Skip to main content
sharethis

'เศรษฐา' ประชุมร่วมกับประธาน JETRO ไทยพร้อมกระชับความร่วมมือ ส่งเสริมการค้าและการลงทุน พร้อมพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในไทย รองรับการลงทุนจากญี่ปุ่น - พบผู้บริหารบริษัท Kubota พร้อมขยายความร่วมมือนำเทคโนโลยีช่วยเกษตรกรไทย รวมทั้งเห็นชอบร่วม Pilot Project เกษตรกรเพาะปลูกถั่วเหลือง

16 ธ.ค. 2566 เวลา 9.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงโตเกียว ซึ่งเร็วกว่าเวลาที่กรุงเทพฯ 2 ชั่วโมง) ณ โรงแรม Okura Tokyo กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พบหารือกับ นายโนริฮิโกะ อิชิกุโระ (Mr. Norihiko ISHIGURO) ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan External Trade Organization: JETRO) โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้
 
นายกรัฐมนตรีชื่นชมที่ JETRO มีบทบาทสำคัญในการกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการทำวิจัยด้านเศรษฐกิจ การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่บริษัทญี่ปุ่นเกี่ยวกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมส่งเสริมการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้มีบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยเป็นจำนวนมาก และขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง
 
ด้านประธาน JETRO รู้สึกยินดีที่ได้พบปะกับนายกรัฐมนตรีในวันนี้ ในโอกาสการเดินทางเยือนญี่ปุ่นครั้งแรกนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่ง JETRO พร้อมส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและญี่ปุ่นให้เพิ่มพูน โดยเฉพาะการส่งเสริมความร่วมมือในด้านนวัตกรรมและนวัตกรรมแบบเปิด (open innovation) ระหว่างสองประเทศ การมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสังคมในประเทศไทย การส่งเสริมประสิทธิภาพด้านทรัพยากรมนุษย์ของไทย และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในประเทศญี่ปุ่นและบริษัทญี่ปุ่นในไทย
 
โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องถึงความร่วมมือที่ใกล้ชิด เพื่อเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจร่วมกัน ซึ่ง JETRO พร้อมร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการชักจูงการลงทุนเพิ่มเติมมายังประเทศไทย รวมถึงการส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานภูมิภาค หรือ regional headquarters ในไทย ด้านนายกรัฐมนตรีขอบคุณที่ JETRO สำนักงานใหญ่ และ JETRO กรุงเทพฯ ได้ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไทยอย่างดีมาโดยตลอด

พบผู้บริหารบริษัท Kubota พร้อมขยายความร่วมมือนำเทคโนโลยีช่วยเกษตรกรไทย

ต่อมาเวลา 9.30 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงโตเกียว ซึ่งเร็วกว่ากรุงเทพฯ 2 ชั่วโมง) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกรวงการคลัง พบหารือกับผู้บริหารบริษัท Kubota โดย นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยสาระสำคัญจากการหารือ ดังนี้ 

Kubota Corporation เป็นผู้ผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรอันดับหนึ่งในญี่ปุ่นและอันดับสามของโลก โดยมีการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี และการบริการที่ตอบสนองต่อความต้องการทางการเกษตร และนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายที่เกี่ยวข้องกับอาหาร น้ำ และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งมีความเชี่ยวชาญด้านเครื่องยนต์ปิโตรเลียมสำหรับใช้ในการเกษตรและอุตสาหกรรม ต่อมามีการพัฒนาการผลิตเครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องยนต์ดีเซล เครื่องยนต์เบนซิน ฯลฯ ชนิดต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

โดยนายกรัฐมนตรีได้หารือเพื่อโอกาสความร่วมมือ โดยนำเทคโนโลยีซึ่งบริษัทมีความเชี่ยวชาญมาเพิ่มผลผลิต เพิ่มศักยภาพของผลผลิต ลดการใช้แรงงานและค่าใช้จ่าย เพื่อให้มีรายได้ที่มากขึ้น ทั้งนี้ ได้หารือร่วมกัน เพื่อมี pilot project ช่วยเหลือเกษตรกรที่สนใจปลูกถั่วเหลือง เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ชีวิตที่ดีขึ้น

ให้สัมภาษณ์ สื่อมวลชน ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในโอกาสที่เดินทางมาร่วมการประชุม ASEAN-Japan ในวันที่สอง

นายเศรษฐา ยังได้ให้สัมภาษณ์ สื่อมวลชน ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในโอกาสที่เดินทางมาร่วมการประชุม ASEAN-Japan โดย นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญดังนี้

วันนี้ถือเป็นวันที่สองที่ได้เดินทางมาปฏิบัติภารกิจ ในช่วงเช้าได้พบหารือกับ JETRO เป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ฝ่ายไทยได้ยืนยันความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลญี่ปุ่นและยืนยันที่จะดูแลนักลงทุนในประเทศไทย ซึ่งความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นเป็นไปอย่างดีมากมาตลอด เป็นความสัมพันธ์ที่เรียกได้ว่า “มองตาก็รู้ใจ”

โดยฝ่าย JETRO เข้าใจดีถึงกระแสโลกและความจำเป็นในการเปลี่ยนยานยนต์สันดาป ( ICE ) เป็น ยานยนต์ EV ซึ่งในการพบหารือกับบริษัทยานยนต์ขนาดใหญ่ 7 บริษัทที่ผ่านมาเมื่อวานนี้ นายกรัฐมนตรีได้ขอให้บริษัทฯ เร่งการลงทุนให้เร็วขึ้น

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าในโอกาสนี้ได้แนะนำ ม.ล. ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย ซึ่งจะดูแลเกี่ยวกับการตกลง FTA เร่งการเจรจาโดยเร็ว เพื่อรักษาระดับการผลิตและส่งออกรถยนต์พวงมาลัยขวา 

บริษัท Kubota เป็นการหารือที่ดีมาก ทำให้ได้รับทราบถึงเทคโนโลยีที่มีอย่างหลากหลายของคูโบต้า ทั้งการอัดแน่นซังข้าวโพดเพื่อนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิง การเก็บเกี่ยวพืช ขณะนี้ประเทศไทยนำเข้าถั่วเหลืองจำนวนมาก และยังผลิตได้น้อย หากมีการพัฒนาจะทำให้ประเทศไทยผลิตถั่วเหลืองได้มากขึ้น เรียกว่าเป็นการพูดคุยอย่างครอบคลุมทุกเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับการทำเกษตรกรรม Smart farming การใช้โดรนเพื่อการเกษตรกรรม และการพูดคุยครั้งนี้รวมถึงระบบเงินกู้ไฟแนนซ์ซิ่ง leasing เป็นการพูดคุยในหลากหลายมิติ และทีมงานจะนำประเด็นเหล่านี้มาประชุมต่อ 

ในส่วนของกรอบการประชุมอาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียนและญี่ปุ่นมีความผูกพัน มีความสัมพันธ์กันระดับแน่นแฟ้น ญี่ปุ่นลงทุนสูงมากในอาเซียน อีกทั้งในเรื่องความท้าทายที่เกิดในภูมิภาคและทุกความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ประเทศไทยพร้อมที่จะเจรจาพูดคุยเพื่อความสงบและสันติสุขในภูมิภาค

ในส่วนของ mega project ของไทย Landbridge นายกรัฐมนตรีได้หยิบยกขึ้นในงานสัมมนาของบีโอไอและกระทรวงคมนาคม ซึ่งนายกรัฐมนตรีมั่นใจว่ามีผู้สนใจ และเห็นว่าเป็นประโยชน์ที่สำคัญของภูมิภาค ถือเป็นโครงการที่จะลดความแออัดล่าช้าในช่องแคบมะละกาในอนาคต

ที่มาเรียบเรียงจากเว็บไซต์รัฐบาลไทย [1] [2] [3]

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net