.48 น. แรงงานยังคงปักหลักหน้ากระทรวงแรงงาน เพื่อรอฟังคำตอบข้ามคืน  

ล่าสุด เมื่อ 12.55 น. เพจเฟซบุ๊ก "อินทรีแดง" ถ่ายทอดสดออนไลน์วันนี้ (22 ธ.ค.) ขบวนการแรงงานยังคงปักหลักชุมนุมที่หน้ากระทรวงแรงงาน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net