Skip to main content
sharethis

ญี่ปุ่นเริ่มให้สถานะ “ผู้เสมือนผู้ลี้ภัย” แก่คนที่หลบหนีความขัดแย้ง

รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดตัวโครงการใหม่เพื่อช่วยเหลือชาวต่างชาติที่หลบหนีจากพื้นที่ขัดแย้ง แต่ไม่เข้าเกณฑ์ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยของญี่ปุ่น ผู้อพยพที่มีคุณสมบัตินี้จะได้รับการยอมรับว่าเป็น "ผู้เสมือนผู้ลี้ภัย"

โครงการนี้เริ่มขึ้นในวันที่ 1 ธ.ค. 2023 โดยมุ่งเน้นไปที่ผู้คนจากยูเครน

ผู้อพยพเหล่านี้สามารถเข้าชั้นเรียนภาษาญี่ปุ่นและรับคำแนะนำอื่น ๆ เกี่ยวกับการใช้ชีวิตในญี่ปุ่นได้หากต้องการ นอกจากนี้ยังจะมีสิทธิ์ได้รับการสนับสนุนทางการเงินด้วย

สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองระบุว่าจะพยายามอย่างเต็มที่ในการดำเนินโครงการให้เป็นไปอย่างราบรื่น และทำให้แน่ใจว่าคนที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้อพยพจะได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสม

ที่มา: NHK World, 1/12/2023

ไต้หวันเตือนนายจ้าง ต้องจ่ายเงินชดเชยวันหยุดพักพิเศษที่ใช้ไม่หมดให้ลูกจ้างภายใน 30 วัน

กระทรวงแรงงานไต้หวัน เตือนสถานประกอบการต้องจ่ายเงินชดเชยแก่ลูกจ้างที่ใช้วันหยุดพักพิเศษประจำปีไม่หมด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ภายใน 30 วันหลังครบปี ยกเว้นทั้งสองฝ่ายจะมีการเจรจาตกลงกันยกวันหยุดพักพิเศษที่ยังใช้ไม่หมดไปรวมกับปีถัดไป และหากปีที่ 2 หรือก่อนสัญญาจ้างสิ้นสุดลงยังใช้ไม่หมด นายจ้างต้องจ่ายชดเชยเป็นเงินค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง ผู้ฝ่าฝืนนอกจากต้องจ่ายคืนจนครบตามจำนวนแล้ว ยังจะถูกลงโทษปรับเงินตั้งแต่ 20,000-1,000,000 เหรียญไต้หวัน และ 10 เดือนแรกของปีนี้ มีการลงโทษนายจ้างที่ฝ่าฝืนกฎหมายไม่จ่ายเงินชดเชยวันหยุดพักพิเศษแก่ลูกจ้างไปแล้ว 466 ราย ค่าปรับ 20.8 ล้านเหรียญ

ที่มา: Radio Taiwan International, 1/12/2023

Spotify ประกาศปลดพนักงานอีก 17%

Spotify บริษัทสตรีมมิ่งชื่อดัง ประกาศปลดพนักงาน 17% หรือประมาณ 1,500 คน เนื่องจากต้องการลดต้นทุน โดยการตัดสินใจครั้งนี้เป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่ง ดาเนีลย เอค (Daniel Ek) CEO ของ Spotify มองว่าจะทำให้บริษัทมีประสิทธิภาพมากขึ้น การปลดพนักงานครั้งนี้ถือเป็นรอบที่ 3 ภายในปีเดียว หลังจากเดือนมกราคมปลดไป 6% (ประมาณ 600 คน) และเดือน มิ.ย. 2023 ก็ลดพนักงาน 200 คนจากแผนกพอดแคสต์ นอกจากลดต้นทุนแล้ว Spotify ยังเพิ่มรายได้ด้วยการปรับราคาแพ็กเกจสตรีมมิ่งในหลายประเทศ รวมถึงสหรัฐฯ

การปลดพนักงานครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากจำนวนพนักงานของ Spotify เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงโควิด-19 เพิ่มเกือบ 2 เท่าใน 3 ปีที่ผ่านมา

ที่มา: The Verge, 4/12/2023

‘Lamborghini’ ให้พนักงานทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์

ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติอิตาลี ลัมโบร์กินี (Lamborghini) บรรลุข้อตกลงกับสหภาพแรงงานในยุโรป ในการเสนอแผนการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ให้กับพนักงานในภาคการผลิต ตามการเปิดเผยของสหภาพแรงงานที่ทำข้อตกลงกับลัมโบร์กินีเมื่อวันอังคาร ในช่วงที่บริษัทหลายแห่งกำลังพิจารณาการปรับลดจำนวนวันทำงานในแต่ละสัปดาห์ลงมา

สหภาพแรงงาน FIOM และ FIM-CISL ระบุว่า ข้อตกลงกับบริษัทยานยนต์อิตาลีถือเป็นดีลแห่งประวัติศาสตร์ เพราะเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์แห่งแรกในยุโรปที่ประสบความสำเร็จในการลดชั่วโมงการทำงานให้กับพนักงานอย่างมีนัยสำคัญ โดยไม่ได้ปรับลดค่าจ้างลง แต่เลือกที่จะเพิ่มค่าแรงขึ้นมาแทน

แถลงการณ์จากสหภาพแรงงาน FIOM และ FIM-CISL ระบุว่า "การทำงานในเวลาที่น้อยลงและทำงานได้ดีขึ้น นี่คือหลักการที่นำไปสู่การเจรจาครั้งนี้”

การบรรลุข้อตกลงของลัมโบร์กินี มีขึ้นในช่วงเวลาที่หลายบริษัทกำลังเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานของพนักงาน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของบริษัทในยุคหลังโควิด-19 ระบาดและต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น

แผนการทำงานเป็นเวลา 4 วันต่อสัปดาห์มีการปรับใช้ในหลายประเทศในยุโรป อย่างเช่น อังกฤษ ที่พบว่าพนักงานจะทำงานได้มากขึ้นในเวลาการทำงานที่น้อยลง การจ้างงานและรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรต่อไปปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การลาป่วยกลับลดลงไปด้วย

ที่มา: VOA, 6/12/2023

ไปรษณีย์ออสเตรเลียจะยุติการส่งจดหมายรายวัน แต่จะมุ่งเน้นไปที่การจัดส่งพัสดุมากขึ้น

ไปรษณีย์ออสเตรเลียจะยุติการส่งจดหมายรายวัน แต่จะมุ่งเน้นไปที่การจัดส่งพัสดุมากขึ้น โดยปัจจุบันโดยเฉลี่ยครัวเรือนต่าง ๆ ในออสเตรเลียจะได้รับจดหมายเพียง 2 ฉบับต่อสัปดาห์ ตอนนี้ออสเตรเลีย โพสต์ จึงจะจัดส่งจดหมายให้ตามบ้านทุก ๆ สองวัน ทรัพยากรจะถูกโอนไปยังบริการรายวัน เพื่อจัดส่งไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (express post) จัดส่งจดหมายด่วน (priority letters) และจัดส่งพัสดุ เนื่องจากการซื้อสินค้าออนไลน์ยังคงกระตุ้นความต้องการบริการด้านนี้

แม้ว่าข้อบัญญัติในการจัดส่งจดหมายของ ออสเตรเลีย โพสต์ อาจเปลี่ยนแปลงไป แต่ออสเตรเลีย โพสต์ ที่มีรัฐบาลเป็นเจ้าของแต่หาทุนดำเนินการเองนี้ระบุว่า ที่ทำการไปรษณีย์ท้องถิ่นอย่างน้อย 4,000 แห่งจะยังคงเปิดให้บริการต่อไป รัฐมนตรีโรว์แลนด์ กล่าวว่า ที่ทำการไปรษณีย์ท้องถิ่นมีบทบาทหลายอย่างในชุมชนชนบท "ในพื้นที่ชนบทและภูมิภาคบางแห่ง ที่ทำการไปรษณีย์ไม่เพียงแต่ให้บริการไปรษณีย์เท่านั้น แต่ยังเป็นร้านค้าขายของชำ เป็นร้านขายหนังสือพิมพ์และนิตยสาร และในบางกรณีก็เป็นที่เดียวเท่านั้นที่ให้บริการธนาคารด้วย" รัฐมนตรีด้านการสื่อสารของสหพันธรัฐ ระบุ

ด้านสหภาพแรงงานแสดงความมั่นใจว่างานในภาคการไปรษณีย์นั้น มีความมั่นคง เชน เมอร์ฟี เลขาธิการด้านการสื่อสารของสหภาพแรงงาน กล่าวว่า "เรามั่นใจอย่างมาก เราได้เจรจากันมา 12 เดือนแล้ว นี่เป็นแนวทางการร่วมมือกัน แน่นอนว่านี่ไม่เกี่ยวกับการเลิกจ้าง นี่เกี่ยวกับการเผชิญหน้ากับอนาคต มีข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างสหภาพของ ออสเตรเลีย โพสต์ เกี่ยวกับบริการแห่งอนาคตและการจัดส่งที่ดำเนินการโดยพนักงานจัดส่งจดหมายและพัสดุภัณฑ์ของเรา ไม่เพียงตอนนี้แต่ยังรวมถึงอนาคตด้วย ดังนั้นเราคงจะมีวันนี้ไม่ได้หากไม่ใช่เพราะงานและบริการสำหรับชุมชน"

การเปลี่ยนแปลงโดยจัดส่งจดหมายทุกสองวันกำลังอยู่ระหว่างทดลองโดยพนักงานส่งจดหมายและพัสดุภัณฑ์ของ ออสเตรเลีย โพสต์ ในพื้นที่ 6 แห่ง ผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น บุรุษไปรษณีย์ คริส รัสเซลล์ ดูเหมือนจะพอใจกับการเปลี่ยนแปลงนี้ "มักมีความหวาดหวั่นอยู่เล็กน้อยเสมอเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ แต่เราโชคดีจริง ๆ ที่นี่ เรามีคณะทำงานในท้องถิ่นที่ดีมาก ซึ่งรวมเอาพนักงานส่งจดหมายและพัสดุภัณฑ์และทีมผู้บริหารเข้าด้วยกัน และเราก็ร่วมกันหาทางออกและผ่านพ้นความท้าทายมาได้ค่อนข้างดี" คริส รัสเซลล์ บุรุษไปรษณีย์ ของออสเตรเลีย โพสต์ กล่าว

ที่มา: SBS, 8/12/2023

คนทำงานภาครัฐกว่า 420,000 คนในแคนาดา ประท้วงหยุดงาน

สหภาพแรงงาน Common Front ซึ่งเป็นตัวแทนของคนทำงานภาครัฐในในรัฐควิเบก แคนาดา ทั้งด้านสาธารณสุข บริการสังคม การศึกษา และวิทยาลัย ประกาศนัดหยุดงานประท้วงตั้งแต่วันที่ 8-14 ธ.ค. 2023  สาเหตุของการประท้วง เกิดจากความไม่พอใจต่อข้อเสนอของรัฐบาลเกี่ยวกับสภาพการทำงานและค่าจ้าง  แม้จะมีการเจรจามานานกว่าหนึ่งปี แต่รัฐบาลยังคงเสนอข้อเสนอที่ไม่เป็นที่น่าพอใจ  สหภาพแรงงานยืนยันว่าพนักงานต้องการการปรับปรุงสภาพการทำงานและค่าจ้างให้สอดคล้องกับความคาดหวัง การประท้วงครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อโรงเรียน วิทยาลัย และหน่วยงานด้านสาธารณสุขและบริการสังคมทั่วทั้งรัฐควิเบก โดยมีการประมาณการว่าจะมีผู้เข้าร่วมการนัดหยุดงานนี้กว่า 420,000 คน

ที่มา: Canadian Union of Public Employees, 8/12/2023

ออสเตรเลียเตรียมเข้มงวดการขอวีซาสำหรับนักศึกษาต่างชาติและแรงงานทักษะต่ำ

ออสเตรเลียเตรียมเข้มงวดกฎการขอวีซาสำหรับนักเรียนต่างชาติและแรงงานทักษะต่ำ คาดว่าจำนวนผู้อพยพใน 2 ปีข้างหน้าจะลดลงครึ่งหนึ่ง นโยบายใหม่กำหนดให้นักศึกษาต่างชาติต้องมีคะแนนสอบภาษาอังกฤษสูงขึ้น และเพิ่มการตรวจสอบการต่อวีซาเพื่ออยู่นานขึ้น แคลร์ โอนีล (Clare O’Neil) รัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายในระบุว่า นโยบายนี้มีเป้าหมายลดจำนวนผู้ย้ายถิ่นให้กลับสู่ระดับปกติ และมุ่งสร้างระบบการรับผู้ย้ายถิ่นที่ยั่งยืนสำหรับอนาคตของออสเตรเลีย ด้านนายกรัฐมนตรีอันดทนี อัลบาเนส ( Anthony Albanese) เห็นด้วยว่าจำนวนผู้ย้ายถิ่นต้องลดลง และยืนยันว่าระบบในปัจจุบันมีปัญหา

ทั้งนี้คาดว่าจำนวนผู้ย้ายถิ่นสุทธิจะลดลงจากสูงสุด 510,000 คนในปี 2022-23 มาอยู่ที่ประมาณ 250,000 คนในปี 2024-25 และ 2025-26 ซึ่งใกล้เคียงกับระดับก่อนโควิด-19 มีการระบุว่านักศึกษาชาวต่างชาติเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันให้จำนวนผู้ย้ายถิ่นสุทธิสูงในปี 2022-23 ทำให้หุ้นของ IDP Education บริษัทจัดส่งนักเรียนต่างชาติ ลดลงกว่า 3% หลังข่าวเตรียมเข้มงวดกฎการขอวีซานี้

ออสเตรเลียเคยเพิ่มจำนวนผู้ย้ายถิ่นเมื่อปีที่แล้วเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานหลังโควิด-19 แต่ส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยพุ่งสูงและปัญหาคนไร้บ้านเพิ่มขึ้น โพลสำรวจความคิดเห็นพบว่า 62% ของชาวออสเตรเลียคิดว่าจำนวนผู้ย้ายถิ่นสูงเกินไป แต่รัฐบาลยังคงต้องการแรงงานจากต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นเร่งการจัดการวีซาและเส้นทางสู่การเป็นผู้มีถิ่นฐานถาวรสำหรับแรงงานทักษะสูง ผ่านวีซาแบบใหม่ที่ใช้เวลาพิจารณาเพียง 1 สัปดาห์

ที่มา: SCMP, 11/12/2023

Microsoft ทำข้อตกลงกับสหภาพแรงงาน AFL-CIO หวังป้องกันผลกระทบ AI ต่อแรงงาน

Microsoft ทำข้อตกลงกับ AFL-CIO สหภาพแรงงานใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ข้อตกลงมุ่งป้องกันปัญหาผลกระทบของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ต่อแรงงาน โดยมีแนวทาง "เคารพสิทธิในการรวมกลุ่มเป็นสหภาพฯ และเจรจาต่อรอง" Ffpข้อตกลงนี้เป็นแบบแรกในวงการเทคโนโลยีที่เจาะจงเรื่องปัญญาประดิษฐ์และผลกระทบด้านแรงงานโดยเฉพาะ ทั้งนี้เป็นเพราะ Microsoft ต้องการแสดงภาพลักษณ์เป็น "บริษัทผู้นำ" ในวงการเทคโนโลยีที่ให้ความสำคัญกับแรงงาน แม้ยังไม่มีพนักงานของ Microsoft ในสหรัฐฯ ที่เข้าร่วมสหภาพแรงงาน แต่บริษัทอนุญาตการรวมกลุ่มในบริษัทเกมที่ซื้อกิจการมา

ปัจจุบัน บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่อื่นๆ เช่น Amazon ยังต่อต้านการรวมกลุ่มสหภาพแรงงานอยู่ แต่ Microsoft เชื่อว่าความสำเร็จในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับสหภาพแรงงาน จะเป็นตัวอย่างให้บริษัทอื่นๆ โดย

ประเด็นสำคัญของข้อตกลงนี้ได้แก่ การมีส่วนร่วมของแรงงานในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ตั้งแต่ต้น, ส่งเสริมการฝึกฝนทักษะใหม่เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลง และใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพงานมากกว่าการทดแทนแรงงานคน

ที่มา: GeekWire, 11/12/2023

แผนลดการรับผู้ย้ายถิ่นของออสเตรเลียได้เสียงตอบรับทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

รัฐบาลสหพันธรัฐของออสเตรเลียวางแผนที่จะลดการอพยพย้ายถิ่นสุทธิลงครึ่งหนึ่งในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยการลดจำนวนนักศึกษาต่างชาติ ขณะที่ดึงดูดลูกจ้างที่มีทักษะให้เข้ามามากขึ้น ส่วนสำคัญของแผนการปฏิรูปการรับผู้ย้ายถิ่นฐานครั้งนี้คือ วีซ่าทักษะที่กำลังเป็นที่ต้องการ (Skills in Demand Visa) โดยจะเร่งรัดการดำเนินการพิจารณาวีซ่าให้เหลือเพียง 7 วันสำหรับลูกจ้างที่กำลังสมัครงานที่ได้เงินเดือน 135,000 ดอลลาร์ขึ้นไป

แต่มาตรการนี้ ที่เรียกกันว่า เส้นทางสำหรับผู้มีทักษะเฉพาะทาง จะไม่รวมผู้มีทักษะด้านการช่าง ผู้ควบคุมเครื่องจักร และกรรมกรหรือแรงงานทั่วไป แต่ลูกจ้างเหล่านี้จะเข้าไปอยู่ในประเภทของลูกจ้างที่ทำงานจำเป็น ซึ่งระยะเวลาการพิจารณาวีซ่าจะช้ากว่า

ปีเตอร์ ดัตตัน ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน กล่าวว่า นี่เป็นการตัดสินใจที่ผิด "นี่เป็นรัฐบาลแบบไหน ที่เวลาเกิดวิกฤตด้านการก่อสร้าง เมื่อคุณไม่สามารถหาช่างได้ และคุณก็ไม่มีเงินพอจะจ่ายได้ นี่เป็นรัฐบาลแบบไหน ที่ตัดสินใจปิดประตูไม่ให้ผู้ทำงานด้านช่างเดินทางเข้ามาในออสเตรเลียได้ มันเป็นการตัดสินใจที่ผิดอย่างสิ้นเชิง และมันจะส่งผลเสียต่อความสามารถของประชาชนในการจ่ายได้ด้านที่อยู่อาศัย ซึ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่รัฐบาลให้คำมั่นสัญญาไว้" นายดัตทัน ผู้นำพรรคฝ่ายค้านสหพันธรัฐ กล่าว

รัฐบาลตั้งเป้าที่จะนำจำนวนสุทธิการรับผู้ย้ายถิ่นฐาน (net migration) หรือจำนวนผู้เดินทางเข้ามาเทียบกับจำนวนผู้เดินทางออกไป ให้ลดลงจาก 510,000 คนในปีที่แล้วเป็น 250,000 คนภายในปี 2025

แต่ผู้นำฝ่ายค้านเลือกที่จะมุ่งเน้นไปที่จำนวนโดยรวมของการรับผู้ย้ายถิ่นฐาน "นั่นปรากฎว่าพวกเขาเพิ่มโครงการรับผู้ย้ายถิ่นฐานให้มากขึ้น 130,000 คน โดยมีจำนวนมากกว่า 1.6 ล้านคนในอีก 5 ปีข้างหน้า นั่นจะสร้างแรงกดดันอย่างมากต่อที่อยู่อาศัย" นายดัตทัน ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน กล่าว

อดัม แบนต์ ผู้นำกรีนส์กล่าวหานายดัตตันว่า กล่าวโทษผู้ย้ายถิ่นฐานอย่างไม่ยุติธรรม และรัฐบาลยอมอ่อนข้อต่อแรงกดดันจากพรรคร่วม "การรับผู้ย้ายถิ่นไม่ได้เป็นสาเหตุให้เกิดวิกฤติด้านที่อยู่อาศัยของพรรคแรงงาน แต่การที่พรรคแรงงานสนับสนุนให้มีการขึ้นค่าเช่าได้อย่างไม่จำกัด ขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อย่างไม่จำกัด และไม่สร้างที่อยู่อาศัยสาธารณะและไม่สร้างที่อยู่อาศัยที่ราคาไม่แพงอย่างเพียงพอ นั่นคือสิ่งที่นำเราเข้าสู่วิกฤตที่อยู่อาศัยซึ่งเรากำลังเผชิญอยู่ แต่ตอนนี้พรรคแรงงานได้เข้าร่วมกับพวกลิเบอรัลในการกล่าวโทษการรับผู้ย้ายถิ่นสำหรับวิกฤตที่อยู่อาศัย" อดัม แบนต์ ผู้นำกรีนส์ กล่าว

คาร์โล คาร์ลิ จากสภาชุมชนชาติพันธุ์แห่งออสเตรเลีย หรือเฟคกา ก็มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน "มีหลายคนที่อยากให้ผู้ย้ายถิ่นฐานเป็นแพะรับบาปและให้นโยบายรับผู้ย้ายถิ่นของเราเป็นแพะรับบาป ซึ่งนั่นควรจะถูกต้านทาน สาเหตุของการปฏิรูปเหล่านี้เป็นเพราะระบบเดิมพัง ระบบเดิมควรต้องรัดกุมยิ่งขึ้นและเราเชื่อว่าเส้นทางที่ย้ำในการประกาศวันนี้เป็นไปในเชิงบวก" คาร์ลิ จากเฟคกา กล่าว

ที่มา: SBS, 14/12/2023

General Motors จะปลดพนักงานมากกว่า 1,300 คน ที่โรงงาน 2 แห่ง ในสหรัฐฯ

General Motors จะปลดพนักงานมากกว่า 1,300 คน ที่โรงงาน 2 แห่งในมิชิแกน สหรัฐฯ เริ่มต้น 1 ม.ค. 2024 นี้ โดยโรงงานที่ได้รับผลกระทบคือ โรงงาน Lake Orion (ปลด 945 คน) ซึ่งผลิต Chevrolet Bolt และจะหยุดผลิตปลายปี และโรงงาน Lansing Grand River (ปลด 369 คน) ซึ่งผลิต Chevrolet Camaros ซึ่งจะหยุดผลิตในเดือนม.ค. 2024 ส่วนการปลดพนักงานที่โรงงาน Lake Orion ได้มีการประกาศล่วงหน้าตั้งแต่เดือน ต.ค. 2023

ข่าวการปลดพนักงานของ General Motors นี้เกิดขึ้นหลังจากสหภาพแรงงาน United Auto Workers ได้ลงมติยอมรับข้อตกลงสัญญาใหม่กับ General Motors ในเดือน พ.ย. 2024 หลังจากการประท้วงหยุดงานเป็นเวลานาน

ที่มา: Morningstar, 15/12/2023

ชาวเน็ตไต้หวันชุมนุมเรียกร้องระงับแผนการเปิดให้นำเข้าแรงงานจากประเทศใหม่ชั่วคราว

ชาวเน็ตไต้หวันกว่า 100 คน ร่วมจัดตั้งกลุ่มต่อต้านการนำเข้าแรงงานต่างชาติจากประเทศใหม่ ได้จัดกิจกรรมเคลื่อนไหวชุมนุมหน้าทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงไทเป เมื่อช่วงต้นเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา คัดค้านการเปิดให้นำเข้าแรงงานจากประเทศใหม่ และเรียกร้องให้ระงับแผนการนำเข้าแรงงานอินเดียชั่วคราว

กลุ่มต่อต้านการนำเข้าแรงงานต่างชาติจากประเทศใหม่เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการใน 4 ข้อ ได้แก่ ระงับแผนการนำเข้าแรงงานต่างชาติจากแหล่งใหม่ทั้งหมดไว้ชั่วคราว รัฐบาลต้องจัดหาช่องทางหรือแพลตฟอร์มที่มีผลเพื่อให้ประชาชนสะท้อนความในใจเกี่ยวกับเรื่องนโยบายแรงงานต่างชาติ บัญญัติกฎหมายบริหารแรงงานต่างชาติเป็นการเฉพาะและปรับปรุงสภาพแวดล้อมในที่ทำงานรวมถึงสวัสดิการของแรงงานต่างชาติให้ดีขึ้น

ที่มา: Radio Taiwan International, 15/12/2023

ชาวอเมริกันอายุ 65 ปีขึ้นไป 19% ยังทำงานนอกบ้าน เพิ่มขึ้น 4 เท่าจากยุค 1980

งานวิจัยของ Pew Research Center พบว่าชาวอเมริกันอายุ 65 ปีขึ้นไป มีถึง 19% ที่ยังทำงานนอกบ้าน ซึ่งเพิ่มขึ้น 4 เท่าจากยุค 1980ปัจจุบันมีคนวัย 65 ปีขึ้นไปทำงานประมาณ 11 ล้านคน เทียบเท่ากับช่วงต้นยุค 1960

วิจัยยังเผยว่า คนวัย 65 ปีขึ้นไป ทำงานชั่วโมงต่อปีมากกว่ารุ่นก่อนหน้า และมีการศึกษาสูงกว่า (เกินครึ่งมีปริญญาตรี) เทียบเท่ากับวัย 25-64 ปี รายได้ต่อชั่วโมงของคนวัย 65 ปีขึ้นไป ก็เพิ่มขึ้น (ปรับตามเงินเฟ้อ) จาก 13 ดอลลาร์ในปี 1987 เป็น 22 ดอลลาร์ในปี 2022 ปัจจุบัน คนวัย 65 ปีขึ้นไป กว่า 60% ทำงานเต็มเวลา เทียบกับ 47% ในปี 1987

ที่มา: Yahoo Finance, 16/12/2023

สหภาพแรงงานแคนาดาเรียกร้องให้ปกป้องและปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติ

สภาสหภาพแรงงานแคนาดา (Canadian Labour Congress หรือ CLC) เรียกร้องให้ปกป้องและปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติที่เข้าร่วมโครงการ TFWP ทั้งนี้แรงงานจำนวนมากจากต่างประเทศเข้าร่วมโครงการ TFWP โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรม (25% ในปี 2021) มีรายงานการเอารัดเอาเปรียบและละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติ รายงานจาก UN ชี้ว่า โครงการ TFWP มีช่องว่างให้นำไปสู่การบังคับใช้แรงงาน ก่อนหน้านี้แรงงานฟาร์มชาวจาเมกาเคยออกจดหมายถึงรัฐบาล เรียกร้องให้ยกเลิกโครงการ SAWP (ส่วนหนึ่งของ TFWP) เนื่องจากมองว่าเป็น "ระบบทาสสมัยใหม่"

CLC ชี้ว่าปัญหาหลักคือใบอนุญาตทำงานที่ผูกกับนายจ้าง ทำให้แรงงานขาดการคุ้มครอง ขาดความมั่นคงในงาน ย้ายงานไม่ได้ และเสี่ยงถูกเอารัดเอาเปรียบ CLC เรียกร้องให้ยกเลิกใบอนุญาตแบบนี้ เปลี่ยนเป็นใบอนุญาตทั่วไปที่ไม่ผูกกับนายจ้าง แรงงานควรมีสิทธิเปลี่ยนงานและรับการคุ้มครองตามกฎหมาย โดยไม่ต้องกลัวถูกไล่ออกหรือเนรเทศ ระบบปัจจุบันเอื้อให้นายจ้างใช้แรงงานข้ามชาติในอัตราค่าแรงต่ำเพื่อผลประโยชน์ ทำให้โครงการ TFWP กลายเป็นโมเดลธุรกิจมากกว่าการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานจริง

ข้อเรียกร้องของ CLC:

เปลี่ยนใบอนุญาตทำงานแบบผูกกับนายจ้างเป็นใบอนุญาตทั่วไป

เปิดโอกาสให้แรงงานในโครงการ TFWP ได้รับสิทธิพำนักถาวร

ให้สิทธิพำนักถาวรกับแรงงานไร้เอกสารที่เคยทำงานในโครงการ TFWP

ที่มา: Canadian Labour Congress, 18/12/2023

ILO เผยสงครามทำให้สูญเสียตำแหน่งงานอย่างน้อย 66% ในฉนวนกาซา และ 32% ในเวสต์แบงค์

องค์การระหว่างประเทศ (ILO) เผย สงครามทำให้สูญเสียตำแหน่งงานอย่างน้อย 66% ในฉนวนกาซา และ 32% ในเวสต์แบงค์ (รวม 468,000 ตำแหน่ง) รายได้แรงงานหายไปวันละ 20.5 ล้านดอลลาร์ อัตราการว่างงานจะพุ่งสูงจาก 24% เป็น 46.1%

ILO ชี้ว่าวิกฤตนี้ร้ายแรงกว่าเดิม ส่งผลร้ายแรงต่อเศรษฐกิจ สังคม และความเป็นอยู่ สินค้าจำเป็นในกาซาขาดแคลน ทำลายวงจรเศรษฐกิจ และทำให้รายได้หายไปกว่า 1 ใน 3 ทั้งนี้ภาคเกษตรกรรมเป็นภาคเดียวที่คาดว่ายังคงมีการจ้างงาน

ที่มา: ILO, 20/12/2023

สหภาพแรงงานยุโรปชื่นชมข้อตกลงทางการเมืองเกี่ยวกับกฎหมายตรวจสอบความยั่งยืนขององค์กร (CSDD)

สหภาพแรงงานยุโรป (ETUC) ชื่นชมข้อตกลงทางการเมืองเกี่ยวกับกฎหมายตรวจสอบความยั่งยืนขององค์กร (CSDD) โดยกฎหมายนี้มุ่งให้ธุรกิจรับผิดชอบต่อมาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อม ทั้งภายในและนอกสหภาพยุโรป (EU)

แม้ว่ารายละเอียดข้อตกลงยังไม่สมบูรณ์ แต่คาดว่ามีประเด็นสำคัญ คือ การยกบทบาทสำคัญให้สหภาพแรงงานและตัวแทนพนักงานในการกำหนดกลยุทธ์ตรวจสอบความยั่งยืนขององค์กร, การขยายขอบเขตบริษัทที่ต้องรับผิดชอบ รวมถึง SMEs ในห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งกำหนดความรับผิดทางแพ่ง การเยียวยาผู้เสียหาย และกลไกตรวจสอบเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ ETUC หวังให้กฎหมายนี้ผ่านการพิจารณาอย่างรวดเร็วภายในปี 2024

ที่มา: ETUC, 20/12/2023

นิวซีแลนด์กลับมาใช้การทดลองงาน 90 วัน

รัฐบาลนิวซีแลนด์ผ่านกฎหมายนำการทดลองงาน 90 วันกลับมาใช้กับนายจ้างทุกราย โดยตั้งใจผ่านกฎหมายเร่งด่วนก่อนคริสต์มาสนี้

พรรค National และพรรค ACT เป็นผู้ริเริ่มนโยบายนี้ โดยเชื่อว่าจะกระตุ้นการจ้างงาน ธุรกิจกล้าจ้างคนทำงานมากขึ้น ขณะที่ฝ่ายค้านกังวลเรื่องสิทธิแรงงาน

ในอดีตนโยบายทดลองงาน 90 วัน เคยถูกใช้โดยรัฐบาลพรรค National ซึ่งอนุญาตให้เลิกจ้างพนักงานได้ภายใน 90 วัน โดยไม่ต้องให้เหตุผล แต่เมื่อพรรคแรงงานได้เป็นรัฐบาลก็ได้ยกเลิกนโยบายนี้ในปี 2017 แต่เมื่อร่วมรัฐบาลกับพรรค New Zealand First ก็กลับมาใช้อีกครั้ง แต่จำกัดกับธุรกิจที่มีพนักงานไม่เกิน 19 คน

ทั้งนี้เคยมีงานวิจัยเมื่อปี 2016 ชี้ว่าไม่พบหลักฐานว่านโยบายนี้เพิ่มการจ้างงานโดยรวม หรือเพิ่มโอกาสให้ผู้ด้อยโอกาสได้งาน และไม่ส่งผลต่อการอยู่ระยะยาวหรือการเปลี่ยนงาน

ที่มา: Newshub, 20/12/2023

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net