Skip to main content
sharethis

กลุ่มประชาชนสวมเสื้อส้มมารอฟังผลโหวตที่สภา แม้ ตร.จะใช้สารพัดสิ่งมาตั้งขวาง ยืนยันให้โหวต "พิธา" เป็นนายกฯ ต้องเคารพเสียงประชาชน หลังผลออกพิธาไม่ได้นายกฯ เวทีประกาศชุมนุมต่อเนื่อง เริ่มพรุ่งนี้ 6 โมงหน้า MBK

13 ก.ค.2566 ที่รัฐสภา เกียกกาย ขณะที่ภายในรัฐสภามีการอภิปรายก่อนเปิดให้สมาชิกรัฐสภาร่วมกันลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ถนนด้านนอกสภากลุ่มประชาชนมารวมตัวกันรอฟังผลการลงคะแนนและให้กำลังใจ ส.ส.ท่ามกลางเครื่องกีดขวางทั้งรั้วลวดหนามและตู้คอนเทนเนอร์ที่ตำรวจนำมาปิดกั้นทางเข้ารัฐสภาพร้อมกำหนดเขตห้ามชุมนุมสาธารณะ 50 เมตรรอบรัฐสภา

ป้ายต่างๆ ที่ประชาชนนำมาติดบนตู้คอนเทนเนอร์ที่ตำรวจนำมาตั้งปิดกั้นรอบรัฐสภาและป้ายประกาศแจ้งพื้นที่ห้ามชุมนุม

เวลา 15.00 น. สองสามี-ภรรยาเจียมพล วันนี้มาขายน้ำหน้าศูนย์ราชการเกียกกาย ที่ชุมนุมจับตาการโหวตลงมติรับรองนายกฯ วันนี้

ป้าหนุ่ย มาให้กำลังใจนายกฯ อยากให้พิธาเป็นนายกฯ ป้าต่อสู้มาตั้งแต่ปี'53 (การชุมนุมของ นปช.) ลูกชื่อ "ทิพเนตร เจียมพล" หนึ่งในผู้เสียชีวิตจากเหตุสลายการชุมนุมปี '53 ถูกกระสุนที่บริเวณท้อง และศีรษะ

บัตรสมาชิก นปช.ของทิพเนตร เจียมพล

ป้าขายน้ำดื่มมาตั้งแต่ 2553 ตอนเกิดเหตุสลายการชุมนุม ป้า-ลูกชายขายอยู่ที่ศูนย์การค้าบิ๊กซี ราชดำริ มาตลอดเป็นที่ดั้งเดิม ลูกชายเขาก็ช่วยขาย เขาเห็นม็อบ เขาก็ช่วย ใจเขารักคนเสื้อแดง เขาช่วย และก็โดนยิงเสียชีวิต

ลุงสมชาย บิดาทิพเนตร ผู้เสียชีวิต กล่าวว่า ลูกชายอยากต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย พ่อ-แม่ทำมาหากินในที่ชุมนุม เขาก็ทราบอะไรหลายอย่าง เขาก็อยากจะสู้ด้วยความยุติธรรม ก็ไปช่วย ไปปกป้องประชาธิปไตย ก็ถูกจัดการ

ป้าหนุ่ย ระบุว่า ไม่รู้ว่าจะฝากอะไรถึง ส.ว. ก็เป็นแบบนี้นานแล้ว ถ้าไม่ใช่ฝั่งเดียวกัน ก็ไม่โหวตให้ แต่ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้พรรคที่ชนะการเลือกตั้ง เป็นนายกฯ

สมชาย เจียมพล บิดาของทิพเนตร กล่าวว่า ผมก็หวังอยู่ 2 พรรค ก้าวไกล และเพื่อไทย จัดตั้งรัฐบาลหวังว่าจะไม่ลืม สิ่งที่สัญญาไว้กับญาติวีรชน 99 ศพ อยากให้เขาดำเนินคดีให้ถูกที่สุดกับคนพวกนี้ เขาเป็นคนที่ยึดอำนาจจากประชาชน เขาไม่ยอมรับผิด และอ้างว่าเขาถูกเสมอ

กฤษณ์

กฤษณ์ พ่อค้าอายุ 60 ปี โหวตเตอร์เลือกเพื่อไทย แต่ขอมาให้กำลังใจก้าวไกลวันนี้เพราะอยากมาเป็นส่วนร่วม มาดูเขาโหวตลงมติรับรองนายกฯ เพราะเห็นก่อนหน้านี้มันไม่มีความยุติธรรม อยากให้ประเทศเดินหน้า และก็เศรษฐกิจมันเริ่มจะดีขึ้น ก็อยากได้รัฐบาลใหม่มาดูแล

"อยากมาเชียร์เขา (ก้าวไกล) จริงๆ ผมเลือกเพื่อไทยนะ แต่ว่าดูไปดูมา เห็นก้าวไกล เขาพูดจริงทำจริง เลยมาเป็นกำลังใจให้เขา" กฤษณ์ กล่าว

กรณีวานนี้ (12 ก.ค. ) ที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องร้องเรียน ปมถือหุ้นสื่อของพิธา และร้องเรียนเรื่อง แก้ไข ม. 112 นั้น กฤษณ์ มองว่า ไวเกิน ไม่มีเวลาให้เขาตั้งตัว อย่างน้อยต้องเรียกเขา (พิธา) มาชี้แจง นี่มันรวบรัดข้ามตอนเลย กกต.มันไม่ให้ความยุติธรรมต่อพิธา

โค้งสุดท้าย กฤษณ์ พ่อค้า อยากฝากว่า "น่าให้โอกาสเขาสัก 4 ปี ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินเอง"

โอม

"เราคิดว่าพรรคการเมืองนี้ไปไม่ได้ มันก็คือความฝันของประชาชนทั้งหมดมันจะถูกทำลาย" โอม อายุ 38 ปี ประกอบอาชีพอิสระกล่าว

โอมบอกว่าที่มาวันนี้เพื่อขอมาเป็นประจักษ์พยานทางประวัติศาสตร์การเมือง วาระโหวตรับรองพิธา เป็นนายกฯ และถ้าวันนี้เกิดพิธา ไม่เป็นนายกฯ ก็ยังได้อยู่ในเหตุการณ์นี้ด้วย

"เราคิดฝ่ายรัฐบาลก้าวไกล เป็นรัฐบาลที่รวบรวมความฝันของประชาชนจำนวนมาก แล้วถ้าเกิดรัฐบาลก้าวไกล ไปไม่ได้ มันก็เป็นการทำลายความฝันของประชาชนทุกคน และมันจะกลายเป็นความโกรธแค้นของประชาชน" โอม ระบุ และกล่าวว่า เป็นไปได้คาดหวังว่าพิธา จะได้เป็นนายกฯ วันนี้เลย

โอม ระบุต่อว่า เรากังวลธงของศาลรัฐธรรมนูญ กลัวเขาจะไม่หยุดแค่พิธา ไม่ได้เป็นนายกฯ และยุติการทำหน้าที่ ส.ส.ของพิธา แต่กังวลว่าธงของเขาจะไปถึงการยุบพรรคก้าวไกล ด้วยข้ออ้างเรื่องแก้ไขมาตรา 112 เขาอาจมีธงที่ให้ ส.ส. ก้าวไกล 150 คน เป็นโมฆะ นี่เป็นเรื่องที่น่ากังวล และอาจเกิดการชุมนุมบนท้องถนน และเกิดความรุนแรงขึ้นตามมา

ชายวัย 38 ปี กล่าวว่า เขาสนับสนุนพรรคก้าวไกล เนื่องนี่เป็นพรรคของประชาชนอย่างแท้จริง

"ตั้งแต่เราเลือกตั้งมา เราไม่เคยเจอพรรคการเมืองไหนเป็นตัวแทนเราได้มากกว่าพรรคก้าวไกลอยู่แล้ว เราสามารถเห็นตัวแทนที่เป็นแรงงานจริงๆ เป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เราได้เห็นตัวแทนผู้ชุมนุมได้เป็น ส.ส. อย่าง ไอซ์ รักชนก หรือว่าแบบคนพิการ คนชนกลุ่มน้อยได้เป็น ส.ส. เราคิดว่านี่เป็นพรรคที่เป็นพรรคประชาชนที่สุดแล้ว ตั้งแต่เคยมีพรรคการเมืองมา"

"เราคิดว่าพรรคการเมืองนี้ไปไม่ได้ มันก็คือความฝันของประชาชนทั้งหมดมันจะถูกทำลาย" ชายวัย 38 ปี ระบุ

โอม มีข้อความฝากถึงผู้ที่โหวตสวนประชามติวันนี้ด้วย

"อยากฝากไปบอกว่า วันหนึ่งเมื่อเวลาผ่านไป อำนาจของคุณจะหมด วันหนึ่งคุณจะไม่มีบอดีการ์ดคอยดูแลคุณ เงินคุณอาจจะมี แต่คุณจะเดินบนท้องถนนไม่ได้ ถ้าคุณทำอะไรที่ค้านปนะชาชน เพราะว่าทุกอย่าง มันเป็น Digital Footprint หมดแล้ว ประชาชนจำหน้าคุณได้ จำชื่อ จำนามสกุลคุณได้ และมันไม่ได้ตกที่ตัวคุณคนเดียว มันจะตกที่ครอบครัวของคุณด้วย"

"ฝากถึงศาลรัฐธรรมนูญ และ กกต.ในเรื่องเดียวกันว่าวันหนึ่งมันต้องมาถึง"

หลังการลงคะแนนเลือกนายกฯ ในสภาสิ้นสุดลง และพิธา โหวตไม่ผ่านการเป็นนายกฯ วันนี้ (13 ก.ค.) นพพล ชาวปทุมธานี อายุ 41 ปี เล่าถึงความรู้สึกให้ฟังหลังรับทราบผลโหวตว่า ที่ประชุมรัฐสภาไม่รับพิธา เป็นนายกฯ ว่าทั้ง "โกรธ พอๆ กับผิดหวัง" แต่ไม่ใช่สิ่งที่ผิดความคาดหมาย เพราะว่ามันยากที่จะได้เสียงของ ส.ว. มา จนครบ 376 เสียง ผิดหวังว่าเขาไม่เห็นว่าเสียงของประชาชนไม่เท่ากัน คือเขามีที่มาที่ไปยังไงก็ตาม แต่ถ้าเขาเห็นว่าตำแหน่งแห่งท่ของมันไม่ควรมีอยู่ในประชาธิปไตย อย่างน้อยเขาควรลาออกไปซะ หรืออย่างน้อยโหวตให้ประเทศเดินหน้าตามเจตจำนง และมติของประชาชน 

นพพล กล่าวว่า ผมโกรธที่งดออกเสียงมากกว่า ประชาชนเลือกคุณมา เพื่อเป็นเสียง อย่างน้อยคุณควรแสดงออกความคิดของคุณให้มันชัดเจน เท่านั้นเอง 

"ผมว่าผมโมโห ส.ส.ที่งดออกเสียง มากกว่า ส.ว. ที่ไม่รับรอง หรือว่างดออกเสียง ผมเข้าใจอยู่แล้วว่ายาก" 

นพพล กล่าวว่า จริงๆ ส.ว. หรือ ส.ส. มีสิทธิ์ไม่สนับสนุน แต่ก็เห็นว่า มันไม่ได้อยู่ใน MOU ของรัฐบาล และเราอยู่ในระบอบ ประชาธิปไตย เราควรมีสิทธิท่จะพูดจาอย่างมีวุฒิภาวะในรัฐสภา เขามีสิทธิไม่สนับสนุน นั่นหมายความว่าเขามีสิทธิไม่โหวตรับเมื่อกฎหมายถูกนำเข้าสภาไปแล้ว แต่อย่างน้อย เขาควรจะมองให้เห็นว่ามันมีเจตจำนงของประชาชนที่ต้องการให้พรรคร่วมรัฐบาล ตั้งรัฐบาล คุณพิธาก็เป็นตัวแทนฝ่ายรัฐบาลในตอนนี้ 

"อย่างน้อยเขาควรให้ประเทศเดินต่อไปในตอนนี้ ถ้าเขาไม่เห็นด้วยกับ 112 เขาไม่จำเป็นต้อง ไปโหวตเห็นด้วยตอนเข้าวาระในสภา" 

"แล้วทำไม เขาไม่อยากให้เรื่องเหล่านี้เข้าไปในสภาเลยเหรอ แล้วประเทศเป็นประชาธิปไตยได้เหรอ ถ้ามีสิ่งที่ไม่สามารถพูด หรือถกเถียงได้อย่างมีวุฒิภาวะในสภา" นพพล กล่าว

นพพล กล่าวว่า จริงๆ ส.ว. หรือ ส.ส. มีสิทธิ์ไม่สนับสนุน แต่ก็เห็นว่า มันไม่ได้อยู่ใน MOU ของรัฐบาล และเราอยู่ในระบอบ ประชาธิปไตย เราควรมีสิทธิท่จะพูดจาอย่างมีวุฒิภาวะในรัฐสภา เขามีสิทธิไม่สนับสนุน นั่นหมายความว่าเขามีสิทธิไม่โหวตรับเมื่อกฎหมายถูกนำเข้าสภาไปแล้ว แต่อย่างน้อย เขาควรจะมองให้เห็นว่ามันมีเจตจำนงของประชาชนที่ต้องการให้พรรคร่วมรัฐบาล ตั้งรัฐบาล คุณพิธาก็เป็นตัวแทนฝ่ายรัฐบาลในตอนนี้ 

"อย่างน้อยเขาควรให้ประเทศเดินต่อไปในตอนนี้ ถ้าเขาไม่เห็นด้วยกับ 112 เขาไม่จำเป็นต้อง ไปโหวตเห็นด้วยตอนเข้าวาระในสภา" 

"แล้วทำไม เขาไม่อยากให้เรื่องเหล่านี้เข้าไปในสภาเลยเหรอ แล้วประเทศเป็นประชาธิปไตยได้เหรอ ถ้ามีสิ่งที่ไม่สามารถพูด หรือถกเถียงได้อย่างมีวุฒิภาวะในสภา" นพพล กล่าว 

นพพล กล่าวต่อว่า เขาไม่เห็นด้วยที่พรรคก้าวไกลจะลดเพดานเรื่องมาตรา 112 เพื่อแลกเป็นนายกฯ เพราะเป็นสิ่งที่พรรคให้สัญญากับประชาชน และไม่อยากให้พรรคฯ ตะบัดสัตย์ ไม่เคารพคำพูด หรือสิ่งที่ตัวเองสัญญาไว้ 

"ผมเห็นว่าพรรคก้าวไกล ไม่ควรยอมลดเพดานเรื่องแก้ไขมาตรา 112 เพราะคิดว่าเป็นนโยบายที่เขาแสดงออกมาเบื้องต้น และฐานเสียงของเขาจำนวนมากเขาก็สนับสนุนในการเอาเรื่องแก้ไขเข้าไปคุยสภา ผมคิดว่าพรรคก้าวไกลไม่ควรจะกลัวตรงนี้ และคิดว่าเขาควรแวดงจุดยืนที่ชัดเจนมั่นคงแบบนี้ไปเรื่อยๆ " นพพล กล่าว

ท้ายสุด นพพล กล่าวว่า "ลาออกเถอะครับ" สำหรับ ส.ส. และ ส.ว. ที่งดออกเสียง และโหวตสวนมติประชาชน

ธนพร วิจันทร์ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ประกาศยกระดับการต่อสู้จัดชุมนุมทุกวัน เพราะ ส.ว.ไม่เคารพเสียงประชาชนเพื่อส่งเสียงไปถึงพรรคการเมืองฝ่ายฝ่ายพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลทั้ง 8 พรรคจับมือกันให้มั่น

ธนพรกล่าวว่าขอให้ประชาชนที่มาร่วมกันวันนี้ตบมือให้กับ ส.ว.ทั้ง 12 คนที่โหวตให้พิธาเป็นนายกฯ แต่ ส.ว.ส่วนที่งดออกเสียงก็คือไม่ยอมรับมติของประชาชนก็ขอให้ประชาชนยกนิ้วกลางให้ ส.ว.เหล่านี้

สมยศ พฤกษาเกษมสุข

สมยศ พฤกษาเกษมสุข กล่าวว่า พวก ส.ว.ที่ไม่มาประชุมถือว่าละทิ้งต่อหน้าที่ต้องไล่ออกเท่านั้น พวกที่งดออกเสียงก็ไม่มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่และสังคม พวกที่ไม่เห็นชอบคือไม่เห็นหัวประชาชน ไม่ยอมรับกระบวกนารทางประชาธิปไตย ไม่ยอมรับระบบรัฐสภาที่พรรคเสียงข้างมากเป็นรัฐบาลเป็นภัยต่อประชาธิปไตยและความมั่นคงของรัฐต้องไล่ออก

“วันชัย สอนสิริ เหตุที่เขาต้องเห็นชอบเพราะสี่ปีที่แล้ว บอกว่าที่โวหตให้ประยุทธ์เป็นยายกรัฐมนตรีเพราะรวบรวมเสียงข้างมากได้ในสภา ก็เลยโหวตให้ทั้งหมด 249 เสียง ปีนี้จะบอกว่าไม่ได้เพราะ 312 เสียงเสียงข้างมาก วันชัยก็เลยตระบัตสัตย์ไม่ได้ต้องเห็นชอบให้พิธาเป็นนายกฯ แต่เราก็จะเห็นผลแล้วว่าเขาได้ทำลายเจตจำนงของประชาชน ทำลายความประสงค์ของประชาชน ทำลายเสียง 25 ล้านเสียงระหว่างพรรคเพื่อไทยกับก้าวไกล นี่คืออันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย คือการทำให้เกิดปัญหาความไม่มั่นคงต่อรัฐโดยเฉพาะรัฐประชาธิปไตย” สมยศกล่าว

สมยศยังได้กล่าวเทียบกับตุรกีที่เลือกตั้งวันเดียวกันกับไทยยังสามารถเลือกประธานธิบดีได้ในวันรุ่งขึ้นแต่ไทยจนวันนี้ก็ยังไม่มี ทั้งการถูกถ่วงด้วย กกต. ทั้งการไม่ยอมประกาศผลมาจนถึงการเรยีกประชุมด่วนเพื่อสอบข้อเท็จจริงกรณีหุ้นไอทีวีของพิธาในวันอาทิตย์แล้วก็รีบยื่นศาลรัฐธรรมนูยเพื่อทำให้ขาดคุณสมบัติในทางกฎหมายทั้งที่พิธาก้บอกแล้วว่าต้องถือหุ้นเพราะเป็นผู้จัดการมรดกและไอทีวีก็ไม่มีแล้วยังจะหาเหตุมาเล่นงาน แล้วก่อนหน้านั้นก็เคยมีกรณีของคนอื่นที่ศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษาแล้วว่าการถือหุ้นที่มีส่วนน้อยไม่สามารถถือว่าเป็นการครอบงำได้

การกระทำของ กกต.จึงเป็นเรื่องผิดปกติที่รีบร้อนเอาเรื่องนี้ขึ้นมาถือว่า กกต.ทำผิดต่อหน้าที่ อย่างไรก็ตาม กกต.ก็เป็นผลผลิตของ ส.ว.ที่เป็นคนเลือกมาและ ส.ว.ก็ยังถูกเลือกมาจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ว่าวางมือแล้วก็ไม่ได้ทำจริงๆ เพราะพอประกาศ กกต.ก็ทำงานทันที เป็นอุบายที่จะทำให้ยังคงอำนาจอยู่ต่อไป

“วันนี้การประชุมเขาให้โหวตนายกฯ แต่อภิปรายเหมือนกับอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ แล้วก็อภิปรายเรื่องออกกฎหมายมาตรา 112 นี่คือเหตุผลที่ทำไมต้องยกเลิกมาตรา 112 ไปเลย มันเสียเวลาฟังพวกมึงพูดเรื่อง 112 อย่างไรสาระที่สุด พอมี 112 พูดอย่างอื่นไม่เป็น ปกป้องกษัตริย์ ปกป้องกษัตริย์ พูดได้แค่นี้ประชาชนไม่รู้เลยว่าอยู่ตรงไหนในสภาผู้แทนราษฎร”

สมยศอธิบายย้อนไปว่าสมัยรัชกาลที่ 5 มีโทษแค่ 3 ปี แล้วปี 2476 แก้มาเป็น 7 ปี หลัง 6 ต.ค.2519 มีการแก้ไขโดยรัฐบาลเผด็จการมาเป็น 15 ปี แล้ววันนี้พรรคก้าวไกลก็บอกแล้วว่าแก้กลับไปเหลือ 3 ปีเลหือเท่าสมับรัชกาลที่ 5 ทำไมจะแก้ไม่ได้ และการแก้กฎหมายเป็นสิทธิของพรรคการเมืองเป็นเสรีภาพของประชาชนที่จะเข้าชื่อกฎหมาย

“ถ้าเราไม่ต่อสู้วันนี้ ไม่เพียงแต่เราจะไม่ได้นายกฯ ที่ชื่อพิธาตามเจตนารมณ์ แต่กระบวนการทางรัฐสภากระบวนการนิติบัญญัติจะถูกทำลายโดย ส.ว.”

สมยศกล่าวยืนยันว่าจะต้องสู้ต่อไปมาชุมนุมที่แห่งนี้ จะไม่ยอมให้องค์กรที่รับใช้เผด็จการเหยียบหัวประชาชนทำลายศักดิ์ศรี สิทธิเสรีภาพของประชาชน จนกว่าจะไล่ซากเดนเผด็จการออกไปจากประเทศไทย เพราะอำนาจของสูงสุดเป็นของราษฎร

สมยศกล่าวประเด็นสุดท้ายว่าเรื่องที่น่ากลัวที่สุดไม่ใช่เรื่องพิธาไมได้เป็นนายกฯ แต่เป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่าการแก้ไขมาตรา 112 นี้เป็นการล้มล้างการปกครอง ทำให้ประชาชนจะเสนอกฎหมายปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปตุลาการ ถ้าศาลวินิจฉัยว่าล้มล้างก็ทำไม่ได้แล้ว

“หมายความว่าอำนาจสูงสุดของราษฎรถูกเบียดบัง ถูกทำลายไปอีกด้วย” สมยศย้ำถึงการที่องค์กรตุลาการทำลายสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นคนไปด้วย จึงอยากให้ประชาชนยืนหยัดต่อสู้ต่อไป

จากนั้นเวทียังดำเนินต่อไปจนถึงเวลาประมาณ 19:25 น. โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง หรือเก็ท โมก หลวงริมน้ำ ประกาศชุมนุมพรุ่งนี้ 6 โมงเย็น ที่ mbk ก่อน ให้มวลชนชูนิ้วกลางหันไปทางสภาและประกาศยุติการชุมนุม

ตัวแทน ส.ส.ก้าวไกลจึ้นเวทีหน้ารัฐสภาขอบคุณประชาชน ยืนยันจะสู้ต่อ

ตัวแทนของพรรคก้าวไกล 5 คน ได้แก่ รังสิมันต์ โรม เบญาจา แสงจันทร์ ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ พุธิตา ชัยอนันต์รัชนก ศรีนอก และอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ขึ้นเวทีปราศรัยที่หน้ารัฐสภาที่ประชาชนจัดชุมนุมรอฟังผลการลงคะแนนเลือกนายกฯ เพื่อกล่าวขอบคุณประชาชนที่มารอให้กำลังใจพร้อมยืนยันว่าจะสู้ต่อไปเพื่อให้พิธาได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30

ภาพจาก Mob Data Thailand

รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ขึ้นเวทีที่หน้ารัฐสภากล่าวขอบคุณประชานชที่สนับสนุนพิธา เป็นายกฯ คนที่ 30 ประชาชนคงทราบผลแล้วว่าเป็นอย่างไร แม้เราจะไม่ประสบความสำเร็จในการผลักดันให้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์เป็นนายกรัฐมนตรีไทยครั้งนี้ แต่ผลที่ออกมาก็เห็นแล้วว่า ส.ส.ของพรรคร่วมทั้ง 8 พรรคล้วนสนับสนุนให้พิธาเป็นนายกฯ ทั้งหมด ถ้าเป็นระบบปกติวันนี้พิธาก็คือนายกฯ คนที่ 30

รังสิมันต์กล่าวต่อว่า แต่ระบบกฎหมายรัฐธรรมนูญในวันนี้เขาให้ ส.ว.มาโหวตร่วม ซึ่งเห็นแล้วว่า ส.ว.ส่วนใหญ่ไมได้สนับสนุนพิธาเป็นายกฯ แต่ก็มี ส.ว. 13 คนที่สนับสนุนและให้ความเห็นชอบให้พิธาเป็นนายกฯ ก็ขอให้กำลังใจคนเหล่านี้ด้วย

ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกลกล่าวว่าตอนนี้พิธาและฝ่ายบริหารของพรรคกำลังประชุม ซึ่งในการลงคะแนนครั้งหน้าจะทำให้พิธาได้เป็นนายกฯ ให้ได้ พวกเขาซึ่งเป็นตัวแทนจึงมายืนยันว่าจะสู้ต่อไปเพื่อผลักดันในการจัดตั้งรัฐบาลให้ใด้และยืนยันว่า ส.ส.ที่ได้รับเลือกให้เข้าสภามาจะไม่ทำให้ผิดหวังอย่างแน่นอนและขอบคุณประชาชนที่มารอให้กำลังใจที่สภาวันนี้ด้วย

เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวว่ากล่าวขอโทษแทนพรรคก้าวไกลและตัวแทนที่ประชาชนเลือกมาที่วันนี้ยังทำไปไม่ถึงจุดหมาย แต่จะยังอยู่เคียงข้างประชาชนและสู้ต่อไปเพื่อให้พิธาได้เป็นนายกฯ ของคนทั้งประเทศ

“ครั้งนี้รวมไปถึงครั้งหน้าเราจะไม่ยอมยอมแพ้และเราจะเดินหน้าสู้ต่อ อย่าหมดไฟ อย่าเปลี่ยนใจ อย่าหยุดฝัน อย่าหยุดหวัง สู้ไปด้วยกันเพื่อเปลี่ยนประเทศนี้ให้อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง และขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ยังอยู่เคียงข้างพวกเรา”

ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์เริ่มจากกล่าวขอบคุณเช่นกันและได้ขอให้ประชาชนส่งกำลังใจให้แก่ ส.ส.และส.ว.ทั้ง 324 เสียงที่ร่วมกันโหวตเลือกพิธาเป็นนายกฯ แล้วก็ขอให้ช่วยกันส่งกำลังใจให้แก่ญาติมิตรของคนที่สามารถลงคะแนนเลือกนายกฯ ได้ไม่ว่าจะฝ่ายใดก็ตาม

“ไม่ได้โหวตเพื่อใครคนใดคนหนึ่งจะชนะ โหวตเพื่อให้หลักการของประเทศนี้และระบอบประชาธิปไตยนี้เดินต่อไปเท่านั้นเอง ขอเท่านี้ขอให้ทุกคนได้ส่งเสียงดังกึกก้องเหมือนอย่างที่ผมลงมา และส่งเสียงต่อบอกต่อไม่ว่าใครหน้าไหนอย่าปฏิเสธเขาและบอกว่านี่คือภารกิจร่วมกันของพวกเราทุกคน” ณัฐชากล่าวยืนยันว่าจะไม่มีท้อและเดินหน้าต่อไปท่ามกลางเสียงสนับสนุนของประชาชนที่ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศนี้

อมรัตน์ โชคปมิตกุล กรรมการบริหารพรรคก้าวไกล กล่าวว่านับตั้งแต่การต่อสูของคนเสื้อแดงมาจนถึงการต่อสู้ของเยาวชนในปี 63 จนวันนี้ที่พิธาแพ้โหวตในสภาทั้งที่ประชาชนมาอย่างถล่มทลาย ไม่เคยคิดว่าพวกเราเป็นผู้แพ้ แต่เป็นการสะสมชัยชนะ เพราะคนตาสว่างกันหมดแล้ว

“ภาพลวงตาก็คือชัยชนะของอีกฝั่งหนึ่ง แต่ก้าวไกลและมวลชนผู้รักประชาธิปไตยสะสมชัยชนะ ก้าวเข้าไปเรื่อยๆ อดทนรอ สิ่งที่เสียใจที่สุดคือมันทำความฝันให้จบเร็วอย่างที่คิดไม่ได้ แต่มันจะจบในรุ่นของเรา” อมรัตน์กล่าวปิดท้ายก่อนนำทีมลงเวที

ภาพบรรกาศการชุมนุม

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net