Skip to main content
sharethis

สื่ออิระวดีรายงานรัฐบาลทหารพม่าพยายามสร้างภาพให้ตัวเองด้วยการอาศัยงานประชุมหารืออย่างไม่เป็นทางการที่ไทยเป็นเจ้าภาพ โฆษณาชวนเชื่อปรับภาพลักษณ์ตัวเองในสายตาอาเซียน ชี้แจงข้อมูลฝั่งกองทัพ ประธานอาเซียน-UN-นักวิชาการไทยต่างวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทยที่จัดงานประชุมหารือครั้งนี้

 

30 มิ.ย. 2566 ในช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของไทยได้เชิญรัฐมนตรีต่างประเทศจากประเทศสมาชิก สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน รวมถึงรัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลทหารพม่าเข้าร่วมประชุมหารืออย่างไม่เป็นทางการเพื่อเตรียมตัวในการ "กลับไปปฏิสัมพันธ์กับพม่าในระดับผู้นำอย่างเต็มรูปแบบ"

ก่อนหน้านี้ อาเซียนเคยปิดกั้นไม่ให้ผู้นำระดับสูงและรัฐมนตรีต่างประเทศของพม่าเข้าร่วมประชุมระดับสูงของอาเซียนนับตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา หลังจากที่รัฐบาลทหารพม่าไม่ทำตามแผนสันติภาพที่อาเซียนเสนอให้ โดยที่พม่าเกิดความโกลาหลในประเทศอย่างหนักหลังจากที่มีการรัฐประหารเมื่อช่วงต้นปี 2564

การประชุมหารืออย่างไม่เป็นทางการของอาเซียนครั้งล่าสุดนี้ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18-19 มิ.ย. ที่พัทยา ซึ่งประเทศสิงคโปร์, อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ต่างก็เลี่ยงที่จะเข้าร่วมการหารือในครั้งนี้ทำให้ในการประชุมมีตัวแทนจากประเทศอาเซียนอื่นๆ ที่เหลืออย่าง บรูไน, กัมพูชา, ลาว, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม และประเทศที่อยู่ใกล้เคียงพม่าอย่างจีนกับอินเดียเข้าร่วม

ประธานอาเซียนสมัยปัจจุบันคืออินโดนีเซียยังได้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทยที่จัดงานประชุมหารือในครั้งนี้ด้วย นอกจากนี้ยังมีเสียงประณามจากสมัชชารัฐสภาอาเซียน, รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาที่ต่อต้านกองทัพพม่า และภาคประชาสังคมในพม่าหลายร้อยองค์กร

ตานสเว รัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลทหารพม่า

รัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลทหารพม่า ตานสเว อาศัยโอกาสที่ได้พูดในที่ประชุมระดับภูมิภาคเป็นครั้งแรก ในการกล่าวอ้างว่ามีการปิดกั้น "ข้อมูลที่ถูกต้อง" เกี่ยวกับประเทศพม่า และ "สื่อที่มีอคติ" ทำการเผยแพร่ข่าวเท็จและข่าวแบบเอียงข้างเกี่ยวกับประเทศพม่า

ตานสเวเรียนจบจากวิทยาลัยป้องกันประเทศรุ่นที่ 16 เขาเคยเป็นเอกอัครราชทูตพม่าประจำสหรัฐฯ สมัยรัฐบาลเต็งเส่งมาก่อน

ตานสเวกล่าวในที่ประชุมว่ากองทัพพม่าได้เน้นความพยายามไปที่ฉันทามติอาเซียน 3 ข้อจากทั้งหมด 5 ข้อ คือการยุติความรุนแรงในประเทศ, การเริ่มให้ทุกฝ่ายเจรจากัน และการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้กับประชาชนในพม่า อีกทั้งยังอ้างว่ากลุ่มองค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์ (EAOs) เป็นผู้ยกระดับการสู้รบ

ตานสเวกล่าวในที่ประชุมที่พัทยาว่า "เป็นเวลามากกว่า 33 ปีมาแล้วที่รัฐบาลหลายรุ่นพยายามเข้าไปเจรจาอย่างอดทนแทนที่จะสู้รบ เพื่อที่จะสร้างสันติภาพิย่างถาวรในพม่า แต่ EAOs ก็จงใจเลื่อนการเจรจาออกไปเพราะว่าพวกเขาไม่สามารถยกเลิกธุรกิจยาเสพติดที่สร้างกำไรมหาศาลได้"

นอกจากนี้ตานสเวยังกล่าวถึงเรื่องที่กองทัพทหารใช้กำลังโจมตีทางอากาศอย่างไม่เลือกเป้าหมายต่อพลเรือนโดยอ้างว่า เจ้าหน้าที่ทหารของพม่าได้รับการฝึกอบรมให้ปฏิบัติตามกฎการปะทะที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาเวียนนา และไม่ใช้กำลังอย่างผิดสัดส่วน

จากนั้นตานสเวก็ได้กล่าวหารัฐบาลเงา NUG และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน PDF ซึ่งเป็นฝ่ายกองทัพของรัฐบาลเงา อ้างว่าสองกลุ่มนี้สังหาร "พลเรือนที่ไม่มีอาวุธไปมากกว่า 5,800 ราย" แต่ตานสเวกลับเก็บงำ ไม่พูดถึงเรื่องที่กองทัพทหารสังหารประชาชนไปอย่างน้อย 3,692 ราย เพียงเพราะประชาชนเหล่านี้ดำเนินกิจกรรมต่อต้านเผด็จการ ซึ่งสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองในพม่าเคยรวบรวมสถิติดังกล่าวเอาไว้

ทั้งนี้ ในช่วงที่มีการประชุมที่พัทยา ตานสเวไม่เคยพูดถึงแม้แต่น้อยในเรื่องที่ว่า หลังจากการรัฐประหารผ่านไปมากกว่า 2 ปีแล้ว รัฐบาลทหารพม่ายังคงไม่สามารถควบคุมประเทศพม่าทั้งประเทศได้และกำลังสูญเสียพื้นที่ให้กับ PDFs มากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังหลีกเลี่ยงที่จะบอกว่ากองกำลังฝ่ายเผด็จการพม่าประสบกับความสูญเสียอย่างหนักมาตั้งแต่ช่วงเริ่มแรกที่มีการสู้รบ

แทนที่จะเปิดเผยเรื่องเหล่านี้ ตานสเวกลับอวดอ้างว่า "ทัตมะตอว์ (กองทัพพม่า) มีการจัดตั้งอย่างเป็นระบบ มีประสบการณ์และประสิทธิภาพ สามารถขยี้กลุ่มติดอาวุธธรรมดาๆ ได้"

ตานสเวได้พูดถึงแผนการเลือกตั้งในพม่าซึ่งยังไม่มีกำหนดเวลาชัดเจน แบบเดียวกับที่มินอ่องหล่าย ผู้บังคับบัญชาของเขาที่พูดเอาไว้ว่าจะต้องมีการเปลี่ยนผ่านอำนาจไปให้กับพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง

แถลงการณ์ของรัฐบาลทหารพม่าระบุอ้างว่า กลุ่มประเทศที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ไม่ต้องการแทรกแซงการเมืองภายในของพม่า และคาดหวังว่าจะมีการส่งเสริมความสัมพันธ์กับพม่า

ทอม แอนดรูวส์ ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติเรื่องสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพม่าระบุว่า การประชุมหารืออย่างไม่เป็นทางการที่พัทยานั้นเป็นเรื่องอันตราย เพราะมันอาจจะสร้างความแตกแยกกันในหมู่ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ และจะกลายเป็นการให้ความชอบธรรมแก่รัฐบาลทหารพม่า

ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทยกล่าวว่า การพูดคุยโดยตรงกับพม่าเป็นเรื่องจำเป็นในการปกป้องประเทศไทย โดยบอกว่าประเทศไทยนั้นเผชิญผลกระทบจากความขัดแย้งที่ชายแดนไทยพม่ามากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน

ถึงแม้ว่าทางการไทยจะกล่าวปกป้องการประชุมในครั้งนี้ แต่ก็มีการตั้งคำถามว่าทำไมประเทศไทยถึงรีบจัดให้มีการหารือกันในขณะที่กำลังจะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ภายในเดือนสิงหาคม ที่จะถึงนี้หลังจากที่พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยมีคะแนนจากการเลือกตั้งเหนือพรรคฝ่ายผู้นำทหารในการเลือกตั้ง 14 พ.ค. ที่ผ่านมา

ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนถึงเรื่องนี้ไว้ในบางกอกโพสต์ระบุว่า สาเหตุที่รัฐบาลประยุทธ์ตัดสินใจจัดประชุมหารือกับพม่าอย่างเปิดเผยชวนให้เกิดคำถามในเรื่องที่ว่ามีผลประโยชน์ร่วมกันกับการที่พวกเขาให้การยอมรับรัฐบาลทหารพม่าหรือไม่

ขณะเดียวกันการที่ไทยจัดประชุมในครั้งนี้ยังส่งผลเสียหายต่อภาพลักษณ์ของไทยในสายตาชาวโลก เป็นการบั่นทอนบทบาทศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน และเป็นการทำลายตำแหน่งแห่งที่ของอินโดนีเซียในฐานะที่เป็นประธานอาเซียนสมัยปัจจุบัน

ฐิตินันท์กล่าวอีกว่า นโยบายที่น่ากังขาของรัฐบาลประยุทธ์ยังกลายเป็นการสร้างศัตรูต่อประชาชนส่วนใหญ่ในพม่าที่ลุกฮือต่อต้านรัฐบาลทหารด้วย นอกจากนี้ฝ่ายกองทัพพม่ายังดูเหมือนจะเป็นฝ่ายที่ไม่ได้ชนะในสงครามและไม่สามารถยึดกุมอำนาจในพม่าได้อย่างเต็มที่

แม้แต่รัฐมนตรีต่างประเทศของกัมพูชา Prak Sokhonn ก็ปฏิเสธคำเชิญจากทางการไทยที่เชิญชวนเป็นการส่วนตัวให้เข้าร่วมการประชุมหารืออย่างไม่เป็นทางการในครั้งนี้ โดยมีการส่งตัวแทนกัมพูชารายอื่นที่มีประสบการณ์น้อยเข้าไปแทน

หลังจากการหารือที่พัทยาจบลง แม้กระทั่งนายกรัฐมนตรีอำนาจนิยมของกัมพูชาอย่างฮุนเซนก็ยังกล่าวในเชิงไม่ใยดีต่อพม่า โดยบอกว่า "ความสำเร็จครั้งล่าสุดของพม่ารืออะไรกันหรือ นอกเหนือเสียจากการทำลายชีวิตคนและทำลายทรัพย์สิน"

 

 

เรียบเรียงจาก

Myanmar Junta Turns Thai-Sponsored Talks Into Propaganda Tool, The Irrawaddy, 24-06-2023

https://www.irrawaddy.com/news/the-world-myanmar/myanmar-junta-turns-thai-sponsored-talks-into-propaganda-tool.html

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net